โลกและภาษา
สมภาร พรมทา
วิทยาการทุกอย่างที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นย่อมมีที่มา
ที่มาของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจพิจารณา ได้หลายทาง
แต่ทางหนึ่งที่สำคัญและเป็นความจริงที่ยากจะเถียงก็คือ เราสร้างสิ่งต่างๆขึ้น
เพื่อใช้งาน เช่นสร้างปากกาเพื่อเขียน สร้างหนังสือเพื่ออ่าน
สร้างจักรยานเพื่อปั่นไปเที่ยว หรือทํางาน ของสําหรับใช้งานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวัตถุ
สิ่งที่ไม่ใช้วัตถุเช่นวิชาความรู้ก็สามารถพิจารณาได้เช่นกันว่าเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อใช้งาน
เช่นเราสร้างแพทยศาสตร์ขึ้นเพื่อรักษาความเจ็บป่วย
เราสร้างรัฐศาสตร์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักวิชาในการปกครองและบริหารบ้านเมือง
เราสร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการเข้าใจโลกธรรมชาติ เป็นต้น หากเข้าใจอย่างนี้ วิทยาการที่เรากําลังจะเรียนต่อไปนี้ที่เรียกว่า ศาสตร์ว่าด้วยการตีความ
ก็เข้าใจได้ว่า
เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นพื่อใช้งาน
อย่างใดอย่างหนึ่ง แน่นอน
เครื่องมือทุกอย่างที่เราสร้างขึ้น
เราสร้างหลังจากที่พบว่าชีวิตเราต้องประสบปัญหาบางอย่าง เช่นพบว่า
บางครั้งการเดินทางไกลมาคู่กับการที่เราต้องการไปถึงที่หมายไวๆ นี่คือปัญหา
การเดินทางไกลไม่ใช่ปัญหา เราเคยเดินทางไกลมานักต่อนัก
แต่การเดินทางไกลที่ไม่เป็นปัญหานั้น คือการเดินทางไกลประเภทที่ไปถึงที่หมายเมื่อใดก็ได้
ครั้นเมื่อเราพบว่า บางครั้งที่ที่เราจะ ต้องไปอยู่ไกลเสียเหลือเกิน
และเราต้องการไปถึงที่หมายนั้นในเวลาที่รวดเร็วกว่าปกติธรรมดา
เท่านี้เราก็เห็นแล้วว่าเป็นปัญหา และปัญหานี้ต่อมาก็นํามาสู่การคิดสร้างจักรยาน
รถยนต์ ตลอด จนเรือบินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
อะไรคือปัญหาของการที่มนุษย์เราต้องสร้างวิทยาการที่เรียกว่าศาสตร์ว่าด้วยการตีความ
ผม ขออธิบายอย่างรวบรัด
แต่จะพยายามอธิบายให้เข้าใจสาระของปัญหามากที่สุดเท่าที่จะทําได้ ประการแรก
ศาสตร์ว่าด้วยการตีความเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ หรืออะไรตามแต่ที่เทียบ
เคียงได้กับหนังสือ สมัยนี้เราเข้าใจว่าหนังสือหมายถึงสิ่งที่พิมพ์เป็นเล่ม
ดังนั้นคัมภีร์ใบลานไม่ใช่หนังสือ แต่ในทางวิชาการว่าด้วยหนังสือ เช่นวรรณคดี
และศาสตร์ว่าด้วยการตีความ เป็นต้น
อะไรก็ตามแต่ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบันทึกความคิด และคนที่จะเข้าถึงความคิดที่อยู่ในวัสดุ
ที่ใช้บันทึกนั้นจะต้องอ่านหนังสือออก เราเรียกว่าหนังสือหมด เอาเป็นว่า
เราจะเข้าใจกัน ในวิชานี้ว่า
ศาสตร์ว่าด้วยการตีความเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ เราพิจารณากันมาแล้วว่า
เครื่องมือทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น เราสร้างเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง
ศาสตร์ว่าด้วยการตีความ ก็เป็นเครื่องมือที่เราสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับหนังสือ
คําถามที่เราจะพิจารณากันต่อไปคือ หนังสือมีปัญหาอะไรหรือ เราจึงต้องสร้างเครื่องมือที่เรียกว่าศาสตร์ว่าด้วยการตีความเพื่อที่จะมาแก้ปัญหาเหล่านั้น
หนังสือนั้นเป็นวัตถุก็จริง
แต่ประโยชน์ของหนังสือไม่ได้อยู่ที่วัตถุที่มาประกอบกันเข้าเป็นหนังสือ
สาระของหนังสืออยู่ที่ตัวหนังสือ
และตัวหนังสือนั้นแม้จะปรากฏแก่สายตาของเราเสมือนว่าเป็นวัตถุ
แต่ความเป็นหนังสือก็หาใช่วัตถุไม่ ตัวหนังสือนั้นเป็นพาหะของภาษา และเราก็ทราบกันดีว่าพาหะของภาษาเป็นเสียงก็ได้
เดิมนั้นมนุษย์ใช้ภาษาในรูปของการเปล่งเสียง
เวลานี้สัตว์หลายชนิดก็ยังใช้ภาษาเสียงที่ว่านี้อยู่ ต่อมา
มนุษย์พบว่าภาษาเสียงนั้นถ่ายทอดลงเป็นตัวหนังสือได้ เราก็สร้างตัวหนังสือขึ้น
การพิมพ์หรือจารึกหนังสือก็กลายมาเป็นอารยธรรมที่สําคัญอย่าง หนึ่งของมนุษยชาติไป
เวลาที่เราอ่านหนังสือ เราไม่ได้อ่านวัตถุ
แต่อ่านสาระของภาษาที่ถูกถ่ายทอดลงเป็นตัวหนังสือที่พิมพ์หรือเขียนลงบนกระดาษหรือวัสดุที่เทียบเท่ากับกระดาษเช่น
ใบลาน
มีกิจกรรมสองอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและใช้งานหนังสือ
หนึ่ง การเขียน สอง การอ่าน
(เราไม่พูดถึงการพิมพ์เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในแง่ที่เป็นวัตถุ
วิชาวรรณคดีหรือศาสตร์ว่าด้วยการตีความไม่ได้มีเนื้อเกี่ยวข้องกับการพิมพ์หนังสือ
อันนี้เป็นงานของช่างหรือนักวิทยาศาสตร์ที่ทํางานด้านการพิมพ์หนังสือ ) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนังสือสองอย่างนี้เราจะถือว่าสําคัญเท่ากัน
ในแง่ที่เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดความเจริญงอกงามหางปัญญาของมนุษย์
วิชาศาสตร์ว่าด้วยการตีความก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสองอย่างนี้เท่าเทียมกัน
อะไรคือปัญหาที่เนื่องมาจากการเขียนและอ่านหนังสือที่ต่อมานำไปสู่การคิดหาเครื่องมือสําหรับแก้
ที่เรียกว่าศาสตร์ว่าด้วยการตีความนี้ เราจะเริ่มต้นที่การเขียนก่อน
ก่อนเขียนหนังสือ
เราต้องมีความคิดบางอย่าง เราต้องการให้คนอื่นเข้าใจหรือรับรู้ความคิด ของเรานั้น
เราจึงเขียนลงเป็นหนังสือ ในสมัยที่ภาษาเขียนยังไม่แพร่หลาย เราจะถือว่า
ภาษาพูดก็เป็นภาษาอย่างเดียวกับภาษาเขียน
ดังนั้นกิจกรรมที่เรียกว่าการเขียนเราจะรวมเอาการพูดด้วย
ตัวอย่างของผู้ที่มีความคิดบางอย่างของตนเอง
และประสงค์ให้คนอื่นร่วมรับรู้สิ่งที่ตนรู้นั้นก็เช่นพระพุทธเจ้า
ตามคัมภีร์พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกไปพบผู้คนเสมอ หากเป็นไปได้
และเมื่อไปพบผู้คน ก็จะทรง พูด อะไรบางอย่างกับพวกเขา
ในการพูด ทรงเปิดโอกาสให้คนที่ทรงพูดด้วยชักถาม
การสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับผู้คนตามที่กล่าวมานี้
ต่อมาได้มีการถ่ายทอดลงเป็นหนังสือที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าพระไตรปิฎก
ในเชิงข้อเท็จจริง
เราไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงพูดอะไรกับใครไว้มากน้อยเท่าใด และ
ที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือในพระไตรปิฎกและเชื่อกัน (ตลอดจนระบุว่า)
เป็นคําพูดของพระพุทธเจ้า จะเป็นคําพูดของพระพุทธเจ้ามากน้อยเพียงใด
ก็ย่อมเป็นปัญหาที่วงการประวัติศาสตร์ในโลก ตระหนักทราบและเข้าใจดี
แต่ในทางศาสนาและวัฒนธรรม
ชาวพุทธจะเคารพสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระพุทธวจนะที่แปลว่าคําพูดของพระพุทธเจ้า
ในสายตาของนักวิชาการเช่นนักประวัติศาสตร์ และนักปรัชญา
คัมภีร์ทางศาสนาในทุกศาสนาในแง่ที่เป็นตัวหนังสือย่อมต้องมาจากมือของคน
หมายความว่า เมื่อเราเปิดคัมภีร์จะของศาสนาใดก็ตามออกอ่าน
เราจะเห็นตัวอักษรเรียงกันอยู่เป็นข้อความ ตัวหนังสือเหล่านี้มีสองแบบ
คือตัวหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดที่ใช้จารึกคัมภีร์ศาสนานั้น
เช่นหากเป็นพระไตรปิฎกก็คือภาษาบาลีที่เป็นภาษาโบราณภาษาหนึ่งของอินเดีย อีกแบบหนึ่งก็คือ
ตัวหนังสือในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาดั้งเดิมที่ใช้ในการจารึกคัมภีร์
เช่นพระไตรปิฎกฉบับแปลไทย อังกฤษ ลาว เขมร ฝรั่งเศส เป็นต้น
เราจะพิจารณาตัวหนังสือที่อยู่ในภาษาที่เก่าแก่ที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อเปิดพระสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลีอ่าน เรามักเห็นข้อความในตอนต้นของพระสูตรว่า
เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ... ที่แปลเป็นไทยว่า สมัยหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้
ข้อความนี้เราพิจารณาได้สองส่วน หนึ่ง ตัวอักษรภาษาบาลี (ภาษาบาลีเดิมมีแต่เสียง
ต่อมาเมื่อมีการบันทึกเสียงบาลีลงเป็นตัวหนังสือ
ประเทศต่างๆก็ใช้อักขระในภาษาของตน เป็นสื่อ เช่นในอินเดียก็ใช้อักขระอินเดีย
ฝรั่งก็ใช้อักขระฝรั่ง ไทยก็ใช้อักขระไทย เป็นต้น)
อักขระเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์
ดังนั้นข้อความข้างต้นปรากฏในพระไตรปิฎกได้เพราะมีคนเขียนลงไป
เราต้องคิดว่ามีคนเขียนลงไป ส่วนจะเป็นใครยกไว้ก่อน
แต่คนผู้นั้นตามประวัติศาสตร์คงไม่ใช่พระพุทธเจ้า
พระไตรปิฎกในแง่ที่เป็นหนังสือทั้งสี่สิบห้าเล่ม (ของไทย) ไม่ใช่หนังสือ
ที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งเขียนด้วยมือของพระองค์ แต่มีคนเขียนให้
โดยคนเขียนจํานวนมากอ้างว่าเขียนตามที่จําได้ว่าทรงสอนมาอย่างนี้ สอง ตัวเนื้อหา
เนื้อข้างต้นเล่าว่า มีคนบางคนพูดว่า สมัยหนึ่ง เขาเคยได้ยินพระพุทธเจ้าทรงทําอย่างนี้และพูดอย่างนี้กับพระภิกษุ (รวม ภิกษุณี) สามเณร
(รวมสามเณรี) อุบาสก อุบาสิกา หรือคนนอกศาสนาพุทธ โปรดสังเกตว่า
เนื่องจากเนื้อหาของพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงนั่งเขียนเอง แต่มีคนเขียนให้
คนเขียนเขียนเล่าว่าเขาจําได้ว่าทรงทําอย่างนี้ ทรงสอนอย่างนี้
สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจึงเป็นเรื่องเล่า ตามประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก
ผู้ที่เล่าเนื้อหาส่วนที่เป็นธรรมคือพระอานนท์
ส่วนที่เป็นวินัยผู้เล่าคือพระอุบาลี
สองท่านนี้ทําหน้าที่เล่าเป็นช่วงๆแล้วที่ประชุมก็ถามว่าที่เล่ามานี้มีท่านใดเห็นต่างไหม
ในแง่ที่ว่าท่านผู้นั้นอาจฟังมาต่างจากที่พระอานนท์และพระอุบาลีเล่า
เมื่ออภิปรายกันลงตัวแล้ว ที่ประชุมก็จะอนุมัติข้อความที่เป็นทางการ
ให้ที่ประชุมสวดสาธยายข้อความที่เป็นทางการนั้นจนจําได้
ทําอย่างนี้ไปเป็นเวลาเจ็ดเดือน ก็ได้พระไตรปิฎกมา ซึ่ง จากข้อความที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเอง
ตอนนั้นเนื้อหาของพระไตรปิฎกน่าจะมีเพียงสองหมวด คือธรรม (พระสูตร) กับวินัย (พระวินัย)
ยังไม่ปรากฏเนื้อหาส่วนที่สามที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า พระอภิธรรม
ปัญหาเรื่องเนื้อหาของพระไตรปิฎก
(ตลอดจนคัมภีร์ศาสนาและหนังสือโบราณทั้งหลายที่เราไม่สามารถติดต่อคนเขียนเพื่อซักถามในกรณีที่มีปัญหาข้องใจบางอย่างเกี่ยวกับหนังสือนั้น)
เป็นปัญหา
ที่หนักกว่าปัญหาเรื่องรูปแบบอันได้แก่ใครเป็นคนเรียบเรียงคําพูดของพระพุทธเจ้า
ที่เรียบเรียงมานั้นผู้เรียบเรียงมีคุณสมบัติทางภาษาถึงหรือไม่ เมื่อมีการจดจําพระไตรปิฎกต่อๆ
กันมายาวนาน หลายร้อยปี เป็นไปได้ไหมที่จะมีการจดจําผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม
มีการสอดแทรกหนังสือใหม่ๆ เข้าไปในพระไตรปิฎกหรือไม่ โดยใคร เป็นต้น
แม้ปัญหาเรื่องรูปแบบบางอย่างก็สําคัญ เช่น
พระอานนท์ที่ทําหน้าที่เล่าว่าตนเองเคยได้ยินได้ฟังมาว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้อย่างนั้น
การเล่าจะต้องใช้ภาษา คําถามมีว่า พระอานนท์มีความสามารถทางภาษาเพียงพอไหม
การเล่าเรื่องจะต้องใช้ภาษา คำถามมีว่า
พระอานนท์มีความสามารถทางภาษาเพียงพอไหม
เรื่องนี้น่าถาม
ปัญหาเรื่องความสามารถทางภาษาของผู้เล่าเรื่องเป็นเรื่องที่คนในวงการประพันธ์หนังสือ
เข้าใจกันดี
เศรษฐีสมัยใหม่จึงต้องแสวงหานักเขียนที่เขียนหนังสือเก่งเพื่อเขียนประวัติให้แก่ตนเอง
ด้วยค่าจ้างที่แพงมาก เป็นไปได้ที่คนจ้างจะลองเล่าเรื่องราวของตนให้นักเขียน
สามคนฟัง แล้วให้สามคนนี้เรียบเรียงสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังจากปากคนเดียวกันนี่แหละ
เมื่ออ่านงานเขียนที่สามคนนี้เรียบเรียงมาส่ง แน่นอน งานต้องแตกต่างกัน
คนที่มีความสามารถทางภาษาดีที่สุดก็จะเขียนงานออกมาได้สมบูรณ์ ครบถ้วน
และชวนอ่านมากกว่าคนอื่น หากคนว่าจ้างตาถึง เขาย่อมจะจ้างคนมีฝีมือที่สุด
แม้ในวิชาที่ผมบรรยายนี้ สมมติผมบรรยายจบ ใช้เวลาบรรยายหนึ่งชั่วโมง
แล้วให้นิสิตแต่ละคนเขียนเล่าว่าที่ผมบรรยายไปนั้นมีใจความหลักๆ ว่าอย่างไร
เราคงไม่คิดว่างานจากนิสิตแต่ละคนจะเหมือนกัน ต่างกันแน่ และอาจต่างกันมากได้
คนที่มีความสามารถทางภาษาดีที่สุด ทั้งในแง่การจับสาระของสิ่งที่ตนได้ฟัง
และเอาสาระนั้นมาเรียงร้อยเป็นถ้อยอักษร จะเป็นคนที่เขียนงานออกมาดีที่สุด
เราควรถามคําถามนี้ กับพระอานนท์และพระอุบาลี
ว่าสองท่านนี้มีความสามารถทางภาษามากน้อยเพียงใด เราคง ไม่ทราบ
คําถามนี้จึงตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาคําตอบได้อย่างไร ในเมื่อสองท่านนี้
นิพพาน (ตาย) ไปนานแล้ว หากยังมีชีวิตอยู่ เราย่อมขอทดสอบท่านได้
หากท่านยินดีให้ทดสอบ
เราก็คงประเมินได้ว่าความสามารถทางภาษาของท่านมาตรฐานมากน้อยเพียงใด
เนื้อหาของพระไตรปิฎกอาจแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหยาบๆ
(คือแบ่งกว้างๆ ไม่ละเอียด) หนึ่ง พระไตรปิฎกที่อยู่ในรูปข้อความที่อาจเรียกด้วยคําสมัยนี้ว่าเป็นการถอดเทปคําพูดของพระพุทธเจ้า
นึกถึงหนังสือที่มาจากการถอดเทปคําบรรยายของท่านพุทธทาสก็ได้ เราอ่าน เรารู้ทันที
ว่านี่ไม่ใช่หนังสือที่ท่านพุทธทาสนั่งเขียนเอง
หรือพูดแล้วให้นักเขียนบางคนช่วยเรียบเรียงแทน เพราะภาษาที่อยู่ในหนังสือนั้นเป็นภาษาพูด
ไม่ใช่ภาษาเขียน พระสูตรจํานวนมากในพระไตรปิฎก อยู่ในรูปภาษาพูด
ภาษาพูดจะเป็นประโยคสั้นๆ เนื่องจากเวลาพูดคนเราต้องใช้ความจําเป็นช่วงๆ
และเป็นธรรมดาว่าความจําของคนเรา (ต่อให้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์
หรือเป็นพระศาสดาที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกมาแล้วเพื่อให้เป็นผู้สื่อสารระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์)
ย่อมทํางานเป็นช่วงสั้นๆ ดังที่กล่าว ระหว่างพูด คนพูด หากสงสัยว่าตนเองได้พูดเรื่องนี้ไปแล้ว หรือยัง ก็จะพูดซ้ำ
ภาษาพูดต่างจากภาษาเขียนตรงที่ภาษาพูดมักมีข้อความซ้ำหรือย้ำเนื้อเรื่องบางเรื่องที่ผู้พูดเห็นว่าสําคัญเสมอๆ
การเขียนอาจทําในร่างแรก แต่เมื่อเราอ่านพบ เราจะขีดฆ่าทิ้ง
หนังสือที่พิมพ์จากงานเขียนจะมีข้อความจํานวนมากที่คนอ่านไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะถูกขีดฆ่าทิ้งระหว่างการอ่านเพื่อเกลาเนื้อหาและภาษาทั้งโดยผู้เขียนและบรรณาธิการ
เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ในรูปของการถอดเทปคําพูดของพระพุทธเจ้าตามที่กล่าวมาข้างต้น
แต่อยู่ในรูปภาษาเขียน ที่น่าสนใจคือ
เนื้อหาส่วนนี้ของพระไตรปิฎกควรจะเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธที่มีวิจารณญาณ
(คือไม่ได้เชื่อทุกเรื่องที่เล่าไว้ใน พระไตรปิฎกและอรรถกถา
ก่อนจะเชื่อเรื่องใดต้องพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และ
สามารถเปลี่ยนความเชื่อได้เสมอมี หากมีข้อมูลใหม่ที่ดีกว่า) ว่า (1)
เนื่องจากพระพุทธเจ้า ไม่เคยทรงลงมือนั่งเขียนอะไรด้วยพระองค์เอง
ที่ทรงกระทําตลอดเวลาคือทรงพูด (2) ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นข้อเขียนที่อ้างว่าเป็นความคิดของพระพุทธเจ้า
เราต้องเข้าใจว่ามีคนแต่งหนังสือพวกนี้แทนพระพุทธเจ้า (3) ส่วนปัญหาว่า
ใจความที่แต่งมาเสนอเรานั้นตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงคิดหรือสอนจริงหรือไม่
ค่อยพิจารณาเป็นเรื่องๆไป
พระอภิธรรมปิฎกเป็นหนังสือเขียน ก็แปลความชัดเจนว่ามีคนเขียนแล้วอ้างว่าใจความทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้แล้ว
แต่พวกเราเรียบเรียงหลักธรรมเหล่านี้เสียใหม่ เพื่อให้กระชับและลึกซึ้งในทางปรัชญา
(บางแบบ)
เราจะกลับไปที่เนื้อหาของพระไตรปิฎกที่อยู่ในรูปข้อความถอดเทปของพระพุทธเจ้าอีกครั้ง
เป็นธรรมดาว่าเมื่อเราอ่านหนังสือ ข้อความจํานวนมากเราเข้าใจได้
และคิดว่าที่เราเข้าใจนั้นก็คงไม่ต่างจากที่คนอื่นเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น
มีข้อความในพระไตรปิฎกบางแห่งกล่าวว่า พระสารีบุตรที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะท่านเป็นลูกชายของพราหมณีชื่อสารี เมื่ออ่านข้อความนี้ ภาพที่ปรากฏในจินตนาการของเราก็คือ
มีชายอินเดียคนหนึ่งเป็นลูกของหญิงอินเดียอีกคนหนึ่ง
หญิงอินเดียคนนั้นมีชื่อว่าสารี เมื่อได้ลูกชายมา
ระบบการตั้งชื่อของเด็กในอินเดียสมัยนั้นนิยมตั้ง โดยโยงไปหาชื่อแม่
เขาเลยตั้งชื่อเด็กอินเดียคนนี้ว่า ลูกนางสารี คําในภาษาบาลีคือ สารีบุตร ธรรมเนียมเช่นนี้เราก็พบในโลกตะวันตก
ต่างเพียงฝรั่งใช้พ่อเป็นที่มาของชื่อลูก เช่นลูกนายจอห์น
ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าจอห์นสัน เป็นต้น
ข้อที่ควรสังเกตคือ
ข้อความที่เราอ่านแล้วไม่ค่อยมีปัญหาในแง่ของการทําความเข้าใจมักเป็นข้อความที่พูดถึงสิ่งต่างๆ
ที่เป็นรูปธรรม มีตัวตนชัดเจน
คนทั้งหลายสามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะอย่างอื่น นอกเหนือจากตา
(เช่นสัมผัสด้วยหู จมูก ลิ้น กายประสาท เป็นต้น)
หรือหากมีคำที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านั้น
ความสัมพันธ์ที่ว่านั้นแม้จะเป็นเรื่องนามธรรมก็ปรากฏความหมายชัดเจน
เช่นการเป็นลูกหรือเป็นแม่ เราเข้าใจดีว่าหมายความว่าอย่างไร เป็นต้น
แต่ในพระไตรปิฎก คําจํานวนมากโดยเฉพาะคําที่แสดงหลักความคิด
ที่ลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า คําเหล่านี้อาจสร้างปัญหาว่า ที่เราเข้าใจนั้นถูกไหม
คนอื่นจะเข้าใจ เช่นเดียวกับเราหรือไม่ หากเข้าใจไม่เหมือนกัน
จะวัดอย่างไรว่าความเข้าใจของใครถูก ของใครผิด โปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
(บทสนทนา)
-ท่านมหาครับ
ผมอยากบรรลุนิพพาน ทํายังไงครับ
-อ้อ
โยมก็ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดซิ
-อริยมรรคหน้าตาเป็นอย่างไรครับ
ขอโทษที่ถาม ผมไม่รู้จริงๆ
-(ท่านมหาเกาหัว)
ก็มรรคแปดไงโยม เริ่มจากสัมมาทิฐิ
-สัมมาทิฐิแปลว่าอะไรครับ
-แปลว่าความเห็นชอบ
-ใครชอบครับ
ท่านหรือผม
-(เกาหัวอีกรอบ)
ไม่ใช่โยม ไม่มีใครชอบทั้งนั้นแหละ เอาใหม่ สัมมาทิฐิแปลว่า ความเห็นที่ถูกต้อง
-ถูกต้องหมายความว่าอย่างไรครับ
ถูกต้องตามใคร ท่านหรือผม
-ถูกต้องแปลว่า...
มันอธิบายยากอยู่นะโยม... ถูกต้องก็คือไม่ผิด อ้อ อาตมานึกออกแล้ว
เห็นถูกต้องก็คือเห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
ตอนนี้เข้าใจยัง
-ยังครับ
ผมไม่เข้าใจคําว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ท่านช่วยอธิบายเพิ่มให้โยมเข้าใจได้ไหมครับ
โยมอยากไปนิพพานจริงๆ ตอนนี้ก็แก่มากแล้ว ต้องรีบครับ อาจตายห่าก่อน
-(หน้าเครียดอย่างเห็นได้ชัด
) โยมพูดคําหยาบ ช่างเถอะ ไม่เที่ยงแปลว่าไม่เป็นอย่างเดิม
เป็นทุกข์แปลว่ามันกดดันบีบคั้นเรา อนัตตาแปลว่าไม่ใช่ตัวเรา เข้าใจยังโยม
-ยังครับ
ผมชักรู้สึกแล้วว่าผมอาจหมดหวังที่จะไปนิพาน เพราะก่อนไป ผมต้องทําอะไรบางอย่าง
ผมยินดีทําอยู่แล้วครับ แต่ปัญหาคือ สิ่งที่ท่านบอกว่าผมต้องทําตามมันไม่ชัดว่า
หมายความว่าอย่างไร นอกจากไม่เข้าใจ
ผมก็สงสัยด้วยว่าจะไปนิพพานทําไมต้องทําตามความคิดเหล่านี้ เช่นสอนให้ผมมองว่าชีวิตนี้ไม่ใช่ตัวผม
แล้วมันเป็นของใครครับ ที่ผมอยากไปนิพพานเพราะผมรู้สึกว่ามีผม
(เอามือนิ้วจิ้มหน้าอกตนเองตอนพูด) และผมคนนี้ก็เป็นทุกข์ มันอยากพ้นทุกข์
พอมาหาท่าน ท่านก็บอกว่าไม่มีผม อ้าวแล้วกันครับ ไม่มีผมได้ไง
ก็ผมรู้สึกอยู่เวลานี้ เต็มที่ว่านี่ผม และผมก็เป็นทุกข์ ผมอยากไปนิพพาน
สอนผมง่ายๆ ไม่ได้หรือครับว่าผมที่เป็นทุกข์อยู่นี้ควรทําอย่างไร ว่ากันตรงๆเลย
ไม่ต้องสรรหาคํายากๆมาให้ผมทําตาม
เพราะเมื่อไม่เข้าใจความหมายแล้วผมจะทําตามได้เสียที่ไหน ว่าแต่ว่า
ถามจริงครับท่านมหา ท่านเคยสัมผัสนิพพานไหม ช่วยบอกผมหน่อย หากเริ่มที่เรื่องนี้
เราอาจคุยกันได้ตรงประเด็น
-อาตมาไม่กล้าพูดหรอกโยมว่าเคยสัมผัสนิพพาน
เราไม่ควรพูด
-แปลว่าเอาเข้าจริงท่านก็ไม่เคยสัมผัสสิ่งนี้
แล้วท่านแน่ใจได้อย่างไรครับว่า
หลักการทั้งหลายที่ท่านบอกผมว่าทําตามนะแล้วจะบรรลุนิพพานเป็นจริงอย่างนั้น
ในเมื่อท่านก็ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับนิพพาน
-อาตมาว่าตามหนังสือนะโยม
ขอตัวนะ จะไปฉันเพล โยมเอารถมารับแล้ว
นักปรัชญาคนหนึ่งชื่อจอห์น
ล็อค เสนอความคิดว่า ก่อนที่เราจะทําอะไร
เราต้องถามหาความหมายของสิ่งที่คนแนะนําเราเขาพูดถึง เช่นไปโบสถ์คาทอลิก หลวงพ่อพูดกับเราว่า
พระเจ้ารักลูกนะ
ดังนั้นเวลามีอุปสรรคอย่าท้อถอย พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราทุกคน ล็อคบอกว่าในคําพูดของบาทหลวงนี้ มีคําสําคัญคือพระเจ้า
เราต้องคิดว่าคำนี้หมายความว่าอย่าไร หากไม่เข้าใจก็ถามบาทหลวงเลยว่า
คําว่าพระเจ้าที่ท่านพูดท่านหมายถึงอะไร และจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า
สิ่งนั้นมีจริงในจักรวาลนี้
นักปรัชญาคนนี้พูดอะไรบางอย่างเกี่ยวภาษาและหนังสือที่ผมคิดว่ามีประโยชน์
เลยจะขอพูดถึง ความคิดอ่านของเขาสักหน่อย ล็อคพูดว่า
ชีวิตของคนเรานั้นว่าไปแล้วอาจพูดได้ว่าเราอยู่ในโลกอย่างน้อยสองโลก
โลกหนึ่งคือโลกที่ท่านผู้อ่านและผมเห็นอยู่ด้วยสายตาเวลานี้แหละ ตื่นนอนมา
เราก็มองเห็นและเชื่อว่าตนเองกําลังมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แหละ เท่าที่เราเข้าใจ
โลกใบ นี้เป็นดาวดวงหนึ่งในระบบสุริยจักรวาล โลกเราหมุนรอบดวงอาทิตย์
มีดวงจันทร์หมุนรอบโลกเราอีกที เราจึงเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตอนกลางวัน
และเห็นดวงจันทร์ขึ้นตอนกลางคืน เราเชื่อว่า สิ่งต่างๆ
ที่เราเห็นและได้สัมผัสด้วยอายตนะอย่างอื่น มีจริง เป็นจริง ตามที่ปรากฏแก่อายตนะ
ของเรา ผมขอเรียกโลกที่ว่านี้ว่าโลกทางวัตถุ ล็อคบอกว่า
เราคงอยู่ในโลกของวัตถุนี้มานาน ร่วมกับสัตว์และพืช มาวันหนึ่ง
มนุษย์บางคนก็สามารถแสดงออกในทางภาษาได้ คือส่งเสียง บางอย่างเพื่อบอกคนอื่นว่าตนคิดอะไร
แรกๆเสียงนั้นก็คงไม่มีใครเข้าใจ แต่พอสังเกตไปสักระยะก็เริ่มเข้าใจ ความหมาย ของเสียงที่ว่านั้น
เช่นคนคนหนึ่งเปล่งเสียงอยู่หลายครั้งว่า งูๆๆ คนอื่นแรกทีเดียวก็ไม่เข้าใจ แต่นานไปก็สังเกตเห็นว่า
เมื่อเปล่งเสียงนี้ คนนั้นจะชี้ไปที่สัตว์ชนิดหนึ่ง ตัวยาวๆ ไม่มีขา
เลื้อยไปมาบนพื้นดิน คนทั้งหลายยิ้ม เพราะรู้แล้วว่าเสียงว่างูหมายถึงอ้ายตัวยาวๆ
ที่เลื้อยไปบนดินนี้แหละ นอกจากเข้าใจ คนอื่นก็เลียนเสียงว่างูนั้นด้วย
นี่คือกําเนิดของคําว่างู
แรกที่เดียวคํานี้จะมาคู่กับของจริงคือสัตว์ตัวยาวที่เลื้อยไปบนพื้น
เมื่อเสียงนี้กลายมาเป็นคำ ก็เกิดพัฒนาการทางภาษาขึ้นอีกช่วงหนึ่งคือ
คําอาจมาเดี่ยวๆโดยไม่ต้องมาคู่กับของจริงก็ได้
คนป่าสองคนในถ้ากําลังนั่งกินข้าวด้วยกัน คนหนึ่งก็อาจพูดถึงงู อีกคนก็เข้าใจ
ทั้งที่ในถ้ำเวลานั้นไม่มีงูเลยสักตัว
ล็อคพูดเรื่องนี้เพื่ออธิบายว่าคําในภาษาของมนุษย์เกิดได้อย่างไร
ตามแนวคิดของล็อค คํามาจากการที่มนุษย์เราเห็นบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่จริง
เราอยากพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เราเลยสร้างคําขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์
ประโยชน์ของคํามีอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่ง ใช้เป็นชื่อเรียกสิ่งนั้น เช่นงู แมว
เก้าอี้ ปากกา ควาย เป็นต้น การที่สิ่งต่างๆ มีชื่อทําให้เราสะดวก
ลองนึกภาพซิครับว่า หากสิ่งต่างๆ ไม่มีชื่อ เราเข้าร้านอาหารแล้วอยากกินของบางอย่าง
คงใช้เวลานานกว่าคนขายจะเข้าใจว่าเราอยากกินอะไร ที่จริงอาหาร ไม่ต้องมีชื่อก็ได้
ทางร้านก็เพียงแต่วางตัวอย่างอาหารเอาไว้หน้าร้าน เราก็ชี้มือเอา
แต่สมมติว่าร้านนั้นขายอาหารร้อยอย่าง
ก็คงเป็นภาระแก่ทางร้านที่จะต้องแสดงตัวอย่างอาหารจํานวนมาก สรุปคือตั้งชื่อให้สะดวกที่สุด
อยากกินอะไรก็เปล่งเสียง บอกเช่น ลาบควาย หรือ ต้มยำเหี้ย เป็นต้น
ประโยชน์ประการต่อมาของคําเป็นประโยชน์ที่ซับซ้อน
คํานั้นต่อมามนุษย์เราสามารถจดจําและเข้าใจความหมายได้แม้ไม่มีสิ่งที่คำระบุถึงปรากฏให้เห็น
อานุภาพของคําตามที่กล่าวมานี้ทําให้เกิดคนพวกหนึ่งที่สามารถเอาคำทั้งหลายมาเรียงร้อยกลายเป็นเรื่องราวได้
คนพวกนี้คือนักประพันธ์หรือกวี มีการศึกษาสมัยใหม่ (ที่เรียกว่างานวิจัย)
ในต่างประเทศที่บอกว่า เด็กนักเรียนที่อ่านเรื่องแต่งดีๆ
มีแนวโน้มที่จะพัฒนาสติปัญญาได้ดีกว่านักเรียนที่อ่านแต่หนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว
เรื่องแต่งก็เช่นนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทละคร เป็นต้น
ซึ่งในที่นี้เราจะหมายความคลุมไปถึงงานศิลปะอื่นที่ใช้เนื้อหาจากเรื่องแต่ง
เช่นหนัง นิยายนั้นคนเขียนไม่ยืนยันว่าเรื่องที่แต่งเคยปรากฏเป็นจริงในโลก
แต่หนังสือที่แต่งขึ้นจากจินตนาการเหล่านี้กลับมีอิทธิพลต่อจิตใจและพฤติกรรมของคนเราได้
นี่คืออานุภาพของภาษาหรือคําที่ล็อดตั้งข้อสังเกตให้เราเห็น
และชี้ชวนให้เราไตร่ตรองศึกษา
เมื่อมาถึงตรงนี้ล็อคก็บอกเราว่า
มนุษย์เรานอกจากจะอยู่ในโลกแห่งวัตถุตามที่กล่าวข้างต้น เรายังอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่าโลกแห่งภาษา
สองโลกนี้มีจริง เป็นจริง เท่าเทียมกัน เวลาที่เราไม่สบาย เราไปหาหมอ
ยาที่หมอให้เรากินเป็นวัตถุ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้รักษาเราก็เป็นวัตถุ
นี่คือตัวอย่างที่แสดงว่าโลกแห่งวัตถุมีจริง และมีอิทธิพลต่อชีวิตของเราจริง
ในทํานองเดียวกัน คนบางคน อ่านหนังสืออยู่เสมอ
คนที่อ่านหนังสือที่ว่านี้อาจได้แก่คุณหมอหรือพยาบาลที่รักษาเรา เราเอง
ก็อ่านหนังสือด้วย คนสามคนคือเรา หมอ และพยาบาลอ่านหนังสือคนละอย่าง
เรียกว่าเราสามคนรวมอยู่ในโลกวัตถุเดียวกันก็จริง แต่เราอยู่ในโลกภาษาและหนังสือคนละโลก
โลกแห่งวัตถุว่าไปแล้วเกี่ยวข้องกับชีวิตเราในส่วนที่เป็นกายเป็นหลัก
แต่โลกหนังสือเป็นโลกที่เกี่ยวกับเราในส่วนที่เป็นความคิด ในแง่นี้จะเห็นว่า
โลกภาษานั้นสําคัญมาก
และเป็นโลกที่อาจหล่อหลอมให้คนเรามีจิตใจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้
การมีจิตใจบางแบบดีต่อตัวคนผู้นั้นและโลก
แต่การมีจิตใจบางแบบน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นอันตรายต่อเจ้าตัวเองและคนอื่นๆ ในโลก
แนวคิดของล็อคนั้นสนใจปัญหาว่า เมื่อเราอยู่ในโลกแห่งภาษา
เราควรมีหลักในการที่จะใช้ป้องกันตนจากอันตรายที่อาจเกิดได้แก่ตัวเราภายในโลกแห่งภาษานั้น
ตัวอย่างอันตรายที่สามารถเกิดแก่ผู้คน ในโลกแห่งภาษากเช่น
เคยมีการฆ่าตัวตายหมู่ในบางประเทศ คนตายจํานวนหลายร้อย การฆ่าตัวตายเกิดในศาสนสถาน
คนเหล่านี้เชื่อว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ มีโลกอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยความสุข
อย่างยิ่งยวด ที่นั่น เราจะได้พบพระผู้เป็นเจ้าที่เปรียบพระบิดาที่รักเรา
โลกนั้นไม่มีคนพิการ ไม่มีคนยากจน ไม่มีสามีที่ใจคด ไม่มีภรรยาที่นอกใจสามี
ไม่มีลูกที่เสียคนและอกตัญญู มีแต่ครอบครัวและเพื่อน ที่สมบูรณ์
สภาพอากาศที่สดชื่น ธรรมชาติที่งดงาม
นักบวชที่เป็นผู้นําของศาสนสถานเหล่านี้พูดกรอกหูสาธุชนที่ไปโบสถ์ตลอดเวลาว่าพวกเราเป็นมนุษย์พิเศษที่ปฏิบัติตนจนพระเจ้าทรงยอมรับ
ให้ไปอยู่ในสรวงสวรรค์ด้วย แล้ววันหนึ่ง
ผู้นําศาสนาก็นัดแนะให้ทุกคนมาร่วมกันฆ่าตัวตายหมู่ที่ โบสถ์ ด้วยความเชื่อว่า
เมื่อสามารถหลุดจากโลกที่เส็งเคร็งนี้ได้เพื่อไปอยู่ในโลกใหม่พร้อมด้วยชีวิตใหม่
เราจะรอไปจนแก่ตายทําไม
ในศาสนาทุกศาสนาจะมีคําสอนที่อยู่ในรูปภาษาที่กล่อมเกลาความนึกคิดของผู้คนให้เชื่อบางสิ่ง
บางอย่าง
และหลายสิ่งที่เป็นคําสอนสําคัญในศาสนาไม่สามารถตรวจสอบความหมายได้ว่าตกลงคําเหล่านี้หมายความว่าอะไร
อยู่ที่ไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ตัวอย่างของคําสําคัญในทางศาสนาก็เช่น
สวรรค์ นรก พระเจ้า นิพพาน โมกษะ กรรม สังสารวัฏ เป็นต้น
คําเหล่านี้มีอํานาจในการหล่อหลอมใจคนที่เชื่อถือมาก
ถึงขนาดตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นหมู่ เป็นคณะได้ หรือไม่ฆ่าตัวตาย
แต่ก็อาจยอมอดมื้อกินมื้อในโลกนี้เพื่อเอาทรัพย์ที่มีอยู่บริจาค
ทานแก่นักบวชที่บางส่วนมีความเป็นอยู่ดีกว่าชาวบ้าน เคยมีข่าวปรากฏในหลายศาสนาว่า
คนบางคนยอมบริจาคเงินที่ตนมีอยู่เกือบทั้งหมดให้แก่ศาสนา
โดยไม่แยแสว่าตนมีลูกที่ต้องส่งเสียให้เรียนหนังสือ คนเหล่านี้เชื่อว่า
ส่งลูกเรียนแล้วก็ไม่แน่ว่าลูกจะกลับมาเลี้ยงดูตน
แต่ถ้าฝากธนาคารความดีของศาสนาไว้ ตายไป จะต้องได้รับการคุ้มครองแน่นอน
แน่นอนกว่าส่งลูกเรียนหนังสือ
ล็อคบอกว่าสิ่งที่ศาสนาสอนตามที่กล่าวมานี้อาจจริงหรือเท็จก็ได้
นักปรัชญาไม่มีหน้าที่พิสูจน์เรื่องนี้ แต่มีหน้าที่ชวนให้คิดว่า
เราที่อยู่ในโลกแห่งภาษา เราควรปล่อยให้ภาษามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด
การไม่รู้จักคิดและกําหนดหลักในการใช้ชีวิตในโลกแห่งภาษาอาจส่งผลเป็นโศกนาฏกรรม
(ที่แปลว่าหายนะ หรือภัยพิบัติ) แก่ชีวิตอย่างน่าสมเพชเวทนา ก็เป็นได้
ผมจะชวนสนทนาเรื่องนี้ในตอนต่อไปนะครับ
30 สิงหาคม 2562
(ท่านที่สนใจแนวคิดของล็อคที่ผมพูดถึง
ดูหนังสือเล่มนี้นะครับ
John Locke, An Essay
Concerning Human Understanding, ฉบับพิมพ์ปีไหนก็ได้