แนวคิดเรื่องเทวะในพุทธปรัชญา
สมภาร พรมทา

 



-๑-


สิ่งที่ผมจะเสนอในบทความสั้นๆนี้โดยเนื้อหาน่าจะอยู่ในหมวดปรัชญาศาสนา เนื่องจากผมเขียนบทความนี้เพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารที่เจ้าของนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ผมคิดว่าการเขียนควรเป็นไปเพื่อให้มิตรต่างศาสนาได้ประโยชน์ เนื้อหาและประเด็นนำเสนอจึงพยายามให้ออกมาในทางที่ผู้อ่านที่อยู่ในจารีตศาสนาที่เชื่อเรื่องพระเจ้าจะได้ประโยชน์ ในเชิงความเข้าใจว่าศาสนาพุทธคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องเทวะ (ซึ่งผมจะยังไม่นิยามความหมายตรงนี้) และความคิดของศาสนาพุทธนั้นเหมือนหรือต่างจากความคิดของศาสนาคริสต์อย่างไร ในกรณีที่ต่างกัน ความต่างนั้นผู้นับถือศาสนาคริสต์จะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เนื่องจากบทความนี้เป็นบทความวิชาการ ผมจะไม่ระมัดระวังเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องระวังเพราะเกรงใจกัน ในวงวิชาการ เราไม่เกรงใจกัน เพราะถือว่าเรามีหน้าที่เสนอความเห็นทางวิชาการ ปกติแม้ไม่เกรงใจกัน เราก็ไม่เคยมีปัญหากระทบกัน ความเห็นต่างในวงวิชาการไม่เคยสร้างปัญหา ผมจะเดินไปทางนี้ และขออนุญาต (ซึ่งจริงๆไม่จำเป็น) เขียนด้วยภาษาแบบที่จะได้เห็นต่อไป (ภาษาแบบนี้วงการปรัชญาใช้กันมานาน นักปรัชญาที่สำคัญของโลกมักเขียนอย่างนี้ เพราะสื่อความคิดของคนเขียนได้ดีที่สุด)

 

-๒-


เพื่อให้การนำเสนอความคิดของพุทธศาสนาในบทความนี้เป็นไปเรียบๆตามธรรมชาติ ผมจะขอเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า สังคมอินเดียในสมัยที่พุทธศาสนายังไม่เกิดนั้นเป็นสังคมที่เชื่อว่า ในจักรวาลนี้ หรือกล่าวให้แคบลงกว่านั้นคือในผืนแผ่นดินนี้ นอกจากสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเช่นคน สัตว์ พืช แม่น้ำ ภูเขา ดวงตะวัน ดวงเดือน ดวงดาว เป็นต้น ยังมีบางสิ่งที่อยู่พ้นตาเปล่าของเรา สิ่งที่อยู่พ้นตาเปล่าของเรานี้มีหลายแบบ หลายชนิด ผมจะขอพูดถึงสิ่งที่อยู่พ้นสายตาของเราประเภทหนึ่ง สิ่งเหล่านี้หากเทียบกับสิ่งที่เราเห็นด้วยตาเปล่าในโลกก็คงเทียบได้กับคนและสัตว์เดรัจฉาน เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าสิ่งที่มีชีวิตประเภทหนึ่ง มีรูปร่าง ลักษณะ บางอย่างคล้ายคน บางอย่างคล้ายสัตว์ มีหลายชนิด โดยรวมๆมีคำอินเดียโบราณหลายคำสำหรับเรียกสิ่งมีชีวิตที่อยู่พ้นสายตาปกติของคนที่ว่านี้ ผมจะใช้คำหนึ่งที่ใช้กันมากคือคำว่า “เทวะ” คำนี้จริงๆมีความหมายที่สื่อถึงสิ่งมีชีวิตในโลกพ้นสายตาของเราบางแบบเท่านั้น คือแบบที่มีชีวิตความเป็นอยู่ปกติเหมือนมนุษย์เรา แต่บางพวกในแบบนี้ก็มีชีวิตที่ละเอียดประณีตกว่าเรา นอกจากสิ่งมีชีวิตแบบที่เรียกว่าเทวะนี้ ก็ยังมีอีกแบบคืออยู่ต่ำกว่าเรา ทุกข์ทรมานกว่าเรา เราเรียกสิ่งมีชีวิตจะพวกนี้รวมๆว่าพวกอยู่ในอบาย บางพวกอยู่ในนรก บางพวกอยู่นอกนรก แต่ถึงจะอยู่นอกนรกก็มีทุกข์ในบางลักษณะ เช่นหิวโหย ไม่มีอาหารกิน (เปรต) ที่ผมคัดเอาเฉพาะเทวะมาพูดในบทความนี้ก็เพื่อใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์ในบางเรื่องที่เป็นสาระสำคัญของศาสนาคริสต์ เช่นการนับถือพระเจ้า เป็นต้น เท่านั้น


ที่เล่ามานี้ผมต้องย้ำอีกหนหนึ่งว่า ความเชื่อเรื่องเทวะเป็นความเชื่อเก่าของชนชาติอินเดียก่อนที่พุทธศาสนาจะเกิด และเป็นความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ในภาคกลางของอินเดียซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าภาคกลางนั้นเป็นพื้นที่ของศาสนาพราหมณ์ที่ต่อมาเรียกว่าศาสนาฮินดู (ต่อไปนี้ผมขอเรียกรวมๆว่าฮินดู) เทวะที่คนฮินดูเขาพูดถึงตามที่ปรากฏในคัมภีร์ “พระเวท” และ “อุปนิษัท” มักเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราตลอดจนสัตว์พืชไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ๆคือไม่ปรากฏชื่อเทวะที่ลอยๆอยู่โดยไม่เกี่ยวว่าเทวะที่ว่านั้นเกี่ยวข้องอะไรกับมนุษย์ สัตว์ และพืช เอาตัวอย่างก็ได้ครับ เทวะองค์หนึ่งเป็นสตรีนามว่าพระแม่ธรณี เชื่อกันว่าที่สสารล้วนๆที่รวมกันแล้วเรียกว่าดินมีอำนาจแปลงเมล็ดพืชให้กลายเป็นต้นไม้เป็นต้นได้เพราะในแผ่นดินไม่ได้มีแต่สสารล้วนๆเท่านั้น แต่มีเทวะองค์นี้สถิตอยู่ด้วย ส่วนจะสถิตอยู่อย่างไรไม่สำคัญ ผมไม่ทราบว่า มนุษย์เราสร้างดินเทียมเพื่อปลูกต้นไม้ได้ไหม แต่ที่เราใช้ประโยชน์อยู่นี้เป็นดินธรรมชาติที่มีพระแม่ธรณีสถิตอยู่ บนก้อนเมฆก็มีพระพิรุณ ในสายลมก็มีพระวายุ (ที่ไทยเราแปลงเรียกว่าพระพาย เอาตัว ‘’ เป็น ‘’ แล้วลบสระอุ) ในดวงตะวันก็มีพระอาทิตย์ ในดวงเดือนก็มีพระจันทร์ ในดวงดาวอื่นๆที่เราเอามาเป็นชื่อวันเช่นดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อเทวะที่สถิตอยู่ในดวงดาวเหล่านี้ทั้งหมดทั้งสิ้น พูดง่ายๆก็คือ จักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่อยู่ในสภาพเป็นก้อนสสารโดดๆเดี่ยวๆ แต่จะมีเทวะอยู่ด้วย เทวะที่อยู่ในสิ่งเหล่านี้นั่นเองที่ทำให้สิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติตามที่เห็น เช่นน้ำฝนดื่มได้ นักวิทยาศาสตร์เอาน้ำฝนไปแยกแล้วได้ออกซิเจนกับไฮโดรเจน ซึ่งกินไม่ได้ทั้งคู่ แต่พอรวมแล้วกินได้ หมายความว่าอย่างไร คนอินเดียสมัยโบราณมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควรทีเดียว พวกเขาไม่เชื่อว่าสสารล้วนๆจะรวมกันแล้วมีอำนาจวิเศษขึ้นมาได้ด้วยตัวมันเอง เอาดินที่เราเหยียบอยู่นั้นเป็นกรณีศึกษาก็ได้ มันก็ดินธรรมดา ขุดมาดูก็เป็นก้อนหรือผงตามสภาพ แต่ก้อนหรือผงที่ว่านี้พอหยอดเมล็ดส้มลงไป งอกเป็นส้ม กินดูก็รู้ว่ารสส้ม ใกล้ๆกันนั้นหยอดเมล็ดพริกลงไปงอกเป็นพริก กินแล้วเผ็ดไม่เหมือนส้ม ความหวานผสมเปรี้ยวในส้มมาจากไหน ความเผ็ดในพริกมาจากไหน ก็มาจากดินที่มันกินเป็นอาหารนั่นเอง น่าอัศจรรย์ นี่เองที่ทำให้คนอินเดียโบราณเชื่อว่าต้องมีเทวะในดินแน่นอน


ผมจะไม่กล่าวเรื่องความเชื่อว่ามีเทวะประจำสิ่งหลักๆในธรรมชาติของชาวฮินดูมากไปกว่านี้ แต่จะตัดความมาที่ตอนที่พุทธศาสนาเกิดแล้ว มีความเข้าใจกันในหมู่นักวิชาการทางด้านศาสนาของอินเดียว่า พระพุทธเจ้าทรงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของศาสนาฮินดูบางอย่าง แต่บางอย่างทรงเห็นด้วย ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้นทรงมีปฏิกิริยาหลายแบบ เช่นบางครั้งก็ทรงวิจารณ์ตรงๆว่านี่ไม่น่าจะถูก เช่นเรื่องการฆ่าสัตว์บูชาเทวะซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวฮินดูบางท้องถิ่น การวิจารณ์นั้นจะทรงให้เหตุผลตรงไปตรงมา ซึ่งหลายเหตุผลหนักแน่น น่าจะยากที่จะเถียง เช่นตรัสว่า เทวะในสิ่งธรรมชาติเช่นแผ่นดินและแม่น้ำไม่เพียงแต่อุ้มชูมนุษย์ แต่อุ้มชูพืชและสัตว์ด้วย ดังนั้นการทำร้ายสัตว์เพราะเข้าใจว่าจะเป็นที่โปรดปรานของเทวะน่าจะผิดเสียแล้ว ของอย่างนี้เทวะที่มีเมตตาทั้งต่อคนสัตว์และพืชจะยินดีได้อย่างไร เฉพาะสัตว์นั้นไม่ต้องดูอะไรดูเพียงสายตาก็รู้ว่ามันไม่อยากตาย หากเราไม่อยากตาย เราก็ต้องไม่ทำอย่างนั้นกับสัตว์ เป็นต้น บางเรื่องทรง “กระเซ้าเย้าแหย่” เพื่อให้คิด เช่นบางวันเสด็จไปท่าน้ำเพื่อสรงพระกาย เห็นพวกพราหมณ์ลงไปดำผุดดำว่ายในน้ำอย่างที่ไม่ใช่การไปอาบธรรมดาๆ ก็ทรงถามว่าทำอะไรกันหรือ พอพวกนั้นตอบว่า กำลังล้างบาป ก็ตรัสเสียงสูงตอบว่า “เหรอ เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าบาปเป็นก้อนเหมือนขี้ไคลจึงเอาน้ำล้างได้” เป็นต้น แนวคิดบางอย่างทรงเอามาเปลี่ยนความหมายใหม่ แบบพุทธ เช่นคำว่าอรหันต์เดิมพวกฮินดูใช้เรียกผู้วิเศษเหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ทรงเปลี่ยนใหม่ว่าใครเอาชนะกิเลสได้ นั่นคืออรหันต์ เหาะได้หรือไม่ไม่สำคัญเลย แนวคิดนี้หลวงพ่อชาก็เอามาใช้ ท่านบอกว่าแมงจี่นูน (แมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง คนอีสานกินเป็นอาหาร อร่อยมากตามความเห็นผม) ก็เหาะได้ ก็ไม่เห็นว่ามันจะวิเศษตรงไหน

เท่าที่ผมสังเกต ปฏิกิริยาที่ทรงมีต่อคำสอนบางอย่างของศาสนาฮินดูนี้แบบหลังสุด (คือใช้คำเดิมร่วมกับเขา แต่เปลี่ยนความหมายใหม่แบบพุทธเพื่อบอกชาวพุทธว่าพวกเรามาเข้าใจอย่างนี้เถิดจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งชาวฮินดูที่คิดเป็นบางคนน่าจะได้ประโยชน์ด้วย) ทรงใช้มากที่สุด ดังนั้นการกระทบกระทั่งกันระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูในสมัยพุทธกาลจึงมีไม่มาก หรือแทบไม่มีเลย เฉพาะเรื่องเทวะนั้นเนื่องจากเป็นความเชื่อที่เป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรมอินเดีย (คือสังคมอินเดียให้ความสำคัญกับเรื่องเทวะมาก แม้เวลานี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น) พระพุทธเจ้าจึงทรง “แตะต้อง” อย่างระมัดระวังที่สุด ซึ่งผมจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

 

-๓-


เทวะตามหลักการของพุทธศาสนาเป็นชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสวรรค์และพรหมโลก ตามคำสอนของพุทธศาสนา สวรรค์มี ๖ ส่วน (ผมไม่อยากเรียกว่าชั้นเพราะคำนี้มีความหมายว่ามีสูงมีต่ำ สวรรค์ทั้งหกอาจอยู่ระนาบเดียว แต่อยู่คนละที่ได้ หรืออาจเป็นชั้นก็ได้ สรุปคือไม่แน่ ไม่ทราบ) พรหมโลกมีสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับพรหมที่มีรูป (คือมีร่างกายที่เป็นสสารและจิตที่เป็นอสสาร) อีกส่วนสำหรับพรหมที่ปราศจากรูป (คือไม่มีกายส่วนที่เป็นสสาร มีแต่จิตที่เป็นอสสาร) เทวะทั้งหมดนี้ตามหลักการของพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งเหนือธรรมชาติอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า the supernatural สิ่งเหนือธรรมชาติไม่มีในทัศนะของพุทธศาสนา จักรวาลนี้เป็นที่รวมของสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยมีกฎธรรมชาติทำหน้าที่ดูแลให้สิ่งต่างๆดำเนินไปตาม “ทาง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่นคน สัตว์ พืช เกิดแล้วต้องแก่ เจ็บ และตาย เกิดแก่เจ็บตายที่ปรากฏในคนสัตว์และพืชเป็นปรากฏการณ์ คล้ายการที่รถไฟวิ่งไปตามราง รถไฟวิ่งนอกรางไม่ได้ ชีวิตคนสัตว์และพืชก็ฉันนั้น ต้องวิ่งไปตาม “รางที่มองไม่เห็น” เมื่อถึงสถานีหนึ่ง เราจะแก่ อีกสถานีหนึ่งเราจะป่วยหนัก (คำว่าเจ็บหรือป่วยในอริยสัจตามความเห็นผมมีสองความหมาย หนึ่งป่วยนิดๆหน่อยๆ รักษาได้ สองป่วยหนักเพื่อจะตาย ท่านหมายเอาตัวหลังเป็นหลัก ตัวนี้การแพทย์ใดก็ไม่อาจเยียวยาได้ เมื่อวานผมก็พูดอย่างนี้ที่คณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์) และอีกสถานีหนึ่งเราจะตาย ที่ทุกชีวิตเป็นอย่างนี้เพราะทุกชีวิตถูกธรรมชาติบังคับให้วิ่งไปตาม “ราง” ที่ธรรมชาติกำหนดไว้แล้ว เทวะทั้งหลายก็เช่นกัน ชีวิตพวกเขาก็ต้องวิ่งไปตามราง เจอแก่ เจ็บ และตาย เช่นเดียวกับเรา อาจต่างกันบ้างก็ตรงที่ความเจ็บของเทวะเบาบางกว่าเราในทางร่างกายเพราะกายเขาละเอียดประณีตกว่าเรา แต่จิตใจไม่ต่างกัน เทวะก็ปวดหัวได้ เสียเส้นได้ ของขึ้นได้ มีข้อมูลน่าขำในพระไตรปิฎกเล่าไว้ด้วยซ้ำว่าเทวะบางพวกนั้นควบคุมใจไม่ได้ เป็นเทวะขี้ยั๊วะอีโก้จัด พวกนี้มักตายเพราะของขึ้นแล้วเก็บอาการไม่อยู่แล้วขาดใจตาย

เทวะชนิดพรหมนั้นชีวิตก็ต้องเดินตามรางเช่นกัน แต่กายเขาประณีตมาก จึงไม่มีทุกข์ทางกายปรากฏ แต่ทุกข์ทางใจก็มี และอาจมีลึกซึ้งกว่ามนุษย์และเทวะประเภทเทวดาเสียด้วยซ้ำ เพราะจิตใจของพรหมนิ่ง ความนิ่งนั้นเป็นผลมาจากสมัยเป็นมนุษย์พวกนี้ปฏิบัติสมาธิจนได้ฌาน ตามหลักปรัชญาพุทธศาสนา การได้ฌานไม่เกี่ยวกับการควบคุมใจให้เยือกเย็นในเชิงความฉลาดรู้เท่าทันปัญหาชีวิตและปล่อยวางได้ ฌานเป็นคุณสมบัติทางกายภาพของจิต คือสามารถดึงเหนี่ยวตัวเองให้โน้มไปในทางที่จะปิดตัว ไม่รับรู้โลก ได้เชี่ยวชาญและรวดเร็ว พูดง่ายๆคือฌานเป็นคุณสมบัติของความเชี่ยวชาญเรื่องการตัดตัวหนีจากโลก ไม่ใช่ความสามารถที่จะทนต่อทุกข์ในโลก สมาธิที่นำไปสู่ฌานมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ทรงทดลองปฏิบัติจนบรรลุขั้นสูงสุดมาแล้ว (คือได้อรูปฌานที่สี่) หากนักพรตสิทธัตถะตายตอนนั้นก็จะได้ไปเกิดเป็นอรูปพรหมประเภทประเภทนี้ (ที่เรามักเรียกว่าพรหมชั้นสูงที่สุด—ไม่อยากเรียกชั้นตามที่กล่าวข้างต้น)


เมื่อจิตของพรหมไม่ได้คุ้นเคยต่อการประจันหน้ากับทุกข์ ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะเชื่อว่าพรหมจะปราศจากทุกข์ใจ สรุปคือความต่างระหว่างมนุษย์กับเทวะเป็นเรื่องทางความประณีตเชิงสรีระ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องคุณภาพทางใจ เมื่อวิเคราะห์อย่างนี้ ศาสนาพุทธจึงเฉยๆ ไม่ได้ให้ค่าว่าเทวะสูงส่งกว่ามนุษย์ เทียบอย่างนี้ก็ได้ คนรวยกับคนจนต่างกันตรงที่คนหนึ่งมีทรัพย์มากกว่า แต่ไม่มีอะไรบอกว่าคนรวยจะจิตใจสูงกว่าหรือประณีตกว่าในแง่สามารถที่จะเข้าใจชีวิต และยอมรับได้เมื่อต้องพลัดพรากจากคนรักหรือสิ่งอันตนหวงแหน มากกว่าหรือดีกว่าคนจน เทวะก็เหมือนคนรวย ที่เขาเกิดเป็นเทวะก็เพราะเขาทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นกุศลเช่นให้ทาน เจริญสมาธิ เมื่อเทวะเป็นเรื่องของคุณสมบัติเชิงกายภาพ ศาสนาพุทธจึงไม่สอนให้เรานับถือ เพราะไม่มีอะไรให้นับถือ และเนื่องจากเทวะตามคติของศาสนาพุทธไม่เหมือนเทวะตามคติของศาสนาฮินดู คือเทวะของฮินดูมีบุญคุณต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช เพราะอยู่เบื้องหลังการอำนวยดินน้ำไฟลมให้มนุษย์ได้ใช้สอย แต่เทวะของพุทธศาสนาเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งไม่ต่างจากคน สัตว์ และพืช และอยู่ได้เพราะธรรมชาติเกื้อกูล (สวรรค์หรือพรหมโลกนั้นเกิดเองตามธรรมชาติเหมือนโลกมนุษย์นี่แหละ) การที่พุทธศาสนาไม่สอนให้นับถือเทวะก็ย่อมจะเป็นที่เข้าใจได้

 

-๔-


มีคำถามว่า แม้โลกปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมาก แต่ความเชื่อเรื่องเทวะก็ยังมีอยู่ ไม่เฉพาะในประเทศไทย ในประเทศตะวันตกอย่างอเมริกาก็ยังมีคนนับถือเทวะอยู่ ในศาสนาคริสต์ พระเจ้าอาจเรียกได้ว่าคือเทวะสูงสุด ท่ามกลางสภาพของโลกที่เป็นอย่างนี้ ชาวพุทธควรวางตัวอย่างไร และคนที่ได้นับถือศาสนาพุทธพึงพิจารณาหลักการเรื่องเทวะแบบพุทธอย่างไร ผมไม่ประสงค์จะตอบคำถามนี้ในบทความนี้ เพราะประสงค์จะทิ้งประเด็นนี้ให้เป็นปมปริศนาเพื่อท่านผู้อ่านจะได้คิดต่อไป แต่ผมมีข้อสังเกตสั้นๆบางอย่างเสนอ อาจเป็นประโยชน์ในแง่ที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านคิดต่อ ทั้งท่านผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธและที่นับถือศาสนาที่สอนเรื่องพระเจ้า

ประการแรก เราต้องรับว่าเทวะตามความเชื่อของศาสนาพุทธเป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจต่างจากเทวะที่เชื่อในศาสนาอื่นเช่นฮินดู ผมเข้าใจว่าพระเจ้าในศาสนาคริสต์มีความหมายโน้มไปทางเดียวกับศาสนาฮินดู คือพระเจ้าเป็นเทวะที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ในทางเกื้อกูล อุดหนุน ให้มนุษย์มีชีวิตที่ประเสริฐมากขึ้นตามลำดับ ท่านพุทธทาสเคยเสนอว่า ในศาสนาพุทธ มีความเชื่อบางเรื่องที่คล้ายกับความเชื่อเรื่องพระเจ้า คือเชื่อว่ามีสิ่งอันเป็นนามธรรมบางอย่างที่ทำงานคล้ายพระเจ้าในศาสนาคริสต์ หรือเทวะ โดยเฉพาะเทวะระดับสูงเช่นพระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ในศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธเรียกนามธรรมอันนี้ว่า “ธรรม” ซึ่งท่านพุทธทาสตีความว่าคือกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติที่เรียกว่าธรรมนี้หากเทียบกับพระเจ้าในศาสนาฮินดูก็เทียบได้กับพรหมัน (ไม่ใช่พระพรหมนะครับ พระพรหมเป็นหนึ่งในเทวะสำคัญสามองค์ แต่พรหมันคือสิ่งให้กำเนิดเทวะทั้งสามนี้อีกที) ที่ไร้คุณสมบัติ ศาสนาฮินดู (ตามคัมภีร์ “อุปนิษัท”) เขียนไว้ว่าพรหมันมีสองภาค ภาคแรกคือภาคหยาบ เรียกว่าพรหมันที่มีคุณสมบัติ (สคุณพรหมัน) ภาคที่สองคือภาคละเอียด เรียกว่าพรหมันไร้คุณสมบัติ (นิรคุณพรหมัน) หากพระเจ้าในศาสนาคริสต์หมายถึงเทวะในภาคที่ละเอียดอย่างพรหมันไร้คุณสมบัติ ท่านพุทธทาสบอกว่า พระเจ้าในศาสนาคริสต์ก็คือธรรมในศาสนาพุทธ เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธเจ้าตรัสกับสาวกเสมอว่า คนที่ไม่เคารพอะไรเลยชีวิตจะอ้างว้างว่างเปล่า พระองค์ก็ต้องหาอะไรสำหรับเคารพ ตรัสว่า “เราเคารพธรรม” ถ้าพิจารณาสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทำ เราจะเข้าใจว่า ท่าทีที่วางเฉยต่อเทวะแบบพุทธนั้นใช้กับเทวะในความหมายแบบพุทธอันหมายถึงสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง อยู่ร่วมโลกกับเรา มีชะตากรรมในชีวิตไม่ต่างจากเรา เรานับว่าเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายได้ เห็นใจสงสารได้ แต่จะพึ่งพาไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้เหนือกว่าเรา 

หลักการนี้ใช้กับเทวะในศาสนาคริสต์หรือฮินดูไม่น่าจะได้ เพราะเทวะในศาสนาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในเชิงมีบุญคุณ ศาสนาพุทธสอนเรื่องกตัญญูกตเวที เป็นไปไม่ได้ที่ศาสนาพุทธจะสอนให้ลบหลู่เทวะในความหมายนี้ หากเข้าใจอย่างนี้ ชาวพุทธก็น่าจะวางตัวได้ถูก ไม่ดูหมิ่นการนับถือเทวะในศาสนาของเพื่อน และในแวดวงชาวพุทธด้วยกัน ปัจจุบันมีคนทรงเจ้าจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นร่างทรงของเทวะ หากเทวะที่มาลงร่างเป็นสิ่งมีชีวิตแบบหนึ่ง ไม่ใช่พระแม่ธรณีหรือพระแม่คงคาที่เกื้อกูลเรา (เทวะแบบนี้ไม่มีทางมาลงร่างคนทรง ฮินดูเขามีหลักการชัดเจน) แต่เป็นเจ้าแม่พื้นๆเช่นเจ้าแม่กล้วยตาก หรือกล้วยตานี ก็ว่าไป เราจะเฉยๆเสียก็ได้ เพราะเขาไม่มีอะไรเหนือเรา ต่างคนต่างอยู่ก็แล้วกัน หากเดือดร้อนมาขอให้ช่วย เช่นหิว ก็อาจทำบุญให้ แต่จะไม่กราบไหว้ เพราะคุณก็เท่ากันกับเรานี่แหละ

 

๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๐

เขียนตามคำเชิญของบรรณาธิการ พิมพ์ครั้งแรกในวารสาร “แสงธรรมปริทัศน์” ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๐ ขอขอบคุณบรรณาธิการวารสารที่อนุญาตให้ผมเอาข้อเขียนนี้มาลงในเว็บไซต์ศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญา—สมภาร พรมทา