ภาษาดีคืออย่างไร
สมภาร
พรมทา
-๑-
ผมตามหาหนังสือ
กามนิต ฉบับภาษาอังกฤษมานาน นานมาก เคยอ่านฉบับที่อาจารย์สุลักษณ์เอามาพิมพ์รวมสองภาษา
แต่ก็อยากเห็นต้นฉบับ จนไม่นานนี้ ผมไปเห็น กามนิต
ฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากฉบับเยอรมัน พิมพ์ปี 1911 (ฉบับที่อาจารย์สุลักษณ์ถ่ายสำเนามาลงพิมพ์ในเล่มที่ผมพูดถึงข้างต้นพิมพ์ปี
1912) ขายที่ร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่งในชนบทอังกฤษ
(ผมเป็นลูกค้าประจำร้านนี้ อุดหนุนเขามานาน) อ่านจากคำบรรยายที่เขาลงให้อ่าน
คิดว่าสภาพหนังสืออายุ ๑๐๗ ปีเล่มนี้ยังดีอยู่ เลยสั่งซื้อไป ราคา ๑,๘๐๐ บาท
รวมค่าส่งแล้ว เขาเพิ่งแจ้งมาวันนี้ขณะที่ผมเขียนข้อเขียนนี้ว่า
หนังสือส่งมาทางเรือบินแล้ว อีกสักสองสัปดาห์ กามนิต
ต้นฉบับที่ท่านผู้แปลเป็นไทยใช้ก็จะเดินทางมาหาผมที่บ้าน
สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่นักเลงหนังสือ ขอเรียนสั้นๆว่า หนังสือเรื่อง กามนิต
หรือที่ต่อมาบางทีก็พิมพ์ในชื่อว่า กามนิต-วาสิฏฐี โดย เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป
นั้นไม่ใช่หนังสือแต่ง แต่เป็นหนังสือแปล
ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้เป็นนักเขียนชาวเดนมาร์ก ชื่อ คาร์ล เกลเลอรัป
(Carl Gjellerup) หนังสือเล่มนี้พิมพ์ปี 1906 ฉบับแปลเป็นอังกฤษมีกี่สำนวนผมไม่ทราบ
แต่สำนวนที่ยังเหลืออยู่คือที่แปลโดย John E. Logie
พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ William Heinemann ซึ่งก็คือฉบับที่เขากำลังส่งมาให้ผมตามที่เล่าข้างต้น
ฉบับภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Pilgrim Kamanita
ท่านผู้แต่งนิยายเรื่อง กามนิต
นี้เขียนหนังสือเป็นเยอรมันบ้าง เดนมาร์กบ้าง แต่เล่ม กามนิต แต่งเป็นเยอรมัน ชื่อก็ตรงกับที่เขาแปลเป็นอังกฤษ
(คือไม่มีวาสิฏฐีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย) หลังจาก กามนิต
ตีพิมพ์ได้ประมาณสิบปี ท่านผู้แต่งก็ได้โนเบลสาขาวรรณคดี
และเป็นที่ทราบกันว่าเรื่อง กามนิต มีส่วนมากที่ทำให้ท่านผู้แต่งได้รางวัลนี้
ดูเหมือนเมื่อได้รางวัลแล้วราวสองปี เกลเลอรัปก็อำลาจากโลกนี้ไป
โดยคงไม่ทราบว่า ต่อมาหนังสือของตนเล่มนี้จะกลายมาเป็นหนังสือสำคัญในประเทศไทย
กระทรวงศึกษาธิการเคยให้นักเรียนอ่าน
และคนไทยน้อยคนจะทราบว่าคนแต่งเรื่องนี้เป็นฝรั่ง ตอนได้โนเบลนั้น ท่านผู้แต่งอายุ
๖๐ ปีเต็ม แปลว่าแต่ง กามนิต ตอนอายุระหว่าง ๔๐-๕๐ ปี จากข้อความบางแห่งในฉบับภาษาอังกฤษ
ทำให้ผมทราบว่าท่านผู้แต่งอ่านปรัชญาอินเดียและพุทธปรัชญาพอสมควร
และขณะแต่งเรื่องนี้
มีอะไรสงสัยก็จะถามอาจารย์สอนทางด้านภารตวิทยาที่มีชื่อเสียงของเยอรมันสมัยนั้น
(พวกเราในวงการปรัชญาพุทธและอินเดียรู้จักงานของท่านเหล่านี้เป็นอย่างดี)
ฝรั่งแต่งหนังสือ ต่อให้เป็นนิยายก็จะ research เรื่องที่แต่งเพื่อให้ข้อมูลมันชัดและทะลุทะลวงก่อน
อันนี้ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานปกติธรรมดานะครับ
ไม่ใช่เรื่องพิเศษแต่อย่างใดในวัฒนธรรมการประพันธ์หนังสือของฝรั่งเขา
ผมสั่ง
กามนิต ต้นฉบับมาเพื่ออะไร คิดออกสองเรื่องครับ หนึ่ง
ผมอยากหาโอกาสอ่านนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่และอ่านหมดทุกตัวอักษร
และฉบับที่อ่านควรเป็นฉบับ แปล
ที่ยังคงเนื้อหาสาระที่ใกล้เคียงกับฉบับต้นตอที่สุด ผมอ่านเยอรมันไม่ได้
ก็ต้องอ่านอังกฤษ (ฉบับเยอรมันยังหาได้ง่ายกว่าฉบับอังกฤษ)
ฉบับไทยนั้นงดงามปานใดไม่ต้องพูดกันเลยครับ
แต่เนื่องจากท่านผู้แปลมีภาพของพระพุทธเจ้าในใจแบบคนไทย ผมสังเกตว่าเมื่อแปล
ภาพที่ว่านี้จะมีอิทธิพลทำให้ท่านไม่แปลคำจำนวนหนึ่งที่ผู้แต่งเขาแต่งไว้ชัด
(เพราะเขาจินตนาการว่าพระพุทธเจ้าเป็นแบบหนึ่ง) แต่ท่านผู้แปลน่าจะคิดว่าคำเหล่านี้ไม่เข้ากับภาพในจินตนาการที่คนพุทธไทยนึกเห็นเวลาพูดถึงพระพุทธเจ้า
เลยไม่แปล คำพวกนี้มักเป็นคำที่แสดงว่าพระพุทธเจ้ายังมีความรู้สึกแบบมนุษย์
ต่อให้ทรงหลุดพ้นแล้ว ก็ไม่ทรงหลุดพ้นจากความเป็นคน
ที่หลุดพ้นนั้นคือทุกข์อันมาจากความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น
ผมอ่านฉบับอังกฤษได้บรรยากาศคนละอย่างกับที่อ่านฉบับไทย ผมอยากอ่านให้หมด
เลยสั่งซื้อมา ส่วนการได้หนังสือที่เป็น first edition มานั้นเป็นของแถมทางจิตวิทยา
(แต่ก็มีผลมากเหมือนกันนะครับ เวลาเปิดอ่าน
ผมจะได้รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ตอนเขาพิมพ์ ผมยังเป็นความว่างเปล่าอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบในสากลจักรวาลนี้
หนังสือนี้อายุแก่กว่าผมสี่สิบกว่าปี)
ความคิดอย่างที่สองคือ
ตอนนี้ผมเข้ามาทำงานเต็มเวลาที่มหาจุฬา
มีงานหลักสองอย่างคือทำศูนย์ศึกษาและเผยแพร่ความรู้ทางด้านพุทธปรัชญา
สอนและคุมวิทยานิพนธ์ทางปรัชญา ผมคิดว่างานสอนและดูวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์นั้นเหมือนงานอุปัชฌาย์
คือต้องทำงานร่วมกับลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด หากต้องการสร้างศิษย์ที่มีคุณภาพ
การเรียนหนังสือนั้นทั้งอาจารย์และศิษย์ต้องสื่อสารกันผ่านภาษา ในส่วนของศิษย์นั้น
ผมไม่รู้ดอกครับว่าใครคิดได้หลักแหลมและมีหลักการกว่าใคร จนกว่าพวกเขาหรือท่านจะพูดอะไรกับผมในชั้นเรียน
หรือเขียนอะไรมาให้ผมอ่าน ผมคิดว่า คนจะเรียนปรัชญาได้ดีต้องเป็นคนภาษาดี
ภาษาเป็นอาวุธสองทาง หนึ่งภาษาทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เราอ่าน สอง
ภาษาทำให้เราสื่อสารความคิดของเราให้คนอื่นเข้าใจ ภาษาที่ดีทำให้นิสิตทำงานสองอย่างข้างต้นนั้นลุล่วงด้วยดี
ผมเลยคิดว่าหน้าที่หนึ่งของผมในฐานะอาจารย์ (ที่สอนด้วยการบรรยายด้วย
ตรวจงานลูกศิษย์ที่เขียนมาส่งด้วย) ก็คือ ผมควรพยายามริเริ่มขวนขวายในทางที่ว่า
ทำอย่างไรจึงจะฝึกศิษย์ให้เป็นคนเขียนหรือพูดดี แน่นอน
อาจารย์จะต้องไม่เป็นแม่ปูที่เดินคดไปคดมาแล้วสอนลูกปูว่าเดินตรงๆ
ที่ผมขวนวายอ่านหนังสือดีๆในโลกและเขียนและพูดออกมาเสมอหากมีโอกาสก็เพราะต้องการเป็นแม่ปูที่เดินตรง
จะได้เป็นตัวอย่างแก่ลูกปูเวลาบอกพวกเขาหรือท่านว่าเดินตรงๆนะครับ
กามนิต
ฉบับภาษาอังกฤษนี้ผมสั่งมาเพื่อให้นิสิตของผมที่มหาจุฬาทำสำเนาไปอ่านด้วย
นี่คือเหตุผลประการที่สอง นอกจากเล่มนี้
ผมมีเล่มอื่นๆที่เคยให้ทำนำเนาไปอ่านมาจำนวนหนึ่งแล้ว ในอนาคตก็คงมีมาเรื่อยๆ
นี่คือระบบที่อาจารย์และศิษย์อ่านหนังสือด้วยกัน อันเป็นงานนอกห้องเรียน
(ลำพังการอ่านหนังสือที่ต้องอ่านในชั้นก็มากอยู่แล้วครับ
ดังนั้นหนังสืออ่านนอกห้องทั้งหลายทั้งปวงต้องเป็นหนังสือสนุก)
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เพื่อให้ทั้งผมและลูกศิษย์เดินไปข้างหน้าด้วยกัน
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในเรื่องภาษา
ผมเน้นเรื่องภาษาเพราะคิดว่าในห้องเรียนหนังสือส่วนใหญ่ที่ต้องอ่านเกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางปรัชญาอยู่แล้ว
การแยกเรื่องภาษาออกมาต่างหากจะช่วยให้เราคัดเลือกหนังสือสำหรับอ่านได้สะดวก
-๒-
ภาษาทุกภาษาในโลกเกิดตามธรรมชาติ
เมื่อเป็นเรื่องธรรมชาติ (คือเป็นหนึ่งในบรรดา biological properties ของเรา) คนที่ใช้ภาษาได้ดีที่สุดก็คือคนที่เกิดอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่ใช้ภาษานั้น
หากเป็นความจริงว่าสังคมหนึ่งจะใช้ภาษาหลักภาษาเดียว
ก็ย่อมเป็นธรรมชาติว่าคนเราจะเก่งภาษาได้เพียงภาษาเดียวในชีวิต
หมายความว่าเขาจะเก่งภาษาที่เขาได้รับการจัดสรรโดยธรรมชาติให้สังกัด
แต่เป็นไปได้ที่เราจะมีภาษาที่สอง สาม และสี่... ที่เราใช้งานได้ดีทีเดียว
แต่ภาษาเหล่านี้เนื่องจากเป็นภาษาที่เราเรียนรู้แบบไม่เป็นธรรมชาติ
ที่สุดความเชี่ยวชาญก็จะมีจำกัด ผมอ่านและเขียนภาษาอังกฤษมานานพอสมควร
มีหนังสือที่แต่งเป็นภาษาอังกฤษเลยเพื่อตีพิมพ์วางตลาดอยู่ในตลาดต่างประเทศ (เช่น Amazon
และ Kobo) จากคำวิจารณ์ของเจ้าของภาษาที่ลงพิมพ์ในเว็บไซต์ที่ขายหนังสือผม
(ที่เขามีช่องทางให้คนซื้อหลังจากอ่านหนังสือผมแล้วสามารถวิจารณ์และให้ดาวได้)
ดาวส่วนใหญ่ที่คนอ่านที่เป็นเจ้าของภาษาให้ผมคือ ๕ มีบางเล่มที่ได้ ๔
(ไม่เคยต่ำกว่านี้) ก็แปลว่า คนอ่านที่เป็นเจ้าของภาษาก็เข้าใจงานผมได้
สะท้อนจากดาวที่ได้ และบางคนก็วิจารณ์ว่า เขาอ่าน เขารู้ว่าผมที่เป็นคนเขียนไม่ใช่
native speaker แน่นอน เพราะภาษามันจะบอก แต่เขาก็บอกว่า
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความไม่ใช่เจ้าของภาษา แต่อยู่ที่การเรียบเรียงความคิด
ดาวที่เขาให้มาจากการเรียบเรียงความคิด
แม้ว่าเราจะเขียนหรือพูดภาษาที่สอง
สาม และสี่...ได้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่เมื่อเทียบกับภาษาที่เราสังกัด
เราจะเห็นความแตกต่างกันมาก ผมรู้ว่าเวลาที่เราเขียนภาษาอังกฤษ
อย่างไรเราก็เขียนให้บรรลุความสมบูรณ์ด้านเนื้อหาและความงามได้ไม่เท่าภาษาไทย
ความรู้สึกมันจะบอก เทียบกับการหายใจ เวลาที่ผมเขียนฝรั่ง
ผมรู้สึกว่าผมหายใจได้ไม่เต็มปอด
เหมือนไม่ได้หายใจอย่างเป็นธรรมชาติผ่านจมูกของตนเอง แต่ผ่านอะไรก็ไม่ทราบ
แต่เวลาเขียนไทย ผมรู้ว่าผมมีเสรีภาพที่จะคิด เขียน
อย่างที่ไม่รู้สึกว่ากำลังยืมจมูกใครหายใจ
ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมกล่าวข้างต้นที่อาจสรุปสั้นๆได้ว่า
ความสามารถทางภาษาเป็นเรื่องทางชีววิทยา
คือเกิดมาเป็นคนในภาษาใดก็จะใช้ภาษานั้นได้ดีที่สุด
เป็นความจริงสากลที่ใช้กับคนทุกชาติ ฝรั่งบางคนพูดและเขียนไทยได้ดี
เพราะอยู่ไทยนาน แต่เราที่เป็นคนไทยก็ฟังหรืออ่านออกว่า เขาใช้ภาษาไทยได้ไม่เป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก
มันจะมีช่องว่างให้ความเป็นฝรั่งเล็ดลอดออกมาให้เห็นเสมอ แต่อย่าลืมนะครับ
ภาษาที่สองนั้นต่อให้เราไม่อาจเชี่ยวชาญเป็นนายมันได้ทั้งหมดเพราะเราไม่ได้เกิดเป็นคนที่ใช้ภาษานั้นทั้งชีวิต
แต่ก็เป็นเรื่องที่เราฝึกได้ และเป็นไปได้ที่คนนอกภาษานั้นจะฝึกแล้วใช้งานได้ดีกว่าคนที่อยู่ในภาษานั้น
แต่ไม่เคยสนใจฝึกฝนการใช้ภาษาของตนเลย ฝรั่งที่เขียนไทยดีๆ (เช่น Michael
Wright ที่เขียนเรื่องทางศิลปวัฒนธรรมไทย)
มักเขียนภาษาไทยดีกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นคนไทยในสาขาเดียวกัน
ไม่ต้องพูดว่าฝรั่งเหล่านี้เขียนไทยดีกว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่เขียนอะไรทางเฟสบุคอยู่วันแล้ววันเล่า
โดยไม่มีอะไรก้าวหน้าในทางความงามของภาษาและความคิด
สำหรับนิสิตที่ผมสอนที่มหาจุฬา
(และท่านผู้อ่านทั่วไปด้วยนะครับ) ผมอยากพูดว่า (๑) ให้สนใจภาษาไทย
เรามีความสามารถตามธรรมชาติที่จะใช้ภาษานี้ดีที่สุดในบรรดาภาษาทั้งหลายในโลก (๒)
แต่เราก็เอาดีในภาษาที่สอง สาม และสี่... ได้ จงหมั่นฝึกฝนเถอะนะครับ
สมัยนี้ผมคิดว่าโลกการสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางของโลกเปลี่ยนไปมาก
สมัยก่อนผมเคยอ่านหนังสือประเภทที่ศาสตราจารย์ทางภาษาอังกฤษเขาเขียนโต้เถียงกันว่าอะไรคือภาษาอังกฤษที่ดี
(What is a good English) หนังสือพวกนี้มีมากสมัยหนึ่งเมื่อสักสามสิบปีที่แล้ว
ผมเองก็พยายามอ่านหนังสือพวกนี้เพื่อศึกษาว่าจะเขียนและพูดอังกฤษได้ดีอย่างไร
เวลานี้การถกเถียงกันเรื่องนี้แคบลงมาก แต่ก่อนเวลาพูดว่าภาษาอังกฤษที่ดีควรเป็นอย่างไร
เขาพูดโดยรวมเอาคนทุกชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษหมด
แต่เวลานี้ไม่น่าจะมีใครมาเรียกร้องว่าผมที่เป็นคนไทยที่เขียนและพูดอังกฤษแบบ non-native
speaker จะต้องสนใจว่าภาษาอังกฤษที่มาตรฐานเป็นอย่างไร
มาตรฐานที่ว่านั้นเขาเริ่มพูดในหมู่คนที่เกิดมาและใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาธรรมชาติเท่านั้น
เวลาที่ฝรั่งอ่านหนังสือผม ผมเข้าใจ (จากที่อ่านคำวิจารณ์)
ว่าพวกเขาปล่อยให้ผมเขียนตามสไตล์คนที่ไม่ได้เกิดมาเป็นฝรั่ง
และนอนฝันเป็นภาษาอังกฤษ พวกเขาจะดูอย่างอื่นเช่นความคิด
การเรียบเรียงเนื้อหาที่เล่าว่าเรื่องนั้นปมปัญหามันอยู่ที่ไหน
และผมคิดอย่างไรหากเราจะสะสางแก้ปัญหาเหล่านั้น
แต่แน่นอนครับ
ฝรั่งที่เขียนไทยดีก็คือคนที่เขียนไทยไม่แปลกประหลาดไปจากกฎเกณฑ์ทางภาษาที่เราเรียกว่าไวยากรณ์
ไวยากรณ์นั้นเป็นข้อเรียกร้องด่านแรกที่คนใช้ภาษาที่สองจะต้องผ่าน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องเลยไปพูดเรื่องเนื้อหาเลย
ไวยากรณ์นี้เราที่ใช้ภาษาของเราเองก็ต้องระลึกถึงอยู่เสมอด้วย
ไม่มีใครเขียนหนังสือดีแต่ผิดไวยากรณ์ ไม่มี
แต่เป็นไปได้ที่คนเขียนหนังสือดีและไม่ผิดไวยากรณ์นั้นไม่ได้สนใจศึกษาไวยากรณ์แบบเรียนหนังสือ
เขาเป็นคนมีไวยากรณ์ในตัวมาตั้งแต่เกิด
การมีไวยากรณ์ได้โดยไม่ต้องเรียนนี้ไม่แปลกนะครับ
เหมือนนักร้องลูกทุ่งส่วนใหญ่ในบ้านเรา (เช่นพุ่มพวง ดวงจันทร์ สุรพล สมบัติเจริญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ทูล ทองใจ เป็นต้น)
ร้องเพลงดีโดยไม่ต้องไปฝึกร้องจากโรงเรียน ที่คนเหล่านี้ร้องดีเพราะเขารู้ว่าจะร้องดีอย่างไร
ซึ่งก็ตรงกับที่เขาสอนกันในโรงเรียนนั่นแหละ
พูดง่ายๆคือไวยากรณ์อย่างที่สอนกันในโรงเรียนนั้นบางคนเขาคิดออกด้วยตัวเขาเอง
หากใครคิดไม่ออกด้วยตนเองก็ต้องเรียน
และใช้สิ่งที่เรียนนั้นมาทำงานจริงเวลาเขียนหรือพูด
-๓-
เนื่องจากไวยากรณ์เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด
ผมใคร่ขอเริ่มต้นที่เรื่องนี้
ในทางประวัติศาสตร์ภาษานั้นทุกภาษาในโลกที่เป็นภาษาธรรมชาติ
(คือเกิดและวิวัฒนาการในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติทางชีววิทยาของมนุษย์)
จะเกิดจากการที่ผู้คนในสังคมนั้นๆค่อยๆทดลองใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกัน ไวยากรณ์ในแง่ที่เป็นกฎการใช้ภาษาจะยังไม่มี
หรือพูดให้ถูกกว่านั้นก็คงพูดได้ว่า
กฎเกณฑ์ในการใช้ภาษาก็ดำเนินไปควบคู่กับการที่คนเราค่อยๆสร้างภาษาขึ้นเพื่อสื่อสารกัน
หากทำอย่างนี้แล้ว คนอื่นไม่เข้าใจ เราจะเลิกทำ อันไหนที่ทำแล้วคนเข้าใจ เราก็ทำ
การที่คนทั้งหลายร่วมทำสิ่งเดียวกันเวลาพูดหรือเขียนก็คือไวยากรณ์นั่นเอง
แต่ยังไม่มีการยกออกมาตั้งเป็นกฎ
การยกสิ่งเหล่านี้ออกมาตั้งเป็นข้อแนะนำในการใช้ภาษาที่เราเรียกว่าไวยากรณ์นั้นเกิดทีหลัง
แต่ตัวกฎที่ถูกยกออกมาเขียนนั้นมีมาพร้อมกับการใช้ภาษาตั้งแต่โบราณนู่นแล้ว
เมื่อไวยากรณ์ในความเป็นจริงเกิดและพัฒนามาตามธรรมชาติเมื่อคนเราใช้ภาษา
ความเข้าใจไวยากรณ์จึงเกิดได้ในลักษณะที่ฝรั่งเขาเรียกว่า intuition
หรือหากคำนี้ดูเป็นปรัชญามากไป
จะเข้าใจว่าความสามารถในการเข้าใจไวยากรณ์ภาษาได้เองเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งในทางชีววิทยาก็ได้
เมื่อแรกเกิด เราขี่จักรยานไม่เป็น เราขี่จักรยานเป็นจากการหัด
การหัดขี่จักรยานเป็นเรื่องสัญชาตญาณหรือ intuition คือไม่ต้องให้ใครมาบอก
เราก็จะรู้ทีละนิดละหน่อยว่าทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงตัวบนสองล้อที่ล้มคว่ำไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้
ผมเชื่อว่าคนเรานั้นตอนที่เกิดมาทำอะไรไม่ได้จำนวนมาก เช่นขับรถไม่ได้
อ่านหนังสือไม่ได้ เป็นต้น แต่บางอย่าง เราทำได้เลย เช่นหายใจ กินนมแม่ เป็นต้น
ขอเรียกสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้เราทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียน (เช่นหายใจ กินนม
เป็นต้น) ว่า สัญชาตญาณขั้นที่หนึ่ง (เรียกเป็นฝรั่งคงได้ว่า
primary instinct) ส่วนสิ่งที่เรามีความสามารถจะทำได้
แต่ต้องหัด ขอเรียกว่า สัญชาตญาณขั้นที่สอง (secondary instinct) สัญชาตญาณอย่างที่สองนี้ตามความคิดของผมก็คือสัญชาตญาณอย่างแรกนั่นแหละ
(คือสัญชาตญาณทั้งหมดเป็นพลังงานทางชีววิทยากลุ่มเดียวกัน
แต่บางอย่างธรรมชาติวางไว้ ใกล้มือ เราเพราะต้องใช้งานทันที
เช่นหายใจ กินอาหาร เป็นต้น แต่บางอย่างไม่ต้องรีบใช้ทันที ธรรมชาติเลยวางไว้ ห่างมือ สักหน่อย เช่นขับรถ อ่านหนังสือ เป็นต้น
การหัดขับรถก็คือการค่อยๆทำความคุ้นเคยกับสัญชาตญาณที่ถูกวางไว้ห่างมือ ที่จริง
เราขับรถเป็นมาก่อนแล้ว เราเพียงแต่รื้อฟื้นความจำ การเรียนหนังสือก็เช่นกัน
นักปรัชญาเอกของโลกคนหนึ่งคือโสกราตีสก็เชื่อตามที่ผมว่ามานี้)
ถ้ารับว่าเรารู้หนังสือมาก่อน
หรือรู้ภาษามาก่อน การเรียนภาษาเป็นเพียงการรื้อฟื้นความจำ
ความสามารถในการเรียนรู้ไวยากรณ์ของคนเราก็เกิดได้เองตามธรรมชาติ ส่วนการเรียนไวยากรณ์ในโรงเรียนเป็นเพียงเครื่องมือช่วยความจำเท่านั้น
คนเรานั้นเวลาทำอะไร
หากออกมาจากสัญชาตญาณพรวดเดียวเลยจะมีประสิทธิภาพกว่าการค่อยๆเดินตามตัวหนังสือ
คนที่เขียนหนังสือดีหรือพูดดีในโลกนั้น
ผมไม่คิดว่าเขาใช้ไวยากรณ์เวลาที่เขียนหรือพูด เพราะไวยากรณ์สำหรับคนแบบนี้ฝังอยู่ในเนื้อในตัวเขาแล้วมาตั้งแต่เกิด
จริงๆ ผมคิดว่าวิธีใช้ภาษาได้ดีที่สุดต้องเป็นธรรมชาติ แปลว่า
เราต้องสามารถที่จะทำให้ไวยากรณ์นั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตเรา
ปลาว่ายน้ำโดยไม่ต้องคิด นกบินโดยไม่ต้องคิด คนเราก็เช่นกัน ควรเขียนและพูดได้ดีโดยไม่ต้องคิด
-๔-
ท่านผู้อ่านบางท่านคงคันปากอยากถามผมว่า
ที่ว่าๆมานั้นก็น่าฟังอยู่ดอกท่านศาสตราจารย์ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดผล
ช่วยบอกกระผมที อันว่ากระผมนั้นก็ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนพูดดีเขียนดี
จะได้เอาไปทำมาหากินบ้าง ครับ... ทุกอย่างในสากลโลกนี้ย่อมง่ายเสมอหากเราเพียงแต่พูดถึง
คนเราสามารถเนรมิตอะไรก็ได้เท่าที่ปากคนเราจะพูดถึงได้เสมอภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
แต่เราก็รู้ว่าอ้ายที่พูดๆมานั้นบางทีก็ทำไม่ได้หรอก
หรือหากจะทำก็ต้องการคนบางประเภทที่ไม่ใช่คนอย่างเจ้าหมอที่พูดเรื่องนั้นแน่นอน
ในการจะยังสิ่งที่ว่ามานั้นให้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผล
ต่อไปนี้ผมจะลองเสนออะไรบางอย่างเกี่ยวกับปัญหาว่าเราจะพูดและเขียนหนังสือดีอย่างไร
โดยในเบื้องต้นนี้ผมได้เสนอมาข้างบนว่าไวยากรณ์สำคัญ
ผมจะพูดเรื่องไวยากรณ์ภาษาตามความเห็นของผม ไม่เกี่ยวกับใคร
ผมจะพูดจากประสบการณ์ของผมเอง ที่ผมพูดและเขียนหนังสือมาชั่วชีวิตผม
เวลานี้ก็ยังทำกิจสองประการนี้อยู่สม่ำเสมอ
เพราะต้องสอนหนังสือและทำหนังสือที่ส่วนหนึ่งก็เพื่อใช้สอนด้วย
ไวยากรณ์นั้นว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายด้วยสามัญสำนึก
คนเราใช้ภาษาในฐานะสื่อกลางเพื่อจะให้อีกฝ่ายรู้ว่าตนคิดอะไร
และฝ่ายโน้นเมื่อเข้าใจว่าฝ่ายนี้คิดอะไรแล้วก็ใช้ภาษานั่นแหละบอกกลับมาว่าเขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่คนแรกคิด
ภาษาจึงเป็นสมบัติร่วมของคนใช้ที่ต้องมีมากกว่าสองคนขึ้นไป
อยู่คนเดียวไม่ต้องพูดอะไรเลยครับ พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เว้นแต่จะพูดให้ตนฟัง
ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็แล้วไป คนเราในบางสถานการณ์สามารถแยกวิญญาณ (self) ออกเป็นสอง สาม สี่... ก็ได้ เพื่อให้พวกมันสนทนากัน
ไม่อย่างนั้นจะกลุ้มใจตาย
คนติดคุกมืดเดี่ยวอยู่เป็นเวลาหลายเดือนมีแนวโน้มจะสร้างวิญญาณขึ้นหลายๆดวงเพื่อคุยกันแบบนี้
อันนี้เป็นเรื่องพิเศษนอกเหนือจากกรณีทั่วไปที่ผมกำลังพูดอยู่
เมื่อภาษาเป็นสมบัติร่วมของคนใช้ที่มีจำนวนมากด้วยกัน ไวยากรณ์จึงจำเป็นต้องมี
ไวยากรณ์ก็คือกติกาในการ เล่นเกมภาษา
(ตามสำนวนนักปรัชญาที่ชื่อ Wittgenstein) ก็เหมือนเราเล่นบอลครับ
เราไม่ได้เล่นคนเดียว ดังนั้นต้องมีกติกากลาง กติกาใดๆก็ตามแต่ทำหน้าที่สองอย่างเหมือนกันคือ
(๑) บอกว่าอะไรห้ามทำ (๒) บอกว่าอะไรทำได้ สิ่งที่ห้ามทำมักมีจำนวนไม่มาก ชัดเจน
ส่วนที่ให้ทำได้นั้นมีมาก และสามารถงอกงามได้ตามการสร้างสรรค์ของคนเล่น
เช่นเล่นบอลห้ามใช้มือ ห้ามขัดขาเขา ห้ามล้ำหน้า (คือไปอยู่ข้างหลังคนเล่นอีกฝ่ายทำนองตีท้ายครัวยามเขาเผลอ)
เป็นต้น สิ่งที่ห้ามมีจำนวนจำกัด แต่สิ่งที่อนุญาตมีได้หลากหลายไม่รู้จบสิ้น
เช่นใช้เท้าเตะบอลได้ ส่วนใครจะสร้างสรรค์ลีลาในการใช้เท้าอย่างไรก็ว่ากันไป
การใช้หัวโหม่ง การยิงประตู การเตะมุม การเตะกินเปล่า เป็นต้น คนเล่นสามารถสร้างสรรค์ลีลาได้ตามสบาย
สรุปคือ กติกาในการเล่นบอลข้อที่อนุญาตเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ
แต่อะไรที่ห้าม หมดทางจะสร้างสรรค์ครับ
เช่นจะสร้างสรรค์วิธีในการขัดขาหรือดึงเสื้อคู่แข่งให้เลิศหรูอลังการ
อันนี้ทำไม่ได้ ต่อให้ทำได้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะถูกห้ามเล่น
ไวยากรณ์ภาษาก็อย่างนั้นครับ
มีข้อห้ามและข้ออนุญาต
การสร้างสรรค์งานเขียนหรือพูดก็สร้างบนพื้นฐานของส่วนที่เป็นข้ออนุญาต
อะไรคือข้อห้ามในไวยากรณ์ อันนี้ตอบตามสามัญสำนึกได้เลยครับ
ภาษาเป็นสื่อกลางใช้ร่วมกัน ดังนั้นใครก็ตามที่สร้างอะไรก็ตามในทางภาษาขึ้นโดยตนคนเดียวเท่านั้นรู้
ตนคนเดียวเท่านั้นเห็นว่าสุดแสนจะบรรเจิดเลิศหรู หากคนอื่นใช้งานร่วมไม่ได้
นั่นคือผิดกฎทางภาษาครับ บางคนเชื่อว่าตนเป็นกวี
เสร็จแล้วก็เขียนอะไรก็ไม่ทราบอ่านไม่เป็นภาษามนุษย์ สำหรับผม นี่ผิดกฎครับ
เหมือนเตะบอลในสนามแล้วประกาศว่ากูจะเตะของกูอย่างนี้ ก็ได้ครับ
แต่เชิญไปเตะที่บ้านของท่าน งานหนังสือประเภทที่เขียนแล้วอ่านรู้เรื่องอยู่คนเดียว
(หรือเป็นไปได้ที่แม้เจ้าตัวก็ไม่รู้เรื่อง ที่เขียนอย่างนั้นเพราะคิดว่าโก้)
เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ผมไม่อ่านงานที่อ่านไม่รู้เรื่อง เสียเวลา อย่าว่าแต่จะซื้ออ่านเลย
แต่ในวงการปรัชญาที่ผมสังกัดอยู่
เรารู้กันครับว่าหนังสือปรัชญาส่วนใหญ่อ่านยาก
และที่เป็นอย่างนั้นมักมาจากคนเขียนไม่มีฝีมือทางการแต่งหนังสือ
นักปรัชญาคนใดมีฝีมือ งานเขาก็อ่านง่าย
พวกที่เขียนยากเพราะไร้ฝีมือนั้นผมถือว่าไม่ทำผิดกฎนะครับ คือเขาพยายามจะเขียนให้คนอื่นเข้าใจ
แต่ฝีมือมันเท่านั้น ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร แต่พวกที่แสร้งเขียนไม่รู้เรื่อง
(พวกนี้มักอ้างว่าตนเป็นกวี และที่ผมเห็นในบ้านเรา กวีพวกนี้มักเขียนกวีร้อยแก้ว
เอาคำที่เรารู้ความหมายเป็นคำๆมาเรียงกัน แต่อ่านรวมแล้วไม่มีความหมาย)
อันนี้ไม่สมควรให้อภัยโดยประการทั้งปวง
(ไม่ให้อภัยไม่ได้แปลว่าจะต้องไปต่อยตีระรานกันนะครับ ผมหมายความว่า เราไม่ควรสนใจ
คนเขียนหนังสือต้องสนใจคนอ่าน ไม่ใช่คนอ่านจะต้องสนใจคนเขียน
หนังสือดีมีมากในโลกครับ จะอ่านให้หมดยังเป็นไปไม่ได้เลย
ทำไมเราจะต้องสนใจงานที่คนเขียนไม่เอื้อเฟื้อคนอ่านเลย นึกจะเขียนอะไรก็เขียนผมหมายความว่าอย่างนี้นะครับ)
เท่าที่ผมสังเกต
และเท่าที่ผมคิดเองเพราะสังเกตไม่ได้ ไม่รู้จะไปสังเกตที่ไหน
มนุษย์เราสร้างภาษาขึ้นเพื่อ เล่าเรื่อง เช่นคนป่าคนหนึ่งเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้วเข้าป่า เห็นนกตัวสีดำๆ ร้อง กาๆ
กลับมาพบคนป่าที่เป็นเมีย
คนป่าที่เป็นผัวทำท่าทางด้วยการเอามือโบกไปมาในอากาศเพื่อบอกเมียว่าฉันเห็นนกสีดำตัวหนึ่งในป่า
เมียไม่เข้าใจ แกเลยกางแขนออกทำเป็นปีก แล้วทำท่าบิน เมียยิ้ม
เดาได้ว่ากำลังพูดเรื่องนก ตอนนี้ผัวอยากเล่าว่ามันร้องอย่างไร
ระหว่างที่ทำท่าบินพะเยิบพะยาบอยู่นั้นก็ร้องออกมาว่า กา กา
กา เมียทำท่างง วันต่อมา เมียออกไปตากปลาเค็ม
เห็นนกสีดำมาเมียงๆมองๆอยู่แถวนั้น เธอรู้ว่ามันจะมาขโมยปลาแหงเลย จึงโบกมือไล่
ก่อนไป นกนั้นร้องว่า กาๆ เธอเดินไปหาผัว ทำท่าบินแล้วร้องว่า กาๆ
พร้อมชี้มือไปที่ต้นไม้ ต่อมาเมื่อเห็นนกนี้พร้อมกัน สองผัวเมียก็ร้อง กาๆ
คำนี้เลยกลายมาเป็นชื่อนกที่ว่านี้
การเล่าเรื่องที่ง่ายที่สุดก็คือการระบุคำนามลงไปเฉยๆ ทราบไหมครับ
ในบทละครที่ลือชื่อเรื่อง Waiting for Godot
ประพันธ์โดย Samuel Beckett ฉากแรกของบทละคร
ท่านผู้แต่งบรรยายว่า
A country road. A tree.
Evening.
ผมอ่านเข้าใจและนึกภาพออก
นี่คือตัวอย่างการเล่าเรื่องด้วยคำนามเพียงสามคำ
มีบทกวีสั้นของญี่ปุ่นที่เรียกว่าไฮกุ ความยาวเพียงสามบรรทัด
บทกวีไฮกุตามความเห็นของผมก็ใช้การเล่าเรื่องแบบง่ายๆด้วยคำไม่กี่คำ ดังตัวอย่างไฮกุที่มีชื่อเสียงสองสามบทของกวีญี่ปุ่นที่ชื่อบาโช ต่อไปนี้
The early
summer rain
Leaves
behind
Hikari-do
The early
summer rain
Gathering
it and fast
(Furuike ya
Kawazu tobikomu
Mizu no oto)
To an old
pond
A frog
leaps in
And the
sound of the water
ไฮกุบทสุดท้ายผมคัดต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นที่เขียนด้วยอักษรโรมันมาให้ดูด้วยเพื่อให้ทราบว่า
ฉันทลักษณ์ของบทกวีชนิดนี้คือ ๕-๗-๕
ตัวเลขที่ให้นี้คือพยางค์ในแต่ละบรรทัด (พยางค์คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง
คำว่าแมวมีหนึ่งพยางค์ คำว่าหนังสือมีสองพยางค์)
การที่กวีนิพนธ์ไฮกุกำหนดคำไว้น้อยนี้มาจากปรัชญาของพุทธศาสนานิกายเซนที่ว่า
ภาษาที่ดีคือภาษาที่เล่าเรื่องกระชับ ดีในที่นี้มีความหมายมากนะครับ
หมายถึงลึกซึ้ง ชวนคิด ไพเราะ สุนทรียศาสตร์ของเซนเน้นความกระชับ ตรงไปตรงมา
ไม่ประดิษฐ์ คนพูดดีในทัศนะของเซนคือคนพูดน้อย แต่ได้ใจความมาก
หากเราคิดว่ามนุษย์สร้างภาษาขึ้นเพื่อ
เล่าเรื่อง
ไวยากรณ์ภาษาก็คือกติการ่วมสำหรับการเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องมีคนสองฝ่ายคือคนเล่ากับคนฟัง
ภาษาที่ใช้โดยคนเล่าขอเรียกว่าภาษาในทางส่ง (active language) ก็เหมือนคนส่งของนั่นแหละครับ
หน้าที่คือส่งของถูกต้องไปยังคนรับที่ถูกต้อง
ส่วนภาษาที่ใช้โดยคนฟังขอเรียกว่าภาษารับ (passive language) เรามักเข้าใจกันว่าคนเขียนสำคัญกว่าคนอ่าน เราจึงให้โนเบลคนเขียน
แต่ไม่ให้คนอ่าน ที่คิดอย่างนั้นก็มีส่วนถูกนะครับ คือคิดในแง่การสร้างสรรค์
เราไปกินข้าวที่ร้าน พ่อครัวหรือแม่ครัวเก่งๆสมควรได้รับคำชมเชย
พวกเราก็เอาแต่ปากกับท้องไปเท่านั้นพอ ไม่ต้องคิดอะไร
คนแต่งหนังสือให้เราอ่านก็เหมือนพ่อครัวแม่ครัวที่ว่านี้
แต่ผมอยากชวนให้เข้าใจภาษาของคนอ่านหรือคนฟังในอีกแง่มุมหนึ่ง สังคมที่ดีนั้นควรมีคนอ่านที่มีคุณภาพ
คนอ่านที่มีคุณภาพคือคนที่รู้ว่าควรอ่านอะไร ไม่ควรเสียเวลาอ่านอะไร
คนในโลกนั้นว่าไปแล้วคงไม่ใช่คนอ่านที่มีคุณภาพ
ดูจากหนังสือขายดีที่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือด้อยคุณภาพ อันนี้เราต้องรับกันตรงๆ
อย่าพยายามเถียงผมเลยครับว่า ทำไมนิยายน้ำเน่าจะต้องถูกมองว่าคุณภาพต่ำกว่านิยายโนเบล
งานสองอย่างนี้ต่างกันจริงๆครับ
และการวัดว่าคนชาติใดมีคุณภาพทางการอ่านหนังสือเขาก็ดูจากสัดส่วนหนังสือ น้ำเน่า (ขออนุญาตเรียกอย่างนี้นะครับ
ไม่ได้ดูถูกอะไร ต้องการให้เห็นภาพเท่านั้น
หนังสือน้ำเน่าก็คือหนังสือที่เขียนโดยไม่อิง truth อะไรทั้งสิ้น
นางเอกดีอย่างเดียว นางโกงก็ชั่วอย่างเดียว
ไม่มีมนุษย์จริงที่ไหนในโลกเป็นอย่างนั้น หนังสือที่เขียนกระตุ้นจินตนาการลวกๆ
หยาบๆ อย่างนี้สมควรเรียกว่าหนังสือน้ำเน่า เพราะมันไม่ช่วยให้คนอ่านพัฒนาความคิด)
กับหนังสือ น้ำดี (ขอเรียกอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ
หนังสือพวกนี้เขียนอย่างที่ผู้เขียนศึกษาอะไรมาดีแล้วจึงเขียน มีความคิด
มีจินตนาการ มองเห็นความจริงและความงามบางอย่างที่ปกติคนอาจไม่เห็น เมื่อเราอ่าน
เราก็จะร่วมสัมผัสสิ่งที่ลึกซึ้งของโลกและชีวิตร่วมไปกับผู้แต่งด้วย)
เมืองฝรั่งนั้น เวลานี้หนังสือขายดีก็ยังเป็นแบบน้ำเน่าอยู่
แต่เขามีนักเขียนและนักอ่านน้ำดีที่มั่นคงและขยายเพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่หวือหวา
แต่ก็มั่นคงและจะดีขึ้นเรื่อยๆ
สังคมเขาศึกษาและพบว่าเด็กนักเรียนหากอ่านนิยายน้ำดีจะเป็นคนที่เรียนหนังสือดี
มีความคิด (ซึ่งอันนี้มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่วิจัยก็เดาออก)
งานศึกษาพวกนี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอ่านงานที่มีคุณภาพในสังคมเขา
ผมว่าเราควรเรียนรู้จากพวกเขาด้วย
คนอ่านที่มีคุณภาพย่อมช่วยให้คนเขียนต้องเขียนงานที่มีคุณภาพ
เพราะหากเขียนไม่ดี คนจะไม่ซื้ออ่าน การเขียนหนังสือดีนั้น แน่นอนครับต้องมาจากคนที่มีความคิด
คนโง่เขียนหนังสือได้ แต่ก็เขียนอย่างโง่ๆ โดยทั่วไป
คนอ่านหนังสือจะรู้ว่าถึงฉันแต่งไม่ได้แต่ฉันก็พอรู้ว่าใครแต่งดีใครแต่งห่วย ธรรมชาติอันนี้ทำให้นักเขียนไม่มีทางที่จะเป็นคนโง่
เพราะเขียนออกมาอย่างโง่ๆก็ไม่มีใครซื้อ ความคิดของคนเรานั้นเป็นนามธรรมที่ลอยไปลอยมาอยู่ในหัวของเขา
จะเอาออกมาให้คนอื่นรู้ก็โดยผ่านภาษา
และภาษาที่ว่านี้ในรูปแบบที่เป็นพื้นฐานที่สุดจะอยู่ในรูปการเล่าเรื่อง
ผมอยากชักชวนให้ท่านที่จำเป็นต้องเขียน
เช่นเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่ต้องเขียนงานส่งอาจารย์ หรือนักศึกษาปริญญาโทและเอกที่ต้องเขียนวิทยานิพนธ์
เข้าใจในเบื้องต้นว่า งานเขียนทุกสาขาเกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่องหมด
แม้วิทยานิพนธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็อยู่ในรูปการเล่าเรื่อง
เมื่อจับประเด็นได้อย่างนี้ สิ่งที่เราจะต้องศึกษาต่อไปก็คือ
จะเล่าเรื่องได้ดีได้กระไร
-๕-
การเล่าเรื่องคืออะไร
เราต้องถามตรงนี้ก่อนครับ เข้าใจแล้ว
จะรู้ต่อไปเองว่าเล่าเรื่องอย่างไรจึงจะดีที่สุด ตามความคิดผม
เรามีอย่างน้อยสองสิ่งในใจ สิ่งแรกคือข้อมูล
สิ่งที่สองคือความคิดของเราที่มีต่อข้อมูลนั้น เราอยากส่งสองสิ่งนี้ไปให้คนอื่นรู้
เราจึงเล่าเรื่อง หากคิดอย่างนี้ การเล่าเรื่องที่ดีก็เกี่ยวข้องกับการนำส่งข้อมูล
และการบรรยายว่าเราคิดอย่างไรกับข้อมูลนั้น การนำส่งข้อมูลเป็นงานตรงไปตรงมา
คือต้นทางสิ่งนั้นเป็นอะไร เมื่อถึงปลายทางคนรับรับสิ่งนั้นแล้ว
สิ่งนั้นก็ยังเป็นสิ่งนั้นอยู่ เท่านี้เราก็บรรลุภารกิจในการส่งของแล้วครับ
แต่ถ้าส่งแตงโมไป คนรับได้รับมะพร้าว อันนี้ถือเป็นความบกพร่อง
น่าจะสักสิบปีมาแล้วที่ผมงดไม่ให้สัมภาษณ์สื่อเช่นหนังสือพิมพ์
เพราะเบื่อหน่ายที่จะมาอ่านข่าวแล้วพบว่าคนเขียนรายงานสิ่งที่ผมพูด (แตงโม)
เป็นคนละอย่างกับที่ผมพูด (มะพร้าว) ผมคิดว่าผมเป็นคนพูดอะไรชัดเจน
แต่คุณภาพนักข่าวสมัยนี้คงตกต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถเล่าเรื่องซ้ำจากที่ผมเล่า
(ที่ชัดเจนมาก) ให้คงเดิมเหมือนต้นตอที่มา
งานส่วนที่สองคือการเล่าให้คนอื่นฟังว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าส่งมาล่วงหน้านั้นข้าพเจ้ามีความเห็นบางอย่างกับมันนะ
ต่อไปนี้คือความเห็นของข้าพเจ้า อันนี้ยากกว่างานส่งของล่วงหน้าธรรมดาๆ
ความคิดเห็นของคนเราที่จะมีต่อสิ่งต่างๆได้นั้นน่าจะมีได้หลากหลายแบบ
แต่เท่าที่ผมสังเกตตัวเอง ผมคิดว่ามีสองแบบหลักๆ คือ ความรู้สึก กับ ความคิดเห็น เอาตัวอย่างประกอบสักตัวอย่างนะครับ สมมติเช้านี้ผมนั่งทำงานที่บ้าน
ผมมองออกไปนอกหน้าต่าง
เห็นแม่นกกับพ่อนกสองตัวกำลังบินไปหาอาหารมาป้อนลูกนกสามสี่ตัว
ลูกนกนั้นสังเกตอาการได้ว่าเป็นลูก คือขนยังไม่ขึ้นเต็มตัว หางยังกุดอยู่
และสิ่งที่แสดงว่าเป็นอาการของลูกนกแน่นอนคือ จะทำปีกสั่นๆ ร้องขออาหาร
สองตัวที่ผลัดกันบินไปหาอาหารมาให้นั้นขนขึ้นยาว หางก็ยาว (ลืมบอกครับนกปรอดสวน
แถวบ้านผมมีเยอะ) ไม่แสดงอาการปีกสั่นตัวสั่นอย่างลูกนก เป็นนกผู้ใหญ่แล้ว
สุขุมแล้ว ว่าอย่างนั้นเถิด ผมเห็นแล้วนึกอะไรบางอย่าง เลยเขียนเล่าลงเฟสบุค สมมติว่านี่คือข้อความที่ผมเขียนเล่านะครับ
เช้านี้อากาศหม่นมัว เมฆฝนเกาะกลุ่มหนาหนักทางทิศตะวันออก
ลมเย็นพัดโชยมาเป็นระยะ ม่านหน้าต่างสีขาวบางเบานั้นพลิ้วไหว
มีเสียงอะไรสักอย่างลอดหน้าต่างมา หันไปดู
เป็นลูกนกสามสี่ตัวเกาะอยู่ที่กิ่งต้นกันเกราข้างหน้าต่าง
นกอีกตัวน่าจะเป็นแม่หรือพ่อมองไม่ออกกำลังป้อนอาหารใส่ปากลูกตัวหนึ่ง
สามตัวที่เหลือก็ร้องขออาหารและขยับปีกสั่นไหวไปมาเป็นสัญญาณประกอบ สักครู่
ก็มีนกอีกตัวบินมาพร้อมอาหาร มันคงมองออกว่าตัวไหนกินแล้ว ตัวไหนยัง
มันจึงป้อนตัวที่ยังไม่ได้กิน เห็นพ่อแม่นกเวียนไปหาอาหารและเวียนมาป้อนลูกอยู่นาน
เจ้าพวกที่ร้องขอกินก็ยังขยับปีกไปมา แต่เสียงร้องเบาลง คงอิ่มกันบ้างแล้ว
ข้อความท่อนนี้อ่านดูก็รู้ว่าเป็นการรายงานข้อมูล
ยังไม่มีการเสริมใส่ความคิดของคนเขียนแต่อย่างใด ว่าก็ว่าเถอะนะครับ
การเล่าเรื่องในรูปการรายงานข้อมูลนี้แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด
ที่แปลว่าต้องง่ายที่สุด แต่คนในโลกนี้น้อยนักที่จะเขียนเล่าอะไรแล้วน่าอ่าน
การเล่าข้อมูลนั้นเป็นศิลปะในตัวมันเอง
ศิลปะคือการที่คนมากกว่าหนึ่งคนเห็นอะไรเหมือนกัน แต่ สกัด หรือ ดึง ออกมาเสนอให้คนอื่นร่วมรับรู้ได้ต่างกัน คนสามคนอยู่ในทุ่งหญ้าเดียวกัน
คนแรกคือ Renoir คนที่สองคือ Monet และคนที่สามคือ
Van Gogh สามคนนี้เห็นสิ่งเดียวกัน
แต่ผ้าใบของแต่ละคนปรากฏงานศิลป์ที่ต่างกัน นี่ไงครับ งานศิลป์
เมื่อการเล่าเรื่องเป็นงานศิลปะ ก็ไม่ควรคาดหวังว่าจะมีใครสอนเราเรื่องนี้ได้
แม้จะมีคนบอกว่าผมสอนคุณได้นะ ก็อย่าไปเชื่อครับ
หากการเล่าเรื่องสอนไม่ได้
แล้วผมยังจะเขียนอะไรต่อไปอีกหละครับ ขออภัยที่จะเรียนว่า
การสอนไม่ได้นั้นเป็นส่วนหนึ่ง
แต่กฎทางภาษาว่าเล่าเรื่องอย่างไรจึงจะรู้เรื่องนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างหลังนี้บอกกันได้ครับ นึกภาพอย่างนี้นะครับ เอาเรื่องนกที่ผมเล่าข้างต้นก็ได้
เราเห็นของบางอย่าง ของ (thing) แปลว่าอะไรก็ได้ในโลกนี้ที่เป็นชิ้นเป็นท่อน
มีหรือไม่มีชีวิตก็ได้ ปากกาเป็นของ ถ้วยน้ำชาเป็นของ ตะขาบหรือกิ้งกือก็เป็นของ
ผมอยากให้เราฝึกการเล่าเรื่องด้วยการเล่าเกี่ยวกับของ เช่น
เอาถ้วยกาแฟวางไว้ข้างหน้าบนโต๊ะ แล้วเขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับถ้วยกาแฟนั้น
หากผมสอนเขียน ผมจะสอนให้เด็กนักเรียนของผมเริ่มเขียนเรื่องแบบนี้ก่อน
ของในโลกนั้นหลายๆอย่างรวมกันแล้วกลายเป็นเหตุการณ์ คำว่าเหตุการณ์ (event)
อธิบายสั้นๆได้ว่า คืออาการคล้อยเคลื่อนเลื่อนไหลของสิ่งต่างๆในโลก
(จักรวาล) นึกภาพอย่างนี้ก็ได้ เรามีลูกแก้วกลมๆอยู่สิบกว่าลูก วางอยู่บนโต๊ะ
ลูกแก้วเหล่านั้นตอนที่วางอยู่นิ่งๆ มีสภาพเป็น things สมมติว่าอยู่ๆ
เกิดอะไรไม่ทราบ ลูกแก้วแต่ละลูกค่อยๆเรืองแสงขึ้น แสงนั้นค่อยๆจ้ามากขึ้น
จนเราแสบตา แล้วลูกแก้วที่ส่องแสงจนเราแสบตานั้นก็ค่อยๆลอยขึ้นจากพื้นโต๊ะ
หมุนวนไปมาในอากาศ ภายในบริเวณห้องนั้น เหมือนการหมุนของดวงดาวที่เราเห็นในหนัง
อย่างไรอย่างนั้น อาการเคลื่อนไหวของลูกแก้วทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบคือ event
เรื่องนกที่ผมเขียนเล่าข้างบนก็เป็นเหตุการณ์
มีสองสิ่งที่เหตุการณ์จะต้องเกี่ยวข้องคือ สถานที่ และ เวลา (space
and time) การบรรยายสิ่งของเป็นชิ้นๆอาจไม่ต้องบรรยายเวลาและสถานที่
แต่เมื่อบรรยายเหตุการณ์ เราต้องบรรยายครับ
บางทีผมอ่านข่าวที่เขียนโดยนักข่าวเด็กๆสมัยนี้ในหนังสือพิมพ์จำพวกที่ผมเล่าว่าผมงดไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆมาสิบปีแล้วเพราะนิพพิทารมณ์ (แปลว่าเบื่อครับ) ก็สงสัยเหลือประดาว่า
เขาเขียนข่าวอย่างไร โดยไม่คิดถึงเรื่องเวลาและสถานที่
คืออ่านแล้วไม่รู้ว่าเรื่องนั้นเกิดที่ไหน และเมื่อใด
อันนี้ถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยนะครับ (หากทำงานกับผม ผมจะเตือน
เตือนหลายครั้งไม่ดีขึ้นก็ต้องหาคนใหม่มาแทน) การเล่าเหตุการณ์นั้นมีศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพราะที่สุดแล้วคนกับวัตถุเช่นกล้องถ่ายรูปต่างกัน
การเขียนบรรยายเหตุการณ์ไม่ใช่การเอากล้องถ่ายรูปไปถ่ายฉับๆ
ถ่ายมากเท่าใดก็ได้ข้อมูลมากเท่านั้น ผมเห็นคนไม่น้อยเขียนอะไรลงเฟสบุคแบบเอามากเข้าว่า คือถ่ายรูปเหตุการณ์ที่ตนไปกินไปเที่ยวมามากมายแล้วก็เอามาลงให้ชาวบ้านร้านตลาดเขาดูหมด
ไม่คัดเลือกเลย ผมไม่เคยดูรูปแบบนี้ เพราะปราศจากศิลปะ เห็นก็เลื่อนผ่าน
แต่บางคนไปกินไปเที่ยวมาเหมือนกัน ถ่ายรูปมาเหมือนกัน
ตอนที่ไปก็คงเห็นอะไรมากเท่าที่ตาจะเห็นได้ และถ่ายรูปมามากเท่าที่จะถ่ายได้
เหมือนคนแรก แต่เวลาที่เขาเขียนเล่าและเอารูปมาลงให้ดู ผมอ่านและดูก็รู้ว่า เขาเลือก
ถ้าอย่างนี้ผมจะอ่าน เพราะเป็นงานศิลปะ
ถ้าคิดอย่างที่ผมเสนอข้างต้น
การเล่าเหตุการณ์ที่ดีเกิดไม่ได้ หากเราไม่รู้จักเลือก การเลือกจะเริ่มที่ไหน
อย่างไร สิ้นสุดที่ไหน และอย่างไร เป็นเรื่องส่วนบุคคลล้วนๆ
ผมถึงได้เรียนว่าไม่มีใครสอนเขียนได้ หากว่าการเขียนนั้นเป็นงานศิลปะ
การเข้าใจและใช้ไวยากรณ์เป็นก็เหมือนการรู้ว่าสีแต่ละอย่างใช้งานอย่างไร
ต่างกันอย่างไร แต่การรู้เรื่องสีดีเป็นคนละเรื่องกับการเป็นศิลปิน
มหาวิทยาลัยศิลปากรสอนเราเรื่องการใช้สีได้ แต่สอนเราให้เป็นศิลปินไม่ได้
คณะอักษรศาสตร์ จุฬา สอนไวยากรณ์ภาษาเรา และสอนเราว่างานเขียนที่ดีเป็นอย่างไรได้
แต่สอนเราให้เป็นนักเขียนไม่ได้
อาจารย์ที่สอนวรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์นั้นเท่าที่ผมรู้จักเขียนหนังสือก็อย่างนั้นๆ
แหละ เรื่องนี้ไม่แปลกครับ หากอ่านที่ผมเขียนตอนต้น
ภาษาที่นักเขียนจะต้องเป็นนายของมันให้ได้คือ active language ส่วนภาษาที่ท่านนักวรรณคดีวิจารณ์ใช้สอนเราเป็น
passive language หากแยกภาษาสองแบบนี้ไม่ออก
นึกถึงนักมวยและเซียนมวยข้างเวทีเลยครับ
เซียนมวยทั้งนั้นรู้ดีรู้มากกว่านักมวยเสมอ ตะโกนสอนอยู่ข้างเวที
พวกนี้ให้ขึ้นต่อยไปไม่ถึงครึ่งยกดอกครับ เป็นไปได้ที่เซียนมวยบางคนรู้จริง
แต่ที่รู้นั้นตนทำไม่ได้นะครับ ปัญญาในการสร้างงานกับปัญญาในการติผู้อื่นนั้นเป็นคนละปัญญา
และมนุษย์เราไม่ว่าจะเรียนหนังสือมากน้อยต่างกัน ทุกคนรู้ว่าปัญญาอย่างหลังไม่มีทางเทียบปัญญาอย่างแรกได้
เรารู้อยู่แล้ว โลกจึงไม่เคยให้รางวัลใดๆแก่นักติ แถมบางทีรำคาญด้วยว่าดีแต่ติเขา
มึงทำเหี้ยไรเป็นบ้างป่าว (ขออภัยครับ ขอเขียนตามที่ได้อ่านพบจริงๆ)
ท่านผู้อ่านบางท่านคงอยากจะถามผมว่า
ผมมีอะไรเสนอในทางปฏิบัติไหมเพื่อให้เราเป็นคนเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อบรรยายเหตุการณ์ได้น่าอ่านหรือน่าฟังหากเป็นการพูด
ตามประสบการณ์ของผม
คนที่พูดเก่งหรือเขียนดีมีคุณสมบัติสำคัญคือรู้จักเลือกว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด
ส่วนที่ควรพูดนั้น อะไรควรพูดมาก อะไรควรพูดปานกลาง และอะไรควรพูดน้อย
ในวรรณกรรมบาลี ท่านมักเปรียบนักเทศน์ว่าเหมือนนายมาลาการ
นายมาลาการคือคนจัดดอกไม้ สมัยโบราณเขามีนายมาลาการประจำวังหลวง
หน้าที่หลักก็คือดูแลเรื่องดอกไม้ทั้งหมดในวัง เริ่มตั้งแต่สวน (ดูว่าจะปลูกอะไร
จะจัดสวนอย่างไรจึงจะได้ผลด้านความงามและความรื่นรมย์ เป็นต้น)
มาจนถึงดอกไม้ที่อยู่ในภาชนะเช่นแจกัน ท่านว่า
นายมาลาการผู้ฉลาดย่อมรู้จักเลือกสรรว่าหากจะจัดดอกไม้เพื่อการแบบนี้
จะใช้ดอกอะไรบ้าง และดอกเหล่านั้นควรมีสัดส่วนอย่างไร ดอกไหนควรอยู่ตรงไหน
จึงจะให้ผลเป็นความงามและค่าทางสุนทรียะอื่นๆเช่นความสงบ คนจัดดอกไม้ญี่ปุ่นบางคนได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเซน
เขาก็จัดดอกไม้อย่างเซน ที่ให้ผลเรื่องความงาม ความสงบวิเวก และความเป็นอิสระ
เป็นต้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงใช้หลักคิดบางอย่างในทาง บุปผศาสตร์ (คำผมเอง) นี้ในการออกแบบวินัยของสงฆ์ เช่นที่ตรัสว่า
ดอกไม้หลากหลายชนิดวางกองสุมกันอยู่ไม่งาม
แต่เมื่อนายมาลาการผู้ฉลาดได้จัดวางดอกไม้เหล่านั้นใหม่ ครานี้ก็เกิดความงาม
สงฆ์ก็เช่นกัน ต่างคนต่างเชื้อชาติต่างภาษา
มาอยู่ด้วยกันเฉยๆก็เหมือนดอกไม้ที่กองๆรวมกันอยู่
จำเป็นต้องมีพระวินัยสำหรับจัดการให้เกิดความงาม ในหัวของคนเรานั้นมีคำจำนวนมากกองๆกันอยู่
เช่นเดียวกัน เมื่อเราเห็นเหตุการณ์ต่างๆ
เหตุการณ์เหล่านั้นก็เหมือนกองวัสดุที่ยังไม่มีการจัดระเบียบ
เราจัดระเบียบประสบการณ์ผ่านภาษา ก่อนจะใช้ภาษา
เราต้องรู้ก่อนว่ากองวัสดุจำนวนมากเหล่านั้นอะไรควรเอาออกมาให้คนอื่นชม
อันไหนควรซ่อน อันไหนควรแสดงบ้าง แต่ไม่มาก เป็นต้น เมื่อจัดการได้แล้ว
ก็ใช้คำที่เก็บไว้ในคลังคำส่วนตัวของตนนั่นแหละออกมาทำหน้าที่บรรยาย สำหรับผม
บรรยายกระชับและง่ายเท่าใดดีเท่านั้น
แต่โปรดเข้าใจว่ากระชับและง่ายนี้จะต้องไม่ละทิ้งความงามทางภาษาด้วย
จริงๆผมคิดว่าภาษาที่กระชับมักงามกว่าภาษาที่เยิ่นเย้อหรูหราแบบไม่มีสาเหตุอยู่แล้ว
ก็ดูการแต่งตัวของคนเราเทียบได้ครับ คนที่แต่งกายงามคือแต่งพอดี
แต่งมากเขาก็เรียกว่าลิเกหลงโรง
การลำเลียงเหตุการณ์ที่เราต้องการจะเล่าไปให้คนอ่านหรือคนฟังเข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากจุดประสงค์รวม
หมายความว่า ในการเล่าเรื่องแต่ละครั้ง เราต้องมีเป้าหมายว่าต้องการอะไร
บางทีเป้าหมายหลักของการเล่าเรื่องบางเรื่องคือการบอกว่า อะไรเกิดขึ้น
การรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวใช้เป็นตัวอย่างของการเล่าเรื่องเพื่อวัตถุประสงค์ที่ว่านี้
บางทีเราเล่าเรื่องนอกจากจะเพื่อบอกว่าอะไรเกิดขึ้น
เรายังต้องการเสนอความคิดเห็นส่วนตัวของเราว่าเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น
การแสดงความคิดก็อาจแบ่งได้เป็นสองอย่างตามที่ผมเขียนไว้ข้างต้น
คือความคิดในรูปของความรู้สึก กับความคิดในแง่ที่เป็นความเห็น ทัศนะ
หรืออะไรทำนองนี้ การเสนอความคิดตามความเห็นของผมก็เป็นการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง
เพียงแต่ เรื่อง
ที่ว่านี้ไม่เหมือนเรื่องที่เราพูดมาก่อนหน้านี้ที่เป็นเหตุการณ์อันสัมผัสรับรู้ได้ด้วยอายตนะ
ความคิด ความรู้สึกของคนไม่มีตัวตน
ดังนั้นการลำเลียงสิ่งที่ไม่มีตัวตนออกมาให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจจึงยาก
ภาษานั้นมีกลิ่น
มีสี มีรส... เพราะมีชีวิต...
แต่ตัวภาษาในแง่ที่เป็นคำหรือถ้อยอักษรที่วางนิ่งๆอยู่นั้นยังไม่มีชีวิต
คนใช้ภาษาดีคือคนที่ปลุกคำที่นอนหลับอยู่ให้ตื่นขึ้นมาโลดแล่น อย่างมีชีวิตชีวา
สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์เคยตรัสว่า ช่างชั้นครูและช่างสามัญต่างกันตรงที่
ช่างอย่างสามัญเขียนงูละเอียดทุกเกล็ด แต่ดูเป็นงูตาย
ส่วนช่างชั้นครูเอาถ่านไฟป้ายๆสองสามเส้น
แต่ดูเป็นงูมีชีวิตที่กำลังเลื้อยไปอยู่ข้างหน้าเรา ช่างภาษาก็เหมือนช่างเขียน
บางคนเขียนละเอียด ไวยากรณ์เป๊ะ แต่งานไร้ชีวิต จืดชืด
คนอย่างนี้เป็นนักเขียนไม่ได้
(อาจารย์สอนภาษาไทยส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักมักเป็นอย่างนี้ บางท่านมีชื่อมาก
เรียกว่าเป็นครูทางภาษาของชาติ แต่ท่านเขียนหรือแปลหนังสือไม่มีชีวิต ไม่น่าอ่าน)
นักเขียนคือคนเนรมิตชีวิตขึ้นจากความว่างเปล่า โดยมายากลของตัวหนังสือ
เราคงไม่คาดหวังว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนในความหมายที่ผมกล่าวมาข้างบนได้
แต่ผมคิดว่าเราสมควรคาดหวังว่าคนเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะชั้นปริญญาโทและเอกจะเป็นคนแต่งหนังสือดี
อย่างน้อยก็รู้ว่าจะเล่าเรื่องที่ตนค้นคว้าศึกษามาเป็นวิทยานิพนธ์อย่างไรจึงจะ อ่านรู้เรื่อง ส่วนขั้นว่าทำอย่างไรตัวหนังสือนั้นจะมีชีวิต
เป็นเรื่องสำหรับคนจำนวนน้อยที่เรียกว่านักประพันธ์ เรียนจบแล้ว
อย่างเป็นบัณฑิตที่พูดและเขียนรู้เรื่อง
จากนั้นอยากจะเป็นนักเขียนค่อยว่ากันนะครับ โลกอักษรยังกว้างและมีที่ว่างเสมอ
๑๔
กรกฎาคม ๒๕๖๑