ชีวิตที่ว่างเปล่าของวิทยา
สมภาร
พรมทา
-๑-
วิทยา
(นามเดิม Ludwig Wittgenstein) เป็นคนออกจะแปลกๆ เขาจบปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์การบินหรืออะไรทำนองนี้แหละ
ระหว่างเรียนวิศวะ เขาอ่านปรัชญามาก
คิดว่าตัวเองน่าจะไปทางปรัชญาได้ดีกว่าวิศวะ
เลยมาด้อมๆมองๆ แถวสำนักทิศาปาโมกข์ลือชื่อนามว่าสำนักสะพานหัน (ชื่อเดิม Cambridge
อันเป็นสำนักคู่แฝดกับสำนักคอกงัวOxford) ช่วงนั้น
ทิศาปาโมกข์คนหนึ่งชื่อรัฐเสน (นามเดิม Bertrand Russell) กำลังเป็นขาใหญ่ของสำนัก
ใครเข้าหาเป็นอันสะดวกสบายที่จะมาเป็นศิษย์สำนักสะพานหัน วิทยาเลยเข้าไปทางนั้น
ที่จริงจะว่าเขาเล่นเส้นก็ไม่ถูกนัก
เขาอ่านบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายแหล่ที่รัฐเสนแต่งแล้วคิดว่าคนนี้เป็นทิศาปาโมกข์ที่มีความคิดแหลมคมที่สุดในบรรดาพวกที่สุมหัวกันอยู่ในสำนักสะพานหัน
คนคิดคล้ายกันมักไปหากัน อันนี้เป็นกฎธรรมดาของโลก เหมือนที่ใครไม่ทราบพูดว่า
วัวย่อมไปหาวัว หมาย่อมไปหาหมา ราชสีห์ไม่ไปหาหมา แต่จะไปหาราชสีห์ด้วยกัน
มีเรื่องเล่าที่ต่อมากลายเป็นตำนานเกี่ยวกับชีวิตที่โลดโผนโจนทะยานของวิทยา
เป็นต้นว่า เขาเป็นทหารไปรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ใช่หรือไม่ ไม่แน่ใจ
คิดว่าใช่) แต่ไม่ค่อยได้รบ เพราะมัวแต่แต่งหนังสือเล่มหนึ่ง
วิทยาเป็นคนหากคิดอะไรมากๆ จะคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องนั้นต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
เขายิงกันตูมๆ วิทยากลับนั่งจดบันทึกความคิดที่แล่นไหลอยู่ในหัวลงสมุด
การที่เขาไม่ตายเพราะถูกยิงในสงครามนับว่าเป็นปาฏิหาริย์ (ที่วิทยาไม่เคยเชื่อ)
เอาเป็นว่าเขาไม่ตาย สงครามเลิก เขาได้หนังสือเล่มหนึ่ง ที่ต่อมาได้พิมพ์เผยแพร่
เป็นหนังสือเล่มบางๆชื่อ คัมภีร์ตรรกปรัชญา (นามเดิมของคัมภีร์คือ Tractatus
Logio-Philosophicus) ไม่ได้ไปค้น
(เพราะขี้เกียจ)
ว่าคัมภีร์เล่มนี้วิทยาแต่งก่อนหรือหลังจากที่เขาไปสมัครเป็นศิษย์ของรัฐเสน
แต่ที่แน่ๆคือ เนื้อหาของหนังสือนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดบางประการของรัฐเสนแน่นอน
ตอนที่คัมภีร์เล่มนี้ของวิทยาพิมพ์เผยแพร่ รัฐเสนเป็นคนเขียนคำนำให้อย่างยืดยาว
ในคำนำของผู้ประพันธ์อันได้แก่วิทยา
เขาก็พูดถึงรัฐเสนว่ามีอิทธิพลต่อคัมภีร์ที่เขาแต่งเล่มนี้ไม่น้อย แต่ถึงเขาไม่บอก
ใครอ่าน หากรู้จักงานของรัฐเสนมาก่อนก็ย่อมมองออกว่าคัมภีร์ของวิทยามันก็อ้ายพวกสำนักรัฐเสนนี่แหละ
วิทยาแต่งหนังสือไว้หลายเล่ม
แต่ในช่วงที่เขามีชีวิต
(โดยต่อมาได้มาเป็นทิศาปาโมกข์นามกระฉ่อนของสำนักสะพานหันด้วย)
เขามีหนังสือที่เขาตั้งใจพิมพ์ออกมาเพียงเล่มนี้เล่มเดียว โอ..
ไม่น่าเชื่อว่าวิทยาจะกลายมาเป็นตำนานที่ใครๆก็อยากเลียนแบบด้วยผลงานคือคัมภีร์บางๆเพียงเล่มเดียว
ที่อ่านแสนยากเย็นเหลือเข็ญพ่อแม่พี่น้องเอ๋ย ว่ากันว่า
คัมภีร์บางๆเล่มนี้แหละที่วิทยาใช้ นำเสนอ สำนักสะพานหันเพื่อใช้วัดวิทยายุทธ์ว่าสมควรเป็นดอกเตอร์ทางปรัชญาหรือไม่
ตกลง วิทยาแต่งหนังสือเล่มหนึ่ง ใช้สอบเป็นดอกเตอร์และต่อมาพิมพ์ออกขาย
ขายได้มากน้อยเท่าใดไม่ทราบ ทราบเพียงว่า เพราะคัมภีร์เล่มเดียวนี้แหละ
เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียงอย่างไม่น่าเชื่อ
ทำไมวิทยาไม่พิมพ์หนังสือเล่มอื่น
เรื่องนี้ผมนายสมภารผู้กำลังเล่าเรื่องนายวิทยาอยู่ตอนนี้สงสัยมานาน ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มอื่นๆของวิทยาที่มีคนเอามาพิมพ์หลังจากที่วิทยาตายแล้ว
จึงพอจะเข้าใจ ในงานที่พิมพ์หลังมรณกรรม (อันเงียบเหงาว้าเหว่) ของวิทยา บางเล่ม
วิทยาเขียนวิจารณ์ว่าความคิดของเขาตามที่ปรากฏในเล่มแรกและเล่มเดียวที่เขาพิมพ์ตอนที่ยังเป็นๆ
มีช่องโหว่มาก ที่จริง ผม (นายสมภาร) พูดเบาไป
วิทยาเขียนไว้ในหนังสือบางเล่มที่เขาตัดสินใจไม่พิมพ์ตอนมีชีวิตว่า
แนวคิดหลักในหนังสือเล่มที่เป็นตำนานของเขานั้นผิด ดูรูปประกอบข้างล่างนะครับ
(จากหนังสือเรื่อง
The Wittgenstein Reader, edited by Anthony Kenny,
Blackwell, 2004, หน้า 40)
การเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
และมนุษย์ที่เรียกว่านักปรัชญาอย่างวิทยานั้นพูดมาเสมอว่างานทางปรัชญาไม่ใช่การยืนยันแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งไปจนตาย
จริงๆวิทยาเสนอว่าปรัชญาไม่ควรเสนอแนวคิดใดๆเสียด้วยซ้ำ
แต่หน้าที่ของปรัชญาคือสอบสวนบรรดาแนวคิดทั้งหลาย
(ไม่ว่าจะในทางศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ เป็นต้น)
ที่เชื่อๆกันว่าถูกต้องดีงามในความเห็นของมหาชนแล้วต่างหาก แต่เอาเถอะ..
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว วิทยาที่บอกใครต่อใครว่าหากทำงานปรัชญาก็อย่าได้เสนอทฤษฎีอะไร
ของพวกนี้ (ที่เรียกว่าทฤษฎี แนวคิด กฎ หรือหลัก อะไรก็ตามแต่)
เป็นงานของคนพวกอื่น ไม่ใช่งานของนักปรัชญา ก็กลับเสนอสิ่งที่ตนบอกว่าไม่ควรเสนอ
แต่ผมนายสมภารพอจะเข้าใจวิทยา สิ่งที่เขาเสนอนั้นแม้จะขัดกับสิ่งที่เขาห้าม
แต่ก็ขัดแบบเฉียดๆ ไม่ขัดอย่างเต็มประตู เรื่องของเรื่องคือว่า หนังสือเรื่อง คัมภีร์ตรรกปรัชญา ของวิทยานั้นเขียนเพื่ออธิบายว่านักปรัชญาทำอะไรได้บ้างในสากลโลกนี้ หากเป็นพวกเยอรมันหรืออินเดียตลอดจนพวกกรีกก็คงตอบว่า โอ.. มิตรสหาย ไยถามคำถามอย่างนี้
เรารู้กันมิใช่รึว่างานของนักปรัชญานั้นกว้างใหญ่เสียยิ่งกว่าพระมหาสมุทร
เราทำทุกอย่าง มากเสียยิ่งกว่าสากกะเบือยันเรือรบ เนื้อหาของปรัชญากรีก อินเดีย เยอรมัน
นั้นคือความพยายามในการหาหลักอะไรสักอย่างหรือมากกว่านั้นก็ได้ถ้าจำเป็นมาอธิบายสิ่งทั้งหมดในจักรวาล
เช่นพุทธปรัชญาเถรวาทเสนอหลักปรมัตถธรรมสี่คือจิต
เจตสิก รูป และนิพพาน เพื่อบอกว่าสิ่งที่มีในสากลโลกนี้ก็ทอนลงเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่อย่างนี้แหละ
เข้าใจอภิธรรมก็เข้าใจสรรพสิ่ง พวกกรีก พวกเยอรมัน
ก็อ้างเช่นเดียวกันนี้ คนเยอรมันคนหนึ่งชื่อนายขาน (นามเดิม Immanuel Kant)
แต่งหนังสือมากเหลือเชื่อเพื่อเสนอว่าจักรวาลทั้งหมดนี้เป็นอะไร
ส่วนไหนเราเข้าถึงได้ ส่วนไหนเราเข้าถึงไม่ได้ เป็นต้น
อีกคนก็เยอรมันเหมือนกันชื่อไหแตกเด้อ (นามเดิม Martin
Heidegger) เขียนหนังสือน้อยกว่า แต่ทุกเล่มก็พูดถึงจักรวาลทั้งหมด
ด้วยภาษาที่มนุษย์น้อยคนนักในพื้นพิภพนี้จะเข้าใจ สรุปคือนักปรัชญาพวกนี้ซึ่งเป็นนักปรัชญาตามคตินิยมอย่างโบราณก่อนสมัยของวิทยาเชื่อว่างานทางปรัชญาใหญ่สุดในบรรดางานทางปัญญาของมนุษยชาติ
เขาจึงเรียกปรัชญาว่าราชินีของความรู้ยังไงละครับท่านผู้ชม
แต่วิทยาเห็นว่าที่เชื่อๆกันมาอย่างนั้นล้วนเป็นความขี้โม้โอ้อวดอันปราศจากมูลทั้งสิ้น
หนังสือเล่มบางๆของวิทยาที่ว่านี้อธิบายว่าทำไมเขาจึงเห็นว่าพวกนักปรัชญาในอดีตขี้โม้โอ้อวด
ใจความตรงนี้ไม่ใช่เนื้อหาหลักของหนังสือเขาเล่มนี้นะครับ
แต่ขนาดไม่หลักก็แรงเสียปานนี้
ส่วนที่เป็นแกนหลักจะมิแรงปานประหนึ่งระเบิดปรมาณูดอกหรือ ใจเย็นครับ โปรดติดตาม
ทำไมวิทยาจึงเห็นว่านักปรัชญาที่ผ่านมาโอ้อวด วิทยาบอกว่าอย่างนี้ครับ
เมื่อนักปรัชญาทำงาน งานของเขาแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ (๑)
คิดหรือทำอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาเชื่อว่าเขาเข้าถึงความจริงบางอย่าง (๒)
เอาสิ่งที่ตนเชื่อว่าตนรู้แจ้งแทงตลอดนั้นมาบรรยายให้มนุษย์คนอื่นร่วมรับรู้หรือเข้าใจด้วย
ขั้นตอนแรกเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลที่มีแต่เขาเท่านั้นรู้ว่ามันเป็นอะไรและเป็นอย่างไร
ขั้นตอนที่สองเป็นเรื่องสาธารณะ
เนื่องจากเป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป
โดยที่คนหนึ่งในนั้นจะต้องเป็นคนที่เป็นต้นความคิดที่ตนกำลังเอามาเล่าให้คนอื่นฟัง
วิทยาบอกว่า
ประสบการณ์ส่วนตัวของใครเราเข้าไปยุ่งไม่ได้
เพราะเราเข้าไปนั่งในชีวิตคนอื่นแล้วใช้ตาเขาดู ใช้หูเขาฟัง ใช้สมองเขาคิด เป็นต้น
เพื่อจะได้รู้ว่าเขาคิด เขาเห็น เขาได้ยินเป็นต้นอย่างไร ไม่ได้ ดังนั้น
พระพุทธเจ้า (วิทยาไม่ได้พูดถึงท่านนะครับ
ผมนายสมภารขอใช้ท่านเป็นตัวอย่างการอภิปราย) จะตรัสรู้อะไรและอย่างไร
มีแต่พระองค์เท่านั้นที่ทราบ (ซึ่งเราคนนอกอนุมานได้สองอย่าง หนึ่ง
เกิดประสบการณ์บางอย่างที่ทรงเรียกว่าการตรัสรู้กับพระองค์จริง
คือคืนนั้นเกิดการสว่างอย่างใหญ่โตขึ้นในใจของพระองค์จริง สองไม่เกิดเหตุการณ์นั้น
และไม่ทรงเคยพูดถึงเรื่องนี้ คนอื่นเอามาแต่งและเผยแพร่กันเอง สมมติเป็นอย่างแรก
สิ่งที่คนอื่นยืนยันได้ก็คือเกิดอาการสว่างกับคนคนหนึ่ง
แต่อาการนั้นจะเป็นอะไรเราไม่ทราบ แต่หากเป็นอย่างที่สอง เรื่องการตรัสรู้ก็เป็นเรื่องเล่าที่เท็จ)
แต่เมื่อทรงเอาสิ่งที่อ้างว่ามาจากการตรัสรู้มาเล่าให้คนอื่นฟัง
ตรงนี้วิทยาบอกผมสามารถเกี่ยวข้องได้เพราะเป็นเรื่องของการใช้ภาษา
วิทยาเขียนไว้ในหนังสือ คัมภีร์ตรรกปรัชญา ว่าการใช้ภาษาคือหัวใจของปรัชญา หนังสือปรัชญาทุกเล่มต้องเขียนเป็นภาษามนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง
และตรงนี้เองที่วิทยาถามว่า ภาษามนุษย์เข้าถึงอะไรได้บ้าง
และไม่สามารถเข้าถึงอะไรได้บ้าง วิทยาตอบว่า
สิ่งที่ภาษาเข้าถึงได้คือสิ่งที่เราเอามาพูดกันได้
สองฝ่ายคือคนพูดและคนฟังรู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร
อะไรที่พูดแล้วลองถามคนฟังสักสามสี่คนก็พอว่าคำนั้นหมายความว่าอย่างไร
หากตอบไม่ตรงกัน แปลว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องที่พูดถึงไม่ได้ เอาตัวอย่างนะครับ
ผมนายสมภารเคยทดลองในห้องเรียนปริญญาเอกสาขาพระพุทธศาสนาที่มหาจุฬา ผมถามว่า หมาคืออะไรครับ ทุกคนตอบได้
ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นเปรียญ ผมถามต่อว่า นิพพานคืออะไรครับ คราวนี้ผมขอให้ท่านที่ตอบจำกัดเป็นเปรียญเก้าประโยคเท่านั้น
สามสี่ท่านในห้องเป็นเปรียญเก้า แต่ตอบคำถามเรื่องนิพพานไม่เหมือนกัน
หากวิทยานั่งอยู่ในห้องนั้นด้วย แกคงหัวเราะเหอ-เหอ แล้วบอกว่า
คำว่าหมาอยู่ในขอบเขตของภาษามนุษย์ที่จะเข้าถึง ส่วนคำว่านิพพานไม่
แล้ววิทยาก็พูดประโยคสำคัญออกมาอันเป็นที่รู้จักกันไปทั่ววงการว่า อะไรที่พูดถึงได้ให้หาทางพูดให้กระจ่างเถิดพ่อคุณแม่คุณ
ส่วนอะไรที่พูดถึงไม่ได้ก็ควรพิจารณาหุบปากเสีย (What
can be said at all can be said clearly; and what we cannot talk about we must
consign to silence.) อ้ายที่เถียงๆกันว่าพระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา
ตามความเห็นของวิทยา ไร้สาระทั้งนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหน
เพราะพูดเรื่องที่ตนไม่มีอำนาจทางภาษาที่จะพูดถึง ก็เลยวนเวียนกันอยู่อย่างนั้น
ไม่ได้คำตอบอะไรที่ตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด
ผมยังจำได้ว่าสมัยเรียนปริญญาเอกอยู่ที่จุฬา
วันหนึ่ง ทางภาคเชิญอาจารย์จากข้างนอกมาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับความคิดของนายไหแตกเด้อ
ท่านอาจารย์ที่มาบรรยายพยายามเล่าว่าแนวคิดของนายคนนี้เป็นอย่างไร
ผมนั่งฟังสามชั่วโมง ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น ออกมานอกห้องผมถามเพื่อนว่าใครเข้าใจมั่ง
ข้าพเจ้าจะเลี้ยงข้าวเที่ยงเพื่อแสดงความทึ่งในความปราดเปรื่อง ทุกคนส่ายหน้า
ผมไม่โทษอาจารย์เพราะท่านแสดงอาการอันตีความได้ว่า ดิฉันก็พูดได้เท่านี้แหละค่ะ (สังเกตการสะกดคำว่า ค่ะ
ของผมตรงนี้นะครับ แปลว่าอาจารย์เสียงอ่อย ถ้าเป็น คะ แปลว่ายังปากแข็ง) หากวิทยานั่งอยู่ในห้องเราด้วย ตะแกคงหัวเราะก้าก-ก้าก บอก กูเตือนแล้วไงว่าอะไรเกินอำนาจภาษาอย่าเสือกพูดถึง
-๒-
ข้อเสนอเรื่องอะไรควรพูดอะไรควรหุบปากของนายวิทยาเท่าที่เล่ามานี้สำหรับผมเป็นประโยชน์มาก
และผมเข้าใจว่าที่วิทยาได้รับความนับถือในวงการปรัชญามากก็เพราะตะแกทำตัวเป็นเสมือนสายฟ้าที่ฟาดเปรี้ยงลงมาตรงหัวของนักปรัชญาทั้งหลายแหล่ในโลกเวลานั้น
สมมติเรานึกเป็นภาพอย่างหนึ่ง มีสนามฟุตบอล เอาที่ธรรมศาสตร์ก็ได้
ในนั้นมีลังอะไรไม่ทราบเขาวางเอาไว้เต็ม
ห่างกันจากลังหนึ่งไปลังหนึ่งประมาณหนึ่งเมตร สมมติว่าลังทั้งหมดนั้นคือเนื้อหาปรัชญาเท่าที่วงการปรัชญาก่อนหน้าวิทยาจะเกิดเขาสร้างสมกันเอาไว้
และหลายคนที่เป็นคนสร้างก็ภาคภูมิใจในงานของตน วิทยาคือคนที่ตั้งคำถามว่า
ท่านเอาเกณฑ์อะไรที่ยกลังของท่านเข้ามาวางในสนามในฐานะความรู้ทางปรัชญา
คำถามของวิทยานั้นทำให้นักปรัชญาส่วนใหญ่ที่ไม่เคยถามเรื่องนี้อึ้ง ตอบไม่ได้
วิธีที่วิทยาทำให้นักปรัชญาอื่นอึ้งก็ง่ายมากครับ ตรงไปตรงมา ตะแกถามว่า
คนเราก่อนใช้ภาษาต้องคิดใช่ไหม ใช่ ใครพูดไม่คิดก็บ้าครับ ถามต่อ เวลาที่เราคิด
เรารู้ว่าบางอย่างเราคิดถึงได้ แต่บางอย่างคิดถึงไม่ได้ ใช่ไหม อันนี้ยากหน่อย
ผมนายสมภารขอตอบแทนว่าใช่ เอาตัวอย่างสักหน่อย
คืนหนึ่งผมคิดว่าผมไม่ชอบหน้าคนบางคนข้างบ้าน อยากฆ่าคนนี้ให้ตาย ถามว่า
การจินตนาการเห็นภาพตนค่อยๆย่องเข้าไปในบ้านคนคนนั้น
แล้วใช้ปืนยิงเขาจากข้างหลังตอนที่เขานั่งกินข้าวอยู่ เป็นเรื่องที่เราคิดถึงได้ใช่ไหม
วิทยาบอกว่าหากผมเล่าแล้วแฟนานุแฟนเข้าใจ
คือนึกภาพออกตามที่เล่า แปลว่า เรื่องนี้เราคิดถึงได้ (thinkable)
เอาอีกฉาก
ผมคิดว่า ผมไม่ควรเดินเข้าไปยิงเขาตรงๆ เพราะอาจมีคนเห็น ผมอาจติดคุก
ผมควรนั่งสมาธิ ถอดกายทิพย์ที่มองไม่เห็น แล้วสั่งกายทิพย์ไปยิงแทน จะได้ไม่ติดคุก
ถามว่า ฉากนี้คิดถึงได้ไหม วิทยาบอกว่า หากท่านผู้อ่านคิดตามและนึกเห็นภาพได้
แปลว่า คิดถึงได้ ฉากนี้ก็คิดถึงได้ครับ (thinkable
as well)
ความต่างระหว่างสองฉากข้างต้นอยู่ที่
ฉากแรกเป็นสิ่งที่เราคิดถึงได้และแน่ใจว่าเกิดจริงได้ (เพราะมีตัวอย่างที่เกิดก่อนหน้านี้
การใช้ตัวอย่างยืนยันความรู้คืออุปนัย วิทยาศาสตร์ก็ทำงานอย่างนี้) แต่ฉากที่สอง
แม้จะเป็นสิ่งที่เราคิดถึงได้ แต่เราจะไม่แน่ใจว่าเกิดจริงได้ไหม
(ไม่ปรากฏตัวอย่างที่เกิดจริงก่อนหน้านี้ จึงใช้อุปนัยไม่ได้) ตามทัศนะของวิทยา
ปรัชญาควรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คิดถึงได้แบบแรก
ปล่อยให้สิ่งที่คิดถึงได้แบบที่สองเป็นงานของนักวรรณกรรม เช่นคนแต่งนิยาย
เรื่องสั้น บทกวี เป็นต้น ท่านอังคารท่านเขียนกวีว่าตอนท่านอกหัก ท่านร้องไห้
น้ำตาท่วมเขาพระสุเมรุจนทั้งเขาเปื่อยละลายหมด อ่านแล้วเราเข้าใจ
แปลว่าสิ่งที่ท่านเขียนอยู่ในอำนาจของภาษาที่จะบรรยาย
แต่คงไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดจริงได้ สร้างเป็นหนังดูสนุกๆได้
ฉากที่สาม
ผมจินตนาการว่า ปล่อยกายทิพย์ไปฆ่าก็ยังไม่ปลอดภัย
เพราะเทวดาอาจเห็นได้แล้วไปเป็นพยานในศาล อย่ากระนั้นเลย เพื่อให้ผมปลอดภัยสูงสุด ผมควรยิงเขาให้ตายโดยการไม่ยิง
คือนั่งอยู่บ้านเฉยๆนี่แหละ เมื่อนั่งอยู่บ้าน
ก็ไม่มีใครเห็นผมไปวนเวียนที่บ้านคนผู้นั้น
กล้องวงจรปิดของบ้านเขาก็ไม่มีทางที่จะมีภาพผมไปปรากฏ ดังนั้นหมดห่วง
ถามว่าจินตนาการนี้คิดถึงได้ไหม วิทยาตอบว่า ขึ้นกับว่าเราอธิบายเรื่องว่าอย่างไร
หากผมอยู่บ้าน ผมก็ไม่ได้ยิงเขา เพราะการยิงแปลว่าต้องไม่อยู่บ้าน
จึงจะไปยิงเขาได้ จากการวิเคราะห์ทางตรรกวิทยา (ที่วิทยาเรียกว่า
logical analysis) นี้แปลว่า หากผมอยู่บ้าน
คนนั้นก็ไม่ถูกยิงตายโดยผม สมมติเรากำหนดสัญลักษณ์แทนข้อความสองข้อความนี้ว่า ผมอยู่บ้าน คือ A คนนั้นตายเพราะถูกผมยิง คือ B แล้วเอาสองข้อความนี้มาโยงกันว่า If
A, then not B. (แปลว่า ถ้าผมอยู่บ้าน
เป็นไปไม่ได้ที่คนคนนั้นจะถูกผมยิงตาย) คนที่เรียนตรรกวิทยามาทราบดีครับว่า
หากเราอยากเห็นผล คือ B เราต้องทำอย่างนี้
If A, then not B
B
Not A
โครงสร้างทางตรรกะของข้อความข้างบนก็เหมือนเราพูดว่า
หากกินเหล้ามาก
(A) สุขภาพก็จะไม่ดี (Not B)
อยากสุขภาพดี
(B)
ก็อย่าแดกเหล้ามากซิครับ
(Not A)
สมมติว่าสิ่งที่ผมต้องการเห็นคือ
B (เพื่อนบ้านคนนั้นถูกยิงตายโดยผม) ตามหลักตรรกวิทยา
ผมจะต้องเดินออกจากบ้านแล้วไปยิงเขา (Not A) การที่จะมีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกันคือ
ผมอยู่บ้าน (A) และคนนั้นถูกยิงตายโดยผม (B) เป็นสิ่งที่คิดถึงไม่ได้ตามทัศนะของวิทยา
เขาเขียนเองไว้ในหนังสือเล่มเดียวของเขาเล่มนั่นแหละว่า
สิ่งที่คนเราคิดถึงไม่ได้คือสิ่งที่ไม่เดินตามกฎตรรกวิทยา (the unthinkable
event is the one that is unlogical) โปรดสังเกตคำที่วิทยาใช้
เขาเรียกภาพในความคิดคนที่เกิดไม่ได้นี้ว่า unlogical
คือที่มันเกิดไม่ได้ในความคิดเราเพราะมันขัดแย้งกับตรรกวิทยาที่ธรรมชาติใส่ลงในหัวสมองหรือจิตใจของคนเรา
ใครอยากเห็นตนนอนอยู่บ้านแล้วเพื่อนบ้านตายเพราะตนยิงโดยที่ตนไม่ได้ยิงเพราะอยู่บ้าน
คนนั้นก็บ้าครับ
สรุปคือ
ตามการวิเคราะห์ของวิทยา บางเรื่องเราคิดถึงได้ เรื่องที่เราคิดถึงได้มีสองแบบ
แบบหนึ่งมีตัวอย่างว่าเคยเกิดมาแล้วในโลก อีกแบบไม่เคยมีตัวอย่าง
นอกจากเรื่องที่คิดถึงได้ ยังมีเรื่องที่คิดถึงไม่ได้
ตามตัวอย่างที่ผมนายสมภารเล่าให้ฟังข้างต้น
สิ่งที่คิดถึงไม่ได้นี้คือภาพในใจที่เราสร้างอย่างไรก็ไม่สำเร็จเพราะมันขัดกับกฎทางความคิดที่เรียกว่าตรรกวิทยาอันมนุษย์เราไม่ได้สร้างให้ตนเอง
แต่ธรรมชาติสร้างให้ คนที่คิดนอกกรอบตรรกวิทยาตามที่ว่านี้มีแต่คนบ้า
ข้อสังเกตของผมคือในโลกปรัชญา
ไม่น่าจะมีใครแต่งหนังสือโดยพูดถึงของแบบที่สาม
ดังนั้นของที่บรรจุอยู่ในงานของนักปรัชญาจำนวนมาก เช่นนายขาน นายไหแตกเด้อ เป็นต้น คือของอย่างที่สอง อันได้แก่ของที่พูดถึงได้
แต่ไม่เคยปรากฏตัวอย่างให้เห็น วิทยาคิดว่าของพวกนี้รวมอยู่ในสิ่งที่เราไม่มีอำนาจทางภาษาใดๆที่จะพูดถึง
ดังนั้นก็หุบปากเงียบเสียดีกว่า
การเสนอให้หุบปากในเรื่องที่สมควรแก่การหุบนี้ว่าไปแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงทำเป็นปกตินะครับ
มหายานยุคแรกๆก็นิยมการหุบปากในเรื่องที่สมควรหุบ เช่นที่ปรากฏใน วิมลเกียรตินิรเทศสูตร ที่ท่านเล่าว่า
พระพุทธเจ้าทรงถามคำถามทางปรัชญาบางอย่าง มีผู้อาสาตอบมากมาย
แต่ละท่านก็ถือว่าเป็นขาใหญ่ในวงการ เมื่อแต่ละท่านตอบแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ทรงหันมาถามอุบาสกวิมลเกียรติว่าท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
วิมลเกียรติหุบปากเงียบ ทรงสรรเสริญว่า นี่คือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้
คำตอบแบบพูดนั่นพูดนี่ก็ดี มีประโยชน์บางแบบ แต่สู้เงียบสนิทไม่ได้
ว่ากันว่าทรงสรรเสริญว่าการหุบปากเงียบของวิมลเกียรติคราวนี้ดังก้องกัมปนาทเสียยิ่งกว่าสายฟ้าฟาด
วิทยาเคยอ่านพุทธหรือไม่ ผมไม่ทราบ
สรุปว่า
วิทยาเสนอให้ขนลังที่ไม่เข้าข่ายว่าเนื้อหาข้างในบรรจุสิ่งที่พูดถึงได้ออกจากสนามฟุตบอล
ผลคือเหลือลังอยู่ไม่กี่ใบ ลังเหล่านี้บรรจุแนวคิดที่พูดถึงสิ่งที่พูดถึงได้
และมีตัวอย่างว่าสิ่งเหล่านี้เคยเกิดมาแล้วในโลก งานขั้นต่อไปของวิทยาคือ
เมื่อจะใช้ภาษาในการพูดถึงของที่พูดถึงได้แบบนี้ เราจะพึงใช้ภาษาอย่างไร
วิทยาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาในหนังสือเล่มนี้
เนื้อหาส่วนนี้คือส่วนที่เป็นหลักของหนังสือ
เราในวงการปรัชญาเรียกหลักที่วิทยาเสนอนี้ว่า Logical Atomism ผมไม่ทราบจะแปลคำนี้ว่าอย่างไร เห็นเขาแปลๆกันว่า ปรมาณูนิยมเชิงตรรกะ
ซึ่งน่าจะไม่มีมนุษย์คนใดเข้าใจ ต่อให้เป็นพวกนักเรียนปรัชญาก็ตาม
ใครอยากรู้ความหมายของคำนี้
ผมแนะนำให้ซื้อหนังสือ คัมภีร์ตรรกปรัชญา ของวิทยามาอ่านนะครับ
คำนี้เป็นยี่ห้อของข้อเสนอหลักๆที่วิทยาเสนอไว้ในคัมภีร์เล่มนี้ของเขา
ผมไม่รับประกันว่าท่านจะอ่านเข้าใจ
คนแต่งคือวิทยาก็ดักคอล่วงหน้าว่าคนอ่านเล่มนี้เข้าใจคงน้อยมาก
ผมนายสมภารผู้เขียนถึงนายวิทยาเชื่อว่าตนอ่านเข้าใจ
ไม่อย่างนั้นจะเขียนเล่าอะไรต่อมิอะไรมาได้มากมายปานนี้หรือครับ
เมื่อคิดว่าอ่านเข้าใจก็เลยไปขั้นที่สองคือถามตัวเองว่าเห็นด้วยไหมกับที่วิทยาเขียนไว้
อันนี้ผมมีสิทธิถาม เพราะผ่านขั้นตอนที่หนึ่งคือเข้าใจมาแล้ว
(หากไปฟังบรรยายแล้วไม่รู้เรื่อง เราจะถามอะไรได้ครับ ก่อนถามมันต้องรู้เรื่องก่อน
ที่ถามโดยไม่รู้เรื่องนั้นผมก็เคยเห็นมาไม่น้อย พิลึก
ไม่รู้เรื่องแล้วยังบอกไม่เห็นด้วย)
ว่าก็ว่าเถอะครับ
เมื่อแรกที่อ่าน คัมภีร์ตรรกปรัชญา ของนายวิทยา ผมรู้สึกไม่ค่อยชอบ และมองเห็นข้อบกพร่องบางอย่าง
ต่อเมื่อมาอ่านหนังสือเล่มอื่นของเขาที่เขาเขียนตอนที่ผ่านโลกมากขึ้น คิดมากขึ้น
และหนังสือพวกนี้มีคนเอามาพิมพ์หลังจากที่วิทยาตายแล้ว (โดยไม่มีโอกาสรู้ว่าจะมีคนได้อ่านว่าเขาคิดอย่างไรกับงานเล่มเดียวของเขาเล่มนั้นเพราะเขาตายไปแล้ว
อาจรู้ได้หากไปเกิดเป็นเทวดาแล้วมีโอกาสกลับมาเยี่ยมโลกนี้อีก อันนี้คิดถึงได้
แต่ไม่มีตัวอย่างว่าเคยเกิดจริง) ปรากฏว่าประเด็นไม่น้อยที่วิทยาบอกว่าเขาคิดผิด
ผมเองก็รู้สึกมาก่อนที่จะได้มาอ่านว่าต่อมาเขาคิดอย่างนี้กับงานของตน แต่โดยภาพรวม
ผมก็ยังเห็นว่าหนังสือเล่มเดียวของวิทยาเล่มนี้มีค่ามาก
เป็นงานอมตะในความหมายว่ากระตุ้นให้เราคิดอยู่ได้เสมอ ไม่ล้าสมัย
การที่เจ้าตัวบอกว่าเขาผิดไม่ค่อยมีความหมายในวงการปรัชญานะครับ
แต่คงมีความหมายมากในวงการวิทยาศาสตร์
ที่เป็นอย่างนั้นก็เข้าใจได้จากที่วิทยาเขียนเองว่า
หน้าที่ของนักปรัชญาไม่ได้อยู่ที่การเสนอทฤษฎีที่แหลมคมเป็นอมตะ
แต่อยู่ที่การเสนอวิธีในการประเมินสิ่งที่ใครต่อใครอ้างว่าเป็นองค์ความรู้ที่แน่นปึ๊กเถียงไม่ได้แล้วต่างหาก ทฤษฎีของเขาที่เรียกชื่อว่า Logical
Atomism นั้นเป็นทฤษฎีที่เสนอวิธีการทำปรัชญานะครับ
ไม่ใช่งานที่เสนอความจริงว่าจักรวาลเป็นอย่างไร ผมจึงได้เรียนแฟนานุแฟนว่า
วิทยาทำผิดกฎที่เขาตั้งไว้ไม่มาก เพราะสิ่งที่เขาเสนอไม่ได้กำลังบอกว่า ผมรู้นะว่าความจริงของจักรวาลเป็นอย่างนี้อย่างนั้น
แต่บอกว่า หากสงสัยว่าอ้ายพวกที่ชอบอ้างว่าตนรู้สัจธรรมพูดน่าฟังเพียงใด
ผมมีหลักให้นะขอรับ ความผิดของทฤษฎีที่วิทยาเสนอเป็นความผิดในความหมายว่าใช้อธิบายหรือทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาษาได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
เป็นไปได้ที่จะมีใครช่วยต่อยอด (ถ้าต่อได้) แล้วกลายเป็นทฤษฎีที่ดีกว่าเก่า
ต่อให้ทิ้งไว้อย่างนี้ ก็มีของจำนวนมากนี่ครับที่ทฤษฎีของเขาจัดการได้
ผมรู้สึกอย่างนั้นนะครับ มันไม่เหมือนการพูดว่าโลกแบน อย่างนั้นผิดแล้วผิดเลย
แต่ในวงการปรัชญา เราไม่มีงานแบบนั้น คนที่เสนอว่ามีพระเจ้าก็ยังมีที่ยืนที่มั่นคงในวงการปรัชญา
พอๆกับพวกที่บอกว่าไม่มีดอกพระเจ้าที่แกว่านั่นน่ะ
-๓-
ต่อไปนี้ผมจะอธิบายว่าวิทยาเสนออะไรในนาม
Logical Atomism วิทยาเป็นวิศวกรมาก่อนที่จะมาเรียนปรัชญา
เขาบอกเองว่านิสัยอย่างวิศวกรมีอิทธิพลต่อการทำงานทางปรัชญาของเขา
สมมติผมมีนาฬิกาข้อมือเรือนหนึ่ง เป็นแบบจักรกลอัตโนมัติ
เราทราบว่านาฬิกาเรือนนี้จริงๆก็คือชิ้นส่วนเล็กบ้างใหญ่บ้างที่มาคุมกันเข้าเป็นนาฬิกา
สมมติว่ามีชิ้นส่วนที่หากถอดออกวางแล้วจะได้จำนวน ๔๐๐ ชิ้น
ชิ้นส่วนที่ถอดออกมาวางไว้แต่ละชิ้นนั้นคือส่วนย่อยที่สุดในตัวมันแล้ว เช่นเข็ม
ลาน เม็ดมะยม เป็นต้น ถือว่าเป็นส่วนย่อยที่สุดแล้ว
ส่วนย่อยที่สุดแล้วนี้วิทยาเรียกว่า atoms เพื่อให้เข้าใจชัด
เขาเรียกชิ้นส่วนนาฬิกาเหล่านี้ว่า mechanical atoms
ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของนาฬิกามี
ที่ทาง ของมัน เมื่อเราประกอบชิ้นเหล่านั้นกลับเป็นนาฬิกา
ช่างต้องเอาแต่ละชิ้นใส่คืนในที่ที่เป็น ที่ทาง ของมัน ไม่อย่างนั้นนาฬิกาทั้งเรือนจะไม่ทำงาน วิทยาจินตนาการว่า
หากเราอยากมีเครื่องมือในทางภาษาเพื่อจัดการกับความรู้เกี่ยวกับโลก
ทฤษฎีภาษานั้นจะต้องทำงานคล้ายๆกับงานทางกลศาสตร์ที่ว่านี้ อย่าลืมนะครับว่าวิทยาเรียนวิศวกรรมศาสตร์มาก่อน
วิทยาเสนอว่า ข้อความในภาษาธรรมชาติที่มนุษย์เราสร้างขึ้นเช่นภาษาไทย
มีความกำกวมที่เราต้องจัดการ วิธีจัดการก็คือแปลงภาษาธรรมชาติให้เป็นภาษาตรรกวิทยา
จากนั้นก็สร้างกฎเกณฑ์ทางตรรกวิทยาขึ้นเพื่อบอกว่า คิดอย่างไหนถูก คิดอย่างไหนไม่ถูก
คิดอย่างไหนบอกว่าถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ได้ เป็นต้น
เอาตัวอย่างนะครับ
ผมมีข้อความภาษาไทยว่า นายสมภารสอนปรัชญาที่มหาจุฬา นี่คือข้อความในภาษาธรรมชาติ
สมมติเราจะแปลงข้อความนี้ให้เป็นภาษาตรรกวิทยา (ที่ทำได้หลายแบบ
คนไทยเราก็สร้างเองได้ ผมเองก็เคยสร้างเพื่อใช้งานเองในบางเรื่อง)
โดยแปลงว่าประโยคข้างต้นนี้มีคำอยู่ ๔ คำคือ (๑) นายสมภาร (๒) ปรัชญา (๓) มหาจุฬา
(๔) สอน สามคำแรกเป็นคำนาม เราแปลงเป็น A (นายสมภาร) B
(ปรัชญา) C (มหาจุฬา) ส่วนคำที่สี่เป็นคำกริยา
เราแปลงเป็น D (สอน) ได้ ข้อความว่า นายสมภารสอนปรัชญาที่มหาจุฬาก็แปลงเป็น
ADBC ได้เลย ง่ายจะตายไปใช่ไหมครับ
ABCD นี้ถือเป็นหน่วยย่อยสุดท้ายทางตรรกวิทยาแล้ว
หน่วยย่อยสุดท้ายในทางตรรกวิทยาคือคำที่เรานิยามต่อไม่ได้ เพราะมันสุดแล้ว
หากต้องการทราบความหมายก็เอาตัวอย่างมาให้ดู เช่นคำว่า ส้ม (ผลไม้) เรานิยามว่าลูกของต้นไม้ที่ (๑) กลม (๒) รสเปรี้ยวและหวาน (๓)
กลิ่นเป็นกลิ่นส้ม กลมคืออะไร กลมก็คือกลมครับ เปรี้ยวและหวานก็เช่นกัน ไม่มีนิยาม
กลิ่นส้มก็นิยามไม่ได้ สรุปคือคุณสมบัติสามอย่างข้างต้นสุดแล้ว
ไม่ต้องนิยามด้วยภาษา อยากรู้ความหมายก็เอาตัวอย่างมาให้ดูว่านี่ไงกลม
นี่ไงเปรี้ยว นี่ไงหวาน นี่ไงกลิ่นส้ม ดมดูซะ จะได้ไม่ต้องถาม
คำที่ระบุถึงของที่สิ้นสุดแล้วนี้ วิทยาเรียกว่า logical atoms ซึ่งเทียบได้กับ mechanical atoms
วิทยาจินตนาการว่า
เขาสามารถสร้างงานเขียนที่เปรียบได้กับการสร้างนาฬิกา หากทำได้สำเร็จ งานเขียนนี้ก็จะเป็นพยานว่า
ทฤษฎี logical atomism ของเขาทำงานได้
หนังสือเล่มเดียวของเขานั้นเขาจงใจแต่งเพื่อใช้เป็นตัวอย่างว่า
งานทางความคิดก็ดำเนินตามกฎทางกลศาสตร์ได้ และสมควรทำ
เพื่อให้งานเป็นชิ้นเดียวที่ส่วนย่อยข้างในทั้งหมดทำงานประสานกันแน่นปึ๊ก เพราะถูกวางไว้ในที่ที่เป็น ที่ทาง ของตน ดูตัวอย่างหน้าหนังสือเล่มนี้สักหน้านะครับ
ครั้งแรกที่อ่านหนังสือนี้
ผมแปลกใจนิดหน่อยและตื่นเต้นว่าวิธีการนี้น่าสนใจ คิดอย่างนี้ครับ
วิทยาแต่งหนังสือนี้เหมือนทำนาฬิกา
เขาออกแบบว่าประโยคแต่ละประโยคเปรียบเสมือนชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของนาฬิกา
ดังนั้นมันต้องมีที่ของตน ตัวเลขทั้งหลายแหล่ที่วิทยาใส่กำกับข้อความนั้นคือ ที่ทาง ของมันในหนังสือทั้งหมด อ่านไปได้สักพัก
ผมก็เริ่มเบื่อ และรู้สึกรำคาญ
ซ้ำร้ายคิดว่าที่ที่วิทยาวางไว้ให้ข้อความเหล่านี้บางทีก็สงสัยได้ว่าใช่หรือ
เอาไปใส่ที่อื่นก็ได้มั๊ง เป็นต้น สรุปคือ
สิ่งที่วิทยาทำอาจน่าสนใจในทางตรรกวิทยา คือพยายามสร้างงานเขียนแบบวิศวกร
แต่เมื่อผ่านขั้นตอนของความตื่นเต้นที่เห็นวิธีการแปลกใหม่แล้ว ผมก็ถามว่า
จำเป็นไหมที่ต้องทำอย่างนี้ คำตอบคือไม่จำเป็นเลย
งานเขียนดีๆในโลกที่ผมเคยอ่านและมีอิทธิพลต่อใจผม คนแต่งก็แต่งไปตามปกติธรรมดา
ไม่ได้มาจัดที่ทางให้ข้อความแบบเรียงเป็นคำเป็นประโยคละเอียดยิบแบบนี้
นี่แค่เรื่องโครงสร้างนะครับ
ยังมีเรื่องอื่นเช่นรายละเอียดการจัดคำบางประเภทให้อยู่ในรูป atoms อย่างไรภาพของส่วนย่อยก็เป็นเรื่องรูปธรรม เช่นชิ้นส่วนของนาฬิกา
แต่การจะจัดคำที่เป็นนามธรรม เช่นดีใจ เสียใจ สลดใจ จิตตก ปีติ
เป็นต้นให้อยู่ในรูป atoms ไม่ง่าย เช่น จิตตก กับ สลดใจ ต่างกันอย่างไร
ชิ้นไหนใหญ่กว่าชิ้นไหน เวลาประกอบเข้าที่จะได้ประกอบถูก เป็นต้น
ผมเคยลองอ่านหนังสือของวิทยาเล่มที่รุงรังด้วยตัวเลขข้างต้น
แบบไม่สนใจตัวเลขเลย ผลคืออ่านแบบไหนก็ไม่ต่างกัน
แปลว่าความพยายามที่จะเอาวิธีการทางวิศวกรรมศาสตร์มาจัดการภาษาของเขาล้มเหลว
ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆนะครับ ต่อมาได้มาอ่านหนังสือที่เขาเขียนปฏิเสธทฤษฎี logical
atomism ในหนังสือ Tractatus
ผมจึงคิดว่า วิทยาเองก็คงรู้สึกว่าแนวคิดของตนมีปัญหามาก
ว่าก็ว่าเถอะนะครับ ภาษาเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติ
ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างภาษาให้เราใช้ก็ได้ เชื่อแบบที่ดาร์วินเชื่อก็ได้
แม้เชื่ออย่างนี้ภาษาก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าคน วิทยาเป็นใครจึงคิดจะมาสร้างหลักเกณฑ์แบบรื้อใหม่หมดเพื่อให้เพื่อนมนุษย์ได้ใช้ภาษาอย่างถูกหลักวิศวกรรมศาสตร์ในทางภาษา
รถยนต์นั้นคนสร้าง แต่ร่างกายคนคนไม่ได้สร้าง ระบบร่างกายคนซับซ้อนกว่ารถยนต์มาก
เทียบกันไม่ได้ ใครหนอจะบังอาจศึกษาการทำงานของรถยนต์เพื่อใช้งานกับร่างกายมนุษย์
เรื่องนี้วิทยาเองก็สงสัยในช่วงหลังๆของชีวิตเขา
เกษียณอายุจากสำนักสะพานหันแล้ว
วิทยาก็หายตัวไปจากวงการ เขาอำลาสำนักสะพานหันตอนอายุ ๕๘ ปี
ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไอร์แลนด์น่าจะสักสามปี ที่นั่นเขาแต่งหนังสือชื่อ Philosophical
Investigations จบ จากนั้นก็ไปอยู่อเมริกาเป็นเวลาสั้นๆ
หนึ่งปี ป่วยเป็นมะเร็งเลยกลับมาที่บ้านเกิดที่อังกฤษ แล้วตาย ตอนอายุ ๖๒ ปี
หนังสือที่เขาวิจารณ์ตนเองว่าคิดผิดก็คือเล่มนี้แหละครับ ฝากไปหาอ่านด้วย
ผมยังชอบวิทยาเสมอ แม้ความคิดที่เขาบอกว่าเขาผิดผมก็ยังเห็นประโยชน์มาก และใช้งานในบางครั้งเรื่อยมา
ขอบคุณครับสหาย ขอให้ไปสุคติ
๔
สิงหาคม ๒๕๖๑