ชีวิตกับความยุติธรรม
สมภาร พรมทา
-๑-
จักรวาลนี้กว้างใหญ่
ในท่ามกลางจักรวาลที่กว้างใหญ่ มีดาวดวงหนึ่งเรียกว่าโลก
ในโลกมีสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งเรียกว่าคน เรามองคนได้หลายแง่ ในแง่ชีววิทยา
คนเป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง นอกจากสัตว์ ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งคือพืช
นักชีววิทยา (ซึ่งก็เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทที่เรียกว่าคนซึ่งก็คือสัตว์ชนิดหนึ่ง)
เชื่อว่า สิ่งมีชีวิตในโลกมีอยู่สองประเภทหลักๆนี้เท่านั้น
คือหากไม่ใช่สัตว์ก็ต้องเป็นพืช
เราใช้เกณฑ์เรื่องการปรากฏต่ออายตนะสำหรับแยกสิ่งมีชีวิตอย่างนั้น
คือเท่าที่เห็นหรือสังเกตได้ มีเท่านี้ แต่ปัญหาว่า มีไหมที่เราสังเกตไม่เห็น
แต่มีอยู่ ในทางตรรกวิทยา เป็นไปได้ เรื่องนี้จึงยังเป็นปริศนาอยู่ว่า
ในโลกหรือไกลออกไปกว่านั้น มีสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่พืช
ตามที่เราจัดแบ่งกันในหมู่ชาวโลก สามารถมีได้ไหม คำตอบ ณ เวลานี้คือ เรายังไม่ทราบ
คนนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเป็น
สิ่งมีชีวิตอื่นก็คงคิดเป็นเช่นกัน หากเราเข้าใจว่าการคิดหมายถึงอาการกระเพื่อมของพลังชีวิตที่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
ต้นไม้ก็พยายามที่จะให้ตนอยู่รอด สังเกตจากความพยายามของมัน
เช่นเอนลำต้นหนีชายคาบ้าน
เพื่อให้กิ่งก้านและใบออกไปรับแสงแดดที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่
สัตว์เช่นหมาแมววัวควายคิดเป็นแน่ๆ หมานั้นเจ้าของไม่อยู่บ้านก็ซึมเศร้า
นี่คือตัวอย่างการที่หมาคิดเป็น คนเรานั้นเท่าที่เราสังเกตตัวเอง
มีบางสิ่งแล่นไปแล่นมาอยู่ในหัวของเรา สิ่งนี้เป็นอะไรไม่แน่ชัด แต่เราสัมผัสได้
รับรู้ได้ ขอเรียกสิ่งนี้รวมๆว่าความคิด ความคิดมีหลายแบบ บางแบบมีลักษณะเป็นความคิดล้วนๆ
คือมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีอาการไหวตัวเตลิดเลยไปกว่านั้น
เช่นเห็นดอกกุหลาบในสวน ก็มีความคิดว่า นั่นดอกกุหลาบ ดูบอลในโทรทัศน์ ก็มีความคิดว่า เขากำลังเตะบอลกัน
แต่ความคิดบางอย่างเมื่อรับรู้แล้วไม่หยุดเท่านั้น แต่เดินหน้าต่อไปอีก
ก้าวต่อมาของความคิดที่พ้นออกมาจากการรับรู้นี้ขอเรียกว่าอารมณ์
เช่นดูบอลแล้วทีมที่เชียร์แพ้ก็เศร้า ความเศร้าเป็นความคิดอย่างหนึ่ง
จัดอยู่ในหมวดอารมณ์
ชีวิตมนุษย์ในวันหนึ่งๆ
(ตั้งแต่ตื่นนอนไปจนหลับอีกหน) เกี่ยวข้องกับความคิดอยู่ตลอดเวลา โดยทั่วไป ธรรมชาติออกแบบให้เราเกี่ยวข้องกับความคิดในปริมาณที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป
เรียกว่าพอดีก็คงได้ แต่คนบางคน ชีวิตเขาต่างจากคนอื่นในหลายเรื่อง
(เช่นผ่านเรื่องเลวร้ายในชีวิตมามาก)
ทำให้เขาต้องวนเวียนเกี่ยวข้องกับความคิดมากกว่าคนทั่วไป
บางคนที่เกี่ยวข้องกับการคิดมากกว่าคนทั่วไปนี้ก็อาจกลายมาเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อโลก
เช่นเป็นนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักศิลปะ นักประดิษฐ์คิดค้น
หรือแม้แต่เป็นพระศาสดาของศาสนา
แต่ก็มีบางคนในกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถจัดการกับจิตใจที่ถูกกระทบโจมตีอย่างหนักหน่วงด้วยรายละเอียดชีวิตที่เป็นเฉพาะรายของพวกเขา
(ที่ไม่เหมือนกันและไม่เหมือนคนทั่วไป)
ทำให้ไม่อาจทานทนต่อการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ บางคนเป็นบ้า บางคนฆ่าตัวตาย
เราอาจมองว่าการเป็นบ้าหรือการฆ่าตัวตายเป็นทางออกตามธรรมชาติที่ธรรมชาติ
(หรือพระเจ้าผมไม่อาจทราบได้)
ออกแบบไว้ให้สำหรับชีวิตพิเศษเหล่านี้
อย่างน้อยการที่เราถูกสร้างมาให้ตายได้ก็นับว่าเป็นความใจกว้าง เมตตากรุณา หรือ goodwill ของผู้ที่สร้างระบบจักรวาล
หากเกิดมาแล้วตายไม่ได้ ชีวิตเราจะน่าสมเพชเวทนาขนาดไหนเราคงนึกออก
ชีวิตมนุษย์ทุกประเภท
(ไม่ว่าจะผ่านสงครามชีวิตมาหนักหนาสาหัสต่างกันมากมายขนาดไหนก็ตาม)
เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ
สามารถรู้สึกว่าบางเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่บางเรื่องเป็นปัญหา หากเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราก็จะรับได้
หรือไม่อยากรับแต่ก็จะต้องยอมรับ เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องเป็นอย่างนั้น
เช่นคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครยามนี้น่าจะรับได้ว่ารถติดเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
เมื่อรู้สึกอย่างนั้น ก็ไม่คาดฝันว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสนั่งรถเมล์โล่งๆหลวมๆ
ใหม่เอี่ยม ติดแอร์เย็นฉ่ำ
โลดลิ่วไปบนถนนสายงามเขียวขจีสองข้างทาง (ที่โล่งๆหลวมๆ เฉกเช่นเดียวกันกับภายในรถ)
อย่างสบายอารมณ์ จนไม่อยากลงเมื่อถึงปลายทางแล้ว
ร้อนและเหม็นตัวเองและเพื่อนสรรพสัตว์ที่ห้อยโหนปานค้างคาวผีในนิทานเวตาลบนรถเมล์ร้อนที่ติดแหง็กอยู่ท่ามกลางแสงแดดและฝุ่นผงอย่างนั้นก็ไม่คิดอะไร
เพราะชินชาแล้ว
แต่บางเรื่องมนุษย์เราไม่รับ
พยายามคิดหาทางแก้ สิ่งที่เราไม่รับและคิดหาทางแก้นี้คือปัญหา
การที่มนุษย์เรามองว่าอะไรเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง (ซึ่งสำคัญมาก)
เกี่ยวข้องกับความคาดหวังของเราที่ว่าเรื่องนั้นยังแก้ได้ การแก้ปัญหามีหลายแบบ
ขอพูดถึงสองแบบ (อาจมีมากกว่านี้ แต่ขอพูดถึงสองแบบนี้เท่านั้น) แบบหนึ่งคือการแก้ปัญหาที่ตัวปัญหา
อีกแบบคือการแก้ปัญหาที่เรา ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ตัวปัญหาก็เช่น
คอมพิวเตอร์จอแตก ยกไปร้านซ่อนเพื่อเปลี่ยนจอ เปลี่ยนแล้วปัญหาก็จบ
คือมีคอมพิวเตอร์ใช้งานต่อ ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่การทำใจก็เช่นยกไปแล้ว
ร้านบอกหาอะไหล่ไม่ได้ในสากลโลกนี้เพราะคอมพิวเตอร์รุ่นนี้โบราณมาก
ปัญหานี้แก้ที่ตัวปัญหาไม่ได้
แก้ได้เพียงปลงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอนิจจังฉันนี้แล
อย่าว่าแต่คอมพิวเตอร์เลย คนใช้คอมพิวเตอร์ที่นั่งหน้าเครียดอยู่นี้
(เพราะไฟล์งานในนั้นไม่ได้เซฟใส่อะไรข้างนอกไว้เลย วิบัติล้มตายไปพร้อมเครื่องทั้งหมดทั้งสิ้น)
ก็จะมีอาการป่วยไข้และซ่อมไม่ได้เหมือนกัน
-๒-
มีปัญหาอย่างหนึ่งในบรรดาปัญหาทั้งหลายแหล่ของมนุษย์ที่จะขอพูดถึงในข้อเขียนนี้
ปัญหานี้เป็นแบบต้องแก้ที่ตัวปัญหาหรือว่าต้องแก้ด้วยการทำใจ จะขอยังไม่พูด
ลักษณะของปัญหาที่ว่านี้คือ คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว เนื่องจากเป็นสิ่งที่รู้จักคิด
ก็ทำให้คิดเมื่อต้องปะทะกับสิ่งต่างๆในโลก
หรือเมื่อยามที่สิ่งต่างๆในโลกวิ่งเข้ามาปะทะชีวิต อาการคิดนั้นมีได้หลายอย่าง
อย่างหนึ่งคือสงสัย ความสงสัยนี้บางวงการเช่นปรัชญาให้ค่าให้ราคามาก
แต่บางวงการเช่นศาสนาอาจเห็นว่าเป็นสิ่งบั่นทอนให้ชีวิตไม่ก้าวไปหาความดีงามประเภทที่ต้องเชื่อต้องศรัทธาจึงจะเข้าถึง
ไม่ว่าเราจะพิจารณาความสงสัยว่ามีค่าหรือมีโทษอย่างไร
มนุษย์เราก็จำต้องอยู่กับสิ่งนี้ ชีวิตเราจึงเต็มไปด้วยความสงสัยนานัปการ
นักปรัชญานั้นใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้มาก จนอาจเรียกได้ว่า
จุดเริ่มต้นของปรัชญาคือความสงสัย เนื้อหาของปรัชญาที่พัฒนามาหลากหลาย
(มากกว่าศาสนา) ก็เพราะความสงสัย
ขอพูดถึงความสงสัยในคนทั่วไป
นายเขียวเป็นลูกคนที่สามของครอบครัวหนึ่ง เขามีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันจำนวน
๕ คน (รวมเขาด้วย) คนอื่นๆเกิดมาสมบูรณ์เป็นปกติหมด
มีแต่เขาเท่านั้นที่เกิดมาพิการ ตาบอดมาตั้งแต่เกิดและแขนด้วนไปข้างหนึ่ง
นายเขียวแม้จะพิการตามที่ว่ามานั้น แต่เป็นคนสมองดี
เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
การได้เรียนปรัชญาทำให้เขารู้จักคิด บางวัน เขาเคยสงสัยว่าทำไมหนอพี่น้องคนอื่นๆก็เกิดมาปกติหมด
พ่อแม่ก็เป็นชาวนาแข็งแรง แต่ไฉนตัวเราจึงเกิดมาไม่สมประกอบอย่างนั้น
นายเขียวเคยอ่าน (ตาบอดแต่อ่านหนังสือบางประเภทที่ทำเพื่อคนตาบอด)
หนังสือทางการแพทย์ พบข้อมูลว่า ทารกที่เกิดมาพิการแบบเขาเป็นเพราะตอนที่แม่ตั้งท้องในระยะสามเดือนแรก
มีจุลินทรีย์ที่เรียกว่าไวรัสบางชนิดเข้าสู่ร่างกายแม่
จุลินทรีย์นั้นไม่ทำอันตรายแม่
แต่ทำอันตรายแก่เขาที่อยู่ในท้องแม่ได้ เขาจึงเกิดมาไม่สมประกอบอย่างที่เห็นนั้น
นี่คือข้อมูลที่อธิบายว่า ความพิการเกิดแก่ฉันได้อย่างไร ข้อมูลนี้ก็ทำให้นายเขียวเข้าใจว่าทำไมชีวิตตนจึงแตกต่างจากพี่น้อง
แต่กระนั้นก็ตาม ความที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ช่างคิด นายเขียวก็ยังสงสัยว่า อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ไวรัสนั้นเจาะจงมาลงที่ชีวิตเราเท่านั้น
ผู้อื่นมันละเว้น ทำไมหนอ... ทำไมหนอ...
คำถามนี้รบกวนความรู้สึกของนายเขียวอยู่นาน เวลานี้ก็ยังรบกวนอยู่
-๓-
การถามคำถามโดยคิดโยงปัญหาที่ตนประสบอยู่เปรียบเทียบไปยังคนอื่นนี้เป็นธรรมดาอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์
และคำถามนี้ทำให้เกิดคำบางคำที่เป็นคำสำคัญในประวัติศาสตร์ความคิดและอารยธรรมของมนุษยชาติ คือคำว่า ยุติธรรม หรือ เป็นธรรม (หรือไม่ อย่างไร) โดยทั่วไป มนุษย์ (น่าจะรวมสัตว์ด้วย
ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวในการเลี้ยงและดูแลสัตว์เช่นหมา)
จะรับสิ่งที่เกิดแก่ตนในทางร้ายได้ หากเข้าใจว่าสิ่งที่ตนได้รับมานั้น ยุติธรรม (หมาที่ผมเลี้ยงบางตัวจะแสดงอาการเศร้าหากคิดว่าผมดูแลมันน้อยกว่าตัวอื่น)
ในแง่นี้ คำว่า ยุติธรรม
ย่อมเป็นคำที่มีความหมายมากในชีวิตมนุษย์ (และสัตว์)
ผมอยากสรุปอย่างรวบรัดในเบื้องต้นนี้ก่อน
(จากข้อมูลที่ผมศึกษามาก่อนหน้านี้ในทางประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์)
ว่า อารยธรรมที่มนุษย์สร้างสมขึ้นบางประเภทนั้นเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมที่ค่อยๆวิวัฒนาการขึ้นในหัวหรือในจิตใจของมนุษย์เรา
เพื่อแสดงรายละเอียดสนับสนุนข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่านี้
ผมอยากขอพูดถึงกิจกรรมทางปัญญาที่มนุษย์เราสร้างขึ้นที่ผมเชื่อว่าเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับความคิดอ่านเรื่องความยุติธรรม
มีสามเรื่องที่ผมจะพูดคือ ปรัชญาธรรมชาติ ศาสนา และกฎหมาย
ปรัชญาธรรมชาติคือแขนงหนึ่งของปรัชญาที่สนใจศึกษาธรรมชาติ
ซึ่งธรรมชาติที่ว่านี้ก็แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
มนุษย์และสิ่งอื่นๆที่อยู่รอบตัวมนุษย์ สองสิ่งนี้เรียกรวมๆในทางปรัชญาธรรมชาติว่า
มนุษย์และโลก
สมมติเราเอาปัญหาที่นายเขียวประสบข้างต้นเป็นตัวดำเนินเรื่อง ถามว่า
ที่นายเขียวสงสัยว่าทำไมไวรัสร้ายนั้นจึงเลือกที่จะมาลงในชีวิตเขาตอนที่เขาอยู่ในท้องแม่ระยะสามเดือนแรก
ทำให้เขาต้องเกิดมาพิการอย่างที่เห็น ทีพี่น้องคนอื่นๆไม่เห็นอ้ายไวรัสชั่วนี้มันมาลงบ้าง ปรัชญาธรรมชาติจะตอบว่าอย่างไร
ในสมัยพุทธกาล มีปรัชญาธรรมชาติสำนักหนึ่งแสดงความเชื่อว่า
อะไรก็ตามแต่ที่ปรากฏแก่ชีวิตเราและโลกไม่มีสาเหตุ
ในคัมภีร์พุทธศาสนาที่บันทึกแนวคิดของสำนักปรัชญาธรรมชาตินี้เอาไว้เขียนว่า ตามทัศนะของปรัชญาสำนักนี้
สิ่งที่เกิดแก่นายเขียวไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย มันเกิดของมันอย่างนั้นแหละ
อย่าได้สงสัยใคร่รู้เลย
ความเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดกับเราไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัยนี้ ยังกำกวม เราต้องเสาะหาความหมายที่ชัดกว่านั้น
สมมตินายแดงเดินไปตลาด เท้าไปเหยียบเอากระดาษแผ่นหนึ่ง
มองดูปรากฏว่าเป็นธนบัตรใบละร้อย เขาหยิบขึ้นมา มองซ้ายขวาเพื่อดูว่าใครทำตก
ไม่มีคนอยู่แถวนั้น เขาเลยใส่ลงกระเป๋าเสื้อ เดินมาได้หน่อยหนึ่งเจอคนขายล็อตเตอรี่ ปกติเขาไม่ซื้อ
แต่วันนั้นเห็นว่าเงินร้อยบาทที่ได้มาฟรีๆเอามาซื้อล็อตเตอรี่เล่นคงไม่เป็นไร
คนขายให้เลือก เขาบอกไม่เลือกครับ ช่วยเด็ดมาให้สักใบสองใบตามจำนวนเงิน
หากเหลือนิดหน่อยก็ไม่ต้องทอน หลายวันผ่านไป หวยออก ปรากฏว่าเขาถูกรางวัลที่หนึ่ง
ได้มาหลายล้าน
ถามว่า
เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างของการที่โลกและชีวิตไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ตามปรัชญาธรรมชาติสำนักนี้ใช่ไหม
คำตอบขึ้นอยู่กับการที่เราลองหยอดคำถามต่อสักหน่อยแล้วจะทราบ
สมมติพระบอกที่โยมแดงถูกหวยคราวนี้เพราะบุญเก่าในชาติปางก่อนที่โยมบริจาคเงินให้วัด
อย่ากระนั้นเลย ที่ถูกหวยมานั้นโยมควรแบ่งส่วนหนึ่งมาทำบุญต่อ
เพื่อว่าชาติหน้าจะได้รวยแบบนี้ได้อีกไม่รู้จบสิ้น ทำนองทำบุญต่อทุนไปเรื่อยๆ
ถ้าเจ้าสำนักปรัชญาธรรมชาติที่เรากำลังพิจารณาความคิดของเขาอยู่นี้ได้ยินพระท่านพูดอย่างนั้น
เขาจะตอบทันทีว่า เหลวไหลไร้สาระ
การถูกหวยของนายแดงครั้งนี้ไม่ได้มาจากบุญเก่าอะไรทั้งสิ้น
ที่ถูกเพราะใบที่เขาซื้อกับใบที่เครื่องปั่นปั่นออกมามันตรงกันเท่านั้น
หากตอบอย่างนี้
คำว่าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย คงไม่ได้แปลว่าไม่ต้องเดินตามกฎธรรมชาติใดๆทั้งสิ้น
ไม่ใช่อย่างนั้น
การปั่นหวยด้วยมือคนแล้วทำให้ได้ใบนั้นออกมาอธิบายได้ด้วยหลักกลศาสตร์
การที่นายแดงเดินไปพบเงินที่หล่นอยู่ก็อธิบายได้ว่ามีคนควักเงินออกจากกระเป๋าจะซื้อของตรงนั้น
แล้วใบละร้อยใบนั้นร่วงลง เขาไม่รู้ตัว คนที่อยู่แถวนั้นก็ไม่รู้
เงินจึงวางอยู่ตรงนั้น นายแดงมาพบ เขารู้ว่านั่นเงิน จึงหยิบไป
นี่คือลำดับเหตุการณ์ที่ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ
การที่นายแดงถูกหวยก็ไม่ต่างจากการที่วันนี้ฝนตก
เครื่องบินของสายการบินหนึ่งแฉลบออกจากรันเวย์เพราะเครื่องขัดข้อง
หรือเกิดการทำรัฐประหารที่ประเทศหนึ่งในแอฟริกา เป็นต้น
ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ในความหมายว่า
ไม่มีอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติใดชักโยงให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ในฐานะผู้รู้และผู้สร้างปรากฏการณ์เหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ถามว่าทัศนะนี้ฟังได้ไหม
สำหรับผม ฟังได้ แต่ถ้าไปถามนายเขียวว่าคิดอย่างไรกับทัศนะนี้
เขาอาจบอกว่าก็ฟังได้ครับ แต่ไม่ช่วยตอบคำถามเรื่องความยุติธรรมที่ผมกำลังถาม
พระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยกับความคิดของปรัชญาธรรมชาติสำนักนี้ แต่คัมภีร์ก็ไม่ได้อธิบายไว้ว่าทำไมจึงทรงไม่เห็นด้วย
ในบางแห่งในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เชื่อว่าโลกและชีวิตมนุษย์มีเหตุ
มีปัจจัย ทัศนะนี้ยังต้องการคำอธิบายว่าหมายความว่าอย่างไร
ในคัมภีร์พุทธศาสนาที่แต่งหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน (สิ้นชีวิต) แล้ว
ท่านผู้แต่ง (ที่เราเรียกรวมๆว่าพระอรรถกถาจารย์
ซึ่งมีหลายคน แต่ท่านที่เรารู้จักกันดีคือพระพุทธโฆสาจารย์ ชาวอินเดีย
มีชีวิตหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี)
อธิบายว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบจากการตรัสรู้แล้วเอามาสอนชาวโลกนั้นอยู่ในรูปของกฎธรรมชาติ
ในคัมภีร์ ท่านเรียกกฎธรรมชาตินี้ว่า นิยาม แล้วท่านผู้แต่งก็อธิบายต่อไปว่า
กฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและเอามาสอนคนมีอยู่ ๕ ลักษณะ
(หมายความว่ากฎธรรมชาติจะเข้าใจรวมว่าเป็นอำนาจทางธรรมชาติอันเดียวก็ได้
แต่เวลาที่อำนาจนี้ทำงาน เราจะสังเกตกระบวนการทำงานของกฎธรรมชาติได้ ๕ ทาง)
เพื่อไม่ให้เสียเวลา
ผมขออธิบายกฎธรรมชาติห้าอย่างนั้นสั้นๆว่า กฎธรรมชาติข้อแรก (อุตุนิยาม)
คือกฎที่ปรากฏในสิ่งไร้ชีวิต
กฎข้อนี้หากเทียบกับวิทยาศาสตร์สมัยนี้คงเทียบได้กับกฎทางฟิสิกส์ เคมี
และดาราศาสตร์ กฎประการที่สอง (พีชนิยาม) คือที่ปรากฏในสิ่งมีชีวิต
เทียบได้กับกฎทางชีววิทยา กฎที่สาม (จิตนิยาม)
คือกฎที่ปรากฏในการทำงานของจิตมนุษย์และสัตว์ (ตลอดจนพืชหากเชื่อว่าพืชมีจิตคือมี consciousness)
กฎข้อนี้บางส่วนอาจเทียบได้กับกฎทางจิตวิทยาสมัยใหม่
แต่จิตวิทยาของพุทธศาสนามีส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงไปหาอภิปรัชญาของพุทธศาสนาด้วย
กฎที่สี่ (กรรมนิยาม) คือกฎแห่งกรรม กฎที่ห้า (ธรรมนิยาม) คือกฎแห่งธรรม
สองกฎนี้เกี่ยวข้องกัน
กฎแห่งธรรมเป็นกฎใหญ่ที่ทำหน้าที่จัดการให้จักรวาลทั้งหมดอยู่ภายใต้ความเป็นระเบียบทางศีลธรรมโดยรวม
ข้อนี้สะท้อนความเชื่อว่าจักiวาลในทัศนะของพุทธศาสนา (หรือของพระอรรถกถาจารย์) ไม่ได้มีสภาพเป็น physical and biological world เท่านั้น แต่เป็น physical, biological, and moral
world (ทัศนะนี้ส่วนตัวผมคิดว่าสำคัญและน่าสนใจมาก สามารถคิดขยายความต่อไปได้มาก)
ธรรมนิยามนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น
general moral theory of man
and the universe ส่วนกฎแห่งกรรมอาจเรียกได้ว่าเป็น special moral theory of man and
the universe หรือกล่าวให้ตรงกว่านั้นคือเป็น special moral
theory of beings action
คนเป็น being ชนิดหนึ่ง เทวดา (หากมี) ก็เป็น being ชนิดหนึ่ง สัตว์เดรัจฉานก็เป็น
being ชนิดหนึ่ง
ส่วนพืชนั้นปรัชญาและศาสนาอินเดียบางระบบเช่นศาสนาเชนถือว่าเป็น being เหมือนคนและสัตว์ (พุทธศาสนายังถกเถียงกันเรื่องนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัว
ผมคิดว่าพืชบางชนิดที่มี consciousness ชัดและแรงพอ
เราต้องจัดให้เป็น being ด้วย) being ทุกชนิดตามความเชื่อของพุทธศาสนาสามารถที่จะทำดีทำชั่วได้
(ที่พุทธศาสนาเชื่อว่าจักรวาลนี้เป็น moral universe ด้วยก็เพราะเหตุนี้)
กฎแห่งกรรมคือกฎธรรมชาติที่ทำหน้าที่ดูแลจัดสรรผลแห่งกรรมแก่ being ทั้งหลาย
ตามความเชื่อเรื่องกรรม
ที่นายเขียวเกิดมาพิการไม่ได้ไร้เหตุ ไร้ปัจจัย
ดังที่ปรัชญาธรรมชาติสำนักหนึ่งในอินเดียเชื่อ ตรงกันข้าม
กรรมอันได้แก่การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาและมีค่าทางจริยธรรม
(คือพูดได้ว่าดีหรือชั่ว) นั่นเองที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ของการที่ชีวิตนายเขียวและพวกเราจะเป็นอย่างไร ความเชื่อเรื่องกรรมเนื่องจากบางส่วนอยู่พ้นการตรวจสอบด้วยอายตนะ
จึงย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีคนบางคนในโลกไม่เชื่อ
เพราะทดสอบไม่ได้ว่าที่กล่าวว่ากรรมเก่าส่งเรามาให้เป็นอย่างที่เป็นนั้นจริงนะขอรับ
ไม่เชื่อท่านลองทำกรรม ก. ดู แล้วคอยดูผลนะครับ อีกสามวันเจ็ดวันจะเกิดผล ข.
แก่ท่านพี่แน่นอน วิทยาศาสตร์นั้นเมื่ออ้างว่านี่คือกฎธรรมชาติ
ก็จะท้าทายให้ตรวจสอบดู เช่นกาลิเลโอบอกว่าของหนักเบาต่างกันไม่สำคัญ
หากปล่อยลงพื้นพร้อมกัน (โดยมีเงื่อนไขว่าให้หักแรงต้านจากอากาศออกด้วยนะครับ)
จะตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอ กล่าวแล้วกาลิเลโอก็ท้าว่าไม่เชื่อลองทำดู
สมัยนี้อินเตอร์เน็ตดี เราจึงเห็นเขาทดลองทิ้งขนนกและลูกปืนใหญ่ลงพื้นพร้อมกัน
โดยทดลองในห้องไร้อากาศ เราจะเห็นสองสิ่งนี้ตกถึงพื้นพร้อมกันตามที่กาลิเลโอพูดไว้ ชัดเจน แจ่มแจ้ง ไร้ข้อกังขา
แต่เรื่องกรรมที่พระพุทธศาสนาสอนส่วนที่อ้างว่ากรรมเก่าที่ไม่ดีนั่นเองที่ส่งผลให้นายเขียวเกิดมาชาตินี้ต้องพิการ
ไล่ตามตรวจสอบเช่นนั้นไม่ได้ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีคนบางคน
(โดยเฉพาะคนที่เลื่อมใสวิทยาศาสตร์) ไม่เชื่อ ไม่ถือว่านี่เป็นความรู้
การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งใครบางคนเห็นว่าไม่ใช่ความรู้ก็ไม่เกี่ยวกับว่าสิ่งนั้นคนอีกส่วนหนึ่ง
(ซึ่งอาจมากกว่าพวกแรก) ยินดีเอามาใช้งานในชีวิต
หรือยึดเหนี่ยวว่าเป็นที่พึ่งพิงทางใจ ในยามปกติทั่วไป หรือในยามคับขัน
เพราะเหตุนี้ แม้ในโรงพยาบาลที่รักษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
ที่เราถือว่าเป็นความรู้ ก็ยังมีคนไม่น้อยสวดมนต์
หรือเชิญหมอผีมาทำพิธีเพื่อช่วยให้พ่อแม่ญาติมิตรตนหายจากโรคาพาธ
ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ บ้านเรามีข่าวใหญ่เรื่องที่เยาวชนเราจำนวน ๑๓
ชีวิตเข้าไปติดอยู่ในถ้ำแล้วออกมาไม่ได้เพราะน้ำหลากปิดถ้ำ
รัฐบาลและเอกชนระดมคนและเครื่องจักรช่วยเหลือกันสุดความสามารถ
ส่วนนี้คือการใช้ความรู้แก้วิกฤติ แต่ในขณะเดียวกัน พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
บาทหลวงในศาสนาคริสต์ และอิหม่ามในศาสนาอิสลาม
พร้อมผู้นับถือศาสนานั้นๆจำนวนมหาศาลก็ทำพิธีสวดมนต์ภาวนาเพื่อให้เยาวชนของเราเหล่านั้นรอดกลับมาสู่อ้อมอกพ่อแม่ครอบครัว
นี่คือการใช้ศรัทธาความเชื่อ ที่ไม่ใช่ความรู้ มนุษย์นั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้เป็น
believing beings (หรือ creatures)
คือเป็นสัตว์ที่มีความสามารถหรือแนวโน้มในตัวที่แก้ไม่ได้ที่จะเชื่อสิ่งที่ไม่ใช่ความรู้ในบางกรณี
โดยเฉพาะในกรณีที่ความรู้น่าจะหมดหวังสำหรับใช้แก้ปัญหาแล้ว
เพราะมนุษย์เราเป็นดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น
ย่อมเป็นไปได้ที่นายเขียวหลังจากฟังพระอาจารย์ที่ตนนับถือมากๆกล่าวว่า ทำใจเสียนะโยมเขียว ถือเสียว่าเป็นกรรมเก่า
อาตมาก็พิสูจน์เรื่องนี้ไม่ได้ดอก
แต่คิดว่าหากโยมรับแล้วคงสบายใจอะไรที่เกิดแล้วก็ปล่อยให้เป็นไป เราแก้ไม่ได้แล้ว
แต่เราทำกรรมใหม่ที่ดีได้ นายเขียวปลงตก น้อมรับ
โดยเชื่อว่า เอาล่ะ
ความพิการที่เกิดแก่กูนี้กูแก้ไม่ได้แล้ว อาจเป็นกรรมเก่าดังที่พระพุทธศาสนาสอน
หากใช่ก็ถือว่ากูสมควรรับสิ่งที่กูเคยทำไว้ ต่อไปนี้กูจะเป็นคนดี ทำแต่เรื่องดี
ทั้งแก่ตนและคนอื่น หากเป็นเช่นนี้
ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าก็มีประโยชน์ โปรดสังเกตนะครับ
ประโยชน์ที่เราจะพึงพบในโลกนี้บางอย่างมาจากความรู้
แต่บางอย่างไม่จำเป็นต้องมาจากความรู้
เช่นกรณีที่เกิดแก่นายเขียวที่เราสมมติเพื่อการอภิปรายนี้
ผมอยากให้ข้อสังเกตว่า
สิ่งที่ทำให้นายเขียวรับชีวิตตนตามที่เป็นได้คือความรู้สึกในเรื่องความยุติธรรม
แรกนายเขียวเป็นทุกข์เพราะรู้สึกว่าการที่ตนเกิดมาพิการไม่ยุติธรรม
ต่อมาทุกข์นั้นก็จางลงเมื่อทำใจรับได้ว่าสิ่งที่เกิดแก่ตนนี้ยุติธรรมแล้ว
ปรัชญาธรรมชาติในโลกนั้นตามปกติมีอำนาจในการทำให้คนเอาไปใช้เพราะเชื่อหรือศรัทธาน้อยกว่าศาสนา
เรื่องกรรมข้างต้นนั้นหากไม่ได้สอนโดยพระพุทธเจ้า แต่สอนโดยนักปรัชญาคนใดคนหนึ่ง
ก็อาจไม่มีอำนาจโน้มน้าวใจคนได้เพียงปานนี้ ด้วยเหตุนี้
ผมจึงอยากขอกล่าวเข้ามาถึงสิ่งที่สองที่ผมเสนอข้างต้นว่าเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในสังคมมนุษย์
สิ่งนี้คือศาสนา
ศาสนาที่เชื่อว่ามีพระเจ้ามักเชื่อต่อไปว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ให้กำเนิดเราทุกคน
ในแง่นี้ก็ทรงเป็น พระบิดา ของเรา
ในฐานะพระบิดา เรามักเชื่อกันต่อไปอีก
(โดยคิดเทียบเคียงอุปมากับพ่อของเราที่เราสัมผัสได้จริงในชีวิต) ว่า
พ่อย่อมหวังดีต่อเราเสมอ พ่อไม่เคยหวังร้าย มีข้อความบางแห่งในไบเบิล
(ที่ผมอ่านนานแล้ว จำได้รางๆ แต่ไม่น่าผิด) ว่า เมื่อลูกขอขนมปัง
มีหรือที่พ่อจะให้ก้อนหิน เมื่อลูกขอปลา มีหรือที่พ่อจะให้งูร้ายแก่ลูก ข้อความนี้กินใจ ไม่ต้องอธิบาย แต่นายเขียวที่เกิดมาพิการ เขาอาจสงสัยว่า
ลูกคนอื่นที่สมบูรณ์นั้นเปรียบได้กับลูกที่พ่อให้ขนมปังและปลา
แต่เราที่เกิดมาพิการเช่นนี้ สิ่งที่เราได้นี่ไม่ใช่ก้อนหินและงูร้ายดอกหรือ
สำหรับผม ข้อสงสัยนี้มีมูล
และเป็นหน้าที่ของใครก็ตามที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจะต้องตอบ
เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม และความยุติธรรมที่ว่านี้เกี่ยวโยงไปหาพระผู้เป็นเจ้า
โดยส่วนตัว
ผมคิดว่าการอธิบายความยุติธรรมแบบเกี่ยวโยงไปหาพระผู้เป็นเจ้ายากกว่าการอธิบายแบบอ้างกลับมาหาคนผู้นั้นว่า
สิ่งที่เกิดแก่เขามาจากกรรมของเขาเอง ในแง่ที่เป็นความเชื่อ
การเชื่อพระเจ้าหรือกรรมน่าจะไม่ต่างกัน หากพิจารณาจากมุมมองของวิทยาศาสตร์
หรือปรัชญาแบบที่ถือว่าความรู้จะต้องตรวจสอบได้ด้วยอายตนะ
แต่การเชื่อพระเจ้าสร้างความยุ่งยากมากกว่าการเชื่อกรรมตรงที่
สมมติว่านายเขียวไม่สงสัยเรื่องว่าพระเจ้าทรงมีอยู่จริงไหม
เขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีจริง และพระเจ้านี่แหละที่สร้างเขามาให้พิการอย่างนี้ เขาก็อาจสงสัยว่า
ทำไมจึงทรงเจาะจงสร้างเขามาอย่างนั้น ในขณะที่คนอื่นๆทรงสร้างมาให้ปกติ
สมมติเราตอบว่า ทรงประสงค์จะทดสอบเขา
เขาก็คงสงสัยไม่จบอีกแหละครับว่าทำไมจึงเลือกที่จะทดสอบเขาเท่านั้น ไม่เลือกคนอื่น
เรื่องนี้หากโยงไปหาเรื่องกรรม จะได้คำตอบอีกแบบ กรรมต่างจากพระเจ้าคือ
กรรมไม่ได้เลือกอะไรให้ใคร สิ่งที่เกิดแก่เขาคือสิ่งที่เขาเลือกเอง
กรรมเพียงแต่จัดสรรให้เกิดผลที่เหมาะสมแก่การกระทำที่เขาเลือกแล้ว
เช่นส่งเขาที่เลือกชั่วไปนรก หรือส่งเธอที่เลือกดีไปสวรรค์
ความยุติธรรมในนามพระเจ้าต้องการศรัทธาที่ลึกซึ้งมากๆ
ซึ่งจุดนี้อาจพิจารณาว่าเป็นลักษณะดีของคำสอนเรื่องพระเจ้าก็ได้ หมายความว่า
การที่ใครจะเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีจริง
และพระเจ้าทรงเที่ยงธรรมแก่บุตรของพระองค์ทุกคนรวมทั้งเขาที่กำลังจะตายอย่างทรมานเพราะมะเร็งระยะสุดท้าย
ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าใครผ่านมาถึงจุดนี้ได้ ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่สูงส่งในทางจิตวิญญาณมาก
หากเทียบกับทางพุทธก็คงไม่ต่างจากอริยบุคคลระดับสูงสุด
แต่ถ้าคิดในทางที่ว่า
ชีวิตเราแต่ละคน ใครนับถือหรือไม่นับถือศาสนาไม่ใช่ประเด็น
หากนับถือศาสนานับถือศาสนาอะไร ก็ไม่ใช่ประเด็น
แต่ประเด็นที่อยู่ที่ใครบ้างที่จะล่วงรู้ได้ว่าสักวันหนึ่งชีวิตตนจะประสบทุกข์โศกอันแสนสาหัสหรือไม่
คำตอบคือไม่มีใครรู้ ในแง่นี้ชีวิตเราล้วนแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆแห่งโชคชะตา
ศาสนาที่สอนเรื่องกรรมเช่นพระพุทธศาสนาก็ไม่อาจให้หลักประกันได้ว่า
หากเราทำดีอยู่เสมอในแต่ละวัน เราจะไม่มีทางถูกปล้นฆ่าแล้วทิ้งศพไว้ข้างทาง
หรือเราที่ทำบุญมามาก ใส่บาตรเสมอทุกเช้าด้วยใจที่เลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนา
เราจะไม่มีทางป่วยเป็นโรคที่ทรมานอย่างที่สุดก่อนตาย
คำตอบคือไม่มีใครให้หลักประกันได้ ในทางศาสนาที่เชื่อเรื่องพระเจ้าก็เช่นกัน
ต่อให้เราศรัทธาในพระเจ้าอย่างที่สุด เราก็รู้ว่าบั้นปลายชีวิตเราอาจตายอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังก็ได้
สิ่งที่กล่าวมานี้เกิดได้กับพวกที่บอกว่าฉันไม่มีศาสนา
นี่คือภาวะสากลของการมีชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายแห่งโชคชะตา
Albert Camus เรียกสภาพชีวิตที่ไม่มีอะไรแน่นอนนี้ว่าความไร้สาระของชีวิต
ปัญหามีว่าหากเราเกลียดสิ่งนี้มาก เราจะหนีจากมันได้อย่างไร เขาตอบว่า
ทางหนึ่งที่ทำได้ก็คือ ฆ่าตัวตาย
ใครไม่อยากเป็นมะเร็งแล้วทรมานก่อนตายก็เลี่ยงได้ด้วยการยิงตัวตายหรือกินยาตายเสียแต่ตอนนี้
แต่ Camus ก็พูดว่าเขาไม่เลือกทางที่จะฆ่าตัวตายหรอก
เขาพูดเรื่องนี้ไว้ละเอียดว่าหากไม่เลือกฆ่าตัวตาย มีอะไรให้เลือกบ้าง
ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาที่ชื่อ The Myth of Sisyphus ผมรับว่าสิ่งที่ Camus ยกมาพูดและพูดต่อว่าเราทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับชีวิตนี้เป็นเรื่องที่เราไม่มีทางหนีพ้น
ดังนั้นเราทุกคนควรเตรียมชีวิตและความคิดของตนให้พร้อม (ส่วนตัวผมเชื่อว่าผมเตรียมรับเรื่องนี้มาพอสมควร
แต่เอาจริงทำได้แค่ไหนยังสงสัยอยู่)
ศาสนานั้นมีประโยชน์มากในแง่เป็นอุปกรณ์ช่วยให้เราเผชิญหน้ากับความไร้สาระของชีวิต
คนที่บอกไม่ต้องการศาสนานั้นอาจพูดไปโดยไม่ทราบว่าที่พูดนั้นหมายความกว้างยาวลึกแคบเพียงใด
เมื่อเราติดอยู่ในลิฟต์ที่ทึบแน่นสนิทคนเดียวในคืนวันศุกร์
บนตึกสูงที่เขาตัดไฟทิ้งทั้งตึก
และกำลังจะตายเพราะหมดอากาศหายใจในคืนวันอังคารที่เป็นวันหยุดต่อเนื่องสี่วัน
เราตายอย่างคนมีศาสนาก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราเลือกได้อยู่แล้ว
แต่คนมีศาสนาอย่างน้อยก็มีอะไรให้คิดถึงหรือยึดโยงตนเองไปหามากกว่าคนที่ไม่มีศาสนาที่ย่อมต้องตายคนเดียว
สิ่งที่ Camus เสนอในหนังสือเขานั้นไม่เรียกว่าศาสนาก็เหมือนศาสนา
ผมรู้สึกอย่างนั้น และผมก็เชื่อต่อไปด้วยว่า คนมีศาสนายิ่งลึกเท่าใด
เขาจะเห็นว่าจักรวาลนี้ยุติธรรมเสมอ สำหรับเขาและเพื่อนร่วมโลก (อันรวมไปถึงสัตว์ที่ดูเหมือนทุกข์มากกว่าเราที่เป็นมนุษย์)
มากเท่านั้น
-๔-
สถาบันสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมคือกฎหมาย
ผมจะไม่พูดอะไรมากเกี่ยวกับสิ่งนี้
เพราะมันตื้นกว่าปรัชญาธรรมชาติและศาสนาที่เราพูดกันมาข้างต้น จะอย่างไรก็ตาม ในแง่ความเป็นสิ่งที่จับต้องได้
กฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดแก่ชีวิตมนุษย์มากที่สุด
ปรัชญาการเมืองบางสำนักในโลก (เช่นของหานเฟย)
จึงเสนอความคิดว่ากฎหมายคือกติกาสูงสุดของมนุษย์ด้วยกันสำหรับใช้เพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นชาติบ้านเมืองของสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าคนเป็นไปอย่างที่ใครจะเอาเปรียบใครไม่ได้
สำหรับนักปรัชญาที่เชื่อเช่นนี้ กฎหมายต้องเป็นหลักของบ้านเมือง ไม่ใช่ศาสนา
ไม่ใช่ปรัชญาธรรมชาติ
การบอกว่ากฎหมายต้องเป็นหลักของบ้านเมืองเข้าใจได้
แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการให้กฎหมายเป็นหลักนั้นหมายความว่าอย่างไร
มนุษย์นั้นมีชีวิตที่เป็นผลผลิตมาตามธรรมชาติ
(หรือจะเรียกว่าพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอย่างนั้นก็ได้) เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่นเดียวกับที่สัตว์และพืชแต่ละอย่างก็เป็นของมันอย่างใดอย่างหนึ่ง
ขอเรียกชีวิตที่สำเร็จมาตามกระบวนการทางธรรมชาตินี้ว่า biological
life ถามกันมากในวงการปรัชญาว่า biological life ที่ว่านั้นเป็นอะไรระหว่างเลวกับดี
พูดง่ายๆก็คือเราถามกันว่าคนเราเกิดมานั้นมีธรรมชาติข้างในชั่วหรือดี
นักปรัชญาบางพวกเชื่อว่ามนุษย์มีความเลวร้ายเป็นธรรมชาติข้างใน
หรืออย่างที่ภาษาไทยโบราณเรียกว่ามีความชั่วเป็นเจ้าเรือน
ใครก็ตามหากเห็นอย่างนี้ก็ย่อมต้องเห็นว่ามาตรการเพื่อจัดการให้มนุษย์อันเป็นสัตว์ที่มีความชั่วเป็นเจ้าเรือนอยู่หมัดต้องแรง
ซึ่งย่อมไม่มีอะไรเกินกว่ากฎหมาย
แต่นักปรัชญาบางพวกกลับเห็นไปในทางที่ตรงข้ามว่ามนุษย์แรกเกิดเหมือนผ้าขาว
ที่ชั่วนั้นเพราะไม่มีระบบรักษาความดีไว้ได้ เช่นอาจเพราะเกิดในครอบครัวยากจน
ทำให้ไร้การศึกษา หากรัฐดูแลดี มีหรือที่คนเราจะชั่ว ไม่มีใครอยากชั่ว
เพราะรู้ว่าชั่วแล้วชีวิตไม่มีความสุข
ฝ่ายที่เห็นอย่างนี้ก็อาจเห็นด้วยว่ากฎหมายเป็นหลักน่ะถูกแล้ว
แต่ไม่พอ กฎหมายเป็นมาตรการเบื้องต้นเพื่อกำราบความชั่วร้ายอย่างหยาบที่อาจเกิดเพราะความจำเป็นตามที่กล่าว
เรายังต้องการการศึกษา จารีตประเพณี ศาสนา เป็นต้น
เพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองเราเป็น คนสุก ไม่ใช่ คนดิบ
ที่ไม่ทำชั่วเพราะเกรงกลัวกฎหมายเท่านั้น
หาใช่คนที่ข้างในได้รับการบ่มจนแห้งสนิทในทางธรรม ไม่มีทางก่อกรรมทำชั่วได้
เพราะเข้าใจว่าชีวิตที่ประเสริฐคืออะไร
ผมเป็นพุทธศาสนิกชน
เชื่ออย่างหลัง แต่ก็เห็นประโยชน์ของกฎหมาย
พระพุทธศาสนาสอนให้ผมมองโลกตามที่เป็นจริง ไม่ได้สอนให้มองอย่างที่อยากให้เป็น
คนทำชั่วมีไหมในโลกนี้ ต้องตอบว่ามีมากเหลือเกิน ถามต่อว่าควรจัดการพวกเขาอย่างไร
ก็ต้องตอบว่าใช้กฎหมายก่อนเลย กฎหมายนั้นเป็นปฐมโอสถ ทำนองคนกำลังท้องร่วงจู้ดๆอยู่จะให้กินข้าวกินน้ำไม่ได้
ต้องให้กินยาเพื่อหยุดอาการนั้นก่อน
เมื่อร่างกายค่อยๆฟื้นแล้วจึงให้อาหารอ่อนๆและน้ำ ข้อนี้ฉันใด
การเยียวยาโลกที่คลาคล่ำด้วยอาชญากรก็ต้องอย่างนั้น
แต่จับเข้าคุกหรือประหารเท่านั้นไม่พอ
เราต้องคิดหาหนทางปรับคนที่ปรับได้เพื่อให้เป็นคนมีคุณภาพ ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา
คือเครื่องมือปรับคน กฎหมายไม่มีความสามารถทำได้
แต่กฎหมายก็เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้ศาสนา ศีลธรรม และการศึกษา เป็นต้นที่เราต้องการทำงานได้
ในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าตรัสว่าอาชญากรรมเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ บ้านเมืองใดหากินลำบาก
สุจริตชนที่ลำบากเกินขอบเขตก็ย่อมอาจกลายเป็นทุจริตชนได้
จึงทรงสอนบรรดาเจ้านครทั้งหลายสมัยนั้นว่าให้ทำท้องประชาชนให้อิ่มก่อน
แล้วอย่างอื่นจะง่าย คงไม่มีใครสงสัยเรื่องนี้กระมังครับ เมื่อเป็นอย่างนั้น
กฎหมายก็มีหน้าที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคืออำนวยให้เกิดความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ
ชาวนาที่ปลูกข้าวขายควรมีชีวิตที่ไม่ต่ำต้อยกว่าพ่อค้าขายข้าวจนน่าเกลียด
ผมเชื่อว่าศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาที่สอนเรื่องพระเจ้าเช่นศาสนาคริสต์และอิสลาม
มีพลังทางสังคมในเรื่องที่จะเอาคำสอนและวัฒนธรรมทางศาสนามาช่วยผลักดันให้เกิดความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
ที่ดินนั้นพระเจ้าทรงสร้างให้บุตรของพระองค์ทุกคน
บุตรคนใดมีมากเกินจะอธิบายได้เราต้องมีกฎหมายบีบบังคับ (ด้วยเหตุผลนะครับ) เอาคืนมาเจือจานคนที่เขาไม่มี
ว่าไม่ถูกหรอกที่คุณสะสมทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าคนอื่นๆอย่างนั้นเพราะคุณไม่ได้สร้างผืนแผ่นดิน
พ่อคุณ ปู่คุณ บรรพบุรุษคุณ... ก็ไม่ได้สร้าง หากเป็นชาวพุทธ
แม้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าเราก็ยังอ้างเรื่องธรรมชาติได้ว่า คุณสร้างแผ่นดินนี้หรือ
ไม่ใช่คุณเลย ธรรมชาติต่างหาก
แล้วคุณมีสิทธิอะไรที่จะครอบครองของส่วนรวมมากกว่าคนอื่น เห็นไหมครับว่า
ศาสนามีพลังในการอธิบายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร
ที่สุดแล้ว
ศาสนาก็ยังมีอำนาจที่ลึกซึ้งกว่ากฎหมายในแง่ที่ว่า หากศาสนาทำงานสำเร็จ
คนจะเข้าใจด้วยตัวเขาเองว่า โลกก็เท่านี้ ชีวิตก็เท่านี้ จะสะสมอะไรกันนักหนา Adam
Smith เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาที่ชื่อ The
Theory of Moral Sentiments ว่า
ลึกๆคนรวยทุกคนรู้ดีว่าความรวยนั้นไม่ช่วยให้เขาได้ใช้ทรัพยากรของโลกมากเกินกว่าคนทั่วไปสักเท่าใดดอก
Smith เขียนว่า ท้องคนรวยก็ยังเท่าเดิมต่อให้รวยขึ้นมากปานใดก็ตาม
เมื่อท้องเท่าเดิม ข้าวที่เขากินมื้อหนึ่งก็ไม่ต่างจากที่ชาวนากินสักกี่มากน้อย
คนรวยนั้นตามความเห็นของ Smith ดูเหมือนก่อกรรมชั่วแก่คนอื่นได้มาก
เช่นครอบครองที่ดินไว้มาก ทำให้คนอื่นไม่มีที่ดินใช้สอยอยู่อาศัย และเอาเข้าจริงที่ครอบครองไว้นั้นก็ไม่ได้ใช้
เพราะคนเรามันจะสร้างบ้านใหญ่สักปานใดเชียวต่อให้เป็นอัครอภิมหาเศรษฐี
สิ่งที่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากคนรวยจึงอยู่ที่ชีวิตเขากลายเป็นจระเข้ขวางคลองไม่ให้น้ำไหลไปหาคนที่เขาต้องการเท่านั้นเอง
ตัวจระเข้นั้นก็ไม่ได้กินน้ำที่ตนขวางเขาอยู่นั้น
คนรวยก็ไม่ได้อายุยืนอย่างเป็นพิเศษกว่าคนอื่น สรุปคือวันหนึ่งพวกนี้ก็ต้องตาย
สมบัติพัสถานที่มีอยู่อเนกอนันต์นั้นก็ไม่ได้กินใช้สักเท่าไหร่
คนรวยที่สร้างงานนั้น Smith ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผมเห็นด้วย และคิดว่าศาสนาทั้งหลายรวมทั้งพระพุทธศาสนาด้วยไม่ควรรังเกียจใครเพียงเพราะว่าเขารวย
คนรวยที่เป็นสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้ามีไม่น้อย
และคนเหล่านี้ก็ทำประโยชน์แก่สังคมรวมและศาสนามาก
เงินนั้นเป็นอุปกรณ์ให้เราทำดีก็ได้ทำชั่วก็ได้
ปัญหามีว่าทำอย่างไรเราจึงจะทำให้บรรดาเศรษฐีทั้งหลายหันมาใช้เงินเพื่อทำความดี
นี่ต่างหากคือโจทย์ที่ศาสนาทั้งหลายจะต้องช่วยกันคิด
ศาสนานั้นมีประสบการณ์และคำสอนที่ลึกซึ้งอันเหมาะแก่การชักชวนคนรวยให้ใช้เงินในทางสร้างสรรค์อยู่แล้ว
ประกอบกับหากเราเชื่อเหมือน Smith ว่าคนรวยเขาก็คิดเป็นนะครับ
เขารู้ว่าจริงๆเขาก็กินใช้ทรัพยากรของโลกไม่ต่างจากคนอื่นหรอก
ที่หาเงินไม่หยุดเพราะมันเป็นงาน ไม่ใช่เพราะรู้สึกว่ายังไม่พอ เศรษฐีบางคนนั้น
แค่เงินที่เขาหาได้วันเดียวเขาก็รู้ว่าสามารถกินใช้ไปได้ทั้งชาติ ที่เขาไม่หยุด
เพราะเขาทำงาน เหมือนที่เราต้องหายใจ เดินไปเดินมา เป็นต้นนั่นแหละครับ
หากเป็นอย่างนี้ ศาสนาย่อมง่ายที่จะชักชวนให้คนเหล่านี้แปรทุนให้เป็นงาน
แล้วจ้างงานอย่างยุติธรรม
กำไรมหาศาลที่ยังไหลมาอยู่แม้จะจ่ายคนงานอย่างยุติธรรมแล้วอย่างไรก็กินใช้ไม่หมด
เอามาทำสาธารณประโยชน์ที่เรียกว่าบุญกุศลดีไหม สังคมแบบนี้น่าอยู่มากใช่ไหมครับ
ที่สุดแล้ว โลกหรือจักรวาลนี้ก็ยังยุติธรรมเสมอที่ให้ช่วงชีวิตคนเราและสัตว์พืชทั้งหลายทั้งปวงมาใกล้เคียงกันในหมู่พวกกันเอง
เต่าอาจอายุยืนกว่าคน ในหมู่เต่าอายุโดยเฉลี่ยของพวกเขาก็ใกล้เคียงกัน
ในหมู่พวกเราก็ดังนั้น เป็นกษัตริย์ นายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐี จับกัง หมอนวด
อาจารย์มหาวิทยาลัย พระเณร บาทหลวง อิหม่าม เป็นต้น ไม่ต่างกัน
คือได้รับอนุญาตโดยธรรมชาติหรือพระเจ้าให้พำนักในโรงแรมนามว่า โลก นี้เท่าๆกัน ถึงเวลาก็ต้องเช็คเอาต์ ไม่อาจต่อรอง มีเงินมีอำนาจก็เช็คอินต่อไม่ได้
โลกนี้ช่างยุติธรรมเสียเหลือเกิน...
๓๐
มิถุนายน ๒๕๖๑
บทความนี้เขียนตามคำเชิญของท่านบรรณาธิการวารสาร
แสงธรรมปริทัศน์
อันเป็นวารสารทางวิชาการของวิทยาลัยแสงธรรม นครปฐม (บทความนี้ลงพิมพ์ในฉบับที่
๒/๒๕๖๑) ผมเคยสอนที่นี่อย่างน้อย ๑๓ ปี
แสงธรรมเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตนักวิชาการทางด้านคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก
ผู้เรียนเป็นสามเณรคาทอลิก เมื่อเรียนจบแล้ว ส่วนหนึ่งจะบวชเป็นบาทหลวง
ผมต้องขอบคุณคุณพ่อเจริญ ว่องประชานุกูลที่เป็นบรรณาธิการที่อนุญาตให้ผมเอาบทความนี้มาลงในเว็บไซต์ของศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญาเพื่อประโยชน์สาธารณะสมภาร พรมทา