คุกแห่งภาษา
สมภาร
พรมทา
-๑-
คล้ายกับว่าผมกำลังอยู่ในความฝัน
แต่ก็เป็นความฝันที่แปลกสักหน่อยตรงที่สิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบตัวปรากฏแก่การรับรู้ของผมอย่างเลือนราง
แต่ความคิดของผมกลับปรากฏแจ่มชัด
เป็นสองภาพที่ตัดกันชัดเจน
ผมยืนอยู่ที่ไหนสักแห่ง
สถานที่แห่งนั้นน่าจะเป็นริมแม่น้ำ
เบื้องหน้าของผมมีแม่น้ำสายหนึ่ง
น่าจะใช่
ไหลเอื่อยๆอยู่ท่ามกลางหมอกสีขาวที่โรยตัวอยู่เรี่ยๆพื้นหญ้า
ผมแหงนหน้ามองท้องฟ้า
บนนั้นก็รางเลือน
เหมือนมีเมฆฝนที่จับตัวเป็นปุยสำลีหนาๆสีเทาเข้มแผ่คลุมน่านฟ้าไปหมด
ผมเดินไปที่ที่คาดว่าเป็นริมแม่น้ำ
สองเท้าที่ย่ำเหยียบไปเปียกชื้นด้วยละอองหมอกที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำตามปลายหญ้า
สายตาที่ทอดมองต่ำทำให้ผมเห็นว่าท่ามกลางผืนหญ้าเขียวที่ขึ้นสูงจนมองไม่เห็นเท้าที่เหยียบจมลงไป
มีดอกไม้ที่ผมไม่รู้จักอยู่มากมาย
เป็นดอกวัชพืชเล็กๆ
สีเหลืองเข้ม
ขาวนวล
และอีกสารพัดสี
เช่นน้ำเงิน
ชมพู
ม่วงอ่อนๆ
เป็นต้น
แล้วผมก็ฉุกใจคิดว่า
นี่เรากำลังอยู่ในความฝันแน่หรือ
ปกติเวลาฝัน
โลกจะปรากฏแก่เราเป็นสีขาวดำ
แต่โลกที่ปรากฏยามนี้
เป็นโลกที่มีสี
และดูเหมือนสีของโลกที่ผมรับรู้ยามนี้จะชัดเจน
แจ่มจ้า
เหมือนสิ่งที่ไหลเวียนไปมาอยู่ในหัวผม
ที่เรียกว่าความคิด
ช่างเถอะ
จะฝันหรือจริงก็ช่างมันเถอะ
ผมเดินไปที่ริมน้ำ
ที่สุดสองเท้าก็พามาที่ตลิ่ง
น้ำหลากไหลไปเอื่อยๆ
ท่วมล้นเอ่อขึ้นมาจนจะเรียกได้ว่าปริ่มตลิ่ง
ต้นหญ้าและวัชพืชที่มีดอกสวยงามส่วนหนึ่งที่ริมตลิ่งมีสายน้ำใสแจ๋วเอ่อคลอหล่อเลี้ยง
ซึ่งคงไม่เป็นอันตรายแก่กัน
มันที่ไหนกันนะ
ผมพยายามคิด
แต่ความคิดอีกส่วนหนึ่งก็กระเพื่อมเข้ามาแทนที่ว่า
อาจเป็นไปได้ที่ผมกำลังฝัน
และสิ่งที่เห็นนี้ไม่มีจริง
หากแต่เป็นสิ่งที่ผมอยากให้มีเท่านั้น
ก็ได้
เป็นอย่างนั้นก็ได้—ผมคิด
ไม่รู้ว่าเวลากี่โมงกี่ยามแล้ว
แต่รู้สึกว่าเป็นเวลาบ่าย
น่าจะมีเวลาอีกพอสมควรกว่าจะค่ำ
ผมปลดย่ามลงจากบ่า
นั่งลงที่ก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งแถวนั้น
เป็นก้อนหินที่จมลงไปในดิน
เหลือเพียงหลังที่แบนราบขนาดน่าจะกว้างยาวเป็นเมตร
เป็นหินทรายสีน้ำตาลเข้ม
ผมเอาหนังสือออกจากย่ามมาสองสามเล่ม
นั่งเปิดบางเล่มอ่าน
ไม่คิดจะอ่านจริงจัง
แต่ระหว่างที่นั่งสูดอากาศและชมทัศนียภาพอยู่
มันติดเป็นนิสัยว่าต้องมีหนังสือในมือ
ระหว่างที่ก้มอ่านหนังสืออยู่นั้น
หูก็ได้ยินเสียงอะไรบางอย่างกระทบน้ำดังเปรี๊ยะๆ
ตอนแรกก็ไม่คิดอะไร
แต่เสียงมันดังถี่มากขึ้น
เลยแหงนหน้าดู
ปรากฏว่าที่ตลิ่งซึ่งอยู่เลยจากก้อนหินที่ผมนั่งอยู่ไปสักสองเมตรเท่านั้นเอง
มีปลาตัวหนึ่งว่ายวนอยู่
เสียงดังนั้นมาจากการที่ปลาตัวนั้นเอาครีบและหางดีดน้ำให้เป็นเสียง
ผมก้มอ่านหนังสือต่อ
แต่เสียงนั้นกลับดังถี่มากขึ้น
เงยหน้ามองคราวนี้เหมือนกับว่าปลาตัวนั้นจะส่งสัญญาณมาที่ผม
ด้วยสายตา
เห็นเช่นนั้นผมก็คิดสังหรณ์ใจว่าการที่ปลาตัวนั้นมาว่ายวนอยู่ใกล้ๆผมคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ผมจึงถือหนังสือเดินที่ไปปลาตัวนั้น
ผมไม่ทราบว่าเป็นปลาอะไร
อายุเท่าใดก็มองไม่ออก
เป็นปลาตัวผู้หรือตัวเมียก็ไม่รู้อีกแหละ
มันว่ายวนไปวนมาสักพัก
ก็ว่ายเลียบตลิ่งไปทางทิศตะวันออกที่น่าจะเป็นต้นแม่น้ำ
สายน้ำไหลมาจากทางนั้น
สักพักมันก็ว่ายกลับมาหาผม
วนๆอยู่ครู่หนึ่งพร้อมดีดน้ำดังเปรี๊ยะๆ
แล้วก็ว่ายไปทางเดิม
ผมเข้าใจว่ามันอาจจะอยากให้ผมเดินตาม
ผมเลยตามไป
คราวนี้มันไม่ว่ายกลับเพราะเห็นว่าผมเดินตาม
มันว่ายช้าๆ
ที่สุดก็พาผมมาหยุดอยู่ที่ตำแหน่งหนึ่งของตลิ่ง
ห่างจากที่ผมนั่งอยู่สักร้อยกว่าเมตร
ตรงนั้นมีแอ่งน้ำขนาดเล็กที่ตามปกติคงแยกขาดจากแม่น้ำ
แต่พอน้ำในแม่น้ำขึ้นสูง
ร่องน้ำเล็กๆที่เชื่อมแอ่งนั้นกับแม่น้ำก็จะมีน้ำไหลจากแม่น้ำเข้ามายังแอ่ง
ผมเดินไปดู
เห็นปลาตัวเล็กๆฝูงหนึ่ง
คงหลายสิบตัว
ว่ายวนไปมาอยู่ในแอ่ง
ร่องน้ำที่เชื่อมไปหาแม่น้ำแห้ง
คงเพราะน้ำในแม่น้ำลดระดับ
ปลาน้อยเหล่านี้คงเข้ามายังแอ่งตอนที่น้ำขึ้น
เมื่อน้ำลงก็ออกจากแอ่งไม่ได้
เป็นไปได้ที่ปลาน้อยเหล่านี้จะเป็นลูกของปลาตัวที่ผมเห็นในแม่น้ำ
ตัวแม่
(ผมสันนิษฐานว่าอย่างนั้น
จะเป็นแม่หรือพ่อผมก็ไม่มีความรู้)
ยังว่ายวนอยู่ที่ตลิ่ง
ตรงที่ปลาน้อยทั้งหลายติดอยู่ในแอ่ง
ผมพอจะเข้าใจอะไร
จึงเดินหาอะไรจะเอามาขุดให้ร่องน้ำในแอ่งไหลออกมาได้
พอดีนึกได้ว่าในย่ามมีมีดพับเล่มหนึ่งที่ผมติดไว้เพื่องานสารพัดประโยชน์
จึงรีบเดินไปเอามาทั้งย่าม
แล้วใช้มีดพับนั้นเซาะร่องน้ำ
เมื่อผมปล่อยให้น้ำไหลออกมา
ปลาน้อยทั้งหลายก็ว่ายตามน้ำออกมาจนหมด
ผมเห็นแม่มันเข้ามาวนเวียนอยู่กับฝูงลูกของมันพักใหญ่
เมื่อแน่ใจว่าไม่มีตัวใดหลงหลุดฝูงไปแล้ว
ทั้งหมดก็จากผมไป
-๒-
ผมกลับมาที่แผ่นหินริมน้ำนั้นอีกครั้ง
นั่งลง
ในใจยังคิดเรื่องปลาอยู่
ปลามีความคิดไหม
นี่คือสิ่งที่ผมถามตัวเอง
สมัยนี้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน
สิ่งที่เราไม่เคยเห็นเพราะอยู่อีกซีกโลกหนึ่งกลายมาเป็นของที่เราสามารถเห็นได้ในจอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต
ผมเคยเห็นหนังสั้นๆที่เป็นเรื่องของชายคนหนึ่ง
ท่าทางน่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไหนสักแห่ง
เขาเดินไปที่ลำธาร
ที่นั่นมีปลาอยู่ตัวหนึ่ง
ลักษณะน่าจะเป็นปลาดุก
ชายคนนั้นเอามือจุ่มลงไปในน้ำ
ปลาก็ว่ายเขามาหา
และคลอเคลียอยู่กับมือของเขา
ทั้งคู่แสดงอาการให้เรารู้ว่าไว้ใจกันและกัน
รักและคิดถึงกัน
เป็นสหายของกันและกัน
เราไม่รู้ว่าสิ่งอื่นคิดได้เหมือนเราหรือไม่
แต่เราสังเกตอาการของสิ่งต่างๆได้
ปลาที่ผมเห็นเมื่อสักครู่ก็คล้ายปลาที่ผมเคยเห็นในหนัง
มันจะคิดได้หรือไม่ก็ช่างมันเถอะ
แต่มันว่ายน้ำมาหาผม
เอาหางและครีบดีดน้ำเพื่อส่งเสียงเรียกผม
เรียกทำไม
เนื่องจากผมเข้าไปรู้ความคิดของปลาไม่ได้
แต่เท่าที่ผมอ่านอาการ
ผมเข้าใจว่าปลาตัวนั้นเห็นว่าผมน่าจะช่วยลูกของมันได้
มันจึงมาเรียก
และผมก็สามารถช่วยลูกของมันได้จริงๆ
ถามว่า
การที่แม่ปลาทนไม่ได้ที่จะเห็นลูกของตนตายในแอ่งน้ำนั้นคือสิ่งที่เราเรียกว่าความรักใช่ไหม
ก็ต้องตอบว่าใช่
ผมคิดว่าเราสมัยนี้ที่เห็นโลกกว้างผ่านคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมโยงกันทั้งโลกทั้งหลายแหล่น่าจะเคยเห็นหนังที่แสดงว่าสัตว์ทั้งหลายมันรักลูกมันอย่างไร
ผมเคยเห็นแม่กวางวิ่งทะยานลงน้ำเพื่อให้จระเข้ที่กำลังจะตรงรี่เข้ากินลูกน้อยของมันให้กินแม่แทน
ภาพที่เห็นนั้นทำให้เราเศร้าใจ
เธอตายแทนลูกได้จริงๆ
อย่างไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย
เธอเป็นเดรัจฉานที่เราถือกันว่าด้อยกว่ามนุษย์
จะด้อยหรือไม่ผมไม่ทราบล่ะ
แต่การที่แม่กวางตายแทนลูกได้นั้นไม่ด้อยกว่าคนแน่นอน
ความคิดของสัตว์เป็นอย่างไร
ผมไม่ทราบ พยายามที่จะเข้าใจอยู่
แต่ไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไร
ทางเดียวที่ผมเห็นว่าอาจพอคลำทางไปสู่ความเข้าใจจิตใจของสัตว์
(และพืช) ก็คือศึกษาจิตใจของเราเอง
บนสมมติฐานว่าคนก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง
ในกะโหลกศีรษะของเราและสัตว์มีก้อนสมองเหมือนกัน
เราเชื่อว่าก้อนเนื้อนี้เกี่ยวข้องกับความคิดและจิตใจของคน
หากศึกษาไปทางนี้
เราก็อาจพอเข้าใจสัตว์มากขึ้น
กระนั้นก็ตาม
ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน
ผมก็ไปศึกษาใจของคนอื่นไม่ได้
ผมศึกษาได้เฉพาะใจของตนเองเท่านั้น
เมื่อศึกษาใจของตนก็อนุมาน
(คือคิดขยายความต่อไปจากบางสิ่งที่รู้แล้ว)
ว่าคนอื่นๆก็คงมีจิตใจแบบเดียวกับผม
และจิตใจของพวกเขาก็ทำงานแบบเดียวกับของผม
สิ่งแรกที่สุดที่ผมพยายามคิดมานานหลายปีแล้วก็คือ
ความคิดของคนเราทำงานอย่างไร
ผมขอแบ่งเนื้อหาของจิตใจคนออกเป็นสามส่วนหยาบๆก่อน
ส่วนแรกคือการรับรู้
ส่วนที่สองคือความคิด
ส่วนที่สามคือความรู้สึก
ตัวอย่างเช่น
ผมเดินผ่านร้านขายอาหารอีสาน
เห็นเขาขายลาบและส้มตำ
ลาบและส้มตำที่ปรากฏแก่สายตาของผมนั้นคือการรับรู้
การรับรู้นี้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับใจ
ซึ่งจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะนะครับ
(คือใจจะเป็นการทำงานของสมองหรือการทำงานของจิตที่เป็นนามธรรมก็ช่างหัวมันเถิด—เราไม่มีทางรู้)
ที่ว่าการรับรู้ของคนเรา
(สัตว์ และพืช—ผมเชื่ออย่างนั้น)
เกี่ยวข้องกับใจ
หมายความว่าอย่างนี้ครับ
สมมติวันนั้นผมมีกล้องดิจิตัลติดตัวไปด้วย
ผมยกกล้องถ่ายร้านลาบ
ตลอดจนจานลาบ
ส้มตำ
และข้าวเหนียว
เพื่อเอาไปอวดพรรคพวกในเฟสบุค
ตามหลักฟิสิกส์เบื้องต้นที่เราเรียนมา
แสงแดดอันเป็นแสงธรรมชาติ
(จะเป็นแดดจ้าหรือแดดที่ไม่เห็นตัวในยามที่ฟ้าครึ้มสนิทก็ตามแต่)
ส่องมากระทบจานลาบ
จากนั้นก็สะท้อนไปเข้าเลนส์กล้อง
กลไกของกล้องก็จัดการแปลงแสงเหล่านั้น
(ที่อ่อนเข้มต่างกัน
ตามมุมที่แสงตกกระทบวัตถุที่ไม่เท่ากัน)
ให้เป็นตัวเลข
(๐ และ ๑)
จากนั้นก็จัดเก็บลงในฮาร์ดดิสก์
เมื่อผมเอากล้องนั้นมาเปิดดู
จะที่กล้องเองหรือที่คอมพิวเตอร์ก็ตาม
โปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่ออ่านไฟล์ก็จัดการแปรตัวเลขเหล่านั้นออกมาเป็นรูป
เราไม่คิดว่ากล้องจะ
“เห็น”
รูปที่มันถ่าย
เพราะมันไม่ได้แสดงอาการให้เราทราบว่ามันมีจิต
(ซึ่งอาจมาจากสมองก็ได้นะครับ
ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตหรือวิญญาณอย่างที่เป็นดวงๆตามความเชื่อในทางศาสนา)
แต่พวกเราที่เป็นมนุษย์
เอาผมเป็นตัวแทนก็ได้
เวลาเห็นอะไร
เป็นไปได้ที่กระบวนการทางฟิสิกส์ที่เกิดกับเราก็เหมือนที่เกิดกับกล้อง
แต่เราต่างจากกล้องคือ
เรา “เห็น”
สิ่งที่แสงลำเลียงเข้ามาในดวงตาของเรา
แล้วดวงตาแปรแสงนั้นเป็นสัญญาณอะไรสักอย่างแล้วส่งไปยังสมอง
กระบวนการนี้เหมือนกับที่เกิดแก่กล้องถ่ายรูป
ทำไมเราจึงเห็น
แต่กล้องไม่เห็น
คำตอบคือเพราะเรามีจิต
(ซึ่งอาจเป็นสมองก็ได้นะครับ
ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตหรือวิญญาณอย่างที่ศาสนาเชื่อ
แต่จะเป็นอย่างนั้นก็ได้
ไม่มีปัญหา)
เมื่อรับรู้แล้ว
ต่อไปจิตของคน
(และสัตว์ตลอดจนพืชก็อาจเป็นได้)
ก็จะคิด
สิ่งที่เกิดหลังจากรับรู้แล้วนี้คือความคิด
เช่น
เมื่อเห็นร้านลาบแล้ว
ผมก็คิดว่า “สนใจไหม”
คือจิตมันถามตัวมันเอง
จิตที่เกิดต่อมาตอบว่า
“ท่าทางน่าสนใจนะ
คนที่กำลังทำลาบอยู่นั้นหน้าตาออกทางอีสานแท้เลย
ร้านบอกเป็นลาบยโสธร
ลาบจังหวัดนี้จะทำแห้งๆ
ใส่ดีขมนิดหน่อย
เอาวะ
กินก็กิน”
พอคิดอย่างนั้นแล้ว
ความคิดต่อมาก็สั่งเท้าทั้งสองของผมเดินเข้าร้าน
ยิ้มให้เด็กที่ยืนต้อนรับ
เดินเลือกที่นั่งเหมาะๆ
แล้วออกปากสั่ง
ลาบใส่ดีหนึ่งจาน
ส้มตำปลาร้าหนึ่งจาน
และข้าวเหนียวหนึ่งกระติบ
สั่งเสร็จก็นั่งกระดิกหัวแม่ตีนเล่น
(ทำได้เพราะสวมรองเท้าแตะ)
สบายอารมณ์
รอกินลาบส้มตำของโปรด
ที่เราเชื่อว่ากล้องถ่ายรูปมันไม่เห็นอะไรอย่างเราดอกไม่ใช่เพราะว่าเราถอดจิตเข้าไปนั่งในกล้องแล้วเห็นว่าในนั้นไม่มีจิตหรอกนะครับ
ทั้งหมดมาจากการอนุมานเอา
โดยเทียบกับเรา
เรานั้นเมื่อเห็นแล้วจะคิด
เมื่อคิดแล้วก็จะแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่เนื่องมาจากความคิดนั้น
เช่นเห็นร้านลาบแล้วก็คิดว่าสมควรกิน
เมื่อคิดเช่นนั้นก็แสดงพฤติกรรมคือเดินเข้าร้าน
สั่ง นั่งกระดิกตีนรอ
เป็นต้น
กล้องถ่ายรูปที่เรายกถ่ายร้านลาบนั้น
เมื่อถ่ายแล้วเราก็เห็นมันนิ่งๆอยู่
ไม่เหมือนเรา
จากอาการนั้น
เราเลยสันนิษฐานว่ามันไม่คิด
และที่มันไม่คิดก็เพราะมันไม่เห็นอะไร
ย้อนกลับไปเป็นเปลาะๆ
แต่ก็มีนักปรัชญาสมัยนี้บางคนแย้งว่าก็ท่านยกกล้องถ่ายรูปมาสาธกนี่ขอรับ
กล้องมันทำอะไรได้ที่ไหน
ต้องยกหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ที่เขาสร้างให้มันทำอะไรได้เหมือนคน
เช่นอ่านโน้ตแล้วเล่นดนตรีเช่นเปียโนได้
สมมติเราปล่อยหุ่นยนต์ตัวหนึ่งไปที่เปียโน
มันเห็นโน้ตกางอยู่จากกล้องที่เราสร้างให้มันแทนดวงตา
(เหมือนดวงตาของเรา)
พอกล้องจับภาพนั้นได้
ก็รู้ว่าเป็นโน้ตเพลง
มันนั่งลงที่เปียโน
อ่านโน้ต
แล้วเล่นดนตรี
ถามว่าอย่างนี้พอพูดได้ไหมว่า
หุ่นยนต์มัน “เห็น”
อะไรเหมือนเรา
เมื่อเห็นก็ย่อม
“คิด”
ได้เหมือนเรา
เรื่องชักจะไม่ง่ายเหมือนเรื่องกล้องถ่ายรูปเสียแล้ว
ใช่ไหมครับ
เรื่องหุ่นยนต์ที่เล่ามานี้ผมมีความคิดบางอย่าง
แต่จะยังไม่ขอพูดอะไรตรงนี้
เพราะเรื่องที่พิจารณาค้างอยู่เกี่ยวกับจิตใจของคนที่ผมวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับสามเรื่องหลักๆคือ
รับรู้ คิด
และรู้สึก
ย้อนมาที่เรื่องผมนั่งกินลาบและส้มตำต่อ
พอข้าวเหนียวและลาบเข้าปากคำแรก
เกิดบางอย่างขึ้นในตัวผม
คือรับรู้ว่ารสชาติของอาหารที่กินเป็นอย่างไร
ลาบยโสจานนั้นช่างอร่อยกลมกล่อมเสียเหลือเกิน
ขมแต่พอดี
อย่างที่คนอีสานเรียกว่า
“ขมอ่ำหล่ำ”
อันเป็นข้อความที่ผมจนปัญญา
แปลเป็นภาษากลางไม่ได้
ท่านผู้อ่านต้องไปเกิดเป็นคนอีสานเอาเองนะครับเพื่อที่จะเข้าใจข้อความที่ว่านี้
ส้มตำนั้นคงไม่ต้องพูดถึงก็ได้นะครับ
แค่ลาบก็เพียงพอแก่การใช้เป็นตัวอย่างแสดงสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นคุณสมบัติของใจประการที่สามที่เรียกว่าความรู้สึก
อันว่าความรู้สึกของคนเรานั้นมีได้มากมายเสียยิ่งนัก
บางอย่างมีเนื้อหาไม่สลับซับซ้อน
เช่นกินลาบแล้วแซบเหลือเกิน
อันนี้เป็นความรู้สึกที่ไม่ซับซ้อน
แต่ดูหนังหรืออ่านหนังสือดีๆสักเล่มหนึ่ง
เช่น The Old Man and the Sea ของ Ernest Hemingway The
Pilgrim Kamanita ของ
Karl Gjellerup หรือ ฟ้าบ่กั้น
ของลาว คำหอม
เป็นต้น
เราจะเกิดความรู้สึกจำนวนมากที่ในทางวรรณคดีเราเรียกว่าความรู้สึกอันเนื่องมาจากรสของวรรณคดี
เอาเป็นว่านี่คือตัวอย่างของลักษณะประการที่สามของจิตมนุษย์
ซึ่งสัตว์และพืชก็อาจมีได้
แต่จะละเอียดอ่อนเท่าที่เรามีหรือไม่
อันนี้เราต้องค่อยๆศึกษากันไปครับ
อีกอย่างหนึ่ง
เวลาที่ผมพูดว่า
ความรู้สึกเป็นคุณสมบัติของจิต
โปรดทราบว่าจิตที่ผมพูดถึงนี้ผมหมายเอาตัวปรากฏการณ์ที่อยู่ในรูปของ
consciousness นะครับ
ปรากฏการณ์นี้อาจมาจากสมองก็ได้
มาจากวิญญาณที่เป็นดวงๆลอยไปเกิดใหม่ก็ได้
ซึ่งทั้งหมดเรายังไม่รู้ว่าจิตในแง่ที่เป็น
consciousness (ซึ่งอาจเรียกเป็นไทยๆว่าความรู้สึกนึกคิด)
มาจากอะไรแน่
-๓-
สิ่งที่ผมคิดต่อมาจากการวิเคราะห์จิตใจของคนเรา
(ต่อไปนี้โปรดเข้าใจนะครับว่าเวลาผมพูดถึงจิตใจของคน
ผมรวมถึงของสัตว์และพืชด้วย
ผมคิดว่าพืชและสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต
และลักษณะที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตคือมันจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดในบางระดับ
ไม่เช่นนั้นมันจะรู้จักดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดหรือ
การดิ้นรนเพื่อให้ตนรอดนั้นในทางปรัชญาคือ
ego-instinct อันได้แก่ความรู้สึกว่ากูคือกู
และกูจะต้องไม่ตายง่ายๆ
ทางพุทธศาสนาเราเรียกความรู้สึกนี้ว่า
“อหังการ”
และพระพุทธศาสนาก็วิเคราะห์ต่อไปอีกว่าเมื่อรู้สึกว่านี่คือกูแล้ว
ก็ย่อมรู้สึกต่อไปว่า
นี่ของกูด้วย
ความรู้สึกอย่างหลังท่านเรียกว่า
“มมังการ”
ท่านพุทธทาสวิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้มาก
เรื่องสัตว์มีความคิดไม่เป็นปัญหา
ทุกท่านน่าจะรับได้
ผมกำลังศึกษาเรื่องพืชอยู่
ในทางปรัชญานะครับ
ไม่ใช่ในทางวิทยาศาสตร์
แต่ก็อ่านงานของนักวิทยาศาสตร์ด้วย
สักวันผมอาจเขียนเรื่องนี้
เมื่อมีข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน)
ก็คือ เวลาที่จิตของเราทำงาน
มันทำงานอย่างไร
ผมคิดว่าคำถามนี้กว้างไป
อาจตอบยาก
ขอถามแคบเข้ามากว่านั้นคือ
จิตทำงานสัมพันธ์หรือไม่อย่างไรกับภาษา
เราจะพิจารณาเรื่องนี้กัน
ตอนที่ผมเห็นร้านลาบยโสที่ว่านั้น
การเห็นของผมเกี่ยวข้องกับภาษาไหม
เราจะตอบปัญหานี้ได้ง่ายขึ้นหากตั้งตัวอย่างสมมติ
สมมติว่าผมคนที่เห็นร้านลาบเป็นคนใบ้มาตั้งแต่เกิด
นอกจากใบ้ยังหูหนวกด้วย
ความพิการนั้นทำให้ผมอ่านหนังสือไม่ได้
พูดจาสื่อสารกับใครก็ไม่ได้
เมื่อผมเห็นร้านลาบ
ผมรู้ว่าที่นี่เขาขายอาหารอีสาน
การรู้ว่านี่คือที่ที่ผมสามารถเอาเงินจ่ายแลกกับการได้นั่งโต๊ะกินอาหารอีสานได้อาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับภาษา
คนใบ้
คนที่หูหนวก
ทำให้อ่านหนังสือไม่ได้
ก็สามารถเดินเข้าร้านได้
บางท่านอาจแย้งว่า
คนใบ้และหูหนวกที่เจริญเติบโตในสังคมอย่างไรเสียก็ยังได้เรียนภาษาบางแบบ
เช่นภาษามือ
ดังนั้นที่คนใบ้และหูหนวกเดินเข้าร้านลาบได้จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับภาษาเสียเลยทีเดียวน่าจะไม่ถูก
ผมรับว่าคนที่ใช้ภาษาอย่างพวกเราไม่ได้เพราะเกิดมาพิการ
แต่เติบโตในสังคมที่ใช้ภาษา
คงเรียนรู้ภาษาบางอย่างได้ด้วยตัวเขาเอง
ภาษานั้นเป็นอย่างไรเราไม่อาจรู้ได้
ต้องเกิดเป็นคนพิการเองจึงจะเข้าใจ
เมื่อคนเหล่านี้เข้าโรงเรียน
เราก็สอนภาษาให้เขา
สื่อการสอนภาษาอาจต่างกัน
เช่นเราใช้ตาอ่าน
แต่พวกเขาต้องใช้มือคลำ
แต่ผลที่ได้ก็ไม่ต่างกันคือ
เราทั้งหมดตกอยู่ในระบบการกล่อมเกลาความคิดจิตใจผ่านภาษา
คนพิการทางสายตาที่อ่านงานวรรณกรรมคลาสสิกดีๆมากๆย่อมมีความคิดอ่านที่ละเอียดกว่าคนพิการทางสายตาที่อ่านหนังสือน้อย
และอ่านเฉพาะเรื่องบันเทิงง่ายๆหยาบๆเท่านั้น
เอาเป็นว่า
ยังเป็นปัญหาอยู่นะครับว่า
คนบางประเภท
หรือสัตว์ เวลาที่รับรู้อะไร
การรับรู้นั้นเกี่ยวข้องกับภาษาหรือไม่
แต่ในคนปกติ
บางทีผมก็คิดว่า
เมื่อสายตาผมมองเห็นร้านลาบ
ภาพที่เห็นนั้นส่งสัญญาณมาหาผมผ่านข้อความว่า
“นั่นร้านลาบ”
หมายความว่าจิตเมื่อมันจะพูดกับตัวมันเอง
มันง่ายกว่าที่จะพูดเป็นภาษาหนังสือ
เป็นไปได้ที่เราจะเชื่อว่าจิตสามารถสื่อสารกับตัวมันเองในลักษณะของรูปภาพ
เสียง กลิ่น
รส
สัมผัสทางกาย
เป็นต้น
ผมคิดว่าหากมีคนบางคนอยู่นอกสังคม
เกิดและอยู่คนเดียวในสภาพธรรมชาติที่ไม่มีภาษาเลย
จิตของเขาคงสื่อสารกับตัวมันเองผ่านรูป
เสียง กลิ่น
รส และสัมผัส
เป็นต้นที่กล่าวมานั้น
แต่สำหรับพวกเราที่อยู่ในสังคมที่ใช้ภาษา
จิตคงสื่อสารกับตัวมันเองผ่านสื่อสองอย่าง
คือผ่านสื่อที่ไม่ใช่ภาษาตามที่กล่าวนั้น
และสื่อที่เป็นภาษา
สังเกตไหมครับ
บางทีขับรถไป
มีคนวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด
เราเหยียบเบรกสุดแรง
พร้อมตะโกน “เฮ้ย
อะไรวะ!”
ถามว่า
ทำไมเราต้องตะโกนอย่างนั้นด้วย
สำหรับผม
นี่คือตัวอย่างที่แสดงว่าเวลาที่เราเห็น
ได้ยิน
ได้กลิ่น เป็นต้น
พร้อมๆกับการที่รูป
เสียง กลิ่น
เป็นต้นของสิ่งเหล่านั้นถูกลำเลียงเข้ามาสู่จิตของเรา
(ผมตีความว่าจิตนั่นแหละที่ส่งสิ่งเหล่านี้มาให้จิตในช่วงต่อไปรับรู้)
จิตได้ส่งข้อความบางข้อความที่มันคิดว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังดำเนินไปนั้นมาให้ตัวมันเองรับรู้ด้วย
สิ่งที่ส่งแนบมา
(อาจจะเสมอ)
นี้คือภาษา เราจึงพูดโดยไม่ต้องคิดว่า
“เฮ้ย
อะไรวะ!”
ผมคิดว่าเท่าที่พูดมานี้
หากผมจะสรุปต่อไปนี้คงไม่น่าจะผิด
เมื่อคนเรารับรู้ผ่านทางตา
หู จมูก ลิ้น
กาย
การรับรู้นั้นเกิดแก่จิต
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการรับรู้นั้นเป็นลักษณะหนึ่งของจิต
เท่าที่ผมสังเกตตัวเอง
ในการรับรู้
บางทีหากเรื่องนั้นไม่สำคัญ
จิตก็จะเพียงแต่ส่งผ่าน
รูป เสียง
กลิ่น รส และสัมผัสทางกายนั้นมายังช่วงถัดๆมาของจิต
หากเทียบก็เหมือนกับเราดูหนังเงียบ
หนังเงียบคือหนังที่สื่อสารผ่านรูปเพียงอย่างเดียว
อาจมีเสียงดนตรีคลอรูปที่กำลังเคลื่อนไหว
แต่การเป็นหนังเงียบอยู่ที่การไม่มีบทสนทนาของตัวละครในหนัง
ผ่านภาษาพูด
เหมือนหนังปกติธรรมดา
ในชีวิตประจำวันของเรา
เมื่อเราตื่นนอน
ทำกิจส่วนตัว
กินข้าวเช้า
ออกจากบ้านมาทำงาน
สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราในแง่ของการรับรู้ส่วนใหญ่ก็คือสิ่งที่เราพบเห็นเดิมๆ
ไม่มีความหมายสำคัญอะไร
เมื่อจิตทำงานเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ในแง่รับรู้
จิตก็สื่อสารกับตัวมันเองเสมือนการดูหนังเงียบ
คือปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป
ต่างจากหนังเงียบเพียงว่า
ในการรับรู้โลกจริง
สิ่งที่ผ่านเราไปจะมีทั้งที่เป็นรูป
เสียง กลิ่น
รส
สัมผัสทางกาย
แต่มีเหมือนกันที่สิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ของเราบางทีมีความหมายกว่าปกติ
ตอนนี้แหละครับที่ผมสังเกตเห็นว่าภาษาจะเข้ามามีบทบาท
ยกตัวอย่างเช่น
เราเปิดคอมพิวเตอร์
เห็นหนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์แปลกๆที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
สมมติว่าวันนั้นเราเห็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง
จะว่าปลาก็ไม่ใช่เพราะมันมีปีกเหมือนค้างคาว
อาการที่มันเคลื่อนไหวในน้ำนั้นเหมือนอาการบินของค้างคาว
เมื่อจิตสื่อสารกับตัวมันเองเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเห็นนี้
มันจะถามตัวมันเองว่า
“นี่อะไร
แกรู้ไหม” เป็นต้น
ผลของการถามก็อาจทำให้เราหลังจากดูหนังนั้นจบแล้วไปค้นอินเตอร์เน็ตต่อว่าสัตว์น้ำที่ว่านั้นมันคืออะไร
มันอยู่ที่ไหน
มันกินอะไร เป็นต้น
สรุปคือ
เมื่อจิตสื่อสารกับตัวมันเองเกี่ยวกับสิ่งที่รับรู้แล้วมีความหมายมากกว่าปกติ
จิตจะ “พากย์หนังเงียบ” นั้นด้วย
แม้ว่าการรับรู้จะเป็นกระบวนการในขั้นเริ่มต้นของการทำงานของจิตใจคน
แต่หากบุคคลผู้นั้นใส่ใจวิเคราะห์ว่าอะไรคือความสำคัญของกระบวนการทำงานของจิตในขั้นนี้
ชีวิตของเขาย่อมไปได้ดีในขั้นต่อๆไปของจิต
ผมเชื่อว่าคนที่เป็นบุคคลสำคัญของโลกในทางใดๆก็ตามแต่จะเป็นผู้ที่รู้จักสังเกต
วิเคราะห์ และพัฒนาตนเองให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในเรื่องการรับรู้โลก
ผมขอยกตัวอย่างเพียงสองตัวอย่าง
คนแรกคือนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อไอแซค นิวตัน
คนที่สองคือเจ้าชายสิทธัตถะ
เราทุกคนในโลกเคยเห็นลูกไม้หล่นเหมือนนิวตัน
แต่สิ่งที่เราเห็นกันโดยทั่วไปเกี่ยวกับของหล่นจากที่สูงก็เปรียบเสมือนหนังเงียบ
ผ่านตาแล้วก็ผ่านใจไป
ไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ
แต่นิวตันเห็นหนังเงียบนั้นแล้วพยายามพากย์ว่า
“มันหมายความว่าอะไร”
เช่นเดียวกัน
เราเห็นคนแก่
คนเจ็บ คนตาย และสมณะ
แต่ก็เห็นเหมือนหนังเงียบ
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
ไม่มีความหมาย
เจ้าชายสิทธัตถะท่านรู้จักพากย์หนังเงียบนี้
พากย์ให้ตัวเองนั่นแหละฟัง
นิวตันก็พากย์ให้ตัวเองฟัง
เราดูหนังเงียบคือสรรพสิ่งในโลกของใครของมันอยู่แล้ว
เมื่อจะพากย์ก็พากย์ให้ตัวเองฟัง
ใครพากย์เป็น
พากย์ดี
มีสาระ
ลึกซึ้ง
ก็ได้ประโยชน์แก่ตนไป
ส่วนจะเอาประโยชน์นั้นวกกลับมาเจือจานพวกมหาชนที่พากย์หนังเองไม่เป็นหรือไม่
เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
-๔-
เราจะพิจารณาการทำงานของจิตขั้นที่สองคือความคิดว่าเกี่ยวข้องกับภาษาหรือไม่อย่างไร
ท่านผู้อ่านน่าจะเดาได้ว่า
ขนาดขั้นรับรู้เฉยๆ
จิตของคนเราที่เกิดมาในสังคมที่ใช้ภาษายากที่จะไม่มีเรื่องภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้น
เมื่อผ่านเข้ามาสู่ขั้นตอนของการคิด
มีหรือที่ภาษาจะไม่เข้ามามีบทบาท
ผมคิดว่าเราควรเริ่มต้นที่การวิเคราะห์ก่อนว่า
“ความคิด” คืออะไร
ลองถามตัวท่านเองง่ายๆนะครับ
คำแต่ละคำที่เราใช้ในชีวิตจะมีความหมาย
ผมขอพูดถึงเฉพาะคำกริยาอันหมายถึงคำที่แสดงอาการที่คนเราทำนั่นทำนี่
ลองพิจารณากริยาสามสี่คำต่อไปนี้
(๑)
นายดำล้างจานตามที่เมียสั่ง
(๒)
นายขาวปั่นจักรยานขึ้นเนินเขา
(๓) นางสาวแมวกินพิซซ่า
(๔)
นายสมภารกำลังนั่งคิด
การล้างจานเราเข้าใจ
หมายถึงการที่คนเรา
(จะเมียสั่งหรือไม่ก็ตามทีเถอะ)
เอาน้ำมาใส่ภาชนะใหญ่ๆเช่นกาละมัง
จากนั้นก็เอาจานที่ใช้งานแล้วเช่นใช้ใส่อาหารลงไปในน้ำนั้น
เพื่อให้น้ำล้างสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากจาน
จะมีน้ำยาล้างจานหรือสบู่ช่วยหรือไม่ก็ได้
หากไม่มีกาละมัง
จะปล่อยน้ำลงไปที่จานตรงๆ
เพื่อล้างสิ่งที่ไม่ต้องการออกก็เรียกว่าล้างจาน
การปั่นจักรยายและกินพิซซ่าก็ชัด
ผมคงไม่ต้องพูดอะไร
จะมีปัญหาก็ตรงที่กริยาอันสุดท้ายที่เรียกว่าการคิด
ผมเข้าใจว่าท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจความหมายของคำนี้เพราะเป็นคำที่เราใช้กันมากในชีวิตประจำวัน
เช่นเราเห็นเพื่อนยืนอยู่ที่หน้าผาคนเดียว
(เราไปเที่ยวภูกระดึงด้วยกันหลายคน)
เราเดินไปหา
ถามว่า “กำลังคิดไรเหรอ”
ที่ถามอย่างนั้นก็มาจากการที่เราสังเกตอาการของเพื่อน
เห็นเขายืนมองไปข้างหน้า
สีหน้า แววตา
แสดงอาการว่ากำลัง
“คิด”
อะไรสักอย่าง
ทำไมเราจึงเข้าใจว่าเพื่อนกำลังคิด
ตอบว่าเพราะเวลาที่เราคิด
เราก็แสดงอาการเช่นนี้เหมือนกัน
ที่ผมตั้งคำถามเรื่องกริยาที่เรียกว่าการคิดนี้
ผมไม่ได้ตั้งใจถามหาความหมาย
เพราะคิดว่าท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจความหมายของคำนี้
แต่ที่ถามเพื่อให้เราเห็นกันว่า
กริยาทางกายและวาจาของมนุษย์เช่นเดิน
กิน พูด
ด่ากัน
เป็นต้น
เนื่องจากเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่การรับรู้ของเราได้ชัดเจน
จึงไม่มีปัญหาว่ากริยาเหล่านี้คืออะไร
เช่นถามว่าการด่าเป็นอย่างไร
ก็ตอบได้ง่ายๆว่า
ดูแม่ลำยองที่กำลังเท้าสะเอวเปล่งเสียงสูงออกมาเป็นชุดไม่หยุดใส่นายทองผู้เป็นผัวนั่นเถอะ
เสียงนั้นน่าจะมาจากความโมโห
เนื้อหาว่าด้วยการเปลี่ยนหน้าของผัวให้เป็นอะไรสักอย่างที่ผมไม่สามารถเขียนลงตรงนี้ได้
เอาเป็นว่านี่คือความหมายของคำว่า
“ด่า”
ชัดใช่ไหมครับ
แต่การคิดเป็นกริยาอีกแบบหนึ่ง
หากแยกการกระทำของมนุษย์ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่ากรรมออกเป็นชนิดต่างๆ
ก็คงได้สามอย่างคือ
การกระทำทางกายที่เรียกกายกรรม
การกระทำทางวาจาที่เรียกว่าวจีกรรม
และการกระทำทางใจที่เรียกว่ามโนกรรม
ความหมายของกายกรรมและวจีกรรมชัดเจนเพราะสังเกตเห็นด้วยอายตนะได้
แต่มโนกรรมมีความหมายที่คลุมเครือ
เพราะเป็นกรรมที่สังเกตด้วยอายตนะคือตา
หู จมูก ลิ้น
และสัมผัสทางกาย
ไม่ได้
ต่อให้เราที่เป็นเจ้าของมโนกรรม
เช่นกำลังเป็นผู้คิดเองแท้ๆ
แต่พอถูกถามว่าการคิดคืออะไรครับพี่
ไม่แน่ว่าเราจะตอบได้
แต่การตอบอะไรได้หรือไม่ได้นี้เราควรคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์นะครับ
บางทีการตอบอะไรไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไรแก่เราเลย
เช่นไม่มีใครรู้วันตายของตัวเอง
ซึ่งเป็นเรื่องดี
หากรู้ซิครับจะไม่ดี
อาจตรอมใจตายเสียก่อน
แต่ตรอมใจอย่างไรก็ไม่ตาย
เพราะไม่ถึงวัน
ทรมานหนักเข้าไปอีก
ในบรรดากรรมทั้งสามอย่างของมนุษย์
กรรมทางกายบางอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับภาษา
เช่นการดำนา
การโค่นต้นไม้
การตกปลา
เป็นต้น
คือกิจกรรมเหล่านี้ต่อให้คนไม่รู้ภาษาอะไรเลยก็ทำได้
หากพิจารณาที่ตัวการกระทำอย่างเดียว
แต่ก็มีปัญหาอีกแหละครับว่า
ก่อนตกปลา ดำนา
หรือโค่นต้นไม้
คนเรามันต้อง
“คิดก่อน”
ว่าจะทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด
พอคิดเท่านั้นแหละ
เรื่องภาษาก็เข้ามาทันที
วจีกรรมนั้นชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับภาษา
มีกิจกรรมทางปากอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องพิจารณาว่าเป็นกรรมก่อนหรือไม่
เช่นการร้องไห้
หัวเราะ
เปล่งตัวโน้ตดนตรี
เป็นต้น
ผมมีข้อสังเกตเบื้องต้นเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน
กรรมทางกายนั้นในทางพระพุทธศาสนาท่านถือว่าจะเป็นกรรมต้องเกี่ยวข้องกับภาษา
คือก่อนทำกรรมต้องคิดคือรู้ว่าตนกำลังจะทำอะไร
และที่ทำนั้นเพื่ออะไร
การคิดโดยรู้ตัวล่วงหน้าก่อนลงมือทำนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า
“มีเจตนา”
อันแปลว่ามีความจงใจ
เช่นนายแมวเดินไปที่บ้านนายมิ่ง
ตะโกนเรียก
พอนายมิ่งเดินออกมา
นายแมวก็ยกปืนที่เตรียมมายิงใส่สองนัด
นายมิ่งล้มลงตาย
การยกปืนแล้วเหนี่ยวไกนั้นเป็นกายกรรม
เป็นไปได้ที่คนเราจะเหนี่ยวไกปืนโดยไม่มีภาษาเกี่ยวข้อง
เช่นเดินไปที่ชายทุ่ง
นึกอะไรไม่ทราบชักปืนออกมายิงสองนัด
ตอนยิงก็ยิงไปอย่างนั้นแหละ
การยิงส่งเดชนั้นสังเกตนะครับว่าไม่ได้มาจากการคิด
(ถ้าคิดเราจะเรียกว่ายิงส่งเดชได้อย่างไร
ใช่ไหมครับ)
เมื่อไม่ได้มาจากการคิดก็อาจปลอดจากภาษาได้
คือเป็นกายกรรมล้วนๆเลย
กายกรรมแบบนี้พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าเป็น
“กิริยา” (“กิริยา”
หมายถึงการกระทำ
ตรงกับภาษาฝรั่งว่า
action เป็นคนละคำกับคำว่า
“กริยา”
ที่หมายถึงส่วนของประโยคที่แสดงอาการหรือการกระทำของประธานประโยค
ตรงกับคำฝรั่งว่า
verb) ไม่ใช่ “กรรม”
เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคิดไตร่ตรองล่วงหน้า
สมมติว่าที่ยิงส่งเดชไปนั้นไปโดนอีกาตัวหนึ่งที่บินมาแถวนั้นตาย
พระพุทธศาสนาก็ไม่ถือว่าเป็นกรรม
เพราะคนยิงไม่ได้เล็งปืนไปที่อีกาแล้วบอกตัวในใจว่า
“มึงตายเสียเถอะ
ไปแอบกินเนื้อแดดเดียวที่กูตากไว้หลายหนแล้วนะมึง”
เวลาที่คนเราหัวเราะหรือร้องไห้
น่าจะไม่ได้ไตร่ตรอง
(ยกเว้นตอนเล่นหนังหรือละครตามบท)
เหมือนกับการจาม
หากเป็นอย่างนั้น
กายกรรมเหล่านี้ก็สักแต่เป็นกิริยาตามหลักการของพระพุทธศาสนา
ส่วนการร้องตัวโน้ตดนตรี
แม้จะไม่เป็นภาษาเหมือนร้องเพลงที่มีเนื้อ
(เช่นเพลง “จังซี่มันต้องถอน” เป็นอาทิ)
แต่คงหรือต้องมาจากความตั้งใจที่จะเปล่งเสียงให้ตรงตามตัวโน้ต
นี่ก็เกี่ยวกับภาษา
เลยเป็นกายกรรมเพราะมาจากเจตนา
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ผมต้องการตะล่อมมาที่คำถามที่ผมตั้งไว้ว่า
เวลาที่เราคิด
เราทำอะไร
การคิดคือการทำอะไร
การตอบเรื่องนี้โดดๆโดยไม่เอาอะไรสักอย่างมายุ่งเกี่ยวน่าจะยาก
หรืออาจตอบไม่ได้เลย
แต่ถ้าเอาสิ่งที่เกี่ยวพันกับความคิดของมนุษย์มากอย่างหนึ่งคือภาษามาเกี่ยวด้วย
เราอาจตอบได้มากขึ้น
แม้จะไม่หมดจดหมดสิ้น
ก็คงได้ใจความบ้าง
(หรืออาจมากก็ได้
ผมไม่ทราบ
ผมเขียนบทความหรือข้อเขียนนี้อย่างลุยไปข้างหน้าเรื่อยๆ
เพื่อแสวงหาความจริงที่รออยู่
โดยไม่รู้ว่าจะพบหรือไม่
หากพบ
จะพบเมื่อใด)
นักปรัชญาสมัยใหม่คนหนึ่งคือ
Willard Van Orman Quine
แต่งหนังสือไว้หลายเล่ม
ผมอยากพูดถึงเล่มที่ชื่อ
Word and Object (ฉบับที่ผมมีพิมพ์โดย
MIT Press, 2001) กับอีกเล่มที่ชื่อ
Theories and Things (ฉบับที่ผมมีพิมพ์โดย
Harvard University Press, 1999) หนังสือเหล่านี้อ่านแล้วเราจะเห็นว่าภาษานั้นสำคัญมากในการทำให้มนุษย์เรา
“เข้าใจ” โลก
ผมยังจำได้ว่าตอนที่อ่านหนังสือของนักปรัชญาอังกฤษคนสำคัญคนหนึ่งคือ
John Locke หนังสือเล่มนั้นคือ
An Essay Concerning Human Understanding (เล่มนี้ผมสะสมไว้หลาย
versions เห็นของใหม่ที่พิมพ์งามๆมักจะซื้อไว้ทั้งที่มีแล้ว
ไม่ทราบเพราะอะไร)
ท่านผู้แต่งเขียนไว้ในบทต้นๆของหนังสือว่า
มนุษย์เราเหนือกว่าสัตว์โลกอย่างอื่นก็ตรงที่เราสามารถ
“เข้าใจ”
สิ่งต่างๆในโลกได้มากกว่า
และที่เราสามารถเข้าใจอะไรได้มากกว่าก็เพราะเรามีภาษาที่ดีเลิศกว่าภาษาของสัตว์อื่น
หากวันหนึ่งมีมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลกเรา
และชวนเราไปเยือนโลกเขาบ้าง
เราไปแล้วพบว่าอารยธรรมของเขาสูงกว่าของเรามาก
เดาได้เลยครับว่าภาษาพวกเขาต้องดีเลิศกว่าของพวกเรา—อันนี้ Locke ไม่ได้พูด
นายสมภารที่แต่งข้อเขียนนี้พูดขึ้นมาเองเสียอย่างนั้นแหละ
การรับรู้โลกนั้นคนและสัตว์น่าจะมีได้เท่าๆกัน
คือเห็นอะไรได้เหมือนกัน
ได้ยินอะไรได้เหมือนกัน
อาจต่างกันบ้างตรงที่เสียงบางอย่างเราไม่ได้ยิน
แต่หมาอาจได้ยิน
หรือกลิ่นจำนวนมากในโลกนั้นจมูกเราเฉยๆ
คือไม่รู้สึกว่ามีกลิ่น
แต่หมากลับรู้สึก
เป็นต้น เราจะพูดรวมๆก็แล้วกันว่าการรับรู้โลกคนสัตว์มีไม่ต่างกันมาก
แต่การรับรู้โลกกับการเข้าใจโลกเป็นคนละขั้นของกระบวนการที่คนเราเกี่ยวข้องกับโลก
ในคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค” ที่แต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์
ท่านยกตัวอย่างคนสามคนที่มองดูสิ่งเดียวกัน
คนสามคนนี้คือ
ทารกอายุสามขวบ
๑ ชายชาวนา
อายุห้าสิบ ๑
และชายอายุห้าสิบอีกคน
ไม่ใช่ชาวนา
แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญกษาปณ์
อีก ๑
ทั้งสามกำลังมองดูเหรียญสิบบาทอันหนึ่งที่วางอยู่บนโต๊ะ
ในสายตาของคนสามคนนี้
สิ่งนี้เป็นวัตถุรูปกลมๆ
มีภาพอะไรบางอย่างที่เขาทำเป็นรอยสลักไว้ที่ด้านหน้า
ด้านหลัง
และด้านข้าง
ของวัตถุนั้น
ท่านผู้แต่งวิสุทธิมรรคเชื่อว่า
หากเราเข้าไปนั่งในชีวิตคนทั้งสามนี้ได้
แล้วใช้ตาของพวกเขามองดูเหรียญนั้น
ภาพที่ปรากฏน่าจะไม่ต่างกัน
(อาจต่างก็ได้นะครับแต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้
เราไม่มีทางพิสูจน์เรื่องนี้ได้
นักปรัชญาในโลกเขาปลงเสียแล้วว่าอย่าถามเรื่องนี้
ไม่มีใครตอบได้ดอกพ่อคุณแม่คุณเอ๋ย)
แต่ที่ต่างกันคือ
ทารกนั้นเห็นเหรียญนั้นแล้วไม่ทราบต่อไปว่าเอาไปซื้อของได้
ชายสองคนที่เป็นผู้ใหญ่นั้นทราบ
แต่ชาวนาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเหรียญนั้นมากกว่าที่ว่าเอาไปใช้ซื้อของได้
แต่ชายคนสุดท้ายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำเงินทั้งที่เป็นธนบัตรและเหรียญกษาปณ์รู้ว่าเหรียญนั้นจริงหรือปลอม
หากจริงทำด้วยอะไร
ที่ไหน ใครออกแบบ
สร้างในวาระพิเศษอะไรไหม
เป็นต้น
ความต่างระหว่างคนสามคนนี้ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ปัญญา
ผมมีข้อสังเกตว่า
เมื่อไทยเรารับเอาพระพุทธศาสนามาแล้ว
เราก็แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาอินเดียโบราณที่เรียกว่าภาษาบาลีเป็นไทย
คำจำนวนมากในภาษาเดิมเขาเราไม่มีคำที่มีความหมายเท่ากันรองรับ
เราเลยต้องใช้คำเดิมเขา
เช่นเมื่อแปลคำว่า
ปัญญา
ก็แปลว่าปัญญา
ซึ่งจริงๆไม่ใช่แปล
แต่รับเอาคำเขามาใช้ในภาษาเราเลย
ระบบนี้ใช้กันทั่วโลก
บางทีฝรั่งที่มาเรียนวัฒนธรรมไทยก็พบว่าคำไทยจำนวนหนึ่งไม่มีคำที่ตรงกันในภาษาของเขา
เมื่อต้องแปลก็ทำแบบเดียวกัน
คือยกคำไทยไปใส่ในสำนวนแปลเลย
คำว่าปัญญานี้ฝรั่งเขาเชื่อว่าเขามีคำที่ตรงกันในภาษาของเขาคือ
understanding (เป็นคำที่เขาใช้มานานในทางปรัชญา
เช่นที่ปรากฏในงานของ
John Locke ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น
เป็นต้น)
น่าคิดนะครับว่า
เวลาที่คนไทยอ่านพระไตรปิฎก
แล้วพบคำว่าปัญญา
(เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
คนจะถึงนิพพานได้ก็ด้วยศีล
สมาธิ
และปัญญา)
เราอาจคิดไม่เหมือนฝรั่ง
สำหรับฝรั่ง
นิพพานที่พระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวข้องกับการเข้าใจชีวิตและโลก
ดังนั้นหากการนั่งหลับตาภาวนาอยู่นิ่งๆไม่ทำให้เราเข้าใจอะไร
ฝรั่งก็จะถามว่าที่ทำอย่างนั้นเป็นการเจริญไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าสอนแน่หรือ
เป็นต้น
พิจารณาจากตัวอย่างที่ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ท่านยกมาเพื่ออภิปรายความหมายของปัญญา
ผมคิดว่าที่ฝรั่งแปลปัญญาว่าความเข้าใจนั้นมีมูลอยู่มาก
ลองถามง่ายๆดูนะครับแล้วตอบโดยใช้คำสองคำที่เราและฝรั่งใช้
ถามว่าคนสามคนนี้ต่างกันในเรื่องความรู้เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ใช่ไหม
ทุกคนย่อมจะตอบว่าใช่เหมือนกัน
ถามต่อว่าความต่างนั้นต่างที่ตรงไหน
คนไทยเราอาจตอบว่าต่างกันตรงที่คนสุดท้ายมีปัญญาที่สุด
คนที่สองมีปัญญารองลงมา
คนแรกคือเด็กมีปัญญาน้อยที่สุด
แต่ถ้าให้ฝรั่งตอบ
เขาจะตอบว่า
เด็กเข้าใจเรื่องเหรียญน้อยที่สุด
ชายชาวนาเข้าใจมากกว่าเด็ก
ส่วนชายผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหรียญกษาปณ์เข้าใจเรื่องเหรียญมากกว่าสองคนที่กล่าวมา
คำว่าปัญญาอาจมีความหมายสื่อไปในทางเร้นลับก็ได้
เช่นเราพูดกันว่าท่านผู้นี้มีปัญญามากนะ
อย่าได้คิดไปลบหลู่ท่าน
เป็นไปได้ที่ท่านที่เราเชื่อว่ามีปัญญามากนั้นนั่งอยู่เฉยๆ
ไม่พูดอะไรกับใคร
แต่ถ้าเราคิดว่าปัญญาหมายถึงความเข้าใจ
เราไม่รู้หรอกครับว่าใครเข้าใจอะไรเพียงใด
ต้องรอให้เขาพูดหรือเขียนออกมาเสียก่อน
ในแง่นี้ผมเห็นด้วยว่าที่ฝรั่งเขาแปลปัญญาว่าความเข้าใจมีประโยชน์กว่า
เพราะเอาไปใช้งานต่อไปข้างหน้าได้
เช่นหากมีใครมาชวนผมไปไหว้ท่านพ่อที่ไหนสักแห่งโดยคนชวนมาสรรเสริญท่านว่ามีปัญญาปานประหนึ่งมหาสมุทร
ผมก็จะยับยั้งชั่งใจ
ไม่ด่วนตัดสินก่อน
อาจไปไหว้ตามที่เขาชวนก็ได้หากไม่ลำบาก
เช่นอยู่ระหว่างทางกลับบ้าน
และคนชวนเป็นคนขับรถ
ผมติดรถเขามา
การเออออไปด้วยก็เป็นมารยาทอย่างหนึ่ง
อย่างนี้ก็อาจจะไปไหว้ครับ
สมมติผมถามอะไรท่านไป
ท่านตอบผมไม่ได้สักอย่าง
ขนาดผมถามง่ายๆแล้ว
เช่นถามว่า “เห็นท่านเขียนป้ายที่หน้ากุฏิว่าคนฉลาดไม่พูด
ถ้าไม่พูดแล้วผมจะรู้ได้อย่างไรครับว่าท่านฉลาด”
ท่านก็ไม่ตอบ
ทำหน้างอใส่ผมเสียอีก
อย่างนี้ผมคงยากที่จะรับว่าท่านมีปัญญามาก
แต่อย่างท่านพุทธทาสนั้นท่านตั้งข้อสังเกตอะไรเกี่ยวกับชีวิตและโลกมาก
พร้อมกับพยายามอธิบายเพื่อให้ผมเข้าใจสิ่งที่ท่านชวนให้พิจารณา
อย่างนี้รับได้ครับว่าท่านมีปัญญา
คือท่านเข้าใจโลกและชีวิต
สำหรับผม ปัญญาแบบคมในฝักไม่มี
ต้องชักดาบออกมาให้ดูก่อนครับ
จึงจะรู้ที่สนิมเขรอะหรือว่าคมวับ
ปัญญาที่แปลว่าความเข้าใจอย่างที่ฝรั่งเขาแปลเป็นชื่อของกิจกรรมทางความคิดที่เคลื่อนไหวและพัฒนาอยู่เสมอ
ไม่ใช่สภาพอันลึกลับที่นอนนิ่งๆอยู่แต่อย่างใด
นักปรัชญาตะวันตกอย่าง
Quine เป็นต้นที่ผมยกชื่อและหนังสือของเขามาให้ทราบข้างต้นวิเคราะห์ว่า
มนุษย์เราจะเข้าใจโลกและชีวิตได้ก็ด้วยการที่เราจะต้องมี
“เครื่องมือ”
ฝรั่งนั้นเป็นชนชาติที่สนใจเรื่องเครื่องมือมากนะครับ
และที่เขาเจริญก็เพราะเขาสนใจเรื่องนี้
(ตอนนี้ผมกำลังแต่งเรื่องนี้ด้วยการเขียนลงคอมพิวเตอร์เครื่องเล็กๆ
เบาๆ
แบบพับหิ้วไปไหนมาไหนได้
สะดวก เร็ว ดีกว่าสมัยที่เขียนด้วยการเคาะพิมพ์ดีดมาก
นี่ก็เป็นผลมาจากการที่ฝรั่งเขาสนใจเรื่องเครื่องมือนี่แหละครับ)
กล่าวอย่างรวมๆ
เครื่องมือทางความคิดในการเข้าใจตัวเองและโลกตามทัศนะของฝรั่งคือ
“ทฤษฎี”
ที่เขาเรียกกันในภาษาของพวกเขาว่า
theory นึกถึงตอนที่เราเรียนวิทยาศาสตร์สมัยเรียนชั้นประถมและมัธยมก็ได้ครับ
เขาจะให้เราเรียนวิชาฟิสิกส์
เคมี
ดาราศาสตร์ และชีววิทยา
เป็นต้น
ในแต่ละสาขาเขาก็จะให้เราเรียนความคิดของนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่ง
เราเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะเข้าใจโลก
เช่นเข้าใจว่า
ปกติของที่แขวนอยู่บนที่สูงหากสิ่งที่ใช้แขวนเช่นเชือกขาดมันก็จะหล่นลงพื้นเสมอ
แต่ทำไมดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์
และดวงดาวที่เราเห็นตอนกลางคืนมันลอยอยู่ในท้องฟ้าได้
ไม่ตกมาทับหัวเรา
และที่เรียกว่าดวงอาทิตย์นั้นน่าจะเป็นดวงไฟขนาดใหญ่
ปกติไฟที่เราเห็นต้องมีคนจุด
หรือไม่ก็มีสาเหตุเช่นหน้าแล้งต้นไผ่แห้งๆเสียดสีกันลุกเป็นไฟ
ใครหรืออะไรทำให้ดวงอาทิตย์ลุกเป็นไฟอย่างนั้น
และที่น่าคิดคือกองไฟที่เราก่ออยู่ได้ไม่นาน
ข้ามปี
ขนาดนี้
น่าสงสัยว่าไฟที่ลุกอยู่ที่ดวงอาทิตย์เป็นไฟแบบไหนกัน
นี่ว่าเฉพาะวิทยาศาสตร์นะครับ
ยังมีศาสตร์อื่นๆอีกเช่นจิตวิทยาที่ศึกษาการทำงานของใจคนและสัตว์
(ในอนาคตอาจรวมพืชด้วย
ต่อไปชาวนาชาวไร่อาจต้องไปปรึกษาแพทย์ต้นไม้ว่าสงสัยต้นมะม่วงที่เราปลูกไว้มันเครียด
ไม่ค่อยออกลูก
คุณหมอช่วยคุยกับมันหน่อยซิคะ
เป็นต้น)
แพทยศาสตร์ที่ศึกษาระบบร่างกายและโรคาพาธของมนุษย์และสัตว์
ปรัชญา ศาสนา
และอื่นๆ
(เช่นไสยศาสตร์ก็อาจรวมอยู่ในสิ่งที่เราเรียกกว้างๆว่าทฤษฎี
คำนี้ฝรั่งเขาใช้ในความหมายทั้งกว้างและแคบ)
ในหนังสือที่ฝรั่งเขียนบางคนที่เขาเขียนเรื่องทฤษฎีว่าด้วยธรรมชาติมนุษย์
(The Theories of Human Nature) บางทีผมก็เห็นเขาเอาแนวคิดของพระพุทธเจ้าเข้าไปร่วมศึกษาด้วย
แปลว่าฝรั่งก็เห็นว่าศาสนาพุทธมีทฤษฎี
อันที่จริง
เรื่องนี้ผมคิดว่าเราชาวพุทธน่าจะเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
นายเขียว
นายแดง นายดำ
นางขาว
เป็นต้นที่เป็นคนๆ
มีชื่อ มีอะไรของตนเองเช่นบ้านและรถ
และมีสถานะเป็นพลเมืองตามกฎหมายของประเทศไทย
ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องสมมติเท่านั้น
ในความเป็นจริง
ทุกคนที่กล่าวมาต่างก็เป็นขันธ์ห้าเหมือนกัน
เห็นไหมครับว่าคำสอนเรื่องขันธ์ห้าของพระพุทธเจ้านั้นเปรียบเสมือนแว่นขยาย
(เปรียบเท่านั้นนะครับ)
ที่ส่องลงไปในชีวิตของคนเรา
เพื่อหาสาระ
แก่น
หรือความเป็นสิ่งนั้นที่ซ่อนอยู่ลึกๆข้างใน
ก็เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์เอาน้ำมาแยกดูพบว่ามาจากของสองอย่างคือไฮโดรเยนและออกซิเยน
ที่เห็นเป็นน้ำ
ใช้กินใช้อาบ
ใช้เล่นสงกรานต์ได้เป็นต้นนั้นยังไม่สุดนะ
อ้ายที่อยู่ในขันที่เราใช้สาดกันนั้นที่จริงมันเป็นของสองอย่างที่โดยตัวมันเองไม่ได้ไหลไปมาอย่างน้ำได้เลยเพราะเป็นก๊าซ
แต่ก๊าซหรือลมพวกนี้พอรวมกันแล้วกลายมาเป็นของที่ไหลไปไหลมาได้
การแยกแยะน้ำของวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจน้ำมากขึ้น
ซึ่งก็เหมือนที่นายช่างกษาปณ์เข้าใจระบบการสร้างเงินตรามากกว่าคนทั่วไปนั่นแหละ
ข้อนี้ฉันใด
คำสอนเรื่องขันธ์ห้าพระพุทธเจ้าก็ทรงประสงค์ใช้งานเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งลงไปว่าคนคืออะไร
ฉันนั้นเช่นกัน
หากคิดอย่างที่ฝรั่งพวกนี้คิด
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเกิดไม่ได้หากปราศจากทฤษฎี
ในวรรณกรรมและจิตรกรรมเซน
มักมีข้อเขียนหรือภาพวาดที่สะท้อนทัศนะที่แหลมคม
(บางทีก็แสบๆ
คันๆ)
ของคณาจารย์ในพุทธศาสนานิกายนี้เสมอ
ผมอยากให้ดูรูปต่อไปนี้ครับ
รูปมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า
“Catching a Catfish with a Gourd” แปลเป็นไทยว่า
“จับปลาดุกด้วยลูกน้ำเต้า”
วาดโดยศิลปินเซนชาวญี่ปุ่นสมัยคริสต์ศตวรรษที่
๑๕ ชื่อโยเซ็ตสึ
(Josetsu)
ตามภาพ
ชายคนหนึ่งยืนอยู่ที่ตลิ่งแม่น้ำ
หรือลำธาร ในลำธารนั้น
ปลาดุกตัวหนึ่งกำลังว่ายน้ำเล่นอยู่
ชายคนที่อยู่บนตลิ่งพยายามจะจับปลาดุก
เครื่องมือที่เขาใช้จับปลากดุกคือลูกน้ำเต้า
ภาพนี้เป็นภาพปริศนาธรรม
ซึ่งแปลว่าท่านที่วาดไม่พูดอะไร
ท่านให้เราดูแล้วคิด
ท่านพุทธทาสดูแล้วตีความว่า
ภาพนี้อาจารย์เซนเขียนเพื่อล้อเลียนคนบางคน
(อาจจะจำนวนมากก็ได้
และอาจเป็นชาวพุทธด้วยกันนี่แหละ
เช่นชาวพุทธที่เชื่อว่าสมาธิที่พุทธศาสนาสอนคือการนั่งทำใจนิ่งๆแล้วไม่คิด)
ว่า
พวกเขาไม่รู้จักคิดว่า
ในการจัดการกับสิ่งต่างๆในโลกรวมทั้งตัวเองด้วย
ทฤษฎีสำคัญ
ทฤษฎีก็คือเครื่องมือเฉพาะอย่างสำหรับจัดการกับสิ่งที่เราต้องการให้เกิดหรือให้หายไปเฉพาะอย่าง
ท่านพุทธทาสอธิบายว่า
น้ำเต้านั้นลื่นๆ
เกลี้ยงๆ
เหมาะใช้งานอย่างอื่นเช่นใส่น้ำเอาไปกินเวลาเดินทางไกลเป็นต้น
แต่จะเอามาจับปลาดุกไม่ได้
นึกภาพซิครับว่า
เราเห็นปลาดุกลอยอยู่
เราโยนลูกน้ำเต้านั้นลงไปเพื่อจับมัน
กี่ปีกี่ชาติน้ำเต้านั้นจะจับปลาดุกได้
เครื่องมือที่เหมาะสำหรับจับปลาต้องได้แก่เบ็ดหรือแห
ไม่ใช่ลูกน้ำเต้าเกลี้ยงๆ
ลื่นๆ อย่างนั้น
ท่านพุทธทาสอธิบายต่อไปว่า
ในวรรณกรรมเซน
มีนิทานเล่าว่า
(เรื่องนี้อาจมีหลายสำนวน
แต่ละสำนวนฉากและของประกอบฉากอาจต่างกัน
แต่เนื้อหาเหมือนกัน)
อาจารย์เซนเดินไปในป่า
เห็นพระใหม่รูปหนึ่งที่บวชมาจากที่อื่นแล้วมาสมัครเป็นศิษย์
กำลังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่
อาจารย์เดินเข้าไปใกล้ๆ
นั่งลงหยิบหินแบนๆมาแผ่นหนึ่งแล้วเอาหินแผ่นนั้นฝนไปมากับหินใหญ่ก้อนหนึ่งที่จมดินอยู่
(เข้าใจว่าแถวนั้นคงเป็นย่านที่มีหินทรายเยอะ
หินทรายก้อนใหญ่ๆจมอยู่ในดิน
มีหญ้าขึ้น
บนก้อนหินที่มีลักษณะแบนๆ
เหมาะแก่การนั่งชมนั่นชมนี่
ช่วงฤดูฝนจะมีดอกไม้ป่าขึ้นแซมกับดงหญ้าสีเขียวสวยงาม)
เสียงก้อนกินครูดสีกันดังแกรกๆ
ทำให้พระใหม่ที่นั่งสมาธิอยู่ลืมตาขึ้นมอง
เมื่อเห็นอาจารย์นั่งฝนหินอย่างเอาจริงเอาจังจนหัวสั่นหัวคลอนอย่างนั้นก็สงสัย
เอ่ยปากถามว่า
“ท่านอาจารย์ทำอะไรหรือขอรับ”
อาจารย์เงยหน้าขึ้นยิ้ม
บอก “อาจารย์กำลังอยากได้กระจกสักบาน
เอาไว้ส่องดูความเรียบร้อยเวลาโกนหัว
กำลังจะฝนหินนี้ให้เป็นกระจก”
ว่าแล้วก็ก้มลงฝนหินต่อ
ลูกศิษย์งง
ดูอาจารย์ทำไปอย่างนั้นสักพักก็เรียนท่านว่า
“ท่านอาจารย์ขอรับ
หินมันจะกลายเป็นกระจกได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ลงแรงไปก็เสียเปล่าขอรับ”
คราวนี้อาจารย์วางหินลง
ลุกขึ้น
ก่อนเดินจากไป
ท่านพูดว่า “ที่คุณนั่งๆอยู่นี่จะช่วยให้คุณกลายเป็นผู้รู้
ผู้ตื่น
ผู้เบิกบานได้หรือ”
นิทานเรื่องนี้ก็คล้ายเรื่องจับปลาดุกด้วยน้ำเต้า
คือเซนให้ความสำคัญกับเครื่องมือ
ในชีวิตประจำวันของคนเรา
ไม่เป็นที่สงสัยว่าเราต้องการเครื่องมือในแทบทุกเรื่อง
จะกินน้ำก็ต้องการขัน
จะกินข้าวก็ต้องการถ้วยชาม
ข้าวนั้นบางอย่างต้องการช้อน
ส้อม
(เช่นกินข้าวที่หุงใส่จานมา
มีกับแยกต่างหาก)
บางอย่างเหมาะจะใช้มือ
(เช่นกินข้าวเหนียวจ้ำปลาแดก)
บางอย่างเหมาะจะใช้ตะเกียบ
(เช่นกินก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่)
กินข้าวแล้วลงเรือนจะไปทำงาน
ก็ต้องลงทางกะไดอีกแหละครับ
โดดลงมาไม่ได้เดี๋ยวขาหัก
ลงกะไดมาแล้วก็ต้องใส่เกือก
หากไปทำนาก็นั่งเกวียน
ไปโรงเรียนก็อาจปั่นจักรยาน
เข้าในเมืองก็ต้องไปทางรถยนต์
สรุปคือ
ชีวิตมนุษย์เราพะรุงพะรังด้วยกิจที่ต้องการเครื่องมือทั้งสิ้น
จะมีก็แต่หายใจเท่านั้นกระมังที่ไม่ต้องการอะไร
แต่บางท่านอาจบอกจมูกนั้นก็เครื่องมือนะครับอาจารย์สมภาร
ถ้าอย่างนี้ผมก็ไม่มีอะไรจะเถียงแล้ว
เครื่องมือสำหรับการดำเนินชีวิตทางกายภาพนั้นมองเห็นง่าย
และวินิจฉัยว่าอันไหนดีกว่าอันไหนไม่ยาก
แต่เครื่องมือสำหรับการดำเนินชีวิตด้านในเป็นเรื่องเข้าใจยาก
มองเห็นยาก
และหากมีตั้งแต่สองระบบขึ้นไปมาให้เราพิจารณาเทียบเคียง
ก็ไม่ง่ายที่เราจะบอกว่าอะไรดีกว่าอะไร
ชีวิตด้านในที่ผมกำลังกล่าวถึงอยู่นี้ผมใช้ในความหมายที่กว้างที่สุด
อะไรก็ตามแต่ที่ไม่ใช่เรื่องทางกายภาพในชีวิตมนุษย์
ผมถือว่าเป็นเรื่องด้านในหมด
คนสองคนป่วย
คนหนึ่งไปหาหมอที่โรงพยาบาลแบบที่ใช้ความรู้การแพทย์ตะวันตกเป็นหลัก
อีกคนไปหาหมอไสยศาสตร์
ปัญหาที่สองคนนี้ประสบเป็นเรื่องความเจ็บป่วยที่เป็นเรื่องทางกายภาพก็จริง
แต่ทัศนคติเกี่ยวกับโลกและชีวิตของสองคนนี้ไม่เหมือนกัน
เขาจึงไปหาคนรักษาความป่วยไข้ของตนที่แตกต่างกัน
การเลือกวิทยาศาสตร์ตะวันตกกับไสยศาสตร์
(ไม่รู้ตะวันไหนเหมือนกันครับ
ไม่อยากบอกว่าตะวันออก
เพราะตะวันตกก็มีไสยศาสตร์เหมือนกัน
หมอดูฝรั่งมีถมเถครับ
นอสตราดามุสก็คนหนึ่งล่ะ)
นี้เป็นตัวอย่างของการเลือกเครื่องมือที่แตกต่างกันในทางชีวิตด้านใน
ชีวิตด้านในที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้มีหลายชั้น
บางชั้นอยู่ข้างนอก
บางชั้นอยู่ลึกเข้าไปข้างใน
ในเข้าไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงในที่สุด
ยิ่งอยู่ในเท่าใด
ผลอันเกิดจากการตัดสินใจของชีวิตด้านในระดับนี้จะยิ่งลึกซึ้งมากกว่าการตัดสินใจอันเกิดจากชีวิตด้านในเหมือนกัน
แต่อยู่นอกออกมากว่านั้น
เจ้าชายสิทธัตถะวันหนึ่งท่านตัดสินใจอำลาปราสาทราชวังออกมาเป็นนักพรตร่อนเร่อยู่กลางดินกลางทราย
กลางป่าเขาลำเนาไพร
ไม่มีหลักประกันว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรกินหรือไม่
สมัยที่ยังอยู่ในราชวังนั้น
ประสงค์จะกินอะไร
ย่อมได้ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะหายาก
หรือราคาแพงเพียงใดก็ตาม
ชีวิตด้านในที่หล่อเลี้ยงการเป็นเจ้าชายที่เสวยสุขในราชมณเฑียรนั้นอยู่นอกกว่าชีวิตด้านในที่ตัดสินใจอำลาความสะดวกสบายนานามาเป็นนักบวชร่อนเร่
แต่ชีวิตด้านในอย่างหลังนี้แกร่งกว่า
ช่างคิดกว่า
มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะพบเห็นธรรมอันลึกซึ้งที่ยากนักที่มนุษย์ทั่วไปจะหยั่งเห็นได้
โปรดสังเกตนะครับว่า
ชีวิตด้านในแต่ละชั้นในชีวิตของพระพุทธเจ้ามีเครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีวิตต่างกัน
เครื่องมือเหล่านี้ก็คือ
“โลกทัศน์”
หรือวิธีคิดอันเกี่ยวกับโลกและชีวิตว่า
เราคืออะไร
เราควรใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะประเสริฐที่สุด
เป็นต้น
ผมจะไม่พูดเรื่องรายละเอียดการใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาชีวิตด้านในของเจ้าชายสิทธัตถะมากไปกว่านี้นะครับ
เพราะวัตถุประสงค์ของการอภิปรายเนื้อหาตอนนี้อยู่ที่การแสดงข้อสังเกตของผมที่ว่า
ชีวิตคนเราต้องการเครื่องมือ
ในทางกายภาพ
เราต้องการเครื่องมือเพื่อให้ชีวิตสะดวก
เช่นใช้จอบขุดดิน
ใช้มีดหั่นผัก
เป็นต้น
ส่วนชีวิตอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องทางกายภาพ
(ที่ผมเรียกว่าชีวิตด้านใน)
ก็ต้องการเครื่องมือ
เช่นต้องการวิทยาศาสตร์
คณิตศาสตร์
ศาสนา ปรัชญา
ศิลปะ
เป็นต้น
(หรือแม่แต่ไสยศาสตร์ผมก็ไม่รังเกียจนะครับ
หากสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้งานเพื่อให้ชีวิตด้านในเราดีขึ้นจริงๆ
และประสิทธิภาพนี้หาไม่ได้ในเครื่องมืออื่นๆที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นเช่นศาสนา)
เครื่องมืออย่างหลังนี้เราใช้งานละเอียดและซับซ้อนกว่าเครื่องมืออย่างแรกมาก
เทียบกันไม่ได้เลย
เสียม มีด
ปากกา
คอมพิวเตอร์
เป็นต้นเราใช้งานได้ในระดับอำนวยความสะดวกแก่เรา
แต่ไม่เปลี่ยนชีวิตเรา
แต่เครื่องมืออย่างหลังบางชนิด
(เช่นศาสนาและปรัชญาตลอดจนศิลปะ)
มีอำนาจเปลี่ยนชีวิตเราได้
คือสามารถยกชีวิตเราให้สูงส่งขึ้นกว่าเดิมได้
พระพุทธศาสนานั้นทำให้คนเป็นอริยะได้
นึกอย่างนั้นก็แล้วกันนะครับ
-๕-
การที่เครื่องมือชนิดที่สองมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตเรานั้น
ผมคิดว่าเราควรทำความเข้าใจให้ลึกลงไปสักหน่อย
ก่อนที่เราจะไปพิจารณาว่าภาษามีบทบาทเกี่ยวข้องกับเครื่องมือเหล่านี้อย่างไรหรือไม่
ผมกล่าวข้างต้นว่า
ชีวิตคนหากจะวัดว่าชีวิตใครประณีตหรือสูงกว่าใคร
เราอาจวัดได้ด้วยคุณสมบัติอันหนึ่งที่วงการปรัชญาเราพูดกันมาก
สิ่งนี้คือ “ความเข้าใจ” (understanding) ที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าตรงกับคำว่า
“ปัญญา”
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
(เช่นที่ทรงสอนในฐานะเป็นหนึ่งในสิกขาสามประการ—ศีล สมาธิ
และปัญญา)
ตัวอย่างเด็ก
ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้เรื่องการทำเหรียญกษาปณ์
และผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหรียญกษาปณ์
ที่พระพุทธโฆสาจารย์ท่านแสดงเอาไว้ในหนังสือวิสุทธิมรรคนั้นยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่ความเข้าใจมาก
กล่าวอีกอย่างหนึ่งคงได้กระมังครับว่า
ความเข้าใจโลกและชีวิตในระดับสูงที่สุดเท่าที่มนุษย์เราจะมีได้ทำให้คนธรรมดากลายเป็นอรหันต์
(ซึ่งหมายถึงผู้ที่ชีวิตไม่มีความทุกข์รุมเร้าได้อีกแล้ว)
เมื่อวิเคราะห์มาถึงตรงนี้
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงมองเห็นอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้ว
ซึ่งผมขอสรุปซ้ำสั้นๆว่า
มนุษย์และสัตว์รับรู้โลกเหมือนกัน
แต่คนเราไม่เพียงแต่รับรู้โลกเฉยๆ
เรารู้จักสร้างเครื่องมือเพื่อให้การรับรู้โลกนั้นกลายสภาพมาเป็นความเข้าใจ
สัตว์หลายชนิดก็คงรู้จักสร้างเครื่องมือที่ว่านี้
(เช่นมีการศึกษาพบว่าอีการู้จักและเข้าใจโลกเท่ากับเด็กมนุษย์อายุประมาณเจ็ดขวบ
เป็นต้น)
ในหมู่คนเรา
ชาติใดก็ตามที่มีอารยธรรมล้ำหน้ากว่าชาติอื่น
ชาตินั้นล้ำหน้ากว่าชาติอื่นตรงที่สามารถสร้างเครื่องมือเพื่อให้ชีวิตทางกายภาพสะดวกสบายและชีวิตด้านในสามารถเข้าใจโลกและชีวิตมากกว่าชาติอื่น
พระพุทธเจ้าที่ชาวพุทธไทยเรานับถือไม่ใช่คนไทย
แต่เป็นคนอินเดีย
เราไม่เคยมีพระพุทธเจ้าของเราเอง
นี่คือตัวอย่างความก้าวหน้าเรื่องการสร้างเครื่องมือในการดำรงและเข้าใจชีวิตที่แตกต่างกันในหมู่ชนชาติต่างๆของโลก
คำถามต่อไปคือ
เครื่องมือสำหรับพัฒนาชีวิตด้านในนั้นเกี่ยวข้องกับภาษาหรือไม่
หากเกี่ยวข้อง
เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด
นี่คือโจทย์ที่เราจะพยายามตอบต่อไป
เพื่อให้การอภิปรายง่ายขึ้น
ผมขอเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตบางอย่าง
มีสำนักสอนสมาธิหลายสำนักในบ้านเรา
ผมขอพูดถึงสองสำนักคงพอแก่การอภิปราย
สำนักแรกคือสำนัก
“ยุบหนอ-พองหนอ”
อีกสำนักคือสำนัก
“พุท-โธ”
สำนักแรก
(ผมเคยทดลองปฏิบัติตามสำนักนี้มาแล้ว)
สอนว่า
เมื่อทำสมาธิ
ให้กำหนดใจที่ท้อง
เมื่อหายใจเข้า
ท้องป่อง
ให้ภาวนาว่า “พองหนอ”
เมื่อหายใจออก
ท้องยุบ
ให้ภาวนาว่า “ยุบหนอ”
อีกสำนักหนึ่ง
(ผมไม่เคยทดลองปฏิบัติในสำนักนี้)
ก็สอนคล้ายกัน
คือให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออกที่ปลายจมูก
หายใจเข้าให้ภาวนาว่า
“พุท”
หายใจออกให้ภาวนาว่า
“โธ”
การภาวนาอาจสลับกันได้
คือเข้า-พุท
ออก-โธ
หรือเข้า-โธ
ออก-พุท
ก็ได้
ท่านไม่บังคับตายตัว
สิ่งที่ผมอยากพูดเบื้องต้นคือ
เราเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเวลาทำสมาธิ
เราจึงต้องภาวนาด้วย
และการภาวนานั้นจะอยู่ในรูปของภาษาเสมอ
คำที่เลือกมาภาวนามักเป็นคำสำคัญในศาสนานั้นๆ
ศาสนาฮินดูก็สอนให้ภาวนาโดยออกนามของพระเจ้าเช่น
“โอม กฤษณะ” “หเร ราม”
เป็นต้น
ในพุทธศาสนาเรา
คำภาวนามักเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า
เช่น “พุท-โธ” “สัมมา-อรหัง” เป็นต้น
มีแต่สำนักยุบหนอ-พองหนอ
เท่านั้นที่ใช้คำที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งสำคัญในพุทธศาสนา
สำนักแรกนั้น
เมื่อนั่งเมื่อยแล้ว
(ระหว่างนั่งก็กำหนดท้องและภาวนายุบหนอ
พองหนอ
ไปเรื่อย)
ท่านแนะให้ลุกเดิน
การเดินท่านเรียกว่า
“จงกรม” ขณะลุก
ท่านสอนให้กำหนดสติ
คือรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร
ระหว่างนั้นก็ภาวนาไปด้วย
เช่น “ลุกหนอ
ลุกหนอ”
พอลุกยืนได้ที่แล้ว
ขณะยกเท้าเพื่อจะเดิน
ท่านก็สอนให้ภาวนาว่า
“ยกหนอ”
(หมายถึงยกเท้า)
ระหว่างที่เท้าลอยอยู่บนอากาศและเลื่อนไปข้างหน้า
ท่านให้ภาวนาว่า
“ย่างหนอ”
เมื่อเท้าแตะถึงพื้น
ก็ภาวนาว่า “เหยียบหนอ”
ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ
เมื่อเดินเมื่อยแล้ว
ก็กลับมานั่ง
ก่อนลงนั่งก็กำหนดสติ
ภาวนาว่า “นั่งหนอ
นั่งหนอ”
แล้วก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาท้องที่พองและยุบไปพร้อมกับการภาวนาอีกครั้ง
ระหว่างนั่งภาวนา
สมมติว่าปวดขา
ท่านสอนให้กำหนดสติไปที่ขาที่กำลังปวด
แล้วภาวนาว่า
“ปวดหนอ
ปวดหนอ”
หรือระหว่างนั่งภาวนา
ใจมันฟุ้ง
คิดโน่นคิดนี่
เมื่อระลึกได้
ท่านก็สอนให้ภาวนาว่า
“ฟุ้งหนอ
ฟุ้งหนอ”
ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ครับ
ขอจบเพียงเท่านี้
ผมจะไม่พิจารณาประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นว่า
ทำไมการทำสมาธิ
จึงต้องภาวนาในรูปของภาษาด้วย
ดูท้องพองและยุบเฉยๆไม่ได้หรือ
ปัญหานี้สำคัญนะครับ
ผมอยากฝากให้ท่านผู้อ่านเอาไปคิดไตร่ตรองและตอบปริศนานี้ด้วยตัวท่านเอง
ของใครของมัน
ตามการสังเกตของผม
เรากำหนดใจไปที่ท้องที่กำลังพองและยุบได้อยู่แล้ว
และกระบวนการในการดูท้องที่พองยุบนั้นเป็น
“การรับรู้”
เหมือนกับที่เราเห็นดอกไม้ในสวน
ได้ยินเสียงนกร้องบนต้นไม้
ได้กลิ่นเขาคั่วพริก
เป็นต้น
การที่ท่านสอนให้เราใช้คำกำกับขณะดูท้องพองยุบหรือขณะเดิน
หรือขณะที่ปวดขา
เป็นต้น
อาจเข้าใจได้ในเบื้องต้นว่า
บทบาทของคำนั้นอย่างหนึ่งที่กระทำต่อใจหรือสมองของคนเราคือ
“สั่งให้สนใจ” ในแง่นี้
การภาวนาด้วยคำเช่น
“พุท-โธ” “สัมมา-อรหัง” “ยุบหนอ-พองหนอ” “หเร ราม”
เป็นต้น
ก็คือการใช้ภาษาสั่งใจให้สนใจเรื่องที่กำลังทำ
และอย่าวอกแวก
สมมติว่าเราผ่านขั้นตอนเรื่องการใช้ภาษาเพื่อสั่งให้ใจไม่วอกแวก
(ซึ่งเมื่อเปลี่ยนประเทศ
ภาษาก็เปลี่ยนนะครับ
สมัยผมทำสมาธิตามสำนักยุบหนอ-พองหนอ
มีชาวตะวันตกมาร่วมทำสมาธิด้วย
ทางสำนักก็ให้เขาภาวนาเป็นภาษาอังกฤษ
เข้าใจว่าหากมีจีน
เขมร ลาว รัสเซีย
ฝรั่งเศส
เป็นต้นมาทำสมาธิด้วย
คำภาวนาก็คงเปลี่ยนไปตามชนชาติ)
เรื่องต่อไปที่เป็นเรื่องใหญ่และยากแก่การทำความเข้าใจก็คือ
กระบวนการทำสมาธิทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจัดว่าเป็น
“ทฤษฎี” หรือ “เครื่องมือ”
ในการจัดการชีวิตด้านในของมนุษย์เราหรือไม่
อย่าลืมนะครับว่า
เรากำลังพูดเรื่องเครื่องมือในการจัดการกับชีวิตด้านใน
และเราก็ถามว่า
เรื่องนี้เกี่ยวกับภาษาหรือไม่
เพียงใด
ในวงการพระพุทธศาสนาบ้านเรา
ผมเห็นว่า (เห็นจากประสบการณ์ในการอยู่ในวงการนี้มายาวนานพอสมควรแล้วนะครับ)
เราไม่ค่อยสนใจถามว่า
สิ่งที่เราเรียกว่า
“การปฏิบัติธรรม”
อันหมายถึงการนั่งกำหนดนี่นั่นและภาวนา
เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการจัดการกับใจหรือสมองของคนเรามากน้อยเพียงใด
เท่าที่ผมสังเกต
แนวคิดหลักๆของสำนักที่สอนสมาธิจะคล้ายกันคือเชื่อว่า
เมื่อคนทำสมาธิทำถูกต้องไปได้สักระยะ
จะเกิดประสบการณ์พิเศษทางใจบางอย่างแก่พวกเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในคัมภีร์เช่นวิสุทธิมรรคเรียกว่า
“ญาณ”
ญาณตามความเชื่อของท่านผู้แต่งวิสุทธิมรรคมี
๑๖
ขั้นใครบรรลุขั้นที่
๑๖ ก็เป็นพระอริยบุคคล
คำอธิบายว่าญาณคืออะไรที่เป็นไปตามจารีตประเพณีก็คือ
ญาณเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล
เป็นการรับรู้อย่างหนึ่ง
เมื่อเป็นการรับรู้
ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับภาษา
เหมือนเราได้กลิ่นหอมของกุหลาบ
ทั้งหมดอธิบายได้ว่า
เราอยู่ในสวนกุหลาบ
ลมหอบเอากลิ่นกุหลาบเข้ามาปะทะประสาทจมูก
ประสาทนั้นเป็นทางผ่านของกลิ่นนั้นไปสู่ใจ
(ซึ่งจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะนะครับระหว่างสมองกับจิตที่เป็นนามธรรม)
ปรากฏการณ์ทั้งหมดจะเรียกว่าเป็น
physical phenomenon ก็คงได้
(ต่อให้คิดว่าจิตเป็นนามธรรมก็ตาม
การกระทบกันของโลกกับจิตที่เป็นนามธรรมก็เป็น
physical phenomenon ได้หากพิจารณาที่ตัวโครงสร้างของเหตุการณ์
ไม่พิจารณาว่าเมื่อจิตรับรู้
เกิดอะไรภายในการรับรู้ของจิตนั้น)
เมื่อเป็น physical
phenomenon ก็ไม่เกี่ยวกับภาษาได้
ลมพัดต้นไม้หักมันไม่พูดอะไรก็ได้ใช่ไหมครับ
มันเพียงแต่พัดเฉยๆ
ผมอยากฝากให้ท่านผู้อ่านพิจารณาความเชื่อข้างต้นดู
นี่คือความเชื่อหลักของชาวพุทธในโลก
คือเชื่อว่าผลที่เกิดจากการทำสมาธิเป็นประสบการณ์พิเศษ
เป็นการรับรู้ทางจิตอย่างหนึ่ง
อาจไม่เกี่ยวกับภาษาเลยก็ได้
ผมอยากเทียบความเข้าใจการทำสมาธิแบบนี้ว่า
เหมือนการกินยาแก้ปวดหัว
เราปวดหัว
เรากินยา
ยานั้นถูกออกแบบมาให้ขจัดอาการปวดหัวได้
เมื่อกินยาแล้ว
เราไม่ต้องคิดอะไร
เพราะคิดหรือไม่คิดก็ไม่มีผลต่อการทำงานของยา
ตามความเชื่อนี้
การทำสมาธิที่ถูกต้องเป็นเรื่องทางกายภาพ
เหมือนกินยา
สมาธิที่ถูกต้องนั้นจะนำไปสู่ประสบการณ์ทางจิตที่เรียกว่าญาณเอง
ญาณนั้นเมื่อเกิดในชีวิตใคร
กิเลสของเขาจะถูกทำลาย
กระบวนการหายไปของกิเลสด้วยอำนาจของสมาธิก็เป็นเรื่องกายภาพ
เหมือนกินยาถูก
โรคก็หาย
ผมไม่มีอะไรจะโต้แย้งความเชื่อข้างบน
ฝากท่านผู้อ่านไปคิดกันเองนะครับ
แต่ตามวิสัยของคนที่ทำงานทางปรัชญา
ผมคิดว่าผมแม้จะรับว่าที่เชื่อข้างบนเกี่ยวกับอำนาจและธรรมชาติของการทำสมาธิที่นำไปสู่การรู้แจ้งและการดับทุกข์
เป็นไปได้
แต่มีเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาอีกไม่น้อย
ผมจะชวนท่านผู้อ่านสนทนาเรื่องต่อไปนี้
เพื่อให้ในท้ายที่สุด
เราจะเข้าใจด้วยตนเองว่า
ที่เชื่อว่าทำสมาธิเหมือนกินยานั้น
น่าเชื่อถือเพียงใด
ที่จะพูดต่อไปนี้เพื่อประโยชน์แก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนาในบ้านเราและในโลก
(ต่อไปข้อเขียนของผมนี้อาจแปลเป็นภาษาต่างประเทศ)
ก่อนอื่น
ผมขอเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ส่วนตัวบางอย่าง
ที่จริงๆก็ไม่เชิงว่าส่วนตัวทั้งหมด
เนื่องจากข้อมูลที่ผมจะพูดต่อไปนี้สาธารณชนรับทราบเช่นกัน
มีคนบางคนเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา
เป็นผู้นำสังคมพุทธที่ตนก่อตั้งขึ้น
ชุมชนพุทธของคนเหล่านี้เท่าที่ผมเข้าไปสัมผัส
(อย่างยาวนานและลึกซึ้งพอ—ผมเชื่ออย่างนั้น)
เป็นชุมชนของชาวพุทธที่มีคุณภาพในหลายเรื่อง
เช่นเชื่อว่าพระพุทธศาสนาไม่สอนเรื่องปาฏิหาริย์
แต่สอนเรื่องการเอาชนะปัญหาด้วยวิชาความรู้
ด้วยการศึกษาว่าเรื่องนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร
เมื่อพบแล้วจะแก้สาเหตุนั้นได้อย่างไร
เป็นต้น
ท่านผู้นำชุมชนพุทธแห่งนี้ตามประวัติทั้งที่ท่านเล่าเองและที่ท่านแต่งเป็นหนังสือ
เคยผ่านประสบการณ์ในการบรรลุธรรมมาแล้ว
ท่านเชื่อว่าท่านเป็นอริยบุคคล
ตามที่ผมสังเกต
เมื่อท่านเล่าประสบการณ์ในการบรรลุธรรม
กระบวนการทั้งหมดที่เกิดแก่ท่านเป็นเรื่องทางกายภาพหมด
ท่านเล่าว่าท่านทำสมาธิต่อเนื่องอยู่หลายวัน
ดึกสงัดคืนหนึ่ง
หลังจากทำสมาธิอยู่นาน
ท่านเกิดปวดปัสสาวะ
ท่านเดินออกมาจากกระท่อมเพื่อปัสสาวะ
ขณะที่กำลังยืนปัสสาวะอยู่นั้น
ท่านก็บรรลุธรรม
อาการบรรลุธรรมคือเกิดแสงสว่างอย่างมโหฬารขึ้นในใจท่าน
และสิ่งที่เกิดนั้นท่านเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายของการเปลี่ยนจากคนธรรมดามาเป็นอริยบุคคล
ผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านผู้นี้เล่ามาสามารถเกิดกับท่านได้จริงตามที่เล่า
ผมเคยสนทนากับอาจารย์สอนสมาธิอีกท่านหนึ่งที่เป็นพระภิกษุ
ท่านเล่าว่าบางทีอาการสว่างอย่างขนานใหญ่ก็สามารถเกิดกับท่านได้ขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่กลางถนนเพื่อไปทำธุระ
อาการเช่นนี้มีนักวิชาการทางด้านศาสนศึกษาในโลกศึกษาและเขียนเป็นหนังสือตลอดจนงานวิจัยเอาไว้พอสมควร
คือเป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่เกิดกับคนในหลายศาสนา
ไม่เฉพาะในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ในทางการแพทย์
มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่สนใจศึกษาปรากฏการณ์แบบนี้
โดยโยงไปที่สมองของผู้มีประสบการณ์
เช่นบ้างก็ว่าคนที่ทำสมาธิยาวนานด้วยการข่มใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ภาวะนี้เป็นภาวะที่ไม่เป็นธรรมชาติ
สมองมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ทำงานอย่างนี้
แต่ให้รับรู้โลกในลักษณะต่างๆสลับกัน
การทำแบบนี้กับใจตนเองก็คือการทรมานสมอง
สมองเมื่อทรมานก็เครียด
การเห็นแสงสว่างอย่างใหญ่โตแล้วผู้มีประสบการณ์ตีความว่าพระเจ้ามาปรากฏให้ตนเห็น
(ศาสนาที่นับถือพระเจ้า)
หรือตนกลายสภาพจากคนธรรมดามาเป็นผู้วิเศษเช่นอริยบุคคล
(ศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้า)
นั้นตามทัศนะของนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เป็น
“ภาพลวง” (illusions) ที่สามารถสร้างให้เกิดแก่ใครก็ได้
ด้วยการทรมานสมองของเขา
ผมอ่านงานของนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ด้วยใจที่เป็นกลาง
คือรับว่าที่เขียนมีหลักฐานและเหตุผลสนับสนุน
นักปรัชญาและนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงของโลกคนหนึ่งที่สนใจศึกษาปรากฏการณ์การนับถือศาสนาของคนในโลกคือ
William James (สอนอยู่ที่
Harvard) เขียนเอาไว้ในบทต้นๆของหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่งของเขาคือ
“The Varieties of Religious Experiences” (ฉบับที่ผมมีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์
The Modern Library, 1902) ว่า
การศึกษาปรากฏการณ์การนับถือศาสนาของมนุษย์ต้องกระทำไปพร้อมกับการศึกษาประสาทวิทยา
(neurology) เพราะเป็นไปได้ที่คนที่เคร่งศาสนามากๆ
หรือคนที่เชื่อว่าตนมีประสบการณ์พิเศษในทางศาสนา
(เช่นสนทนากับพระเจ้าได้
สนทนากับเทพได้
บรรลุธรรมเป็นอริยะ
เป็นต้น)
เป็นคนที่สมองทำงานผิดปกติ
(มีข้อความที่มีชื่อเสียงในเล่มนี้คือ
“religious are often neurotic”
ที่แปลว่า
คนที่นับถือศาสนามากๆมักเป็นคนเพี้ยนๆ)
ศาสนาล้วนๆไม่มีเครื่องมือที่จะแยกว่าอะไรคือความต่างระหว่างพระอริยะจริงกับคนจิตบกพร่องที่เชื่อว่าตนเป็นอริยะ
เป็นไปได้ที่คนจิตบกพร่องบางคนมีความประพฤติเรียบร้อย
มีลักษณะภายนอกเป็นคนมีบารมี
และที่เชื่อว่าตนเป็นอริยะนั้นมาจากความสุจริตใจ
ไม่ได้คิดจะหลอกลวงใคร
แต่ปัญหาคือ
เราไม่รู้ว่าจริงๆเขาเป็นอริยะหรือว่าไม่ใช่
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นประสาทวิทยามีประโยชน์เพราะมีประสบการณ์และเครื่องมือในการตรวจสอบว่าคนผู้นั้นปกติหรือว่าผิดปกติในทางจิต
(ซึ่งโยงมาที่สมอง
หรือคือสมองล้วนๆ)
แต่ James ก็เตือนไว้ว่า
ประสบการณ์ทางศาสนาบางแบบ
(ที่น่าจะเป็นแบบที่ถูกต้องตรงตามที่ศาสนาต้องการจริงๆ)
อาจอยู่พ้นความสามารถของวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าใจ
ผมเห็นด้วยกับนักปรัชญาคนนี้ในแง่ที่ว่า
การศึกษาศาสนาควรใช้เครื่องมืออื่นๆเช่นวิทยาศาสตร์การแพทย์
จิตวิทยา
เป็นต้นร่วมด้วย
แต่ก็ต้องรับว่า
เนื้อหาของศาสนาที่ลึกซึ้งจำนวนมาก
เครื่องมือที่วิทยาศาสตร์มีหรือสร้างสมมาไม่พอที่จะช่วยให้เราเข้าใจหรือตัดสิน
ส่วนนั้นต้องศึกษาโดยอาศัยหลักการของศาสนานั่นแหละเป็นเครื่องมือ
หรือหากยังไม่มีเครื่องมือดีๆตรวจสอบ
ก็ควรวางใจเป็นกลางไว้ก่อนว่าที่ศาสนาสอนเช่นนั้นและมีผู้เชื่อว่าเขาบรรลุภาวะเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระไปเสียหมด
มีเหมือนกันครับนักวิทยาศาสตร์บางคนเช่น
Richard Dawkins ที่เห็นสุดโต่งมาก
คือเห็นว่าประสบการณ์ทางศาสนาเป็น
illusions หมด
นั่นก็เกินไป
ผมจะสมมติว่าท่านที่อ้างว่าท่านมีประสบการณ์ในการบรรลุธรรมข้างต้นท่านกล่าวความจริง
คือในคืนที่ท่านบรรลุธรรม
เกิดสภาวะทางจิตตามที่ท่านบรรยายแก่ท่านจริง
และจากประสบการณ์นั้น
ท่านเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าท่านได้กลายมาเป็นอริยะ
โดยที่ยามใดก็ตามเมื่อท่านยืนยันว่าท่านเป็นอริยะ
ท่านพูดเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนาว่าสอนเรื่องที่สามารถเกิดแก่คนเราได้จริง
ท่านไม่ได้พูดเพื่อให้ตัวท่านเด่นดังหรือเพื่อหาอามิสเข้าตนและสำนักของตน
ผมขอสมมติอย่างนี้นะครับ
(ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจเป็นอย่างที่ผมสมมตินี้ก็ได้)
แต่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับ
ท่านผู้นี้ต่อมาเมื่อบรรลุธรรมแล้วท่านก็ตั้งสำนัก
สร้างชุมชนพุทธแบบที่ท่านเชื่อว่าเป็นชุมชนที่ดี
และในขณะเดียวกัน
หากบ้านเมืองมีปัญหา
ท่านและคนในสำนักของท่านก็แสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย
ท่านและสำนักของท่านสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค
ซึ่งทั้งหมดก็ไม่มีปัญหาตามความคิดของผม
ใครก็ทำอย่างนี้ได้
เราไม่ว่ากัน
ในสังคมที่ต้องการความคิดและการเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆในสังคมเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
แต่สิ่งที่ผมพบและศึกษาเก็บไว้ในใจ
ในความคิด
และในเนื้อหาของสิ่งที่ผมตั้งใจว่าจะศึกษาในชีวิตทางวิชาการของผมคือ
ท่านผู้นี้หลายครั้งได้พูดถึงคนหรือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามทางการเมืองกับท่านอย่างที่ผมคิดว่า
หากความคิดเช่นนี้เกิดกับอริยบุคคลในพุทธศาสนาได้จริง
ความเป็นอริยบุคคลที่พุทธศาสนาสร้างได้ก็ดูจะไม่มีประโยชน์อะไรนัก
เพราะที่สุดแล้วเป็นอริยะหรือไม่เป็นก็ยังคิดแบบแบ่งแยกเป็นพวกกูพวกมึงอยู่เช่นเดิม
ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นหัวแถวของสำนักนี้รวมทั้งอาจารย์สามารถที่จะใช้ความรุนแรง
(ที่ถูกกฎหมาย)
แก้ปัญหาทางการเมืองได้
ที่กล่าวมานี้เป็นการพูดถึงข้อเท็จจริงนะครับ
ไม่ใช่การกล่าวร้าย
ในศาสนาอื่นเราก็พบเห็นเรื่องทำนองนี้ได้
อาจมากกว่าในพุทธศาสนาด้วยซ้ำ
สงครามศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำในนามศาสนานั้นบอกเราได้ดีว่า
คนดีที่สังกัดคนละศาสนาฆ่ากันได้
หากเป็นเช่นนั้น
เราก็ควรถามนะครับว่า
ความดีทางศาสนามีประโยชน์อะไรแก่โลก
ผมไม่คิดว่าศาสนาจะสอนหรือปั้นให้เราเป็นอย่างนี้
ผมยังมองศาสนาในแง่บวกอยู่มาก
และผมคิดว่าศาสนาแบบที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพิจารณาต่อไปนี้
น่าจะเป็นศาสนาแบบที่
William James หรือแม้แต่
Richard Dawkins ยอมรับได้
-๖-
เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ง่ายและกระชับ
ผมมีคำถามง่ายๆในเบื้องต้นนี้ว่า
สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนในฐานะที่เป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนาคือทุกข์เป็นอะไร
ระหว่าง concept กับ single entity ที่ผมถามเรื่องนี้เพราะการเป็นอริยะในทัศนะของพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับเรื่องทุกข์
อริยะคือคนที่ดับทุกข์ได้
ผมเลยถามว่า
เราเข้าใจว่าทุกข์เป็นอะไร
ระหว่าง concept กับ
single entity ขออภัยที่ผมใช้คำฝรั่ง
เพราะคิดว่าจะช่วยให้เข้าใจง่าย
สมมติวันหนึ่ง
ขณะขับรถกลับบ้านจากมหาจุฬาอยู่ดีๆ
ผมก็เกิดปวดท้องหน่วงๆ
ตอนแรกพอทนได้
มาถึงบ้านคิดว่านอนพักคงหาย
ก็ไม่หาย
ปวดหนักขึ้น
จนผ่านไปสองสามชั่วโมง
ผมรู้สึกทนไม่ไหว
บอกภรรยาเรียกแท็กซี่พาไปโรงพยาบาลแถวคลองสิบหก
(ผมไปที่นี่ประจำ)
ไปถึง
หมอวินิจฉัย
ปรากฏว่าไส้ติ่งอักเสบ
หมอรับไว้ในโรงพยาบาลเพราะปล่อยกลับไม่ได้
อยู่ที่นั่นราวสองสามชั่วโมงก็ผ่าตัด
อาการปวดท้องหาย
เพราะสาเหตุของการปวดท้องถูกทำลายไปแล้ว
สามสี่วันต่อมาผมก็กลับบ้านได้
ไส้ติ่งนั้นเป็นของเฉพาะชิ้นอย่างหนึ่ง
เหมือนปากกา
ยางลบ นาฬิกา
รถยนต์ เป็นต้น
เราเรียกของแบบนี้ในทางปรัชญาว่า
single entity ที่ผมเล่าเรื่องผ่าไส้ติ่งก็เพื่อแสดงว่า
การแก้ปัญหาเกี่ยวกับ
single entity ไม่ยาก
คำถามผมมีว่า
ทุกข์ที่พระพุทธศาสนาสอนว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์เป็นของเป็นชิ้นเป็นท่อนอย่างเดียวกับไส้ติ่งไหมครับ
ผมเชื่อว่าชาวพุทธส่วนใหญ่
(บางทีอาจเรียนจนจบปริญญาเอก)
ไม่น่าจะเคยถามคำถามนี้
แต่เท่าที่ผมสังเกตจากการสอนวิปัสสนาที่เราสอนกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองและทั่วโลก
ดูเหมือนเราจะเข้าใจว่าทุกข์เป็นเหมือนไส้ติ่งนี่แหละ
สังเกตไหมครับ
การแก้ปัญหาเกี่ยวกับ
single entity ไม่ต้องการภาษามาก
หมอที่ผ่าไส้ติ่งให้ผมตอนผ่าก็ไม่พูดอะไร
ที่ทำๆไปนั้นก็ทำตามที่เคยทำ
ง่ายจะตาย
แม้งานผ่าสมองก็เหมือนกัน
คือเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความลุ่มลึกทางภาษาใดๆมาเกี่ยวข้องช่วยเหลือ
มีประสบการณ์มากก็ผ่าเก่ง
(หมอที่รักษาคนไข้เก่งๆจนเป็นอาจารย์หมอบางทีขึ้นพูดในเวทีประท้วงทางการเมืองฟังไม่ได้เลยก็มี
ทุกท่านน่าจะเคยเห็น)
คำถามมีว่า
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเป็นอะไรระหว่างสองอย่างที่ผมถามนั้น
คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ
ก็ไปอ่านพระไตรปิฎกซิครับ
มีพระสูตรที่สำคัญสองพระสูตรที่ผมขอพูดถึง
เป็นปฐมเทศนาและทุติยเทศนา
คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” และ “อนัตตลักขณสูตร”
ผมจะใช้ข้อมูลในสองพระสูตรนี้ไขปริศนาเรื่องทุกข์เป็นอะไรแน่
แต่ก่อนที่จะไปเรื่องนั้น
ผมต้องอธิบายก่อนว่า
concept คืออะไร
ต่างจาก single entity อย่างไร
ผมขอใช้พระสูตรบางพระสูตร
(ที่ไม่ใช่สองพระสูตรข้างต้น)
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ในพระสูตรนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
มีชายหนุ่มคนหนึ่งและหญิงสาวอีกคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
เติบโตมาด้วยกัน
ในแง่ที่เป็นของเป็นชิ้นเป็นท่อน
ชายหนุ่มคนนี้เป็น
single entity ชิ้นหนึ่งในโลก
ส่วนหญิงสาวนั้นก็เป็น
single entity อีกชิ้นหนึ่ง
ตอนเป็นเด็กก็ไม่มีอะไร
แต่พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาว
ชายหนุ่มเกิดหลงรักหญิงสาว
แต่ไม่กล้าบอกเขา
พระพุทธเจ้าตรัสถามพระภิกษุที่ล้อมวงฟังพระองค์พูดอะไรให้ฟังอยู่เวลานั้นว่า
“สมมติว่าวันหนึ่ง
ชายหนุ่มคนนั้นเห็นหญิงสาวคนนั้นยืนคุยหัวเราะท่าทางมีความสุขและสนิทสนมกับชายหนุ่มอีกคนในหมู่บ้าน
ชายหนุ่มคนแรกนั้นจะรู้สึกอย่างไร” พระตอบว่า “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”
ที่ตอบอย่างนี้พระท่านตอบตามประสบการณ์ของตน
ทุกคนเป็นอย่างนี้หมด
(ผมสมัยหนึ่งที่เคยแอบชอบใครเขาอยู่ก็ทุกข์แบบนี้แหละ)
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อว่า
“ทำไม
ชายหนุ่มนั้นจึงเป็นทุกข์” พระตอบว่า
เพราะเขารักหญิงสาวนั้น
ตรัสถามต่อว่า
“หากชายหนุ่มคนนั้นไม่ได้รู้สึกอะไรกับหญิงสาวนั้นเลย
เขาจะทุกข์ไหม”
พระตอบว่าไม่ทุกข์พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้านั้นในทัศนะผมทรงเป็นนักพูดและนักสอนศีลธรรมแบบที่สอนให้คนเขาฉุกใจคิดเองโดยไม่ยัดเยียดอะไรให้ที่ฉลาดที่สุด
ที่ทรงยกเรื่องชายหนุ่มแอบรักเขาแล้วทุกข์ใจที่เห็นสาวที่ตนรักท่าทางจะรักอยู่กับใครสักคนที่ไม่ใช่ตนมาสาธกก็เพื่อที่จะทรงชี้ให้ผู้ฟังเห็นและเข้าใจอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่านั้น
และที่สำคัญคือสิ่งนี้เป็นธรรมชาติสากลของมนุษยชาติ
หญิงสาวคนนั้นในแง่ที่เป็นของชิ้นในหนึ่งในโลกเป็น
fact พระพุทธเจ้าตรัสว่า
single entity ในสภาพที่เป็น
fact ไม่ใช่ปัญหา
แต่ธรรมชาติของมนุษย์คือ
เมื่อใกล้ชิดอะไรก็มีแนวโน้มที่จะ
“ดึงเอา”
สิ่งนั้นเข้ามาอยู่ในอาณาจักรส่วนตัว
การดึงเอาสิ่งที่เป็น
single entity และเป็น
fact เข้ามาอยู่ในอาณาจักรส่วนตัวนี้คือการทำให้สิ่งนั้นกลายมาเป็น
concept ทันทีที่ชายหนุ่มแปรสภาพของหญิงสาวคนนั้นจาก
“สิ่งที่มีอยู่อย่างหนึ่งในโลก” มาเป็น “คนรักของฉัน”
หญิงสาวคนนั้นสำหรับชายหนุ่มคนนั้นก็หมดสภาพเป็น
single entity แต่ได้กลายมาเป็น
concept ในใจ
ในความรู้สึก
ในชีวิต
ของชายหนุ่มคนนั้นไปโดยสมบูรณ์
ในอนัตตลักขณสูตร
พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์ว่า
คนเรานั้นไม่มีแกนกลางในรูปที่เป็น
“ตัวตน” (self) อย่างที่บางศาสนาของอินเดียสมัยนั้นเชื่อ
(อย่างน้อยก็ศาสนาเชนและศาสนาพราหมณ์)
ชีวิตเราทุกคนมาจากของห้าอย่างที่มารวมกันชั่วคราว
ของห้าอย่างนี้คือรูป
เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณ
ตามสภาพเดิมของมัน
ของห้านี้ต่างก็เป็น
single entity อยู่ของมันดีๆ
แต่เมื่อมารวมกันเข้าเป็นคน
ก็เกิดอำนาจลึกลับอย่างหนึ่งขึ้นในของห้าอย่างนี้
คือจะมีความรู้สึกว่า
“เฮ้ย
นี่กูนี่หว่า” เกิดขึ้น
รู้ได้อย่างไร
ก็ลองไปตบหน้าใครก็ได้ตามท้องถนนดูซิครับ
การตบหน้าของท่านนั้นเป็นเครื่องทดสอบอย่างดีว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นจริงเสียเหลือเกิน
หากท่านไม่โดนถีบสวนมา
เขาก็ต้องเรียกตำรวจ
ตำรวจต้องจับ
ศาลต้องพิพากษาให้ท่านติดคุก
เพราะตำรวจและผู้พิพากษาต่างก็มีสิ่งนี้ในตัวเหมือนกัน
กฎหมายที่ศาลต้องเดินตามคนเขียนก็มีสิ่งนี้ในตัวเหมือนกัน
สรุปคือโลกนี้เป็นที่รวมของขันธ์ห้าที่ต่างก็รู้สึกกรุ่นๆอยู่ข้างในว่า
“นี่กูนะเว้ย
มึงอย่าแหลมเข้ามาก็แล้วกัน”
ภาษาบาลีเรียกความรู้สึกที่กรุ่นๆนี้ว่า
“อหังการ”
ฝรั่งที่แต่งหนังสือทางพุทธศาสนามักแปลคำนี้ว่า
the ego-instinct
ของห้าอย่างที่มารวมเป็นคนและสัตว์
(ตลอดจนพืช—พืชบางอย่างมันทำอะไรได้เหมือนสัตว์นะครับเช่นเราเอามือไปแตะมันแกล้งว่าตายเป็นต้น)
นั้นเมื่อมีความรู้สึกว่านี่คือตัวกู
พอไปเกี่ยวข้องกับอะไรในโลกก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่านี่ของกู
ของกูบางอย่างมีระบบสมมติ
(ที่คนเรานี่แหละพากันสมมติขึ้น
เช่นการซื้อขายที่กฎหมายรับรอง)
หนุนอยู่
ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกว่าของกูหนักแน่นมากขึ้น
ชายหนุ่มในตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงนั้นว่าไปแล้วแค่เพียงแอบรักเขานะครับ
คือแอบแปลง single
entity อันหนึ่งในโลกให้กลายมาเป็น
concept อันได้แก่สิ่งที่ใจหรือความคิดสร้างขึ้น
แล้วบงการให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้นตามที่อยากให้เป็น
โดยมีความรู้สึกว่า
“นี่ของกู”
หล่อเลี้ยงหรือเป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดการ
concept นั้น
เพียงเท่านี้
(คือเท่าที่คิดเออออเอาเองข้างเดียว)
ก็สามารถสร้างทุกข์ได้
หากมีระบบสมมติรับรอง
เช่นแต่งงานจดทะเบียนสมรสกัน
ทุกข์ก็จะยิ่งมากขึ้นกว่านั้น
ชายคนที่หลงรักเขาข้างเดียวนั้นทุกข์อย่างไรก็น่าจะไม่ถึงขั้นเข้าไปชกต่อยชายอีกคน
เพราะนึกได้ว่า
นี่ไม่ใช่ของกูร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ถ้าเป็นเมียตามกฎหมาย
อันนี้อาจถึงขั้นวางมวยหรือชักปืนออกมายิง
เราเห็นเป็นข่าวมานักต่อนัก
ในพระสูตรสองพระสูตรที่ผมเอ่ยนามข้างต้น
(ซึ่งเป็นพระสูตรที่ทรงสอนครั้งแรกและครั้งที่สองหลังจากที่ตรัสรู้
และผลของพระสูตรทั้งสองนี้คือทำให้คนห้าคนที่ฟังกลายเป็นพระอรหันต์หมด)
ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมิได้อยู่ในสภาพที่เป็น
single entity อย่างไส้ติ่งอักเสบนะครับ
ทุกข์เป็น concept ที่มนุษย์สร้างขึ้นให้แก่ตน
(ตามธรรมชาติ)
และในการสร้างทุกข์ให้แก่ตนอย่างเป็นระบบแน่นหนานี้
ทรงพบว่า “ภาษา”
มีส่วนเป็นอย่างมาก
เริ่มแรกตั้งแต่การที่คนเรามีความรู้สึกว่าขันธ์ห้านี่คือ
“ตัวกู”
ความรู้สึกอันนี้เองที่อยู่เบื้องหลังไวยากรณ์ภาษาของมนุษย์ในโลกที่จะมีคำเรียกตัวเองว่า
“ข้าพเจ้า”
มีคำเรียกคนฟังว่า
“ท่าน”
และมีคำเรียกคนอื่นที่อยู่นอกวงสนทนาว่า
“เขา”
หรือ “พวกเขา” ภาษาทุกภาษาในโลกที่เป็นภาษาธรรมชาติจะมีโครงสร้างทางไวยากรณ์นี้เหมือนกัน
ซึ่งตามทัศนะของพระพุทธเจ้าไม่แปลก
เพราะความรู้สึกว่านี่คือฉันเป็นสัญชาตญาณสากลของมวลมนุษย์
สัตว์ พืช
ก็มี
แต่อาจไม่เข้มข้นเท่ามนุษย์
เพราะภาษาของสิ่งเหล่านี้ไม่มีอำนาจรุนแรงเท่าภาษามนุษย์
เมื่อกล่าวเรื่องภาษากับความคิดของคนตามหลักพระพุทธศาสนา
ควรเข้าใจนะครับ
ทุกอย่างในจักรวาลตามพุทธปรัชญาไม่มีอะไรใหญ่กว่าอะไร
ทุกอย่างต่างกำหนดกันและกัน
ภาษาและความคิดของคนเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม
(คือสิ่งที่อิงอาศัยและกำหนดกันและกัน)
ตามทัศนะของพระพุทธเจ้า
ชีวิตมนุษย์ว่างเปล่า
กลวงๆ
ไม่มีแก่นสารที่ยืนโรงอยู่ข้างใน
อย่างที่ศาสนาและปรัชญาบางสำนักของอินเดียสมัยนั้นเชื่อว่ามี
แต่ชีวิตที่ว่างๆ
กลวงๆ
นี้ก็ถูกสร้างมาตามธรรมชาติให้มีความรู้สึกว่าเป็นฉันเกิดขึ้น
สิ่งนี้ทำให้เราสร้างภาษาที่มีไวยากรณ์แบ่งว่านี่ฉัน
นั่นเธอ
โน่นพวกเขา
เป็นต้น
มนุษย์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกฎเกณฑ์ทางภาษาที่ว่านี้มาเนิ่นนาน
(อย่าลืมนะครับ
ภาษาอินเดียที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เกิดและพัฒนามาก่อนหน้าพระองค์ยาวนานมาก
กี่พันกี่หมื่นปีไปหาศึกษาเอาเองนะครับ
ภาษามนุษย์ในระยะแรกๆคงเป็นภาษาเสียง
ภาษาตัวหนังสือคงเกิดทีหลัง
เวลานี้หลายชนชาติมีแต่ภาษาเสียง
ไม่มีภาษาตัวหนังสือ)
พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักคิด
ทรงสังเกตเห็นอำนาจของภาษาที่อยู่เบื้องหลังการแปลง
single entity ในโลกให้กลายมาเป็น
concept ในหัวหรือในใจของคน
พระพุทธเจ้าไม่ได้มองภาษาในแง่ลบหรือบวกนะครับ
แต่ทรงมองตามที่มันเป็น
และทรงสอนให้เราอยู่กับภาษาและใช้ภาษาอย่างที่จะมีทุกข์น้อยที่สุดในชีวิต
ภาษานั้นหากใช้เป็น
ก็มีอำนาจมหาศาลในการนำสิ่งดีๆมาสู่ชีวิตเราและสังคม
ตอนที่มหาตมา
คานธีร่วมประชุมโต๊ะกลมกับพวกอังกฤษเพื่อหาทางว่าเป็นไปได้ไหมและอย่างไรที่อังกฤษจะให้อิสรภาพแก่อินเดีย
คนอังกฤษที่มีอำนาจบางคนพูดกับคานธีว่า “คุณคิดว่าอยู่ๆพวกเราควรเดินออกไปจากอินเดียหรือ
คุณก็เห็นว่าอินเดียมีปัญหามากมายปานใด
หากไม่มีพวกเรา
พวกคุณจะอยู่อย่างไร” คานธีตอบว่า
“แต่พวกท่านก็ต้องไป”
คนนั้นถามว่า
“ทำไม” คานธียิ้มแล้วพูดนิ่มๆว่า
“เพราะอินเดียไม่ใช่ประเทศของพวกท่าน
อินเดียเป็นประเทศของพวกเรา”
คนอังกฤษที่นั่งร่วมโต๊ะสนทนาก็เหมือนคนทั้งหลายในโลกที่ความคิดของพวกเขาย่อมได้รับอิทธิพลจากภาษาที่มนุษย์เราสร้างจาก
the ego-instinct เหมือนกัน
ดังนั้นที่คานธีพูดนั้น
คนอังกฤษก็ย่อมรู้สึกว่าหนักแน่น
ความปรารถนาดีโดยบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของ
ต่อให้จริงก็มีอำนาจเป็นรองความเป็นเจ้าของ
คานธีบอกขอบคุณที่หวังดีกับเรา
แต่สิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกันจัดการระหว่างอังกฤษกับอินเดียคือ
ถามว่า
ประเทศนี้เป็นของใคร
เราต้องเอาเรื่องนี้เป็นหลักก่อน
จัดการเรื่องนี้แล้ว
ค่อยว่าเรื่องอื่น
หากคิดตามที่คานธีพูด
อังกฤษที่เป็นคนอื่นก็ต้องออกจากอินเดียไปก่อน
ให้คนอินเดียที่เป็นเจ้าของประเทศเขาจัดการบ้านเมืองของพวกเขาด้วยตัวเอง
หากมีปัญหาอะไรที่อังกฤษจะช่วยได้
ค่อยช่วยในฐานะเพื่อนบ้าน
ไม่ใช่ในฐานะผู้เข้าไปรุกรานและครอบครองบ้านเมืองของคนอื่น
เห็นไหมครับว่า
ภาษามนุษย์ที่ตั้งอยู่บนรากฐานอันแน่นหนาของ
“อหังการ”
ของมนุษยชาติ
หากใช้เป็นในบางสถานการณ์มีประโยชน์มาก
พระพุทธเจ้าทรงมองภาษาตามที่มันเป็นอย่างนี้
บางครั้ง
(ตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก)
มีคน
(น่าจะเป็นนักปรัชญา)
ไปถามพระพุทธเจ้าว่า
“เวลาที่เรากินอะไรสักอย่างแล้วรู้สึกอร่อย
ใครที่กำลังอร่อยอยู่นั่นน่ะ”
คำถามนี้ชัดมากว่าได้รับอิทธิพลจากไวยากรณ์ภาษา
ประโยคที่มีความหมายในภาษาธรรมชาติจะต้องประกอบด้วยสองส่วนคือประธานประโยคและกริยา
ส่วนกรรมจะมีหรือไม่ก็ดูว่ากริยานั้นต้องการกรรมไหม
เช่น “นายสมภารจาม”
ทุกท่านอ่านแล้วเข้าใจ
คือนึกเห็นภาพว่า
ผมที่เป็นบุคคลผู้รจนาข้อเขียนนี้อยู่
อยู่ๆก็เกิดอาการอะไรสักอย่างแถวจมูก
แล้วก็พ่นลมออกมาอย่างเร็วและแรง
จริงๆพ่นแต่ลมก็พอ
แต่วิสัยมนุษย์เราที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการครอบงำของภาษา
การจามมักจะถูกกำกับด้วยการเปล่งเสียง
เช่น “ฮั้ดเช่ย” เป็นต้น
(ก็เหมือนคนตกใจ
ฝรั่งจะร้องว่า
“My God” ไทยอีสานว่า
“ฮ่วย” จีนว่า “ไอ้หยา” เขมรว่าอะไรผมไม่ทราบครับ
แต่เดาว่าคงมีเสียงเปล่งภาษาอย่างใดอย่างหนึ่ง)
แต่บางประโยค
ต้องการกรรม
เช่น “นายสมภารกินกาแฟ”
พูดว่ากินเฉยๆไม่สุดใจความ
ไม่เหมือนจาม
สังเกตไหมครับว่า
ไม่ว่าจะเป็นประโยคมีกรรมหรือไร้กรรม
ที่สุดก็ต้องมีเจ้าของการกระทำที่เรียกว่าประธานประโยคและกิริยาอาการที่เจ้าของการกระทำนั้นแสดงออก
ที่ในทางไวยากรณ์เราเรียกว่ากริยา
คนที่มาถามพระพุทธเจ้านั้นสงสัยว่า
เวลาเราเห็นนายสมภารกินกาแฟแล้วบรรยายว่า
“นายสมภารกินกาแฟ” เข้าใจ
แต่หากพูดละเอียดกว่านั้น
สมมติว่านายสมภารนั่งกินกาแฟที่เพื่อนชาวอิตาเลียนส่งมาให้
นัยว่าเป็นยี่ห้อเก่าแก่
ผลิตจำกัด
ราคาแพงอย่างบรรลัย
นายสมภารนั่งหลับตา
เคลิ้ม
บอกว่า “โอ
พระพิฆเนศเจ้า
กาแฟนี้ช่างเลิศรสอะไรเสียปานฉะนี้หนอ”
อยากทราบว่า
อะไรหรือใครในตัวนายสมภารที่เป็นเจ้าของกริยา
(ผัสสะ) ที่เรียกว่าการรู้รสความอร่อยนั้น
ลิ้นใช่ไหม
สมองใช่ไหม
หรือว่าวิญญาณ
ของนายสมภาร
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
“ไม่มีใครหรืออะไรในตัวนายสมภารที่เป็นผู้กำลังอร่อยอยู่นั่นดอก”
แล้วทรงแยกแยะกระบวนการทั้งหมดให้ดูว่า
นายสมภารเป็นชื่อสมมติเรียกของห้าอย่างที่มารวมกันเข้าชั่วคราว
รวมตอนไหน
ก็ตอนที่อยู่ในท้องแม่
เมื่อคลอดออกมา
พ่อของนายสมภารเป็นผู้ตั้งชื่อเรียกของห้าอย่างที่กลายมาเป็นเด็กน้อยนี้ว่าสมภาร
คนก็เรียกของห้าอย่างชุดนี้ว่าสมภารมาตลอดจนวันนี้
ดูอย่างไรว่าแกเป็นเพียงของห้าอย่าง
ก็ดูตอนแกตายซิครับ
ไม่นาน
ของห้าอย่างนั้นจะแยกย้ายกันกลับบ้านเก่าของตน
คนตายนอนนิ่งๆ
ไม่กิน
ไม่ดื่ม
ไม่พูด ไม่หัวเราะ
ไม่อะไรทั้งนั้น
สองสามวันก็เหม็นเน่า
เราจึงต้องเผาหรือฝัง
ความต่างระหว่างนายสมภารตอนเป็นกับตอนตายคือ
ตอนเป็นของห้าอย่างที่มารวมกันทำให้แกรู้สึกตัวว่าเป็นแก
ความรู้สึกนี้ก็สะสมมาเรื่อย
จนวันนี้ใครอย่าไปยุ่งกับแกเด็ดขาด
แต่ในความเป็นจริง
ไม่มีอะไรในตัวแกที่เป็นแกหรอก
ตอนที่กินกาแฟ
ก็ของห้าอย่างที่มารวมกันนั่นแหละที่กำลังทำอาการที่เรียกว่ากินกาแฟ
พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์ว่า
มีของภายนอกคือกาแฟ
และของภายในคือขันธ์ห้า
ของสองอย่างนี้กระทบกัน
การกระทบนี้ท่านเรียกว่าผัสสะ
ผัสสะนั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการรู้รส
เวลารู้รสธรรมชาติจะสร้างให้ขันธ์ห้าชุดนั้นรู้สึกว่านี่คือรสของสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของข้าพเจ้า
ความรู้สึกว่า
“ข้าพเจ้า”
กำลังกินกาแฟและรสกาแฟที่ปรากฏในการรับรู้ของ
“ข้าพเจ้า” ช่างแสนวิเศษอะไรปานนี้เป็น
“มายาภาพ”
คือไม่มีตัว “ข้าพเจ้า” ที่ว่านั้นจริง
หาสิ่งนี้ในคน
ในสัตว์ ในพืช
ไม่มีดอก
หาให้ตายก็ไม่พบ
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้เอาไว้ในพระสูตรมากมายหลายแห่ง
ไปหาอ่านดูเอาเองเถอะครับ
ในโลกปรัชญาตะวันตกนั้น
นักปรัชญากรีกอย่างเพลโตเชื่อว่าในตัวนายสมภารมีแก่นแท้ความเป็นแกอยู่
เรียกว่า
วิญญาณ ของนายสมภาร
คนที่อร่อยรสกาแฟก็คือวิญญาณนี่แหละ
ต่อมานักปรัชญาสมัยใหม่คือ
Rene Descartes ก็มายืนยันเรื่องที่ว่าในตัวนายสมภารมีวิญญาณ
วิธีที่ Descartes ใช้เห็นชัดว่ามาจากอิทธิพลของไวยากรณ์ภาษา
ท่านผู้นี้บอกว่า
เวลาเดิน
ต้องมีคนเดิน
เวลาคิดก็ต้องมีคนคิด
สิ่งที่ผลิตความคิดในตัวนายสมภารนั่นแหละคือตัวตนแท้ๆของนายสมภาร
เราไม่เห็นสิ่งนี้ไม่เป็นไร
แต่นายสมภารย่อมสังเกตเห็นกิริยาอันได้แก่การคิดของตนได้
เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
Descartes เขียนว่า
When we think, there must be something in our life that thinks. It is
the thinking entity. I think, therefore I am. พระพุทธเจ้าไม่ทรงคิดอย่างนี้
แต่ทรงเห็นอีกอย่าง
หากเขียนเป็นภาษาฝรั่งก็คงเขียนได้ว่า
When we think, what we can observe is just there is a thinking occurring
inside our life. Behind the thinking, there is a thinker or not—we do not
know. But one thing that we can say is that there is a
thinking, and we can observe further that such a thinking is caused by
what.
อย่างที่ผมเรียนท่านผู้อ่านแต่แรกว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยมองภาษาในทางลบ
ทรงมองภาษาตามที่มันเป็น
การคิดว่า
เมื่อมีกิริยาคือการคิด
มันต้องมีอะไรสักอย่างในตัวเราที่เป็นเจ้าของกิริยานั้น
(Descartes) มีเหตุผลตามไวยากรณ์ภาษาที่เราใช้ทั่วโลก
การคิดเพียงเท่านี้ไม่เป็นปัญหาในตัวเอง
คือคนที่เชื่ออย่างนี้ต่อไปอาจเป็นคนดีหรือชั่วก็ได้
แต่ที่ดีหรือชั่วก็เป็นเรื่องถัดจากนี้ไป
ไม่เกี่ยวกับความเชื่อว่าเมื่อคิดก็ต้องมีผู้คิด
เช่นเดียวกัน
คนที่ไม่เชื่ออย่างนี้ต่อไปก็อาจดีหรือเลวก็ได้
ซึ่งก็เหมือนกันอีกแหละครับว่าที่ดีหรือเลวนั้นก็เป็นเรื่องถัดมา
ไม่เกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานว่ามีผู้คิดไหม
แต่ในบางสถานการณ์
พระพุทธเจ้าจะทรงวิเคราะห์ให้เห็นว่า
ความทุกข์ในชีวิตมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับการที่เขาแปรสิ่งต่างๆในโลก
(ที่ผมเรียกว่า
single entity ซึ่งจะเรียกแบบที่
Quine เรียกว่า
things ก็ได้ครับ)
ให้มาเป็น concept ในใจของเขา
โดยมีภาษาเกี่ยวข้องอย่างหนาแน่น
ภาษานั้นทำให้เรารู้สึกว่ามีตัวเรา
ของเรา
ทุกข์ของมนุษย์อยู่ตรงนี้เองครับ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรสองพระสูตรที่ผมกล่าวถึงข้างต้นว่า
เกิด แก่ เจ็บ
ตาย เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดแก่ขันธ์ห้าทุกชุด
พระองค์เองก็แก่
เจ็บ และตาย
เหมือนมนุษย์คนอื่นๆในโลกที่เกิดมาแล้วเหมือนกัน
(หมายความว่าลงว่าใครได้เกิดมาแล้ว
ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ
และต้องตายเสมอกัน
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็หนีไม่พ้น)
แรกที่ออกบวชผมเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะคงเข้าใจว่าสิ่งที่ตนจะต้องเอาชนะคือ
ความแก่
ความเจ็บ
และความตาย
แต่ต่อมาท่านก็เรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆว่าไม่มีทางที่ใครจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้
การที่ธรรมชาติสร้างคน
สัตว์ พืช
ตลอดจนสิ่งอื่นๆให้ไม่เป็นอมตะมีเหตุผลที่สุดแล้ว
จักรวาลจะไม่สามารถเคลื่อนไหวไหลเลื่อนไปได้หากมีอะไรสักอย่างฝืนความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง
แล้วก็ทรงพบต่อไปว่า
ความยึดมั่นว่า
“ฉันแก่
ฉันเจ็บ
ฉันตาย”
นั่นต่างหากคือปัญหา
และปัญหานี้ก็มาจากการที่มนุษย์แปรชีวิตตนที่เป็น
single entity ตามธรรมชาติที่ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น
เช่นต้องแก่
ต้องเจ็บ
ต้องตาย
ให้เป็น concept ในใจ
ในหัว
แล้วใส่เนื้อหาที่ไม่สมจริงลงใน
concept ต่างๆที่ตนสร้างขึ้นเช่น
“ฉันไม่ควรแก่
ฉันไม่ควรเจ็บป่วย
ฉันไม่ควรตาย”
ปัญหาที่ทรงชี้ให้เราเข้าใจคือ
ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่าคน
single entity ทุกอย่างมีลักษณะที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติไว้แล้วที่ท่านรวมเรียกว่าไตรลักษณะ
คือไม่เที่ยง
บีบคั้น
และไม่ใช่ตัวตน
concept ที่มนุษย์สร้างขึ้นบนพื้นฐานของความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน
ของฉัน พยายามที่จะไม่รับความจริงสากลของสรรพสิ่งตามธรรมชาตินี้
แต่เรามีอำนาจอะไรที่จะไม่รับ
ที่สุดเราก็ต้องแก่
ต้องเจ็บ
ต้องตาย
อยู่ดี เมื่อปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตาย
แต่อยู่ที่ทำใจรับไม่ได้
วิธีการแก้ก็อยู่ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ใจรับได้
ที่ผมเขียนมาตลอดว่า
มนุษย์พยายามแปร
single entity ให้เป็น
concept นั้น
ผมคิดว่าตอนนี้ผมคงใช้คำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้จริงได้แล้ว
ในสองพระสูตรนั้น
ตรัสว่า
ขันธ์ห้าที่เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บและต้องตายไม่ใช่ปัญหา
แต่ปัญหาอยู่ที่ขันธ์ห้าที่บุคคลยึดมั่นว่าเป็นตัวฉัน
ของฉันต่างหาก
สรุปว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคืออุปาทานขันธ์
คำนี้แหละครับ
(อุปาทานขันธ์)
คือสิ่งที่ผมเรียกว่า
concept
-๗-
เท่าที่ผมเขียนมาค่อนข้างยืดยาวนี้
ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า
ความคิดของมนุษย์เกี่ยวพันกับภาษาในแง่ที่ต่างก็เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมของกันและกันอย่างไร
ทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนในฐานะแกนกลางของเนื้อหาของพุทธธรรม
(ดังที่ตรัสเสมอว่า
เราสอนสองเรื่องเท่านั้นแหละ
(๑) ทุกข์ (๒)
จะดับทุกข์ได้อย่างไร)
เกี่ยวข้องกับระบบภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นแน่นอน
แรงจูงใจหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการเขียนข้อเขียนนี้ของผมคือ
ผมคิดว่าวงการพระพุทธศาสนาในโลกโดยเฉพาะวงการที่เน้นการทำสมาธิภาวนา
อาจไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งว่าทุกข์ที่พระพุทธศาสนาสอนนั้นคืออะไร
เราจึงมีสำนักทำสมาธิแบบไม่สอนให้คิดไตร่ตรองอะไร
แต่สอนให้ทำภาวนาที่เร้นลับ
ด้วยความเชื่อว่า
เมื่อทำถูกส่วนเหมาะเหม็งแล้ว
จะเกิดอาการสว่างวาบอย่างใหญ่หลวง
แล้วทุกข์ที่สะสมอยู่ในชีวิตของบุคคลผู้นั้นก็จะมลายหายไปสิ้น
ผมไม่ทราบดอกครับว่าจินตนาการนั้นเป็นจริงได้ไหม
อาจเป็นจริงก็ได้
ใครจะรู้ แต่ผมก็เห็นเจ้าสำนักไม่น้อยที่อ้างว่าผ่านการสว่างวาบแบบนี้มาแล้วทุ่มเถียงทะเลาะกัน
ตั้งตนเป็นศัตรูของกัน
เจ้าสำนักทำสมาธิใหญ่สำนักหนึ่งที่ผมรู้จักเวลาพูดถึงศาสนาอื่นเช่นศาสนาคริสต์และอิสลาม
พูดถึงอย่างเหยียดหยาม
ไม่ให้เกียรติ
และกล่าวหาว่าบางศาสนาในบ้านเราคิดโค่นล้มพุทธศาสนา
ผมให้เกียรติท่านที่คิดอย่างนั้น
และเห็นว่าท่านมีข้อมูลในใจเพียงใด
ท่านก็พูดเพียงนั้น
อดีตกรรมการมหาเถรสมาคมบางท่านก็พูดถึงศาสนาอื่นอย่างนี้
ผมไม่ได้บอกว่าที่ท่านพูดเป็นเท็จนะครับ
ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องเหล่านี้จริงหรือเท็จเพราะผมไม่มีหลักฐาน
ไม่ได้ศึกษา
ดังนั้นที่ท่านพูดถึงศาสนาอื่นอาจจริงก็ได้
ไม่จริงก็ได้
แต่ประเด็นผมไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้
หากแต่อยู่ที่ว่า
หากการทำสมาธิเพื่อดับทุกข์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
แล้วคนทำอ้างว่าตนเคยสว่างอย่างใหญ่โตมาแล้วจากระบบนั้น
แต่ความสว่างทางใจเหล่านั้นกลับไม่ช่วยให้คุณภาพทางความคิดของท่านละเมียดละไมขึ้นกว่าชาวบ้านทั่วไป
ก็น่าถามนะครับว่า
นี่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไหม
(ผมหมายถึงว่า
การทำสมาธิเพื่อดับทุกข์แบบนี้ตรงตามพระพุทธประสงค์จริงหรือ)
สิ่งที่ผมอยากชักชวนให้มีให้เกิดในหมู่ชาวพุทธ
(อาจจะเริ่มจากวงแคบๆในบ้านเรา
ระหว่างมิตรสหายที่รู้จักกับผมก่อน)
คือ เราลองคิดใหม่ได้ไหมครับว่า
การจะจัดการกับอะไรย่อมต้องการเครื่องมือหมด
ยิ่งจัดการกับเรื่องใหญ่มากๆคือทุกข์ในชีวิต
ยิ่งต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
ปรัชญาตะวันตกนั้นว่าก็ว่าเถอะครับถึงใครจะไม่ชอบและบางทีก็เหยียดหยามว่าต่ำกว่าพุทธธรรม
แต่นักคิดฝรั่งเหล่านี้ที่ผมศึกษามา
พวกเขาให้ความสำคัญกับเครื่องมือ
ชาติฝรั่งเจริญกว่าเราเพราะเขาสอนคนของเขาให้ถามว่า
เรื่องนี้จะใช้เครื่องมืออะไรจัดการ
และเครื่องมือนั้นดีพอไหม
การเกณฑ์คนไปนั่งหลับตาภาวนาด้วยความเชื่อว่านี่คือทางแก้ทุกข์
ผมไม่ทราบนะครับว่าแก้ได้จริงไหม
แต่เราถามได้ว่าที่ให้ทำอย่างนั้นเพราะอะไร
ผมไม่ต้องการล้มล้างอะไร
แต่ผมต้องการคำอธิบายเพื่อประเมินเครื่องมือ
หากท่านให้ผมไม่ได้
ผมก็มีสิทธิที่จะขอไม่สนใจสิ่งที่ท่านชวน
ผมอยากให้ชาวพุทธเราเป็นคนมีอุปนิสัยรู้จักถาม
รู้จักสงสัย
อย่างนั้น
พระศาสดาของเราท่านก็เป็นคนอย่างนั้น
ไม่เช่นนั้นท่านก็คงอยู่กับครูอาจารย์ที่สอนท่านทำสมาธิ
แล้วชักชวนให้ท่านอยู่ในสำนักเพื่อเป็นครูแทน
ใช่ไหมครับ
ระบบที่สอนให้เราหลับตาภาวนาอย่างเดียว
โดยไม่คิด
แถมยังเสียดสีการสอนคนให้คิดว่าเป็น
“วิปัสสนึก” ไม่ใช่ “วิปัสสนา”
ทำให้ลูกศิษย์ที่อยู่ในระบบนี้เป็นคนไม่สามารถใช้ภาษาได้ละเอียดลึกซึ้ง
สังเกตไหมครับ
ชาติฝรั่งนั้นเขาถือว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการกล่อมเกลาคน
อยากได้คนประณีต
ก็จงสอนให้เขาใช้ภาษาประณีต
ผมเห็นฝรั่งที่อาสามาช่วยพาเด็กที่ติดถ้ำในบ้านเราพูด
คนพวกนี้พูดมีหลักการ
มีเหตุผล
ผมอยากให้คนในชาติเราเป็นคนอย่างนั้น
และผมเชื่อว่า
สิ่งนี้เกิดได้ด้วยการสอนให้คนในชาติเรารู้จักคิดและใช้ภาษาให้ละเอียด
ความหยาบกระด้างหรือละเอียดอ่อนของใจนั้นดูได้จากภาษาครับ
นายกรัฐมนตรีที่ใช้ภาษาดี
ลึกซึ้ง ค่อยๆคิดแล้วจึงพูด
เวลาพูดก็ระวังที่จะไม่ยืนยันสิ่งที่ยืนยันไม่ได้
อ่อนน้อม
ถ่อมตน
ย่อมเป็นที่ต้องการมากกว่านายกที่พูดไม่เป็นสับปะรด
กระโชกโฮกฮาก
ชี้หน้าคนโน้นคนนี้
และที่พูดออกมาแต่ละอย่างไม่ได้แสดงเลยว่าคนคนนี้เคยคิดอะไรที่ลึกซึ้ง
นี่เกี่ยวกับภาษาแท้ๆเลยใช่ไหมครับ
ผมตั้งเรื่องข้อเขียนนี้ว่า
คุกแห่งภาษา
เพื่อชวนให้คิดว่าเราอยู่เหนืออิทธิพลของภาษาได้ไหม
เท่าที่เขียนมา
ผมคิดว่าไม่
ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์ที่ต้องการเครื่องมือสำหรับฝึกคิดให้ประณีตคือภาษา
การรู้จักและใช้ภาษาเป็นจึงเป็นลักษณะที่ดีและสำคัญของคน
เราควรขอบคุณธรรมชาติ
(หรือพระเจ้าก็ได้
ถ้าเชื่อ)
ที่สร้างเรามาให้เป็นสัตว์ภาษา
(language animal) ที่ว่านี้
ที่ผมทำมาตั้งแต่ต้นข้อเขียนนี้จนถึงตรงนี้
ผมก็ใช้ภาษานี่แหละครับ
เพื่อชักชวนให้ท่านผู้อ่านคิดตามที่ผมคิด
ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่
ตามสบายครับ
ขอให้ท่านใช้ภาษาของท่านเองไตร่ตรองสิ่งที่ผมเขียนมานี้เท่านั้นก็ดีถมไปแล้ว
ผมอยากจบข้อเขียนนี้อย่างนี้ครับ
ผมมองว่าภาษานั้นเป็นเหมือนอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็น
ธรรมชาติติดตั้งภาษาไว้บนไหล่ทั้งสองของเรา
สิ่งที่ติดตั้งไว้นี้แปรรูปได้ตามสถานการณ์
หากอยู่บนยอดเขา
ยากที่จะเดินลงไปตามทางที่ลาดชันและรกชัฏ
สิ่งที่ติดอยู่บนบ่าเรานั้นเราปั้นให้กลายเป็นปีกแล้วบินไปก็ได้
หากอยู่ในน้ำ
ก็ปั้นให้กลายเป็นครีบแล้วว่ายน้ำไปก็ได้
ที่ติดให้นั้นแกะไม่ออก
ต้องตรึงติดกับชีวิตเราไปจนตาย
ในแง่นี้ภาษาก็เหมือนคุก
แต่เราสามารถแปลงภาษาเพื่อช่วยให้เราเป็นอิสระจากข้อจำกัดต่างๆ
ภาษานั้นก็เหมือนปีกของนกที่ทำให้นกเป็นอิสระที่จะบินไปไหนต่อไหนก็ได้ตามใจจินตนา
ในแง่นี้
ภาษาก็เป็นอุปกรณ์แห่งเสรีภาพได้
ขอให้เรามาเรียนรู้ชีวิตและศาสนาโดยอาศัยประโยชน์จากภาษากันเถิดนะครับ
๗
กรกฎาคม ๒๕๖๑