ข้อเสนอเพื่อให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งมิตรภาพ
จากมุมมองของชาวพุทธคนหนึ่ง
สมภาร พรมทา
(1) ความเกลียดและกลัวศาสนาอิสลาม
ในปัจจุบัน
มีปรากฏการณ์ทางศาสนาที่สําคัญอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นในโลก ชาวตะวันตกเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าความเกลียดและกลัวศาสนาอิสลาม
เมื่อเราไปศึกษาที่มาของความรู้สึกนี้ในหนังสือที่แต่งโดยนักการศาสนาตะวันตก
จะพบว่า สาเหตุที่ทําให้คนตะวันตกเกลียดและกลัว (หากกล่าวให้หนัก) หรือไม่ไว้ใจ
(หากกล่าวให้อ่อนลงมา) ศาสนาอิสลาม มาจากการที่คนที่นับถือศาสนาอิสลามได้กระทําการบางอย่างที่ทําให้ผู้คนเข้าใจว่า
ศาสนาอิสลามสนับสนุนความรุนแรง
ข่าวการก่อการร้ายที่เชื่อว่ากระทําโดยกองกําลังมุสลิมมีปรากฏให้เห็นทางสื่อมวลชนอยู่เสมอ
ผู้เขียนบทความนี้ไม่ได้ยืนยันว่า การก่อการร้ายนี้มาจากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถพูดได้คือ
ตามที่สื่อตะวันตกรายงาน
กองกําลังมุสลิมอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมในหลายประเทศ
สิ่งที่ปรากฏในสื่อมวลชนเหล่านี้เองคือสาเหตุที่ทําให้คนในโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก มีความรู้สึกไม่ไว้ใจผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
และไม่น้อยถึงขั้นเกลียดและกลัวศาสนาอิสลาม
ไม่ว่าเบื้องหลังปรากการณ์ที่เรากล่าวถึงข้างต้นจะเป็นอย่างไร
(คืออาจเป็นไปได้ว่าการก่อการร้ายตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนเป็นฝีมือของกองกําลังมุสลิม
หรือเรื่องนี้เป็นการจัดฉาก โดยหวังให้ชาวมุสลิมตกเป็นแพะรับบาป)
สิ่งที่เป็นผลตามมาที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในโลกก็คือ
ผู้คนจํานวนไม่น้อยรู้สึกรังเกียจศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งดี
ทั้งแก่ศาสนาอิสลามและผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเอง และแก่ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม
สมมติว่าผู้เขียนนับถือศาสนาอิสลาม
และผู้เขียนเวลาไปไหนมาไหนในโลก ก็พบว่าตนเองเป็นเป้าสายตาของคนโดยทั่วไป
สายตาที่มองมาที่ผู้เขียนนั้นเป็นสายตาที่หวาดระแวง หรือบางครั้งสิ่งที่ผู้เขียนพบอย่างไม่คาดคิดก็คือ
มีคนจํานวนไม่น้อยแสดงความรังเกียจผู้เขียน ปรากฏการณ์ตามที่กล่าวมานี้ย่อมบั่นทอนจิตใจของผู้เขียนเป็นอย่างมาก
ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถมีความสุขในโลกนี้ได้
หากรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นที่รังเกียจชิงชังโดยคนจํานวนมากในโลก ในแง่นี้
งานเขียนที่ผู้เขียนจะเสนอนี้ก็เป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ผู้เขียนก็คงเหมือนท่านผู้อ่านบางท่าน
คือมีมิตรสหายที่เป็นคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ
ผู้เขียนมีเพื่อนจํานวนหนึ่งที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ ในแง่นี้
การทํางานชิ้นนี้แรงจูงใจส่วนหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้เขียนก็คือ
เขียนอะไรบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่มิตรสหาย โดยทั่วไป เพื่อนมุสลิมของผู้
เขียนมักเป็นคนใจกว้าง อ่านหนังสือทางศาสนาและปรัชญาพอสมควร ความคิดอ่านจึงกว้าง
คนเหล่านี้มั่นใจในคําสอนของศาสนาอิสลาม แต่ก็ไม่คิดว่าศาสนาอื่นไม่มีความหมาย
การมีมิตรสหายที่เป็นมุสลิม (ที่น่ารัก) ตามที่กล่าวมานี้
ผู้เขียนถือว่าเป็นคนละเรื่องกับการที่เราจะสังเกตเห็นแนวโนมหลักบางประการที่น่าเป็นห่วงในศาสนาของเพื่อน
แล้วหาทางช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหาตามที่เห็นนั้น ทั้งนี้ไม่ควรเข้าใจว่า เวลาที่ผู้เขียนเสนอ
ความคิดเพื่อช่วยให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งมิตรภาพตามที่ใช้เป็นชื่อหัวเรื่องของข้อเขียนนี้
ผู้เขียนกําลังเสนอว่า
แนวคิดทางพุทธศาสนาที่ผู้เขียนใช้เป็นกรอบหลักในการนําเสนอความคิดดีกว่าแนวคิดในศาสนาอื่นๆ
ผู้เขียนเข้าใจความแตกต่างระหว่างศาสนาในโลกว่าเป็นเหมือนความแตกต่างอื่นๆที่เราพบเห็นในโลกธรรมชาติ
เช่นความแตกต่างระหว่างดอกไม้ในสวน การที่พืชพันธุ์ต่างๆ
เกิดมาแตกต่างกันนั้นมีคําอธิบายว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ
การเกิดขึ้นของศาสนาในทัศนะของผู้เขียนก็เป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติ
ในแง่ที่ว่า (1) มนุษย์เป็นประดิษฐกรรมทางธรรมชาติ (2) ธรรมชาติของมนุษย์คือต้นตอหรือที่มาของศาสนา หมายความว่า
การเกิดขึ้นของศาสนาทุกศาสนาในโลกมาจากข้อเรียกร้องบางประการภายในชีวิตของมนุษย์
อันเป็นข้อเรียกร้องตามธรรมชาติ อาริสโตเติลกล่าวว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์การเมือง
(Aristotle, Politics, Book 1, chapter 2) นี่ก็แปลความได้ว่าตามทัศนะของนักปรัชญาท่านนี้
หนึ่งในธรรมชาติข้างในของมนุษย์เราก็คือ เราไม่สามารถอยู่โดยปราศจากการเมืองได้
ในทํานองเดียวกัน เราอาจเข้าใจได้เช่นกันว่า มนุษย์เป็นสัตว์ศาสนา ในความหมายว่า
มนุษย์จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้เลย หากปราศจากศาสนา
เมื่อศาสนาเป็นสิ่งที่เกิดตามข้อเรียกร้องทางธรรมชาติภายในตัวมนุษย์เอง
สิ่งที่เราจะพอเข้าใจได้ก็คือ
การเกิดขึ้นของศาสนายอมเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสภาพแวดล้อมของมนุษย์ในแต่ละท้องที่
ข้อนี้อาจเปรียบได้กับการที่เราเชื่อว่าสัตว์ทุกชนิดมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นธรรมชาติภายใน
ธรรมชาติที่ว่านี้น่าจะเหมือนกันในสัตว์ทุกชนิด แต่เวลาที่สรรพสัตว์จะสร้างที่อยู่อาศัยของตน
สภาพแวดล้อมที่ต่างกันย่อมทําให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายผิดแผกแตกต่างกัน เรื่องศาสนาก็เช่นเดียวกันนี้
เนื่องจากเราจะพิจารณาประเด็นที่ศาสนาต่างกันเพราะเป็นประดิษฐกรรมที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันข้างหน้าในรายละเอียด
ผู้เขียนขอกล่าวเพียงว่า สําหรับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม
สิ่งแรกเลยที่เราพึงตระหนักอยู่เสมอก็คือศาสนานี้เกิดในท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งที่ศาสนากับการเมืองไม่ได้แยกจากกัน
ศาสนาคริสต์โดยพระเยซูเป็นศาสนาที่แสวงหาความรอดพ้นเพื่อมนุษยชาติอย่างที่ไม่มีการเมืองเจือปน
การแสวงหาสัจธรรมของพระพุทธเจ้าที่ที่สุดก็นําไปสู่การเกิดของพุทธศาสนายิ่งชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการที่ปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งพยายามแสวงหาสภาพที่ไปพ้นจากทุกข์อันได้แก่ความเกิด
ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เมื่อพบสิ่งนั้นแล้วก็ทรงเอามาบอกเล่าแก่ผู้อื่น
ศาสนาคริสต์และพุทธศาสนามีลักษณะป็นศาสนาของปัจเจกบุคคล
เมื่อพระศาสดาในศาสนาทั้งสองสิ้นไปแล้ว ความเป็นสถาบันของสองศาสนานี้จึงถือกําเนิดขึ้น
ในสองศาสนานี้ พุทธศาสนาพัฒนาไปเป็นสถาบันน้อยกว่าศาสนาคริสต์มาก
แต่ความเป็นสถาบันของศาสนาคริสต์ก็อ่อนกว่าศาสนาอิสลาม
ที่เป็นเช่นนั้นผู้เขียนตีความว่า
เพราะศาสนาคริสต์ในสมัยพระศาสดาเป็นศาสนาที่เป็นการแสวงหาทางรอดพ้นจากความทุกข์ในโลกนี้และพบชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขอย่างเป็นนิรันดร์ในโลกหน้า
สําหรับบุคคลแต่ละคน
การพัฒนาจากความเป็นศาสนาของปัจเจกบุคคลมาเป็นศาสนาอย่างสถาบันในศาสนาคริสต์จึงเข้มข้นน้อยกว่าศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่เป็นสถาบัน หรือเชิงสังคม มาตั้งแต่แรก หมายความว่า
นอกจากจะเป็น คําแนะนําในทางจิตวิญญาณว่าปัจเจกบุคคลควรใช้ชีวิตอย่างไร
ชีวิตเขาจึงจะมีค่า
ศาสนาอิสลามยังสร้างกฎระเบียบเพื่อให้คนทุกคนในสังคมได้ปฏิบัติเหมือนกันๆ
เช่นการคลุมผมของสตรี การสวดมนต์ (ละหมาด) จำนวนภรรยาที่ชายมุสลิมจะพึงมีได้
การห้ามบริโภคบางสิ่ง เป็นต้น เมื่อศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเชิงสังคมมาตั้งแต่แรก
การที่ศาสนานี้จะพัฒนามาเป็นศาสนาอย่างสถาบันมากยิ่งขึ้นในยุคถัดมาก็เป็นเรื่องที่เราสามารถเข้าใจได้
ความแตกต่างที่สําคัญระหว่างศาสนาอิสลามกับพุทธศาสนา
(ขอพูดเฉพาะพุทธศาสนา เพราะบทความนี้ต้องการใช้พุทธศาสนาเป็นกรอบทางความคิดเพื่อแลกเปลี่ยนกับศาสนาอิสลาม)
คือสังคมพุทธแยกวัดกับบ้านออกเป็นคนละส่วน
และจริยธรรมสําหรับสองดินแดนนี้ก็แตกต่างกันมาก
เงินทองเป็นของต้องห้ามสําหรับผู้ปฏิบัติธรรมในวัด (พระภิกษุ สามเณร สามเณรี
และภิกษุณี) แต่สิ่งเดียวกันนี้ไม่เป็นของต้องห้ามสําหรับผู้ปฏิบัติธรรมในบ้าน
ศาสนาอิสลามไม่แยกวัดกับบ้านออกจากกัน ระบบจริยธรรมในศาสนาอิสลามมีระบบเดียว
หากเปรียบเทียบเพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจง่ายก็คือ
สังคมมุสลิมเปรียบเสมือนวัดในพุทธศาสนา
สิ่งต้องห้ามในนามศาสนาอิสลามเป็นสิ่งต้องห้ามสําหรับทุกคน ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมรักร่วมเพศถือเป็นสิ่งต้องห้าม
ในศาสนาพุทธ สิ่งนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในวัดเท่านั้น นอกวัด
พุทธศาสนาถือว่าการที่ชายจะรักชาย หรือหญิงจะรักหญิง เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา
ศาสนาพุทธไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเพราะถือว่าจริยธรรมแบบบ้านจะเน้นเฉพาะการกระทําที่ทําให้คนอื่นเดือดร้อนเท่านั้น
ผิดกับจริยธรรมในวัดที่ถือว่า
ไม่เพียงแต่การกระทําที่ทําให้คนอื่นเดือดร้อนเท่านั้น การกระทําที่ทําให้ตนเดือดร้อน
(ในทางศีลธรรม)
ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมในวัดจะพึงระมัดระวังไม่ให้เกิดด้วยเช่นกัน สรุปคือ
จริยธรรมสําหรับชาววัดในทัศนะของพุทธศาสนาถือเคร่งกว่าจริยธรรมสำหรับชาวบ้าน
การที่ระบบจริยธรรมในศาสนาอิสลามเป็นระบบเดียวทําให้ชาวมุสลิมรู้สึกว่า
การปฏิบัติตามสิ่งที่ศาสนาสอนเป็นหน้าที่ที่ชาวมุสลิมจะต้องกระทําให้สมบูรณ์
จะถือหย่อนกว่าที่ปรากฏในคําสอนไม่ได้ นอกจากนั้น
เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาในเชิงสังคม
คําสอนของศาสนาจึงเป็นรากฐานของกฎหมายในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม
ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา
คําสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีบทบาทในการกําหนดเนื้อหาของกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น
การดื่มสุราผิดหลักคําสอนเรื่องศีลห้า (ศีลข้อห้าห้ามดื่มสุราและเสพสิ่งเสพติด)
แต่ประเทศที่นับถือพุทธศาสนากลับอนุญาตให้จําหน่ายสุราได้
ปรากฏการณ์เช่นนี้จะไม่ปรากฏในประเทศมุสลิม
เพราะระบบจริยธรรมในศาสนาอิสลาม ทําให้สังคมมุสลิมเป็นเสมือนวัด
อย่างที่เราได้กล่าวมาแล้ว การผ่อนปรนหลักปฏิบัติในวัดทําไม่ได้ ฉันใด
การผ่อนปรนไม่ทําตามคําสอนของศาสนาอิสลามก็กระทําไม่ได้ ฉันนั้น เป็นธรรมดาว่าทุกศาสนาย่อมมีจารีตทางศาสนาของตนเอง
ศาสนาอิสลามก็เช่นเดียวกัน จะอย่างไรก็ตาม
แม้ว่าทุกศาสนาจะมีจารีตในทางศาสนาเป็นของตนเองแต่ความเข้มข้นในการปฏิบัติตามจารีตทางศาสนาในแต่ละศาสนาก็ไม่เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น
แม้จะมีคําสอนในคัมภีร์พุทธศาสนากล่าวไว้ว่าชาวพุทธไม่พึงแสวงหาบุญนอกพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธโดยส่วนใหญ่ก็อนุโลมที่จะร่วมงานบุญกับศาสนาอื่น
ทั้งนี้เพราะจารีตในพุทธศาสนาได้รับการตีความว่าสามารถยืดหยุ่นได้
แต่จารีตในศาสนาอิสลามโดยทั่วไปได้รับการตีความโดยชาวมุสลิมว่าจะต้องปฏิติตามอย่างเคร่งครัด
ดังนั้น
จึงปรากฏว่ามีชาวมุสลิมไม่มากที่อนุโลมเข้าร่วมพิธีทางศาสนากับเพื่อนที่นับถือศาสนาอื่นเช่นศาสนาพุทธ
ลักษณะทั่วไปอันนี้ของศาสนาอิสลามในทัศนะของผู้เขียนคือสาเหตุที่สําคัญประการหนึ่งที่ทําให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมมองว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่ประนีประนอมกับศาสนาอื่น
ไม่ยอมปรับตัวเพื่อให้การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนต่างศาสนาดําเนินไปด้วยมิตรภาพ
การเข้าใจว่าระเบียบต่างๆในทางศาสนาจะต้องเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมพึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดนี้เรามองได้หลายแง่
เราจะอภิปรายเรื่องนี้กันข้างหน้า สิ่งที่เราจะสรุปในตอนนี้ก็คือ
ศาสนาอิสลามมีระบบจริยธรรมที่ชาวมุสลิมโดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ตนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเครดครัด
ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทําให้คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในโลก
(โดยเฉพาะชาวตะวันตก) มองว่า ศาสนาอิสลามไม่เป็นมิตรกับผู้อื่น ไม่พยายามปรับตัว
โดยเห็นแก่ความรู้สึกนึกคิดของเพื่อนต่างศาสนา (เช่นมีเพื่อนเป็นชาวพุทธ
แต่ปฏิเสธไม่ไปร่วมงานบุญขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อน ด้วยเหตุผลว่า
นี่เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาของตน) ผู้เขียนเชื่อว่า ชาวมุสลิมไม่น้อยมีน้ำใจอยากจะปรับตัวเพื่อเห็นแก่มิตรต่างศาสนา
แต่ที่ยังลังเล
เพราะบรรยากาศโดยรวมของศาสนาอิสลามยังไม่เอื้อที่จะให้เกิดปรากฏการณ์เช่นที่ว่านั้น
ในแง่นี้ ผู้บริหารศาสนาอิสลามสมควรคิดให้มาก ภารกิจในการทําให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นมองศาสนาอิสลามอย่างเป็นมิตรและด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นภารกิจที่ต้องการเวลาและความจริงใจในการผลักดันอย่างจริงจัง
2. ธรรมชาติที่แตกต่างกันของศาสนา
เวลาที่เราเสนอว่าศาสนาอิสลามควรปรับตัวอย่างนี้อย่างนั้น
เราต้องไม่ลืมว่าภาระในการปรับตัวตามที่กล่าวนี้ไม่ได้เรียกร้องเฉพาะศาสนาอิสลามเท่านั้น
ทุกศาสนามีภาระในการปรับตัวเข้าหากัน การปรับตัวเข้าหากันนั้นต้องการความเข้าใจว่าศาสนาต่างๆ
มีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอกว้างๆว่า
มีธรรมชาติที่แตกต่างกันระหว่างศาสนาแยกออกเป็นสองแบบคือ (1) บางศาสนาเป็นศาสนาในเชิงสังคม (2) แต่บางศาสนาเป็นศาสนาในเชิงปัจเจกบุคคล
ที่ผ่านมานั้น เราได้กล่าวแล้วว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาในเชิงสังคมที่เข้มขนที่สุด
อันที่จริง
ศาสนาฮินดูก็มีลักษณะเป็นศาสนาเชิงสังคมเช่นกัน
หลักธรรมในศาสนาฮินดูบางเรื่องเช่นเรื่องการแยกผู้คนในสังคมออกเป็นสี่วรรณะมีผลจริงจังมากในการจัดระเบียบสังคม
วรรณะในสังคมอินเดียไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ใครเกิดมามีพ่อแม่สังกัดวรรณะใดก็ต้องอยู่ในวรรณะนั้นตลอดไป
เนื่องจากบางวรรณะเช่นวรรณะศูทร ได้รับการพิจารณาโดยนักคิดในศาสนาฮินดูเช่น มหาตมา
คานธี ว่าเป็นผู้ที่เสียเปรียบวรรณะอื่น เช่นตามกฎหมายธรรมศาสตร์
(กฎหมายในสังคมฮินดูที่ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดความเชื่อในศาสนาฮินดู มีหลายฉบับ
ฉบับที่คนไทยเรารู้จักกันมากที่สุด เพราะเป็นรากฐานของกฎหมายไทยในสมัยอยุธยาคือ มนูธรรมศาสตร์)
วรรณะอื่นๆ สามารถครอบครองทรัพย์สินได้ไม่มีจํานวนจํากัด แต่สำหรับวรรณะศูทร
จะมีการกําหนดเพดานไว้ว่าสามารถครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวได้เพียงใด
ทั้งนี้เพื่อกีดกันไม่ให้คนในวรรณะศูทรมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ
จึงจําเป็นต้องทํางานใช้แรงเพื่อรับใช้วรรณะอื่นๆอย่างนั้นตลอดไป เมื่อเห็นดังนั้น
คานธีก็พยายามรณรงค์ให้คนอินเดียละเลยไม่สนใจการจําแนกวรรณะตามคําสอนของศาสนาฮินดู
แต่ความพยายามของคานธี (ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากในทางความคิดในสังคมอินเดีย)
ก็ไม่บรรลุผล ระบบวรรณะของอินเดียยังคงอยู่ จะอย่างไรก็ตาม
กฎหมายของอินเดียสมัยใหม่ไม่ใช่กฎหมายธรรมศาสตร์อย่างสมัยโบราณแล้ว
วรรณะทั้งสี่จึงไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ก็ยังมีผลในทางวัฒนธรรมอยู่อย่างเหนียวแน่น
เมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาในเชิงสังคมเช่นเดียวกันกับศาสนาฮินดู
เราจะเห็นพัฒนาการบางด้านที่เหมือนกันและแตกต่างกันคือ (1) ในแง่ความเป็นศาสนาในเชิงสังคม
สองศาสนานี้ยังมีลักษณะเช่นที่ว่านั้นอยู่อย่างมั่นคง
คือศาสนามีผลต่อการจัดระเบียบชีวิตของบุคคลทั้งในแง่สังคมและในแง่
ปัจเจกบุคคลอยู่อย่างมั่นคง แต่ (2) ในสังคมฮินดู
(ผู้เขียนขอเรียกอย่างนี้เพราะถือว่าศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่
มีคนนับถือมากที่สุดในอินเดีย)
กฎหมายสมัยใหม่ไม่รับรองการจัดระบบสังคมตามจารีตฮินดูอีกต่อไป
ในรัฐธรรมนูญของอินเดีย ระบุว่าประเทศอินเดียเป็นประเทศที่ไม่ใช้แนวคิดของศาสนาใดเป็นรากฐานทางกฎหมายและการจัดระเบียบสังคม
ส่วนในประเทศมุสลิม การจัดระเบียบสังคมในปัจจุบันยังได้รับอิทธิพลจากคําสอนในศาสนาอยู่มาก
อะไรก็ตามที่ศาสนาบัญญัติว่าผิด
สิ่งนั้นกฎหมายจะรับรองว่าอนุญาตให้เกิดมีได้ในสังคมไม่ได้อย่างเด็ดขาด
ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนา
สุราเป็นสิ่งที่ผิดตามคําสอนของศาสนา แต่สุราก็สามารถจําหน่ายได้ในประเทศไทย
ด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่ผิดหลักคําสอนของศาสนา
บางอย่างสามารถอนุโลมให้เกิดในสังคมได้ หากมีคําอธิบาย
ประเทศไทยถือว่าสุราอาจกระทบสุขภาพและความนึกคิดของบางคนในระดับที่น่าเป็นห่วง
แต่คนโดยส่วนใหญ่ก็บริโภคสิ่งนี้อย่างรู้จักประมาณ ดังนั้นการเปิดให้จําหน่ายสุราถือว่ามีคําอธิบาย
เพราะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในทางเศรษฐกิจ
เหตุผลเช่นนี้จะไม่สามารถเกิดได้เลยในประเทศมุสลิม
เท่าที่กล่าวมานี้เราจะเห็นว่าศาสนาในโลกนั้นต่างกัน ความต่างกันนี้ในทัศนะของผู้เขียนเป็นความต่างในระดับลึกที่เรียกว่าความต่างในระดับธรรมชาติของศาสนาเลยทีเดียว
ที่ผ่านมา
เราได้กล่าวไว้แล้วว่ามีธรรมชาติที่ต่างกันของศาสนาอยู่สองแบบคือ
บางศาสนาเป็นศาสนาเชิงสังคม แต่บางศาสนาเป็นศาสนาเชิงปัจเจกบุคคล เมื่อกล่าวโดยรวม
ในระหว่างศาสนาหลักๆ ของโลกคือ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และพุทธ
ศาสนาพุทธดูจะเป็นศาสนาเดียวที่มีลักษณะเป็นศาสนาเชิงปัจเจกบุคคล
ส่วนศาสนาที่เหลือเป็นศาสนาในเชิงสังคม และในบรรดาศาสนาเหล่านี้
ผู้เขียนเห็นว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเชิงสังคมที่เข้มข้นที่สุด
ส่วนศาสนาคริสต์และศาสนาฮินดูมีความเป็นศาสนาเชิงสังคมใกล้เคียงกัน ในสมัยโบราณ ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบสังคมมาก
ใครก็ตามจะเสนอความคิดเห็นขัดแย้งกับคําสอนในศาสนาคริสต์ไม่ได้
ดังกรณีที่เกิดแก่กาลิ-เลโอ เป็นต้น แต่ปัจจุบัน
อิทธิพลเช่นนั้นของศาสนาคริสต์ไม่มีแล้ว จะอย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับศาสนาพุทธ
เราจะเห็นว่าพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวของกับชีวิตของปัจเจกบุคคลในแง่การจัดระเบียบทางศาสนาน้อยกว่าศาสนาคริสต์
ในทํานองเดียวกัน เมื่อเทียบกับศาสนาฮินดู เราจะพบว่า
ในอดีตศาสนาฮินดูมีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบชีวิตของผู้คนมาก
เรียกได้ว่าการจะมีชีวิตในฐานะที่เป็นชาวฮินดู
เราต้องดําเนินรูปแบบชีวิตตามที่กําหนดโดยศาสนา ในปัจจุบัน
การจัดระเบียบชีวิตของบุคคลในศาสนาฮินดูก็ยังมีอยู่
ผู้เขียนเคยไปสัมมนาที่ต่างประเทศแล้วพบเพื่อนนักวิชาการที่มาจากอินเดีย
ทราบว่าเธอสังกัดวรรณะพราหมณ์ แม้การสังกัดวรรณะ ดังกล่าวจะไม่มีผลในทางกฎหมาย
(คือกฎหมายไม่รับรองว่าใครอยู่ในวรรณะไหน) แต่ในแง่วัฒนธรรม เพื่อนนักวิชาการนั้นก็ถือว่าตนเองมีภาระทางศาสนาที่จะต้องดําเนินชีวิตตามรูปแบบที่ศาสนากําหนด
เธอไม่บริโภคเนื้อสัตว์
นี่คือตัวอย่างของการที่ศาสนาฮินดูในปัจจุบันยังมีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตของผู้ที่นับถืออยู่ ดูเหมือนจะมีความต่างที่สําคัญอีกอย่างหนึ่งในหมู่ศาสนาที่เป็นศาสนาเชิงสังคมในปัจจุบันคือ
เมื่อกล่าวอย่างเปรียบเทียบแล้ว
ที่ศาสนาอิสลามยังเป็นศาสนาในเชิงสังคมที่เข้มข้นที่สุดก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
พื้นที่ในทางการประพฤติปฏิบัติตนของปัจเจกบุคคลในศาสนาอิสลามมีน้อยที่สุด
ศาสนาคริสต์มีพื้นที่สําหรับปัจเจกบุคคลที่จะพินิจพิจารณาชีวิตของตนตามที่ตนเห็นว่าจําเป็นต่อการทําให้ชีวิตนี้มีความหมายมากกว่าศาสนาอิสลาม
(โดยทั่วไป อาจมีศาสนาอิสลามบางนิกายที่มีพื้นที่ทางศาสนาสําหรับปัจเจกบุคคลมาก
ดังเราจะพิจารณากันข้างหน้า) ศาสนาฮินดูก็เหมือนกับศาสนาคริสต์ คือฮินดูในปัจจุบันเป็นศาสนาที่มีพื้นที่สําหรับปัจเจกบุคคลที่จะไตร่ตรองด้วยตัวของเขาเองว่าอะไรคือแก่นสารของความเป็นคน
และชีวิตมนุษย์เราจะเข้าถึงความดีงามในทางศาสนาโดยตรง
โดยไม่ผ่านศาสนาที่เป็นสถาบัน ได้อย่างไร
3. พุทธศาสนาในฐานะศาสนาที่เป็นการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ
เนื่องจากกรอบความคิดของพุทธศาสนาจะมีบทบาทมากในการนําเสนอแนวคิดต่างๆ
ในบทความนี้ ผู้เขียนคิดว่า
เราควรใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบทความนี้สําหรับการพิจารณาว่าอะไรคือแก่นสารที่สําคัญที่สุดของพุทธศาสนา
ผู้เขียนขอกล่าวถึงสาระหลักๆของพุทธศาสนาเป็นลําดับไปดังนี้
ก่อนที่พุทธศาสนาจะอุบัติขึ้นในอินเดียนั้น
ประเทศอินเดียมีศาสนาหลักอยู่แล้วคือศาสนาฮินดู ในสมัยโบราณ
ศาสนานี้เรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์ ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วว่า
ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเชิงสังคมในความหมายว่าเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลในการระเบียบสังคมและชีวิตของปัจเจกบุคคล
ศาสนาเชิงสังคมนั้นมีข้อดีคือใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบชีวิตของผู้คน
ตลอดจนสังคมให้ดําเนินไปในทางเดียวกัน
สังคมที่ใช้ศาสนาแบบนี้เป็นหลักยึดเมื่อพิจารณาจากภายนอกจะเป็นสังคมที่ชีวิตของผู้คนจะแสดงออกคล้ายๆ
กัน ความเป็นระเบียบนี้พระพุทธเจ้ามองว่าเป็นเรื่องภายนอก แม้จะมีประโยชน์ตามที่กล่าวมาแล้ว
แต่ศาสนาแบบนี้จะไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งคือการเป็นช่องทางทําให้บุคคลเข้าถึงมิติที่ลึกซึ้งในชีวิตของเขา
การที่พระพุทธเจ้าออกบวชก็เพื่อแสวงหาศาสนาที่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ในแง่ที่เป็นภูมิปัญญาที่จะพาบุคคลเข้าถึงมิติที่ลึกซึ้งในชีวิตของเขาตามที่กล่าวมาแล้ว
จะเห็นว่าพุทธศาสนานั้นต่างจากศาสนาฮินดูมากที่ตรงนี้ (จะอย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นยุคของพระพุทธเจ้ามาแล้ว
ก็เกิดการปฏิรูปศาสนาฮินดูอย่างขนานใหญ่ อิทธิพลทางสังคมถูกลดลง
มิติที่ลึกซึ้งในชีวิตของปัจเจกบุคคลได้รับการเพิ่มเติม นักวิชาการทางด้านศาสน-ศึกษาของอินเดียลงความเห็นว่านี่เป็นอิทธิพลในเชิงการปะทะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา)
พระพุทธเจ้าทรงมองว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาไม่ว่าเราจะเชื่อว่าพระเจ้าสร้างเขามาหรือเขาเกิดเองตามธรรมชาติ
จะมีธรรมชาติสากลบางอย่างรวมกัน ธรรมชาติสากลของมนุษย์ในทัศนะของพระพุทธเจ้าคือ
คนเราเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย และต้องตายในที่สุด
ธรรมชาติเหล่านี้เกิดกับมนุษย์ทุกคนไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
สภาพชีวิตตามที่กล่าวมานี้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่าเป็นสภาพที่เกิดกับเราในปัจจุบัน
และ เนื่องจากสภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างสภาพในทางจิตวิทยาบางอย่างให้เกิดแก่มนุษย์ทุกคน
ทรงเรียกสภาพทางใจที่เกิดขึ้นในคนทุกคนนี้ว่าทุกข์
พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ โดยที่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องจัดการให้เกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบันของเรา
พระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยกับแนวคิดทางศาสนาที่มองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสภาพอันไม่พึงปรารถนา
โลกไม่ใช่สถานที่ที่เราจะสร้างให้เป็นบ้านที่ถาวรของเรา
มีโลกที่สมบูรณ์แบบรอเราอยู่หลังจากที่เราตายแล้ว
ใครก็ตามที่เชื่อมั่นในบางสิ่งที่ศาสนาสอนเช่นพระเจ้า
แล้วปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีชีวิตที่ดีงามตามหลักการของศาสนานั้น เมื่อตายไปแล้ว
เขาจะได้มีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขในดินแดนแห่งความหวังนั้น สําหรับพระพุทธเจ้า
มนุษย์เรามีพันธะทางจิตวิญญาณที่จะต้องจัดการให้ความทุกข์ที่ปรากฏในชีวิตปัจจุบันของเราจางคลายลงหรือหายไปในที่สุด
การรอความหวังว่าจะได้เกิดในดินแดนอันเปี่ยมด้วยความสุขในโลกหน้า
แม้ว่าสิ่งนี้อาจเกิดจริงได้ แต่การคิดเช่นนั้น
ก็ย่อมทําให้เราละเลยความเป็นจริงในปัจจุบันที่ว่าชีวิตเรามีปัญหาที่ต้องสะสาง
พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า
เราสามารถเก็บความคิดเรื่องโลกหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุขนั้นไว้ก่อนก็ได้
(คือไม่ทรงยืนยันหรือปฏิเสธสิ่งนี้ เพราะถือว่าเป็นปัญหารอง) สิ่งที่เราควรสนใจคือสภาพของชีวิตที่เรียกว่าทุกข์
ทุกข์ตามหลักการของพุทธศาสนาคือการรวมสองสิ่งเข้าด้วยกัน อันได้แก่ (1) การที่คนเราเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย และต้องตาย และ (2) การที่จิตใจของคนเราไม่สามารถยอมรับความจริงตามที่กล่าวมาข้างต้นได้
ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกข์ก็มาจากใจของเราเองที่ถูกธรรมชาติ หรือพระเจ้าสร้างมา
ให้ไม่สามารถยอมรับความจริงที่เกิดแก่ชีวิต อันได้แก่ความแก่ชรา ความเจ็บป่วย
และความตายได้
ชีวิตคนปกติธรรมดาทั่วไปตามทัศนะของพระพุทธเจ้าเป็นชีวิตที่มืดมนในความหมายว่าธรรมชาติของชีวิตจะกระตุ้นให้เราต้องการสิ่งต่างๆ
ที่รวมแล้วอาจจําแนกได้เป็นสองอย่างคือเงินและเกียรติ
คนทั้งโลกพยายามแสวงหาสองสิ่งนี้ แต่เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาแล้ว
คนเราก็จะพบด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่า เงินและเกียรติไม่สามารถถมชีวิตที่ว่างเปล่าให้เต็มได้
ความรู้สึกว่าชีวิตกลวงเปล่า จะปรากฏในคนทุกคนในบางช่วงวัยอันเป็นช่วงวัยที่เรากําลังจะอําลาจากโลกนี้ไป
จะอย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า
สภาพตามธรรมชาติของชีวิตมนุษย์นั้นชวนให้เข้าใจว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สวยงามในโลกนี้และ
ในวันที่เรามีความรักเราจะรู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งสวยงามและให้ความหวังแก่เรา
คนที่ประสบความสําเร็จในความรักก็จะมีครอบครัว มีลูกมีหลาน และเมื่อชีวิตย่างเขาสู่วัยสุดท้าย
มนุษย์ทุกคนจะเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่า ชีวิตนี้จริงๆ แล้วว่างเปล่า
เราที่เป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น วันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป
ชีวิตข้างหน้าหลังความตายจะมี หรือไม่ ไม่มีใครทราบ สิ่งที่ทุกคนทราบก็คือ
เมื่อวันแห่งความจากพรากมาถึง เราเพียงคนเดียวที่รู้ว่าเรากําลังจะจากไป คนอื่นๆ
อาจมาแวดล้อมดูแลเราในช่วงเวลานั้น (ในกรณีที่ถือว่าโชคดี) หรืออาจไม่มีใครเลย
มีเพียงเราคนเดียวที่กําลังจะปิดฉากชีวิตที่ดําเนินมายาวนาน ก่อนตาย
อาจมีภาพแห่งความหลังทยอยผ่านเข้ามาในห้วงสํานึกที่ค่อยๆ ริบหรี่ลงของเรา
และที่สุด ทุกชีวิตก็จะปิดม่านลง เหลือเพียงความมืดมิดแห่งความตาย
นี่คือสิ่งที่จะเกิดแก่คนทุกคน ตามทัศนะของพระพุทธเจ้า แม้พระองค์เองก็ไม่สามารถหลีกหนีสภาพชีวิตตามที่กล่าวมานี้
ความทุกข์อันได้แก่สภาพชีวิตที่เมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่เฒ่า
ต้องเจ็บป่วย และต้องตาย ตามที่กล่าวมานั้นเป็นทุกข์ที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้
พระศาสดาในทุกศาสนาวันหนึ่งก็ต้องตาย คนที่มีชื่อเสียงในแง่ที่เป็นนักปรัชญา
นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และ อื่นๆ
ที่เรารู้จักและกําลังศึกษาความคิดของพวกเขาอยู่เวลานี้ ส่วนใหญ่ตายไปหมดแล้ว พวกเขาจะรู้หรือไม่ว่าตนเองตายไปแล้ว
และผลงานของพวกเขายังมีคนจํานวนไม่น้อยศึกษาอยู่ (เพราะการจะรู้คนเราจะต้องมีชีวิต
แต่ตอนนี้ทุกคนตายไปแล้ว เหมือนเวลาที่เรานอนหลับสนิท ไม่ฝัน
เราจะไม่รู้ว่าเรากําลังนอนหลับ ต่อเมื่อตื่นขึ้น เราจึงทราบ)
เรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้ จะอย่างไรก็ตาม
ทุกข์ตามธรรมชาติที่เรากล่าวถึงข้างต้นก็เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของทุกข์ที่พุทธศาสนาสอน
พระพุทธเจ้าสอนว่า แม้เราจะไม่สามารถเอาชนะ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย
ที่เป็นปรากฏการณ์ทางชีววิทยาได้ แต่เรา
ก็สามารถที่จะพบหนทางเพื่อที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้
โดยที่สภาพชีวิตตามที่กล่าวมานี้ ไม่มีผลทําให้เราทุกข์ใจซ้ำสองเข้าไปอีก (เกิด
แก่ เจ็บ และตาย อาจเรียว่าทุกข์ทางกาย ส่วนการรับสภาพชีวิตเช่นนี้ไม่ได้อาจเรียกว่าทุกข์ใจ
ทุกข์ใจเป็นสิ่งที่เราสามารถเอาชนะได้ นี่คือหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนา)
การที่พุทธศาสนาเริ่มต้นที่ความจริงอันเป็นธรรมชาติของชีวิตปัจเจกบุคคลนี้
ไม่ควรเข้าใจว่าพุทธศาสนาจะไม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตของผู้คนในสังคมด้วยกัน
ตรงกันข้าม
การเริ่มต้นที่จุดนี้ที่สุดแล้วก็เพื่อทําให้ผู้คนในสังคมพิจารณาว่าชีวิตของผู้อื่นก็เหมือนกับชีวิตของเราในแง่ที่ว่าทุกคนต่างก็เป็นเพื่อรวมทุกข์ของกันและกัน
หลักคําสอนเรื่องความรัก ความเมตตา มิตรภาพ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
โดยไม่จํากัดเชื้อชาติ ศาสนา และความแตกต่างๆ อื่นๆ
เช่นเป็นมนุษย์หรือว่าเป็นสัตว์
ก็มีรากฐานมาจากการที่พุทธศาสนาพิจารณาธรรมชาติอันเป็นสากลของมนุษยชาตินี้เอง
กล่าวง่ายๆ คือ ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาอะไร คริสต์ ฮินดู เชน อิสลาม ขงจื้อ เต๋า
พุทธ เป็นต้น พุทธศาสนาก็มองว่า ผู้คนที่แตกต่างกันในนามของศาสนาเหล่านี้แท้แล้วก็คือมนุษย์ที่มีธรรมชาติข้างในเหมือนกัน
มนุษย์ไม่ได้มีศาสนามาแต่กําเนิด ศาสนาเป็นสิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้แก่เราหลังจากที่เราเกิดมาแล้วเท่านั้น
ศาสนาเปลี่ยนได้ แต่ธรรมชาติอันเป็นนิรันดร์ของมนุษย์ไม่อาจเปลี่ยนแปลง
ชาวมุสลิมเมื่อเกิดมาแล้วก็ย่อมต้องแก่ชรา เจ็บป่วย และตายในวันหนึ่ง ทั้งหมดนี้ไม่ต่างจากสภาพที่เกิดแก่ชีวิตของชาวพุทธ
ชาวคริสต์ ชาวฮินดู เป็นต้น เมื่อมองว่ามนุษย์ทุกรูปทุกนามเป็นเพื่อนร่วมเกิด ร่วมแก่
ร่วมเจ็บ และรวมตายเช่นนี้ การวิวาทกันจะในนามศาสนาหรืออะไรก็ตามแต่ย่อมนําพาให้เกิดความสังเวช
ความสังเวชนั้นที่สุดจะนําพาจิตใจของเราก้าวไปสู่จุดหนึ่งอันเป็นจุดที่เราทุกฝ่ายต่างก็ร่วมรู้สึกว่าเราเป็นสหายร่วมจักรวาลของกันและกัน
4. คาลิล ยิบราน และ รูมี
ในฐานะแรงบันดาลใจสําหรับชาวมุสลิม
สองท่านที่เราเอ่ยนามถึงข้างต้นเป็นกวีที่มีชื่อเสียง
ยิบรานนับถือศาสนาคริสต์
แต่เติบโตในดินแดนที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาอิสลาม
นักวิชาการที่ศึกษาแนวคิดของยิบรานตามที่ปรากฏในงานเขียนของเขาส่วนใหญ่เชื่อว่า
ยิบรานได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามนิกายซูฟี ส่วนรูมีนั้นเป็นกวีชาวมุสลิม
เป็นผู้ที่เลื่อมใสในศาสนาอิสลามนิกายซูฟี
เพื่อให้เข้าใจบุคคลที่เราจะใช้เป็นกระจกส่องศาสนาอิสลาม เรา
จําเป็นต้องพูดถึงศาสนาอิสลามนิกายซูฟี สักเล็กน้อย
ศาสนาอิสลามตามที่ปรากฏทั่วไปและตามที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามรู้สึกเป็นศาสนาของหมู่ชน
อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของหมู่ชน
เรามักเข้าใจต่อไปว่าสิ่งนั้นจะมีอํานาจสะกดให้ปัจเจกบุคคลลืมหรือไม่สนใจความเป็นปัจเจกบุคคลของตน
เวลาที่เราเห็นคนจํานวนมหาศาลไปดูคอนเสิร์ต สิ่งที่เราจะพบคือ คนแต่ละคนจะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง
ปัจเจกภาพของแต่ละคนจะถูกละลายให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับพหุภาพ
อันได้แก่บรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกัน ทําเหมือนกัน
ไม่มีใครแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้ภายในสถานการณ์ที่เรียกว่าพหุภาพนั้น
ศาสนาอิสลามก็เช่นเดียวกัน คนส่วนใหญ่ในโลกมองว่าศาสนานี้เป็น ศาสนาที่มีอํานาจหลอมรวมคนจํานวนมากให้คิดเหมือนกัน
ทําเหมือนกัน รู้สึกเหมือนกัน เรื่องนี้จะเป็นจริงเพียงใดเราอาจถกเถียงกันได้
แต่ในความรู้สึกของบุคคลภายนอกที่มองเข้าไปในศาสนาอิสลาม
ศาสนานี้จะมีลักษณะเช่นนั้น
แต่มีนิกายหนึ่งของศาสนาอิสลามคือนิกายซูฟีที่ไม่มีลักษณะเหมือนศาสนาอิสลามโดยทั่วไปตามที่กล่าวมานั้น
เราจะเข้าใจแนวคิดของยิบรานและรูมีมากขึ้นหากเราเริ่มที่การพิจารณาว่าศาสนาอิสลามนิกายซูฟีมีลักษณะเป็นอย่างไร
ต่อไปนี้คือสาระหลักๆของนิกายซูฟี
(ก)
เน้นประสบการณ์ส่วนบุคคลในการเข้าถึงพระเจ้า
ศาสนาเทวนิยมโดยส่วนใหญ่เป็นศาสนาเชิงสังคม
เวลาที่ทําพิธีกรรมทางศาสนา ก็มักทําในรูปของคนหมู่มาก นิกายซูฟีเห็นว่า
ประสบการณ์ทางศาสนาควรเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล อธิบายว่า เมื่อเราอยู่กับคนจํานวนมาก
บรรยากาศอาจนําพาเราไปหาสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นแก่นสารของศาสนา เช่นการสวดมนต์นมัสการพระเจ้า
นิกายซูฟียอมรับการทําศาสนพิธีในรูปของมหาชน
แต่ก็มีความเห็นว่าศาสนพิธีที่กระทําโดยคนจํานวนมากนั้นไม่เพียงพอที่จะให้บุคคลเข้าถึง
เข้าใจ และดื่มด่ำกับแก่นของศาสนา ในศาสนาอิสลาม
พระเจ้าคือหัวใจของศาสนาในความหมายว่า หากบุคคลเข้าถึงพระเจ้า จิตวิญญาณของเขาจะได้สัมผัสความจริง
ความงาม และความดี อย่างยากที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของนิกายซูฟีในเรื่องการเน้นประสบการณ์ส่วนบุคคลในการเข้าถึงแก่นของศาสนาอิสลาม
ผู้เขียนขอยกกวีนิพนธ์เรื่อง คีตาญชลี ของรพินทรนาถ ฐากูรมาเปรียบเทียบ
กวีนิพนธ์เล่มนี้เนื้อหาหลักกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้แต่งที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขา
ใจความหลักของหนังสือทั้งเล่มอยู่ที่การพรรณนาว่าผู้แต่งรู้สึกอย่างไรต่อพระเจ้า
จากพื้นฐานของปัจเจกบุคคล ตอนหนึ่งของ คีตาญชลี กล่าวทำนองว่า เลิกแสวงหาพระเจ้าจากโบสถ์
วิหาร หรือ อารามเสียเถิด พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้สถิตที่อยู่นั่น
พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับชาวนาที่กําลังตรากตรําทํางานหนักในทุ่งนา
ทรงประทับอยู่กับเหล่ากรรมกรที่กําลังทุบหินเพื่อสร้างถนนอยู่ท่ามกลางแสงแดดที่แผดกล้า
(Gitanjali, chapter 11) นี่คือตัวอย่างความรู้สึกของผู้แต่ง
คีตาญชลี ที่มีต่อพระเจ้าของเขา
เราจะเห็นว่า
พระเจ้าแบบนี้จะไม่ปรากฏในหมู่คนจํานวนมากที่กําลังกระทํากิจกรรมทางด้านศาสนพิธีอยู่ด้วยกันเป็นจํานวนมากๆ
แต่จะปรากฏเมื่อบุคคลปลีกตัวออกมาอยู่กับกับตนเอง ในความเงียบสงัดแห่งความคิด
จะเกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นในจิตวิญญาณของบุคคล นิกายที่ซูฟีคิดว่าสิ่งที่เกิดโดยตรงแก่จิตวิญญาณของชาวมุสลิมอันเป็นผลมาจากการปลีกตนออกมาสู่ความวิเวกแล้วไตร่ตรองหาความหมายของการมีชีวิตท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้
เป็นสิ่งที่มีค่ามาก ชีวิตของเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างลงลึกถึงรากจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาท่ามกลางคนหมู่มาก
แต่จะเกิดเมื่อเราอยู่กับตนเองในความเงียบสงัด ในสภาพเช่นนั้น ซูฟีเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่บุคคลจะคํานึง
ไตร่ตรอง และทําความเข้าใจพระเจ้า
อาจมีความเข้าใจว่าพระเจ้าคืออะไรที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบางในหมู่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ตามทัศนะของมุสลิมบางคน พระเจ้าอาจอยู่ในรูปของบุคคล แต่ในทัศนะของมุสลิมบางคน
พระเจ้าอาจอยู่ในรูปของอะไรบางอย่างที่เป็นนามธรรม
นิกายซูฟีมีแนวโน้มที่จะเข้าใจพระเจ้าแบบที่สอง
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าพระเจ้าแบบนี้เป็นอย่างไร
เราอาจนึกถึงคนสองคนคือสปิโนซากับท่านพุทธทาสก็ได้ ครั้งหนึ่ง อัลเบิร์ต
ไอน์สไตน์ถูกถามว่า ท่านเชื่อว่าพระเจ้า มีอยู่หรือไม่ เขาตอบว่า
ในสมัยที่เขาเป็นเด็ก ครอบครัวให้อ่านคัมภีร์ไบเบิล เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์
ไบเบิล ไม่ชวนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในทัศนะของไอน์สไตน์ เขาเลยไม่สนใจที่จะศึกษาแนวคิดเรื่องพระเจ้าจากคัมภีร์
ไบเบิล มาตั้งแต่นั้น แต่เมื่อเติบโตขึ้น เขาได้เรียนรู้ว่ามีแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าอีกแบบ
ตัวอย่างเช่นที่ปรากฏในงานนิพนธ์ของนักปรัชญาชื่อสปิโนซา ไอน์สไตน์กล่าวว่า
หากพระเจ้าเป็นอย่างที่สปิโนซาอธิบายไว้เขายินดีและเต็มใจที่จะบอกว่าเขาเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง
(Albert Einstein, Ideas and Opinions, 39-58) ถามว่าพระเจ้าแบบที่สปิโนซาอธิบายไว้เป็นอย่างไร
ตอบสั้นๆว่า ในทัศนะของนักปรัชญาท่านนี้
เราจะเข้าใจแนวคิดเรื่องพระเจ้าก็ด้วยการสังเกตโลกธรรมชาติอันได้แก่จักรวาลทั้งหมดตามที่ปรากฏแก่เราอยู่นี้
มนุษย์ทราบดีว่าตนเองไม่ได้สร้างตัวเองขึ้นมาให้ปรากฏในจักรวาล เราเป็นผลผลิตของใครหรืออะไรสักอย่าง
อายุขัยของมนุษย์เมื่อเทียบกับจักรวาลทั้งหมดนับว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยมาก
เทียบได้กับธุลีเม็ดเล็กๆ ที่ล่องลอยอยู่ท่ามกลางอวกาศที่เวิ้งว้างกว้างใหญ่
สปิโนซากล่าวว่า จักรวาลตามที่ปรากฏ นี่ไม่น่าจะเกิดได้ด้วยตนเอง
ความคิดที่ว่าจะต้องมีที่มาของจักรวาลนั้นอาจนําพาเรา
ให้คิดไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ (เช่นเรื่องบิกแบงในทัศนะของนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่บางคน)
แต่ที่สุดแล้ว ก็จะมีคําถามว่า
สิ่งที่เราคิดถึงนั้นสามารถเกิดมีได้เองหรือไม่ เขาคิดว่าไม่
นี่คือสาเหตุที่นักปรัชญาท่านนี้สรุปความว่า สิ่งต่างๆ ในจักรวาลอาจ
แบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ (1) สิ่งที่สักแต่ว่ามีอยู่
โดยที่ตนเองไม่ได้สร้างตนเองขึ้นมา ตัวอย่างของสิ่งเหล่านี้ก็เป็นคน สัตว์ พืช
ดวงดาว ดวงอาทิตย์ เป็นต้น (2) สิ่งที่มีอยู่ในฐานะสิ่งที่จําเป็นสําหรับตอบคําถามว่า
สิ่งแรกปรากฏขึ้นในจักรวาลได้อย่างไร พระเจ้าในทัศนะของสปิโนซ่าคือสิ่งที่สอง
(Spinoza, Ethics, part one: of God)
ท่านพุทธทาสแม้จะเป็นภิกษุในพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้าสร้างมนุษย์และจักรวาล
แต่ก็มีความเห็นว่า ที่สุดแล้วต้องมีคําอธิบายสุดท้ายว่าสิ่งต่างๆ ใน
จักรวาลเกิดมาจากไหน และเกิดได้อย่างไร ท่านพุทธทาสเห็นว่า
นอกจากคําว่าพระเจ้าอาจมีคําที่ใช้ในศาสนาอื่นเช่นพุทธศาสนาที่อาจเทียบได้กับคําว่าพระเจ้า
พุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่าธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ธรรมที่ทรงตรัสรู้พระองค์ไม่ได้สร้างขึ้นเอง
แต่มีมาก่อนที่จะมีมนุษย์ยาวนานมาก
ธรรมคือสภาพที่สิ่งทั้งหลายดํารงอยู่ในรูปความสัมพันธ์ เชิงสาเหตุและผล
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอาจอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยการเปรียบเทียบกับการค้นพบกฎเกณฑ์ในโลกธรรมชาติโดยนักวิทยาศาสตร์
(พุทธทาสภิกขุ, ใจความแห่งคริสตธรรมเท่าที่พุทธบริษัทควรทราบ, ๒๘-๕๘)
เราทราบดีว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับจักรวาล
นักวิทยาศาสตร์เป็นเพียงผู้ค้นพบเท่านั้น
ถามว่ากฎเกณฑ์ในธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วเพียงบางส่วนนี้มาจากไหน
ท่านพุทธทาสกล่าวมาวาจากสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่าธรรม หากสปิโนซาต้องตอบคําถามนี้
เขาก็ยอมจะต้องตอบว่า มาจากพระเจ้านั่นเอง
ย้อนกลับมาที่ไอน์สไตน์อีกครั้ง
นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้กล่าวเอาไว้หลายต่อหลายครั้งว่า
ศาสนากับวิทยาศาสตรเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน วิทยาศาสตร์ทําให้ศาสนาไม่งมงาย
ส่วนศาสนาก็ช่วยให้วิทยาศาสตร์มีแรงบันดาลใจในการค้นหาความจริงในโลกธรรมชาต
ซูฟีเป็นนิกายที่ไม่ได้ปฏิเสธว่าเราไม่สามารถเข้าใจพระเจ้าในรูปของบุคคลได้
เป็นไปได้ที่ชาวมุสลิมจะจินตนาการเห็นพระเจ้าในลักษณะที่เป็นบุคคล แต่ประเด็นที่นิกายซูฟีตั้งคําถามคือ
หากเราคิดว่า
ความเชื่อเรื่องพระเจ้าสมควรได้รับการสนับสนุนด้วยประสบการณ์ของบุคคลเกี่ยวกับพระเจ้า
ก็น่าคิดว่า จะมีชาวมุสลิมสักที่คนที่เคยเห็นพระเจ้าที่เป็นบุคคลด้วยตาของตนเอง
แต่ถ้าเราเข้าใจว่าพระเจ้าเป็นนามธรรม เป็นต้นกําเนิดของระเบียบในธรรมชาติ
และสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในธรรมชาติ
บุคคลย่อมสามารถสัมผัสพระเจ้าได้เสมอด้วยตัวของเขาเองในชีวิตประจําวัน ทําไม
รพินทรนาถ ฐากูรจึงกล่าว ว่าพระเจ้าไม่ได้สถิตอยู่ในโบสถ์วิหาร
แต่ทรงสถิตอยู่กับคนยากไร้ที่ทํางานหามรุ่งหามค่ำ
เพื่อให้ตนและครอบครัวอยู่รอดไปเป็นวันๆ คําตอบคือ
พระเจ้าในความหมายนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ นิกายนี้ก็คิดอย่างนี้
มีข้อที่น่าพิจารณาอีกอย่างหนึ่งคือ ตามทัศนะของนิกายซูฟี
พระเจ้าคือต้นกําเนิดหรือแรงบันดาลใจให้เรามองเห็นและเข้าถึงว่าอะไรคือความดี
ความงาม และความจริง
พระเจ้าที่เป็นนามธรรมเหมาะที่สุดที่จะเป็นต้นตอของแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาว่าอะไรคือกฎเกณฑ์ในโลกธรรมชาติที่เมื่อรู้แล้วจะเป็น
ประโยชน์ในเชิงความจริงแก่มนุษยชาติ
พระเจ้าในรูปของนามธรรมนี้เหมาะที่สุดที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักจริยศาสตร์ค้นหาว่าอะไรควรถือว่าเป็นความดีในชีวิตของมนุษย์
พระเจ้าที่เป็นนามธรรมนี้ในทัศนะของ รพินทรนาถ ฐากูร ทรงสถิตอยู่กับคนจน
พระเยซูที่สอนว่าเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนักที่คนรวยจะได้ไปสวรรค์ นี่แปลว่าอะไร
แปลว่าพระเจ้าที่เป็นนามธรรมไม่เคยเห็นว่าเงินทองคือความหมายของชีวิตมนุษย์
ไม่มีคนรวยคนใดได้รับการยกย่องด้วยเหตุว่าเขาเป็นคนที่ครอบครองโภคทรัพย์มากที่สุดในจักรวาล
และพระเจ้าแบบนี้แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินค้นหาว่าอะไรควรถือว่าเป็นความงามในทางศิลปะ
เราทราบกันดีว่านิกายซูฟีเป็นนิกายหนึ่งในศาสนาอิสลามที่ได้ให้กําเนิดศิลปินทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก
ศิลปะในทัศนะของนิกายซูฟีอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า ผู้เข้าถึงศิลปะย่อมคือผู้ที่เราอาจกล่าวได้ว่าอยู่ใกล้พระผู้เป็นเจ้า
(ข)
ให้ความสําคัญแก่ศิลปะ
ศาสนาทุกศาสนาเป็นบ่อเกิดของศิลปะไม่มากก็น้อย
ในโลกมุสลิมเองก็มีศิลปะ ตามแบบฉบับของศาสนาอิสลาม เมื่อกล่าวถึงนิกายซูฟี
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่านิกายนี้ เป็นบ่อเกิดของงานศิลปะแขนงต่างๆ
โดยเฉพาะดนตรีกับกวีนิพนธ์ น่าถามว่า ทําไม หรือเพราะเหตุใด นิกายนี้จึงเห็นความสําคัญของงานศิลปะ
เราจะอภิปรายเรื่องนี้สืบไปดังต่อไปนี้
โดยภาพรวมทั่วไป
อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ถูกสร้างมาให้มีสองสิ่งที่สําคัญในตัว สิ่งแรกคือเหตุผล
สิ่งที่สองคืออารมณ์ความรู้สึก ตามที่นักปรัชญาโดยทั่วไปเข้าใจ เหตุผลเป็นเครื่องตามธรรมชาติเพื่อการเข้าใจหรือเขาถึงบางสิ่งบางอย่าง
เราอาจเรียกสิ่งเหล่านี่ด้วยคํารวมๆว่าวิทยาการ ตัวอย่างของวิทยาการก็เช่นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สิ่งที่เราต้องมีคือเหตุผล
เหตุผลในที่นี้หมายถึงความสามารถที่จะเรียนรู้และเข้าใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป้าหมายของเหตุผลจะเรียบๆ
ไม่เกี่ยวข้องกับความงาม หรือความดี อารมณ์ความรู้สึกเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติเพื่อเข้าถึงบางสิ่งบางอย่าง
ขอให้สังเกตว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการเข้าถึงด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั้นคือสิ่งที่เราเรียกกันโดยรวมว่าศิลปะ
ยกตัวอย่างเช่น เราฟังดนตรี ไม่มีใครใช้เหตุผลในการเรียบเรียงดนตรี เมื่อดนตรีสร้างด้วยสิ่งที่ไม่ใช่เหตุผล
การรับรู้ก็ต้องใช้สิ่งเดียวกันนี้
เชื่อว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดนตรีคืออารมณ์ความรู้สึก
ทั้งเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึกเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติเพื่อการพัฒนาตน
นิกายซูฟีเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์จะสมบูรณ์ไม่ได้หากสองสิ่งนี้ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าเทียมกัน ในพุทธศาสนาเองก็มีความเข้าใจเช่นเดียวกันนี้
ดังปรากฏในพระสูตรที่ชื่อ มงคลสูตร ซึ่งในพระสูตร
นั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสิ่งที่เป็นมงคลเอาไว้ 38 ประการ และหนึ่งในมงคล 38 ประการ
นั้นมีศิลปะรวมอยู่ด้วย คําว่ามงคลหมายความถึงสิ่งที่เมื่อบุคคลเข้าถึงแล้ว
ชีวิตของเขาจะถูกยกระดับขึ้น ถามว่ายกระดับอะไร ตอบว่ายกระดับเหตุผลและความรู้สึก
ผู้คนจํานวนที่มากที่รู้สึกเกลียดและกลัวศาสนาอิสลามเข้าใจว่าศาสนานี้เป็นศาสนาที่ไร้หัวใจ
ความเข้าใจนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ในโลกมุสลิมนั้น
เราจะพบเห็นศิลปะอันเป็นเครื่องหมายแสดงความอ่อนโยนในจิตใจของผู้คนที่อยู่ในดินแดนที่ศิลปะเหล่านั้นถือกําเนิด
การแต่งบทกวีก็เป็นการทํางานศิลปะในรูปแบบหนึ่ง หากมีกวีมุสลิม
(ดังเช่นรูมีที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้) ก็แปลว่า
ศาสนาอิสลามเองก็เห็นความสําคัญของการขัดเกลาจิตใจศาสนิกของตนให้อ่อนโยนด้วยศิลปะ
ว่าไปแล้ว การสวดมนต์ที่เรียกว่าการละหมาดของชาวมุสลิมนั้น
เต็มไปด้วยท่วงทํานองที่กินใจ นี่เป็นตัวอย่างของประจักษ์พยานที่แสดงว่าศาสนาอิสลาม
ไม่ใช่ศาสนาที่ไร้หัวใจ (ในความหมายของการเป็นศาสนาที่ไม่สนใจศิลปะ)
ตามที่ผู้คนจํานวนหนึ่งในโลกเข้าใจ
ดูเหมือนว่านิกายซูฟีจะเป็นนิกายในศาสนาอิสลามที่เน้นความสําคัญของดนตรีและกวีนิพนธ์ในแง่ที่เป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า
การเน้นนี้เข้มข้นกว่าที่พบในศาสนาอิสลามโดยทั่วไป น่าคิดว่าทําไมซูฟีจึงเข้าใจว่าดนตรีและกวีนิพนธ์เป็นเครื่องมือเพื่อการเข้าถึงพระเจ้า
เราจะใช้เนื้อที่ตรงนี้เพื่ออภิปรายประเด็นนี้สักเล็กน้อย ในทางปรัชญาตะวันตก
มีนักคิดเป็นจํานวนมากที่เห็นว่า การพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่สามารถทําได้
ด้วยวิธีการใช้เหตุผล ตัวอย่างของนักปรัชญาที่คิดเช่นนี้ก็เช่น ทอมัส อะไควนัส
และสปิโนซา
ท่านแรกนั้นเป็นที่รู้จักกันดีเพราะเป็นผู้ที่เสนอวิธีการพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่ห้าประการ
ส่วนท่านที่สองก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ (เรขาคณิต)
เพื่อพิสูจน์ว่าพระเจ้าจะต้องมีอยู่
ที่นักคิดตะวันตกนิยมใช้เหตุผลในการพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่คงเนื่องมาจากอารยธรรมตะวันตกที่พัฒนามาคู่เคียงกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ศึกษาความจริงตามธรรมชาติ
ส่วนคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาว่าความรู้ที่เถียงไม่ได้นั้นเป็นอย่างไร
เราทราบดีว่าสองบวกสองย่อมเป็นสี่ ความจริงนี้เป็นความจริงทางคณิตศาสตร์
เคยจริงเมื่อหมื่นปีที่แล้ว เวลานี้ก็ยังจริงอยู่
นักปรัชญาตะวันตกจํานวนมากเห็นว่า หากเราสามารถทําให้การพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่อยู่ในรูปข้อความทางคณิตศาสตร์
ความมีอยู่ของพระเจ้าก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจมีใครลบล้างได้ สปิโนซากล่าวว่า สิ่งต่างๆ
ในจักรวาลแบ่งออกเป็นสองชนิดคือสิ่งที่มีอยู่ธรรมดาๆ กับสิ่งที่มีอยู่อย่างจําเป็น
สิ่งต่างๆ ในจักรวาลเช่นดวงดาว กาแล็กซี่ มนุษย์ พืช สัตว์ เป็นต้น
เป็นสิ่งที่มีอยู่แบบธรรมดา หมายความว่าสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะไม่มีอยู่ก็ได้
เช่นเราอาจจินตนาการว่าในบางยุคจักรวาลนี้ไม่มีมนุษย์ เป็นต้น
ในแง่นี้ความมีอยู่ของมนุษย์ก็เป็นความมีอยู่แบบธรรมดา
ถ้วยกาแฟก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แบบธรรมดา แต่ถ้วยกาแฟนี้ไม่สามารถมีได้หากปราศจากผู้ออกแบบ
และสร้างถ้วยกาแฟออกมาจากแบบนั้น
ผู้สร้างถ้วยกาแฟในแง่ที่สัมพันธ์กับถ้วยกาแฟสปิโนซาถือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจําเป็น
หมายความว่า หากปราศจากผู้ออกแบบ ถ้วยกาแฟก็ไม่สามารถ ที่จะปรากฏขึ้นในจักรวาลได้
ทํานองเดียวกัน สิ่งต่างๆ ในจักรวาลก็เปรียบเหมือนถ้วยกาแฟ
คือเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างธรรมดา แต่ผู้สร้างจักรวาล
(ที่เปรียบได้กับผู้สร้างด้วยกาแฟ) ในแง่ที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ
ในจักรวาลจะต้องมีอยู่อย่างจําเป็น หรือจําเป็นต้องมีอยู่
หากปราศจากผู้สร้างจักรวาล จักรวาลย่อมปรากฏขึ้นไม่ได้
และนี่ก็คือการพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่ในทัศนะของสปิโนซาและนักปรัชญาตะวันจํานวนหนึ่ง
แนวคิดของนักปรัชชาเหล่านี้ ในรายละเอียดอาจแตกต่างกัน แต่โดยสาระก็คล้ายกัน
คือใช้เหตุผลหรือความคิดเพื่อจูงใจเราให้เชื่อว่าพระเจ้าจะต้องมีอยู่
แต่ศาสนาอิสลามนิกายซูฟีไม่คิดว่าเราจะสามารถจูงใจใครให้เชื่อว่ามีพระเจ้าด้วยเหตุผลอย่างที่นักปรัชญาตะวันตกจํานวนหนึ่งกระทํา
นิกายซูฟีว่าไปแล้วก็คิดคล้ายกับแนวคิดทางศาสนาที่เชื่อว่ามีพระเจ้าของอินเดีย
คือไม่เห็นความสําคัญของการใช้เหตุผลในการเข้าถึงสิ่งที่มีความหมายมากๆ
ในทางศาสนาและศิลปะ
ไม่มีนักคิดอินเดียคนใดที่เห็นว่าเราสามารถใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์หรือตรรกวิทยาเพื่อพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่
ที่นักคิดอินเดียและมุสลิมนิกายซูฟีเห็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลว่า
ในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ เราต้องการเครื่องมือที่เหมาะสม
มีสามสิ่งในโลกนี้ที่ชีวิตของมนุษย์เกี่ยวข้องด้วย
และทั้งสามสิ่งนี้ต้องการเครื่องมือในการเข้าถึงที่แตกต่างกัน
อย่างแรกคือความจริงในวิทยาการต่างๆ เช่นวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
ความจริงแบบนี้ต้องการประสาทสัมผัสและเหตุผลในการเข้าถึง สอง ความดี
สิ่งนี้เราจะเข้าถึงได้ด้วยศาสนาหรือระบบจริย-ศาสตร์ที่เทียบได้กับศาสนา
จริยศาสตร์บางแบบเช่นที่เสนอโดยนักปรัชญาตะวันตกเชื่อว่าความดีสามารถเข้าถึงได้ด้วยเหตุผล
เช่นจริยศาสตร์ของคานต์
จริยศาสตร์ที่เรากําลังกล่าวถึงว่าเทียบเท่ากับศาสนาหมายถึง จริยศาสตร์ที่ไม่ใช้วิธีการอย่างเดียวกันกับวิทยาการต่างๆ
คานต์เชื่อว่าจริยศาสตร์ของเขาเทียบได้กับคณิตศาสตร์ คือจริงอย่างไม่อาจจะเถียงได้
เราไม่ได้หมายเอาจริยศาสตร์แบบนี้เวลากล่าวถึงทัศนะทางด้าน จริยศาสนาในศาสนาของอินเดียหรือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี
และสาม ความงาม สิ่งนี้เราสามารถเข้าถึงได้ด้วยศิลปะหรือทัศนะทางสุนทรียศาสตร์แบบต่างๆ
ในทัศนะของศาสนาแบบอินเดียและศาสนาอิสลามนิกายซูฟี
การใช้เหตุผลเพื่อเขาถึงพระเจ้าเป็นการใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกับธรรมชาติของสิ่งที่เราต้องการจะเข้าถึง เป็นความจริงว่า หากเราจะปรารถนาเข้าถึงความจริงในทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
เราต้องใช้ประสาทสัมผัส (วิทยาศาสตร์) และเหตุผล (คณิตศาสตร์) แต่พระเจ้าไม่ใช่ความจริงแบบนี้
พระเจ้าเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เราจะพึงเข้าถึงได้ก็ด้วยความรู้สึก
และในทัศนะของศาสนาแบบอินเดียและศาสนาอิสลามนิกายซูฟี
ความรู้สึกที่ว่านี่เองที่เป็นรากฐานของศิลปะและที่นิกายซูฟีให้ความสําคัญแก่กวีนิพนธ์และดนตรีก็ด้วยเหตุนี้
โปรดสังเกตว่า บทกวีของรพินทรนาถ ฐากูร
เล่มที่ทําให้ท่านผู้นี้ได้รับรางวัลโนเบลนั้นชื่อ คีตาญชลี
อันมีความหมายตรงไปตรงมาว่า การแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยเพลงขับ
นี่คือประจักษ์พยานที่แสดงว่าในทัศนะของท่านผู้แต่งที่เป็นชาวฮินดู
เราสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่ด้วยเหตุผล
(ค)
มีระบบการอบรมจิตที่เรียกว่าจิตภาวนา
ลักษณะที่สําคัญประการต่อมาของศาสนาอิสลามนิกายซูฟีคือเป็นนิกายที่มีระบบการใคร่ครวญไตร่ตรองทางจิตอย่างที่เรียกกันในศาสนาตระกูลอินเดีย
(เช่นพุทธ และ ฮินดู) ว่าการทําจิตภาวนา การที่นิกายซูฟีที่มีระบบจิตภาวนาเป็นเรื่องที่เราสามารถเข้าใจได้หากเราจะเริ่มต้นด้วยการพิจารณาว่า
ในทัศนะของซูพี ชีวิตมนุษย์ผูกพันอยู่กับพระเจ้าอย่างแนบแน่น เราเข้าถึงพระเจ้าด้วยอายตนะไม่ได้
พระเจ้าจะไม่มาปรากฏต่อตาของเรา เช่นเดียวกัน เหตุผลก็ไม่สามารถทําให้เราสัมผัสพระเจ้าได้
มีเพียงการใช้ความรู้สึกนึกคิดไตร่ตรองอย่างลงลึกเท่านั้นที่จะช่วยให้เราได้สัมผัสพระเจ้า
โปรดสังเกตว่า การไตร่ตรองใคร่ครวญถึงพระเจ้าอย่างลึกซึ้งสัมพันธ์กับศาสนาและศิลปะ
ศาสนาในทัศนะของซูฟีไม่ใช่เพียงการที่คนจํานวนมากๆมารวมกันทํากิจกรรมทางศาสนา
การอยู่ท่ามกลางคนหมู่มากอาจทําให้เราได้สัมผัสแง่หนึ่งของศาสนาที่เรียกว่าศาสนาในแง่สังคมเท่านั้น
ศาสนาในแง่นี้เป็นสิ่งดี เพราะทําให้เรามีเพื่อน มีมิตรสหาย มีคนรู้จัก
แต่การได้สัมผัสพระเจ้าเป็นเรื่องที่มุสลิมแต่ละคนจะพึงกระทําด้วยตนเองผ่านการไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งด้วยตัวของตัวเอง
เวลาที่เรากล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าจิตภาวนา
อาจมีความเข้าใจที่แตกต่างกันแบ่งออกเป็นสองแนวคือ (ก)
จิตภาวนาเป็นการปฏิบัติทางจิต โดยเน้นที่การเพ่งจิตไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
(เช่นพระเจ้า) จิตที่แน่วแน่นั้นจะค่อยๆทําให้เราก้าวลึกลงไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้น
จะมีปรากฏการณ์ทางจิตบางอย่าง (เช่นมีสี แสง ที่เราไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต) ปรากฏขึ้น
และที่สุด คนผู้นั้นจะรู้ด้วยตนเองว่า ได้เดินทางมาถึงที่สุดแล้ว
ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นเรื่องของใครของมัน ไม่สามารถบรรยายแก่ผู้อื่นได้ (ข)
จิตภาวนาเป็นการใช้ความคิด
และอารมณ์ความรู้สึกในระดับปกติธรรมดาเพื่อพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ
ที่เข้ามากระทบชีวิตเรา ยกตัวอย่างเช่น วันหนึ่ง เรากลับบ้านค่ำผิดเวลาเพราะรถติดมาก
เรารู้สึกหิวข้าวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว
ภรรยาได้เตรียมอาหารเอาไว้ก่อนแล้ว เธอถามว่าทำไมวันนี้มาค่ำผิดปกติ
เราตอบว่าวันนี้รถติดมาก ออกมาจากที่ทำงานเวลาเดิม แต่มาถึงบ้านผิดเวลาตามปกติ
เมื่อกินขาวแล้ว เราก็นั่งสนทนากับภรรยาด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก่อนที่จะขึ้นนอน
ก่อนหลับ เรานึกถึงความหิวที่ปรากฏแก่เราในวันนี้ เราไม่เคยหิวอย่างนี้มาก่อน
เราคิดเรื่องความหิว แล้วก็ฉุกคิดต่อไปว่า
ในโลกเราเวลานี้มีเพื่อนมนุษย์เราในบางประเทศ
ที่กําลังประสบชะตากรรมคือไม่มีอาหารเพียงพอแก่การบริโภค เด็กๆ
ในประเทศเหล่านี้ต่าง จากลูกของเรามาก เด็กๆ เหล่านั้นผอมโซ จนมองเห็นซี่โครง
นี่คือแง่หนึ่งของการทําจิตภาวนา จิตภาวนาในแง่ที่สองนี้ต่างจากแง่แรกคือ
แบบที่สอง ผลที่จะเกิดขึ้นคือความเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้นตามลําดับ
และเพราะความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นตามลําดับนี้เอง พฤติกรรมของเราก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเรื่อยขึ้นตามลําดับด้วย
เราบริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลที่ เชื่อถือได้
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาความหิวโหยของเพื่อนมนุษย์ในซีกโลกที่ขาดแคลนนั้น
เวลารถติดไฟแดง บางทีเราก็เรียกเด็กขายพวงมาลัยมาแล้วบอกว่าจะซื้อพวงมาลัย
เมื่อให้เงินแก่เด็กแล้ว เราก็บอกว่าหนูเก็บพวงมาลัยของลุงไว้ขายให้คนอื่นต่อนะ นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏแก่ชีวิตในทางที่ดี
ที่เป็นผลมาจากจิตภาวนาแบบที่สอง
จิตภาวนาทั้งสองแบบนี้เป็นสิ่งที่ศาสนาในอินเดียเสนอว่าเราควรทําควบคู่กันไป
จิตภาวนาอย่างแรกจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น และด้วยจิตภาวนาแบบนี้ เราจะได้สัมผัสสิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในทางศาสนา
ชีวิตในทางศาสนาเป็นชีวิตทางจิตวิญญาณ หากเราที่เป็นศาสนิกชนของศาสนาใดก็ตามแต่
แต่ไม่สามารถสัมผัสสิ่งที่เป็นอุดมคติสูงสุดในทางศาสนา (เช่นพระเจ้า นิพพาน
เป็นต้น) ก็อาจกล่าวได้ว่าชีวิตทางศาสนาของเราขาดความสมบูรณ์ไปอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ไม่ควรเข้าใจว่าจิตภาวนาแบบแรกนี้จะต้องมีความหมายเคร่งครัดประเภทที่ยากซึ่งคนธรรมดาสามัญที่อาศัยอยู่ในโลกสมัยใหม่จะปฏิบัติตามได้
นิกายซูฟีเน้นการที่ศาสนิกชนจะต้องจัดการเวลาในชีวิตของตนส่วนหนึ่งเพื่อการทําจิตภาวนาเพื่อเป็นโอกาสได้สัมผัสพระเจ้า
แน่นอนว่า ในจิตภาวนานั้น พระเจ้าในทัศนะ (หรือในความรู้สึกนึกคิด) ของแต่ละคน
อาจไม่เหมือนกัน นั่นก็หาใช่เรื่องแปลกหรือเป็นปัญหาแต่ประการใดไม่
ในทางตะวันตกนั้น นักคิดในทางศาสนามักเห็นว่าหากเราใช้เหตุผลในการเข้าใจพระเจ้า
พระเจ้าที่ปรากฏในเหตุผลของคนแต่ละคนจะไม่ต่างกัน
เหมือนกับการคํานวณทางคณิตศาสตร์ที่ไม่ว่าใครจะเป็นคนคํานวณก็ตาม
ผลจะออกมาเหมือนกัน แต่พระเจ้าในทัศนะของนิกายซูฟีหาได้มีความหมายอย่างนั้น พระเจ้าคือบางสิ่งบางอย่างที่เปรียบได้กับดวงประทีปที่ผุดขึ้นในจิตวิญญาณของผู้ที่ทําจิตภาวนา
ดวงประทีปที่ว่านี้ในประสบการณ์ของแต่ละคนไม่จําเป็นต้องเหมือนกัน
แต่ผลที่เกิดจากการได้สัมผัสดวงประทีปแห่งพระผู้เป็นเจ้าของทุกคนจะให้บางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกันแก่ทุกคน
นั่นคือชีวิตที่เอิบอิ่มด้วยความรู้สึกว่าตนเองได้เข้าถึงสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตของเรามากที่สุดในทางศาสนาที่เรานับถืออยู่
จิตภาวนาอย่างที่สองต่างจากแบบแรกคือ
แบบแรกยังผลให้เกิดความเข้าใจตนเอง แต่แบบที่สองยังผลให้เกิดความเข้าใจผู้อื่น มีข้อที่น่าสังเกตว่าศาสนาที่มีการปฏิบัติจิตภาวนามักเป็นศาสนาที่ไม่มีความขัดแย้งกับผู้อื่น
ในอินเดียมีสามศาสนาที่เป็นศาสนาหลักคือฮินดู พุทธ และเชน
เป็นที่น่าสังเกตว่าความขัดแย้งทางศาสนาถึงขั้นลุกลามกลายเป็นสงครามนั้นไม่เคยเกิดระหว่างศาสนาทั้งสามนี้เลย
ผู้เขียนคิดว่า นี่เป็นผลมาจากการที่ศาสนาของอินเดียเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นศาสนาที่มีระบบปฏิบัติจิตภาวนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตภาวนาแบบที่สองที่เป็นรากฐานของความเข้าใจผู้อื่น
ในทํานองเดียวกัน เหตุผลที่นิกายซูฟีที่ไม่มีปัญหาขัดแย้งกับอิสลามนิกายอื่น
หรือศาสนาอื่น ตามทัศนะของผู้เขียน เป็นเพราะว่านิกายซูฟีที่สอนให้ศาสนิกชนของตนไตร่ตรองใคร่ครวญให้ลึกซึ้งและรอบคอบอยู่เสมอว่า
มนุษยชาติทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสร้างของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนกัน ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่ได้เป็นพี่น้องของเรา
ทัศนะนี้คล้ายกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนในพุทธศาสนามาก คําว่าเมตตาอันเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่สําคัญหลักหนึ่งในพุทธศาสนานั้นตามตัวอักษรแปลว่าความรู้สึกที่ว่าเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ในโลกนี้ล้วนแล้วเป็นแต่มิตรของเรา
เมตตา มาจากคําว่า มิตฺต ในภาษาบาลีซึ่งตรงกับคําว่ามิตรในภาษาสันสกฤต
การแผ่เมตตานั้นพระพุทธเจ้าสอนให้ชาวพุทธทําอยู่สม่ำเสมอ
การเจริญเมตตาเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญจิตภาวนาในพุทธศาสนา
(ง) การใช้ชีวิตอย่างสํารวมระวัง
ศาสนาทุกศาสนาในโลกเป็นบ่อเกิดของวัตรปฏิบัติของสาวกผู้นับถือแตกต่างกันออกไปตามความแตกต่างระหว่างศาสนา
นิกายซูฟีต่างจากศาสนาอิสลามนิกายอื่นๆ ตรงที่นิกายนี้เห็นคล้ายๆ
กับศาสนาตระกูลอินเดียวา สิ่งที่แสดงว่าเราเขาถึงคําสอนในทางศาสนามากน้อยเพียงใด ไม่อาจวัดด้วยการสามารถตอบคําถามได้ว่าอะไรคือคําสอนที่เป็นหัวใจของศาสนาของเรา
เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นหากพิจารณาสิ่งที่อาริสโตเติลเสนอไว้ในงานเขียนของเขา
อาริสโตเติลกล่าวว่า จริยศาสตร์ในชีวิตจริงของมนุษย์เราให้ดูจากสิ่งที่เขากระทํา
หมายความว่า เราจะรู้ว่าใครเขาถึงเรื่องความดีตามที่ระบบจริยศาสตร์หรือศาสนาทั้งหลายเสนอไว้
ให้พิจารณาจากการกระทําของเขา อย่าพิจารณาจากสิ่งที่เขาพูด ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า
คนดีตามทัศนะของพุทธศาสนาต้องประกอบด้วยวิชชาและจรณะ วิชาแปลว่าความรู้ หมายถึงรู้ในทางทฤษฎีว่าอะไรคือความดี
อะไรคือความชั่ว ตามหลักการของพุทธศาสนา
แต่การรู้หลักการเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะใช้บอกว่าคนผู้นั้นได้บรรลุความดีตามที่พุทธศาสนาสอนหรือไม่
เขาต้องแสดงออกในทางวาจาและกาย (ซึ่งอนุมานว่าทั้งหมดมาจากใจของเขา)
ในลักษณะที่แสดงว่าสิ่งที่เขาบอกว่าเขารู้จากพระพุทธเจ้านั้นมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาจริง
เมื่อกล่าวถึงเรื่องการสํารวมระวัง
ผู้คนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า ไม่มีสิ่งนี้ในศาสนาอิสลาม
หากคําว่าอิสลามในที่นี้รวมเอานิกายซูฟีเข้าด้วย ทัศนะดังกล่าวก็เห็นจะไม่ถูกต้อง
นิกายซูฟีเห็นว่า ชีวิตทางศาสนาของคนเราไม่ว่าเป็นศาสนาใดก็ตามจะถือได้ว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐดีงามหรือไม่เพียงใด
ก็ดูจากการใช้ชีวิตของบุคคลผู้นั้น คําว่าสํารวม ระวัง หมายความว่า
เราต้องมีกฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิต โดยทั่วไป
ผู้คนมักไม่เห็นว่าการใช้ชีวิตของตนเองจะเป็นสิ่งที่สร้างความไม่สงบสุขหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
หากศาสนาใดเห็นความสําคัญของการสำรวมระวัง
ศาสนานั้นก็จะสอนให้ศาสนิกชนของตนระมัดระวัง ว่า ในการใช้ชีวิตประจําวันของเรา
เป็นไปได้หรือไม่ที่ชีวิตของเราจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม หากพินิจพิจารณาแล้วพบว่า
การใช้ชีวิตของตนเองอาจเป็นสาเหตุ (ทั้งในทางตรงและในทางอ้อม)
ที่จะสร้างความเดือดร้อน
(ซึ่งบางครั้งอาจอยู่ในรูปของการที่ผู้คนจํานวนหนึ่งในสังคมประสบภาวะขาดแคลน)
ก็ให้รีบจัดการมิให้การใช้ชีวิตของตนนั้นสร้างปัญหาตามที่กล่าว
คําว่าการใช้ชีวิตอย่างสำรวมระวังที่เรากําลังอภิปรายกันอยู่นี่ยังหมายรวมเอาการใช้ชีวิตอย่างที่เรียกว่าฝึกหัดขัดเกลาตนเอง
เวลาที่กล่าวถึงเรื่องการฝึกหัดขัดเกลาตน
ผู้ที่ศึกษาศาสนาตระกูลอินเดียมักจะเข้าใจทันที
ยกตัวอย่างเช่นชีวิตของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา โดยอุดมคตินั้น
พระสงฆ์คือผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่าใช้ชีวิตเสมือนนก
นกนั้นมีเพียงสองปีกก็อาจที่จะโบยบินไปสู่สถานที่ที่ตนต้องการได้
นกไม่มีภาระผูกพัน ไม่มีสมบัติที่จะต้องหวงแหน ชีวิตจึงมีอิสรภาพที่จะโบยบินไป ณ
ที่ใดก็ได้ ตามที่ใจปรารถนา พระพุทธเจ้าทรงคาดหวังว่าพระภิกษุในพุทธศาสนาก็จะต้องมีชีวิตที่เป็นอิสระอย่างนั้น
พระสงฆ์ได้รับอนุญาตโดยวินัยให้ครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวได้เพียงบาตรและจีวรเท่านั้น
สถานที่พำนักของพระภิกษุเป็นสมบัติกลาง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งลาจากสถานที่อยู่ของตนเพื่อไปพํานักในที่อื่น
สถานที่พํานักเดิมนั้นก็จะมีพระภิกษุรูปอื่นหมุนเวียนเข้ามาอยู่แทน นิกายซูฟีก็เห็นด้วยว่า
ชีวิตทางศาสนาที่ดีจะต้องเป็นชีวิตที่ฝึกหัดขัดเกลา ซูฟีไม่เคยเห็นว่าการครอบครองทรัพย์จํานวนมากมายคือที่มาของความสุข
ตรงกันข้าม การรู้ประมาณ ว่าชีวิตของเราและครอบครัวควรครอบครองทรัพย์สินมากน้อยเพียงใด
จึงจะทําให้ชีวิตตนและครอบครัวอยู่ดีมีสุขอย่างพอดี เป็นสิ่งที่นิกายซูฟีเสนอให้เราพิจารณา
ความรวยนั้นอาจมองว่าเป็นสภาพของชีวิตเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับคนอื่นก็ได้
หรือจะมองว่าเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็ได้ การที่เราครอบครองทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติกลางของมนุษยชาติ
(เช่นผืนดิน) มาก ก็ย่อมทําให้คนที่เขายากจนไม่สามารถมีที่ดินครอบครองได้
การใช้ชีวิตอย่างพอประมาณจึงเป็นหนทางที่จะทําให้ชีวิตของเราอยู่รวมกันกับเพื่อนมนุษย์อื่นๆ
ได้อย่างมีความสุข เฉลี่ยเจือจานกัน มีความสุขด้วยกัน ทั่วทั้งแผ่นดิน
นอกจากที่กล่าวมาข้างบน
ความหมายอีกอย่างหนึ่งของการมีชีวิตอย่างฝึกหัดขัดเกลาตนก็คือการเรียนรู้ความคิดของตนเอง
มนุษย์เรานั้นเกิดมาพร้อมธรรมชาติสองอย่างในตัว อย่างแรกคือกิเลส
อย่างที่สองคือคุณธรรม คนธรรมดาจํานวนมากมายในโลกใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยถามว่าสิ่งที่ทะยานแล่นอยู่ในใจของตนนั้นคืออะไร
แต่หากใครก็ตามแต่รู้ตนดีว่าตนกําลังพยายามใช้ชีวิตอย่างที่เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตน
สิ่งแรกๆเลยที่เขาจะทํา ก็คือการสํารวจความคิดอ่านของตนเอง
เมื่อสํารวจอย่างใจเป็นกลาง เราจะพบว่าในบางวัน เราก็ปล่อยให้กิเลส (ความโลภ
ความโกรธ และความหลง) ครอบงําจิตใจ
การกระทําของเราภายใต้สภาพจิตใจแบบนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจกล่าวได้ว่าบริสุทธิ์สะอาด
การกระทําที่ไม่บริสุทธิ์สะอาดในทัศนะของซูฟีเป็นการกระทําที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพิจารณาว่า
ต่อไปจะสร้างปัญหาให้แก่คนผู้นั้นเองและสังคมโดยรวม แต่บางวันเราก็อาจเห็นว่า
การกระทำของเราเป็นไปตามอํานาจของคุณธรรม (ความเสียสละ ความเมตตารักใคร่ผู้อื่น
อยากเห็นเขามีความสุข) และความฉลาดหลักแหลม
รู้แยกแยะว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรแสวงหาในชีวิต ส่วนสิ่งใดไม่ควรที่เราจะแสวงหามาให้เป็นภาระผูกพันแต่ชีวิต
การกระทําเช่นนั้นเราจะสังเกตเห็นเองว่าจะส่งผลให้เกิดความสว่างไสวแก่ชีวิต
ความสงบทั้งแก่ตนและคนรอบข้าง ตลอดจนสังคมในวงกว้างออกไปด้วย
ในทัศนะของพุทธศาสนา
การใช้ชีวิตอย่างสํารวจระวังจะกระทําได้ง่ายขึ้นหากเรารู้จักคิดในเชิงที่สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุ
อีกสิ่งเป็นผล ท่านนัทฮันห์ กล่าวไว้ในหนังสือบางเล่มของท่านว่า เมื่อเราเปิดหนังสือเล่มใดก็ตามออกอ่าน
หากเราเป็นคนที่มีอุปนิสัยคิดในเชิงความเป็นสาเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ในจักรวาล
เราจะมองเห็นว่า ในหน้ากระดาษที่เรากําลังเพ่งพินิจสายตาดูถ้อยอักษรนั้น มีเมฆ
มีแม่น้ำ มีป่า มีต้นไม้ และอื่นๆ อีกมาก แฝงอยู่ในหน้ากระดาษนั้น
หนังสือพิมพ์บนกระดาษ กระดาษมาจากต้นไม้ ต้นไม้ได้รับการเจือจุนด้วยฝน
ฝนที่ตกลงมานั้นมาจากเมฆ เมฆมาจากแม่น้ำ การที่แม่น้ำจะกลายเป็นเมฆได้ก็ต้องอาศัยความร้อนจากพระอาทิตย์
เป็นต้น
นี่คือลําดับของสิ่งต่างๆที่จะรายเรียงเข้ามาสู่ห้วงแห่งความคิดของเราอันเป็นผลมาจากการที่เราเป็นคนช่างคิดในเชิงที่สิ่งต่างๆ
ต่างก็เป็นสาเหตุและผลของกันและกัน หากเรามองเห็นทรัพยากรจํานวนมากในหน้ากระดาษหนังสือ
ผลที่จะตามมาก็คือเราจะเป็นคนรักและถนอมหนังสือ
ซึ่งนั่นก็คือความรักและการถนอมทรัพยกรธรรมชาติเพื่อให้คงอยู่ให้มนุษย์ได้ใช้สอยในโลกนี้ไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
การสํารวมระวังตนตามที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่นิกายซูฟีเน้นหนักในการสอนศิษย์
โปรดพิจารณาตัวอย่างบทกวีของคาลิล
ยิบราน ดังต่อไปนี้
แล้วเศรษฐีคนหนึ่งพูดว่า
ได้โปรดกล่าวถึง การบริจาค
และท่านตอบว่า
เมื่อเธอบริจาคทรัพย์สมบัติของเธอ
เธอให้แต่เพียงเล็กน้อย ต่อเมื่อเธออุทิศตนเอง นั่นเป็นการให้อย่างแท้จริง
ทรัพยสมบัติของเธอนั้นเอง
จะเป็นสิ่งอื่นใด นอกจากสิ่งที่เธอเก็บและเผ้าระแวด ระวังไว้ ด้วยกลัวว่า
พรุ่งนี้เธออาจต้องการมันอีก
เจ้าสุนัขจอมฉลาดที่ฝังชิ้นกระดูกไว้ในทรายขณะเมื่อมันเดินตามผู้แสวงบุญ
ไปยังทิพยนคร เพื่อมันจะได้กินอีกในวันพรุ่ง - พรุ่งนี้มันจะได้กินละหรือ
ความกลัวว่าจะต้องการอีก
มิใช่ความต้องการเองหรือ
ความพรั่นพรึงต่อความกระหาย ทั้งๆ
ที่บ่อน้ำของเธอก็ยังเต็มเปี่ยม คือความกระหายอันมิรู้ดับมิใช่หรือ
บางคนมีมาก แต่เขาบริจาคเพียงนิดเดียว
และก็ให้เพื่อเอาชื่อ และความปรารถนาอันเร้นอยู่นี้ ย่อมทําให้การบริจาคของเขามีราคี
บางคนมีอยู่น้อย แต่อุทิศให้ทั้งหมด
เขาเหล่านี้มีศรัทธาต่อชีวิต และต่อความสมบูรณ์ของชีวิต
และถุงเงินของเขาไม่เคยว่างเปลา
บางคนบริจาคไปด้วยความปราโมทย์
และความปราโมทย์นั้นเองเป็นผลตอบแทน
บางคนให้ไปด้วยความปวดร้าว ความปวดร้าวนั้นยอมชําระดวงใจของเขา
ยังมีบางคนให้ไปโดยไม่รู้จักความเจ็บปวดในการให้
มิได้ให้โดยมุ่งหวังความปราโมทย์ ใดๆ เป็นผลตอบแทน
และมิได้ให้โดยมุ่งหวังคุณความดีใดๆ
เขาบริจาคให้
ดุจเดียวกับบุปผชาติอันส่งกลิ่นหอมตลบอยู่ในหุบเขาโน้น พระผู้เป็นเจ้าทรงดํารัสผ่านมือของบุคคลเช่นนี้
พระองค์ทรงสรวลยิ้มกับพื้นพิภพ ผ่านดวงตาของคนเช่นนี้
(ปรัชญาชีวิต, 36-37)
(จ)
การมีครูทางจิตวิญญาณ
ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของนิกายซูฟีคือการสอนว่าชีวิตเราจําเป็นต้องมีครูทางจิตวิญญาณ
แนวคิดเรื่องการมีครูทางจิตวิญญาณนี้เป็นเรื่องที่อาจพบได้ทั่วไปในศาสนาของอินเดีย
คนอินเดียโบราณถือว่า มีคนสองคนที่สําคัญกับชีวิตของเรามาก คนแรกคือพ่อแม่
ส่วนคนที่สองคือครูอาจารย์
การมีชีวิตที่ปราศจากครูนั้นเป็นชีวิตที่บกพร่องตามทัศนะของวัฒนธรรมอินเดียโบราณ นิกายซูฟีของศาสนาอิสลามก็เห็นอย่างเดียวกันนั้น
การมีครูหมายความว่าอย่างไร เพื่อที่จะตอบคําถามนี้ ผู้เขียนขอเล่าเหตุการณ์ในพุทธประวัติช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใหม่ๆ
เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการทําความเข้าใจว่าที่นิกายซูฟีเห็นว่าเราสมควรมีครูทางจิตวิญญาณหมายความว่าอย่างไร
เรื่องในพุทธประวัตินั้นเล่าว่า
เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงรําพึงกับพระองค์เองว่า
คนที่มีชีวิตอยู่อย่างปราศจากครูนั้นย่อมมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ จากนั้นก็ทรงพิจารณา
ว่าใครกันหนอในโลกนี้ที่สมควรจะเป็นผู้ที่พระองค์ทรงนับถือในฐานะครู หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว
ก็ทรงพบว่าไม่มีใครที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายที่จะเป็นครูของพระองค์
จึงทรงตัดสินพระทัยยึดเอาธรรมที่ได้ตรัสรู้นั่นเองเป็นครู
ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้
อยู่ที่ว่าทําไมจึงทรงเห็นว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเป็นครูของพระองค์ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า
ทําไมจึงทรงเห็นว่าคนเราหากไม่มีครูชีวิตเขาจะไม่สมบูรณ์ โดยที่กฎดังกล่าวใช้รวมถึงพระองค์ด้วย
ไม่มียกเว้น
หากเราศึกษาพุทธประวัติและเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของพระพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ
ของพุทธศาสนา เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงให้ความสําคัญแก่การที่คนเราจะต้องมีครู
มีคําสอนหมวดหนึ่งที่ทรงแสดงในฐานะหลักธรรมที่จะสนับสนุนให้ชีวิตของบุคคลก้าวไปหาความสมบูรณ์ถูกต้องขึ้นไปเรื่อยๆ
ในหลักธรรมหมวดดังกล่าว ตรัสว่า
ชีวิตคนเราต้องการปรโตโฆสะที่อาจแปลตามถ้อยอักษรได้ว่าเสียงเตือนจากคนอื่น และโยนิโสมนสิการ
ที่อาจแปลได้ตามถอยอักษรว่าการไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง
เมื่อได้ยินได้ฟังคําเตือนจากผู้อื่นตามที่กล่าวมาแล้วนั้น คําถามมีว่า
ใครคือบุคคลที่เราควรจะฟังความเห็นจากเขา คําตอบอาจมีได้หลายอย่าง
แต่อย่างหนึ่งที่เราจะพบในการสอนธรรมของพระพุทธเจ้าคือ คนที่สมควรแก่การตักเตือนเราก็คือครูที่มีประสบการณ์ในชีวิตมามากกว่าเรา
และเป็นผู้ที่ปรารถนาดีต่อเรา
คนเราหากมีครู
ครูที่ดีนั้นจะเปรียบเสมือนเกราะป้องกันภัยอันจะเกิดจากความคิดที่หลงผิด
หรือความคิดที่ไม่รอบคอบได้ โปรดพิจารณาข้อเขียนของคาลิล ยิบราน ต่อไปนี้
แล้วครูคนหนึ่งพูดขึ้นว่า
ได้โปรดกล่าวแก่เราถึง การสอน
และท่านพูดว่า
ไม่มีมนุษย์ใดอาจเปิดเผยสิ่งใดแก่เธอได้
นอกจากสิ่งที่ได้นอนซบเซาอยู่ก่อนแล้วในขณะรุ่งอรุณแห่งปัญญาของเเอง
ครูผู้เดินอยู่ภายใต้ร่มเงาโบสถ์
ในท่ามกลางสานุศิษย์ มิได้ให้ปัญญาของท่าน แต่ให้ความเชื่อมั่นและความรักแก่ศิษย์
ถ้าท่านเป็นปราชญ์อย่างแท้จริงแล้ว
ท่านจะไม่นําเธอก้าวล่วงเข้าสู่เคหาสน์แห่งปัญญาของท่าน
แต่จะนําเธอไปสู่แทบธรณีแห่งดวงจิตของเธอเอง
นักดาราศาสตร์อาจกล่าวให้เธอฟังถึงความเข้าใจของเขาต่อท้องฟ้า
แต่เขาก็ไม่อาจหยิบยกความเข้าใจอันนั้นให้แก่เธอได้
นักดนตรีอาจร้องทํานองเพลงทั้งหลายอันมีอยู่ในห้วงเวหาให้เธอฟัง
แต่เขาก็ไม่อาจให้โสตอันสดับจับทํานอง หรือสําเนียงอันร้องสะท้อนรับทํานองนั้นแก่เธอได้
ผู้ชํานาญทางคณิตศาสตร์อาจบอกเธอถึงมาตราการวัด
และระบบการซั่งวัดทั้งหมดแก่เธอ แต่เขาก็ไม่อาจนําเธอก้าวเลยไปจากนั้น
เพราะว่าการเห็นของบุคคลหนึ่ง
ไม่อาจให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้
และดังเช่นที่เธอแต่ละคนยืนโดดเดี่ยวอยู่ในปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า
ก็จําเป็นที่เธอแต่ละคนจะต้องยืนอยู่เฉพาะตน ในขณะเมื่อมีปัญญาหยั่งรู้ถึงพระองค์
และในปัญญาหยั่งรู้พื้นพิภพ
(ปรัชญาชีวิต, 80-81)
เป็นที่น่าสังเกตว่า
แนวคิดของคาลิล ยิบราน (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาอิสลามนิกายซูฟี ) ข้างต้นนี้สอดคล้องกับทัศนะของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเอาไว้ในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าตรัสแก่สาวกของพระองค์ว่า เราเป็นเพียงคนบอกทาง
ภารกิจในการเดินไปตามทางนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม (นิพพาน)
เป็นหน้าที่ของพวกท่านแต่ละบุคคล เราไม่สามารถนําความหลุดพ้นไปมอบให้แก่ใครได้
สิ่งนี้แต่ละบุคคลจะต้องแสวงหาเอาเอง
(ฉ) ชาวมุสลิมสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากยิบรานและรูมี
ศาสนานั้นมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อความคิดของมนุษย์
คําว่า ความคิด ในที่นี้อาจมีความหมายตื้น
หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า ศาสนามีอิทธิพลต่อจิตวิญญาณของมนุษย
ไม่เพียงแต่มนุษย์ธรรมดาเท่านั้น ไอน์สไตน์เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่าศาสนามีอิทธิพลแม้ต่อมนุษย์พวกหนึ่งที่เราเรียกว่านักวิทยาศาสตร์
สาระของสิ่งที่ไอน์สไตน์เขียนไว้นั้นสรุปความได้ว่า หากนักวิทยาศาสตร์ประสงค์จะเข้าใจจักรวาลผ่านการทํางานในฐานะที่ตนเป็นนักวิทยาศาสตร์
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ควรตระหนักก็คือศาสนานั้นเป็นเครื่องมือสําคัญ
แก่การที่มนุษย์เราจะเข้าใจจักรวาล
ไอน์สไตน์เสนอคําคําหนึ่งคือคําวาจิตสํานึกในทางศาสนาอันหมายถึงการมองโลกและจักรวาลผ่านสายตาของศาสนา
จิตสํานึกทางศาสนาสําคัญแก่นักวิทยาศาสตร์ในแง่ที่ว่า
จักรวาลเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนที่จะมีนักวิทยาศาสตร์ ในแง่นี้
งานของนักวิทยาศาสตร์ก็คือการตามศึกษาสิ่งที่ถูกสร้างและออกแบบเอาไว้ก่อนหน้าตนเองมายาวนานแล้ว
ในทัศนะของไอน์สไตน์ สรรพสิ่งในจักรวาลดําเนินไปอย่างสวยงาม ตามระเบียบแบบแผนบางอย่าง
แบบแผนที่วานี้เกิดได้อย่างไร ใครทําให้เกิด คําถามนี้นักวิทยาศาสตร์จะต้องสนใจถาม
และเมื่อถามแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะรู้ได้ด้วยตนเองว่า วิชาวิทยาศาสตร์โดย
ลําพังนั้นไม่เพียงพอต่อการที่มนุษย์เราจะตอบคําถามนี้ได้ ศาสนาเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่เก่าแก่ที่สุด
ศาสนาเกิดก่อนวิทยาศาสตร์ และความสนใจของศาสนานั้นกว้างกว่าวิทยาศาสตร์
(Albert Einstein, Ideas and Opinions, 39-58)
วิทยาศาสตร์บางสาขาอาจสนใจที่จะเข้าใจจักรวาลทั้งหมด
ความสนใจนี้คล้ายกับความสนใจของศาสนา แต่ต่างกันที่วิทยาศาสตร์มีสมมติฐานบางอย่างแตกต่างจากศาสนา
วิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า
สิ่งที่วิทยาศาสตร์จะถือว่าเป็นความรู้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นสามารถที่จะตรวจสองได้ด้วยประสาทสัมผัส
สมมติฐานนี้ศาสนาเองก็รับรอง
(เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับสามัญสํานึกของมนุษย์เราอยู่แล้ว) แต่ศาสนาก็ยังมีสมมติฐานอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีในวิทยาศาสตร์
สมมติฐานอย่างที่สองนี้คือ มีบางสิ่งบางอย่างในจักรวาลที่อยู่พ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์
สิ่งเหล่านี้บางสิ่งคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการที่สิ่งที่ปรากฏแก่การรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสของเราเป็นอย่างที่เป็นนั้น
เมื่อเราเอาเมล็ดมะม่วงฝังลงในดินชุ่มน้ำ ไม่นานเมล็ดนั้นก็จะกลายเป็นต้นไม้
เราเรียกต้นไม้นั้นว่าต้นมะม่วง เมื่อต้นมะม่วงออกผล
ผลของต้นมะม่วงก็ย่อมคือมะม่วง นี่คือตัวอย่างพฤติกรรมของพืชที่ปรากฏแก่สายของเรา นักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันอาจอธิบายให้เราฟังว่าที่ต้นมะม่วงงอกออกมาจากเมล็ดมะม่วง
และเมื่อต้นไม้นั้นออกผล ผลของมันย่อมเป็นมะม่วงเสมอ
เกี่ยวข้องกับการที่เมล็ดมะม่วงนั้นมีสารพันธุกรรมบางอย่าง
และสารพันธุกรรมนั้นเองที่บงการให้เมล็ดมะม่วงงอกกลายเป็นต้นมะม่วง และต้นมะม่วงนั้นเมื่อออกลูก
ลูกของมันก็จะเป็นลูกมะม่วงเสมอ
คําอธิบายนี้ช่วยให้เราเข้าใจละเอียดลงไปกว่าการสังเกตด้วยตาเปล่า
แต่ก็ไม่ได้ตอบคําถามว่า ทําไม ในเมล็ดมะม่วงจึงมีสารพันธุกรรมนั้น
และทําไมสารพันธุกรรมในต้น มะม่วงและสิ่งอื่นๆ ในโลกธรรมชาติอันได้แก่สัตว์และพืชจึงมีอยู่ตามที่เราเห็นนั้น
ศาสนาในโลกนั้นแบ่งออกเป็นสองแบบคือแบบที่สอนเรื่องพระเจ้ากับแบบที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้า
ความต่างกันนี้ที่สุดแล้วก็ไม่ทําให้ศาสนาในโลกแตกต่างกันมาก เพราะฝ่ายที่เน้นสอนเรื่องพระเจ้า
(เช่นพุทธศาสนา) ที่สุดก็สอนว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการที่สิ่งต่างๆ
ในจักรวาลเป็นอย่างที่ปรากฏแก่อายตนะของเรา
กล่าวเพื่อให้เห็นภาพโดยรวมก็คือ
ศาสนาต่างจากวิทยาศาสตร์ตรงที่ศาสนาเชื่อว่า จักรวาลในรูปของสสารวัตถุต่างๆ
(เช่นดวงดาว มนุษย์ สัตว์ พืช) ยังไม่ใช่ทั้งหมดของจักรวาล หากแต่ยังมีบางสิ่งที่อยู่พ้นประสาทสัมผัสของมนุษย์
และที่สําคัญก็คือสิ่งที่ไม่ปรากฏตนให้เราเห็นนี่เองคือสิ่งที่จัดการในสิ่งที่เป็นสสารวัตถุแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างที่เราเห็นนั้น
(เช่นการที่มะม่วงมาจากต้นมะม่วง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หมุนรอบโลก
เป็นต้น) ศาสนาที่สอนเรื่องพระเจ้าเช่นศาสนาฮินดู ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนา
อิสลาม เสนอคําอธิบายว่า สิ่งที่ไม่ปรากฏตนให้เราเห็น
แต่อยู่เบื้องหลังการที่สิ่งต่างๆ ปรากฏในจักรวาล
และเมื่อปรากฏแล้วก็แสดงพฤติกรรมที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง
สิ่งนี้ศาสนาประเภทนี้เรียกว่าพระเจ้า ส่วนศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้าเช่นพุทธศาสนาก็มีชื่อเรียกสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการที่สิ่งต่างๆ
ปรากฏเป็นระบบระเบียบเป็นอย่างอื่น เช่นนิยาม ที่อาจแปลเป็นภาษาสมัยใหม่ว่ากฎธรรมชาติ
จะอย่างไรก็ตาม กฎธรรมชาติที่ศาสนาแบบนี้สอนอาจมีความหมายมากกว่าคําว่ากฎธรรมชาติในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์
กฎธรรมชาติในทัศนะของวิทยาศาสตร์เป็นเพียงชื่อเรียกการที่สิ่งต่างๆแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบเท่านั้น
กฎธรรมชาติไม่ได้หมายถึงสิ่งเร้นลับที่อยู่พ้นการตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์และสิ่งนี้เองคือสิ่งที่จัดการให้สิ่งต่างๆ
ในจักรวาลแสดงพฤติกรรมที่เป็นระบบระเบียบนั้นออกมา นิยามในทัศนะของพุทธศาสนามีความหมายใกล้เคียงกับพระเจ้าที่เป็นนามธรรม
นักคิดในศาสนาแบบที่สอนเรื่องพระเจ้ามักไม่คิดว่าพระเจ้าหมายถึงเทพที่เป็นหัวหน้าเทพ
ที่เรียกกันในวิชาปรัชญาศาสนาว่า พระเจ้าอย่างที่เป็นบุคคล
ความหมายของพระเจ้าสองแบบนี้ให้ผลที่เป็นการปฏิบัติตนแก่ผู้ที่เชื่อถือต่างกัน
สําหรับผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าคือเทพที่เป็นหัวหน้าเทพ
สิ่งที่มนุษย์เราจะพึงกระทําหรือปฏิบัติต่อพระเจ้าก็คือเกรงกลัว
เมื่ออยากได้อะไรจากพระเจ้าก็สวดอ้อนวอนขอ ส่วนผู้ที่เห็นว่าพระเจ้าหมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ในรูปของเทพเจ้า
แต่เป็นนามธรรมบางอย่าง ก็จะมีความคิดตามมาว่า มนุษย์เราไม่ควรเกรงกลัวพระเจ้า
ตรงกันข้าม เราควรสนใจที่จะศึกษาว่าจะเข้าถึงพระเจ้าในความหมายนี้อย่างไร มีข้อที่น่าสังเกตว่า
พระเจ้าในทัศนะของยิบรานและรูมีมีลักษณะเป็นอย่างหลังนี้ สิ่งที่เรียกว่านิยามในพุทธศาสนาก็มีความหมายใกล้เคียงกับพระเจ้าในทัศนะของกวีสองท่านนี้
รูมีเขียนงานเอาไว้จํานวนหนึ่ง
(งานของรูมีจะปรากฏในบรรณานุกรมท้ายบทความนี้) เพื่อแสดงว่า
พระเจ้าจะปรากฏตนในทุกที่ พระเจ้าแบบนี้จะปรากฏแก่คนที่มีจิตใจอ่อนละมุน
ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
รูมีกล่าวว่าพระเจ้าจะปรากฏตนแก่ผู้ที่รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
ในบทกวีของยิบรานก็จะมีข้อความทํานองนี้ปรากฏอยู่ทั่วไป
ทัศนะของยิบรานและรูมีตามที่กล่าวมานี้หากเราคิดด้วยเหตุผลก็จะเห็นได้ว่าไม่แปลก
กล่าวคือ หากเราเชื่อว่ามนุษยชาติทั้งหมดมาจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้าที่เรานับถือ
สิ่งที่เราจะต้องรับต่อมาก็คือไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเป็นศัตรูของเราได้
ชาวมุสลิมที่เป็นคนช่างคิดจะเข้าใจได้ด้วยตนเองว่า
มนุษย์ทั้งโลกนั้นต่างก็เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันกับเรา เพราะทุกคนมาจากการสร้างสรรค์ของพระเจ้าที่เรานับถือ
ผู้เขียนเข้าใจปรากฏการณ์ที่ในทัศนะของชาวมุสลิมจํานวนหนึ่ง (ซึ่งไม่น้อยเลย)
คนบางคนเป็นศัตรูของศาสนาอิสลาม ความเข้าใจและความรู้สึกเช่นนี้ว่าไปแล้วเป็นผลมาจากการเมือง
มากกว่าศาสนา การเมืองระหว่างประเทศนั้นเป็นเรื่องสําคัญ
และเมื่อมองจากแง่มุมด้านการเมือง
การที่เราจะรู้สึกว่ามีคนจํานวนหนึ่งเป็นศัตรูที่ไม่หวังดีต่อเรา และประเทศของเรา
ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้
การเมืองอันเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาติก็ต้องแก้กันไป แต่ในขณะเดียวกัน
เพื่อให้ชาวมุสลิมมีความสุขสงบ กับการดําเนินชีวิต
มิติทางศาสนาในชีวิตก็จําเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้งอกงามขึ้นด้วย
ชาวมุสลิมสามารถทําสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน
บทเรียนที่เราได้จากพุทธศาสนาผ่านชีวิตของพระพุทธเจ้าและศาสนาคริสต์ผ่านชีวิตของพระเยซูคือ
ที่สุดแล้ว ความรัก ความเข้าใจ ระหว่างมนุษยชาติ (ที่แตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ศาสนา
และอื่นๆ) จะเยียวยาความทุกข์อันเกิดจากความวิวาทบาดหมางกันและกันได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงที่สุด
ไม่มีโอสถใดจะเยียวยาทุกข์นี้ได้เท่าเมตตาธรรม ความรัก
และความเข้าใจกันและกันระหว่างมนุษยชาติด้วยกันเอง... ไม่มี...
บรรณานุกรม
๑. ศาสนาอิสลาม
Ahmed, A. S. (2015). The Thistle and the
Drone: How Americas War on Terror Became a Global War on Tribal Islam.
Brookings Institution Press.
Armstrong, K. (2002). Islam: A Short
History. Modern Library.
Esposito, J. L. (2018). Islam: The Straight
Path. Oxford University Press.
Haddad, Y. Y., & Smith, J. I. (Eds.). (2014). The
Oxford Handbook of Islam and Politics. Oxford University Press.
Knysh, A. (2017). Islamic Mysticism: A
Short History. Brill.
Nasr, S. H. (2006). Islamic Philosophy from
Its Origin to the Present: Philosophy in the Land of Prophecy. SUNY Press.
Robinson, F. (2004). The Cambridge
Illustrated History of Islam. Cambridge University Press.
Ramadan, T. (2004). Western Muslims and the
Future of Islam. Oxford University Press.
Schimmel, A. (1992). Islam: An Introduction.
SUNY Press.
Waines, D. (2003). An Introduction to Islam.
Cambridge University Press.
๒. คาลิล ยิบราน
Gibran, K. (1994). The Prophet. Knopf Doubleday Publishing
Group.
Gibran, K. (1998). The Collected Works of Kahlil Gibran.
Everymans Library.
Gibran, K. (2019). The Treasured Writings of Kahlil Gibran.
Hampton Roads Publishing.
Gibran, K. (2017). The Essential Kahlil Gibran. TarcherPerigee.
Gibran, K. (2018). The Garden of the Prophet. White Crow
Books.
Johnson, J. D. (2005). The Art of Kahlil Gibran at Telfair
Museums. Telfair Books.
Karamustafa, A.
T. (2015). Kahlil Gibran: Beyond Borders. Dar Al-Anda Art Gallery.
Mikdadi, S.
(2008). Kahlil Gibran: A Guide for Our Times. Saqi Books.
Naimy, M., & Gibran, K. (2010). Kahlil Gibran: His Life and
World. White Crow Books.
๓. รูมี
Rumi, J., & Barks, C. (1995). The Essential Rumi. HarperOne.
Rumi, J. (2004). The Masnavi, Book
One. Oxford University Press.
Rumi, J., & Nicholson, R. A. (1993). Selected Poems from the
Divan-e Shams-e Tabrizi. University of Chicago Press.
Rumi, J., & Chittick, W. C. (2015). The Sufi Path of Love:
The Spiritual Teachings of Rumi. SUNY Press.
Rumi, J., & Redhouse, J. W. (2014). Rumi: The Book of Love:
Poems of Ecstasy and Longing. HarperOne.
Rumi, J., & Lewis, F. (1999). Rumi: Past and Present, East
and West: The Life, Teachings and Poetry of Jalal al-Din Rumi. Oneworld Publications.
Rumi, J., & Helminski, K. (1997). The Rumi Collection.
Shambhala.
Rumi, J., & Arberry, A. J. (1991). Mystical Poems of Rumi.
University of Chicago Press.
Rumi, J., & Kolin, P. C. (1998). Rumi: In the Arms of the
Beloved. Maypop.
Rumi, J., & Shah-Kazemi, R. (2005). Rumi: Whispers of the
Beloved. Thames & Hudson.
๔. อื่นๆ
คาลิล ยิบราน. (๒๕๓๐) ปรัชญาชีวิต.
แปลจาก The Prophet โดยระวี ภาวิไล. กะรัต.
พุทธทาสภิกขุ. (๒๕๒๒). ใจความแห่งคริสตธรรมเท่าที่พุทธบริษัทควรทราบ.
ธรรมทานมูลนิธิ.
Einstein, A. (1994). Ideas and
Opinions. The Modern Library.
Spinoza, B. (2005). Ethics.
Penguin Classics.
Tagore, R. (2021). Gitanjali.
Warbler Classics.